‘แอมเนสตี้’ ร้อง รบ.ไทย ‘ปล่อยผู้ชุมนุมทันที’ อย่างไม่มีเงื่อนไข ม็อบสงบ แต่ใช้กำลังปิดปาก แล้วอ้างสากล ?

‘ผอ.แอมเนสตี้’ แถลงร้อง รบ.ไทย ยกเลิกคดี ‘ปล่อยผู้ชุมนุมทันที’ อย่างไม่มีเงื่อนไข ชี้ ม็อบสงบแทนที่จะอำนวย กลับใช้กำลังปิดปาก แล้วอ้างหลักสากล ?

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน สืบเนื่องกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) ที่หัวมุมถนนดินสอ เขตพระนคร ภายหลังผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากลานคนเมือง ไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเจ้าหน้าที่สลายด้วยวิธีการไล่กระทืบ ยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตา ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงถูกยิงที่เบ้าตา พร้อมจับกุมอย่างน้อย 25 ราย ไปยัง สน.ทุ่งสองห้อง นั้น

อ่านข่าว :

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หยุดใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงระหว่างการประชุมเอเปค โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ของ “กลุ่มราษฎรหยุดAPEC2022” บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 9 คน ในจำนวนนั้นเป็นสื่อมวลชน 4 คน และมีผู้ชุมนุม 25 คนถูกจับกุมและถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง ซึ่งไม่ใช่สถานีท้องที่ โดยตำรวจแถลงว่ามี “ตำรวจ คฝ.” ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 5 นาย

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่กล่าวอ้าง แทนที่จะอำนวยความสะดวกในการจัดการชุมนุม กลับสลายการชุมนุมที่รุนแรงโดยการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่มุ่งเป้าเพื่อการปะทะและการจับกุมผู้ชุมนุม ถือเป็นการละเมิดการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และเป็นการปิดปากผู้เห็นต่าง

Advertisement

“ผู้ชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือรุนแรงใดๆ แต่กลับได้รับความกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการกระทำของตำรวจ มีผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา มีสื่อมวลชนที่ถูกทุบตี ได้รับบาดเจ็บ และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งๆ ที่ใส่ปลอกแขนสื่อมวลชนและแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพราะพวกเขากล้าที่จะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ”

“ทางการต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยทันที และอย่างไม่มีเงื่อนไข ในส่วนของการควบคุมการชุมนุม ทางการไทยควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม รวมทั้งมีมาตรการรับมือและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และยังต้องประกันความมั่นคงปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย” นางปิยนุชกล่าว และว่า

เราขอเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอำนวยความสะดวก ในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมโดยสงบสามารถแสดงความคิดเห็นของตน โดยต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากกว่านี้

Advertisement

นางปิยนุชกล่าวอีกว่า ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมาตรฐานการใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหาทางหยุดยั้ง และแยกตัวบุคคลที่กระทำความรุนแรงออกไป แต่ต้องไม่ไปขัดขวางบุคคลอื่นที่ยังต้องการชุมนุมโดยสงบต่อไป ตำรวจอาจใช้กำลังได้เป็นแนวทางสุดท้าย เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และเฉพาะเมื่อจำเป็นแก่การปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง การใช้กำลังควรมุ่งที่การยุติความรุนแรง และให้ใช้ได้ในลักษณะที่จำกัดอย่างยิ่ง โดยมุ่งลดอาการบาดเจ็บและมุ่งรักษาสิทธิที่จะมีชีวิตรอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image