คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : ภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี ในมิติและบริบทความเป็นสตรีเพศ (ตอน 2)

สัปดาห์ที่ผ่านมาเล่าถึง “ภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดี” ที่มีแก่นแกนเน้นบทบาทไปที่เรื่องราวของ “สตรีเพศ” ในแง่มุม “การเมืองและนักเคลื่อนไหวทางสังคม” สัปดาห์นี้มาต่อกันในตอนที่สองที่เล่าถึงธีม “สตรีในกงล้อหมุนของเพศชาย” ผ่านภาพยนตร์ เรื่อง “On the Basis of Sex” และภาพยนตร์สารคดีชีวิตเหล่าสตรีที่ต้องขับเคี่ยวในสังเวียนที่ถือกฎกติกาโดยผู้ชาย 4 เรื่อง คือ “Roxanne Roxanne”, “Little Miss Sumo”, “Lorena, Ladies First” และ “Light-Footed Woman”

ย้อนอ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : ภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี ในมิติและบริบทความเป็นสตรีเพศ (ตอน 1)

เริ่มจาก “On the Basis of Sex” ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากประวัติและชีวิตจริงของ “รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก” ผู้พิพากษาศาลสูงหญิงชาวสหรัฐ เธอคือผู้หญิงเพียงคนเดียวในห้องเรียนวิชากฎหมายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งยังเป็นยุคที่ค่อนข้างกีดกัน

ผู้หญิงในการเรียนกฎหมาย กระทั่งเมื่อเรียนจบเธอทำงานเป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย ขยับสู่นักกฎหมายหญิงด้านสตรีนิยมผู้สร้างตำนานการแก้ไขกฎหมายให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมระหว่างเพศขึ้นมา และต่อสู้สำเร็จในระดับ “เปลี่ยนแปลงสังคม” ได้

Advertisement

หนังพาไปดูว่ากว่าที่ “รูธ กินส์เบิร์ก” จะได้ว่าความในศาลครั้งแรก เป็น “ทนายความ” เต็มตัว เธอก็ต้องใช้เวลามากกว่าทศวรรษท่ามกลางสังคมที่ยังกีดกันบทบาทนี้ของผู้หญิง กระนั้นเธอก็ก้าวมาไกลกระทั่งขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในชีวิต “ผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐ”

ย้อนอ่าน : On the Basis of Sex ‘กฎหมาย’ ที่พึงต้องพิจารณา ตามสภาพภูมิอากาศของ ‘ยุคสมัย’ คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

Advertisement

จากภาพยนตร์ยังมีหนังสารคดีอีก 4 เรื่อง ที่เล่ามุมมองของสตรีได้อย่างลึกซึ้งน่าชม เริ่มจาก “Roxanne Roxanne” เล่าถึงจุดเริ่มต้นของชีวิตศิลปินหญิงฮิพฮอพยุค 80 “ร็อกแซนน์ ชานเต้” แร็พเปอร์หญิงมากพรสวรรค์ที่โด่งดังเป็นพลุแตกตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ปัจจุบันแม้เธอจะไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะออกจากวงการตั้งแต่อายุยังน้อย

ช่วงชีวิตโด่งดังของ “ร็อกแซนน์ ชานเต้” ที่มาทั้งชื่อเสียงและเงินทองในวัยเพียง 14 ปี เธอถูกเอารัดเอาเปรียบ ท่ามกลางวงการดนตรีฮิพฮอพที่มีระบบ “ชายเป็นใหญ่” ความเป็นเด็กสาวไร้เดียงสาของเธอจึงอยู่ยากไม่น้อยในวงการนี้

แม้ยุคสมัยของเธอจะผ่านพ้นไปเนิ่นนานแล้ว แต่ถือว่ายุคหนึ่ง “ร็อกแซนน์ ชานเต้” เคยมีชื่อเสียงเป็นดาวเด่นท่ามกลาง “วงการแร็ป” ที่ถือครองโดยผู้ชาย จัดได้ว่าเธอเป็นแร็พเปอร์หญิงผู้ปูทางให้ “ศิลปินฮิพฮอพหญิง” ในวงการคนอื่นๆ ในเวลาต่อมา

ถัดมาคือภาพยนตร์สารคดี “Little Miss Sumo” เรื่องราวของนักซูโม่หญิงชาวญี่ปุ่น “ฮิโยริ คอน” ที่เริ่มเล่นซูโม่ตั้งแต่ชั้นประถมหนึ่งจนหลงใหลในกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดกว่า 1,500 ปีนี้อย่างมาก ในวัย 21 ปี เธอคือแชมป์กีฬาซูโม่สมัครเล่นหญิงของญี่ปุ่น แต่ภาพความยิ่งใหญ่ทั้งหมดนี้ถูกทำให้พร่าเลือน เมื่อซูโม่ถูกจัดให้เป็นกีฬาอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ชายมากกว่า เพราะโดยเงื่อนไขที่อนุญาตให้ผู้ชายเท่านั้นที่สามารถแข่ง “ซูโม่มืออาชีพ” ได้ ส่วนผู้หญิงที่เข้าสู่วงการนี้ทำได้เพียงลงแข่งในระดับ “มือสมัครเล่น”

หนังสารคดีฉายให้เห็นชีวิตของ “ฮิโยริ” เด็กสาวจากเมืองอาโอโมริ ที่ทั้งมุ่งมั่น และเทิดทูนในกีฬาซูโม่ แต่ความเป็นผู้หญิงในกีฬาชนิดนี้มีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ทำให้ “ฮิโยริ” รู้ดีว่าความปรารถนาหลายอย่างยังเป็นเพียง “ความฝันระยะไกล” แต่เธอก็มีจิตใจนักสู้อย่างเต็มเปี่ยม ท่ามกลาง “ช่องว่าง” ทางเพศที่ถ่างกว้างของกีฬาชนิดนี้

เรื่องราวของเธอได้สร้างพลังใจที่ทำให้เราเห็นถึงชีวิตนักกีฬาซูโม่หญิงที่ต้องต่อสู้กับ “ช่องว่างทางเพศ” ของวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่ถูกยกว่าเป็นของชนชั้นสูง และจำกัดวงเฉพาะผู้ชาย

ย้อนอ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Little Miss Sumo ความฝันระยะไกลของนักซูโม่หญิง ‘ฮิโยริ คอน’

ตามมาด้วย “Ladies First” หนังสารคดีชีวิตนักกีฬายิงธนูหญิงจากอินเดีย “ดีปิก้า คูมารี” ที่ไต่เต้าจนขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นมือวางอันดับหนึ่งของอินเดีย สร้างสถิติในฐานะนักกีฬายิงธนูหญิงดาวรุ่งของโลกที่มีอายุน้อยที่สุด เธอแหกกรอบธรรมเนียมเป็น “นักกีฬา” ภายใต้ค่านิยมของคนในหมู่บ้านที่เธอเกิดและเติบโต ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นผู้หญิงไม่สมควรเล่นกีฬาให้ดูโลดโผน

หนังสารคดีพาไปดูชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตที่ “สู้ไม่ถอย” มาไกลจากจุดเริ่มต้นที่หมู่บ้านในรัฐฌารขัณฑ์ รัฐที่จนที่สุดเป็นอันดับสองของอินเดีย ทั้งยังมองความเชื่อมโยงระหว่างการเป็นนักกีฬาหญิงในสังคมที่ไม่เกื้อหนุนและสนับสนุนผู้หญิงในการเล่นกีฬา ยิ่งทำให้นักกีฬาหญิงรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจได้ตลอดเวลา แม้จะมีทักษะที่เก่งกาจก็ตาม อีกทั้งการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมที่ดีพอจากภาครัฐทำให้นักกีฬาหญิงในอินเดียส่วนมากไปได้ไม่ไกลมากนัก…

“ในประเทศของเราขนาดคนที่มีการศึกษาดียังเชื่อว่าเด็กผู้หญิงเล่นกีฬาไม่ได้ เป็นความคิดที่ล้าหลัง คนมักพูดว่า เลดี้เฟิร์สต์ เชิญสุภาพสตรีก่อน แต่เวลาผู้หญิงอยากก้าวหน้าในชีวิตไม่ว่าจะด้านการศึกษา หรือกีฬา ทำไมไม่พูดเลดี้ เฟิร์สต์บ้าง” ดีปิก้าพูดไว้อย่างเจ็บแสบในสารคดี

ย้อนอ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Ladies First ‘ดีปิก้า คูมารี’ นักกีฬายิงธนูหญิงผู้ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา

ปิดท้ายกันที่หนังสารคดีเรื่อง “Lorena, Light-Footed Woman” หญิงสาวจากชุมชนพื้นเมือง “ตาราอูมารา” ในประเทศเม็กซิโก “ลอเรน่า รามิเรซ” เป็นนักวิ่งแข่งขัน “อัลตร้ามาราธอน” สุดแกร่ง

นักวิ่งหญิงที่ปฏิเสธการสวมใส่รองเท้ากีฬา ชุดกีฬา ชุดวิ่งของเธอคือ ชุดพื้นเมืองกระโปรงบานฟูฟ่องยาวลงมาถึงครึ่งหน้าแข้ง กับรองเท้าแตะรัดส้นแบบทรงสานทำจากยาง เปิดเปลือยให้เห็นนิ้วเท้า ยังไม่นับรวมถึงการไม่มีแก็ดเจ็ตใดๆ ที่ช่วยสนับสนุนการวิ่ง มีเพียงกิ่งไม้ยาวไว้ช่วยพยุงกายช่วงขณะผ่อนจังหวะวิ่งเป็นก้าวเดินเท่านั้น

หญิงสาวจากชุมชนพื้นเมืองในเม็กซิโกได้ท้าทายทุกสิ่งอย่างในโลกแห่งการวิ่ง ราวกับทุกย่างก้าวดำเนินไปตาม “สัญชาตญาณ” ของเธอเองเท่านั้น

ย้อนอ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Lorena, Light-Footed Woman กระโปรงบาน-รองเท้าแตะ… นักวิ่งอัลตรามาราธอนแห่งเม็กซิโก

หนังสารคดีเรื่องนี้พาเราไปลอบสังเกตชีวิต “นักวิ่งแห่งขุนเขา” ที่เธอเริ่มวิ่งอึดด้วยเหตุผลเพื่อความอยู่รอดจากความที่ครอบครัวอยู่ในพื้นที่ไกลห่างจากหมู่บ้านและความเจริญ จะไปไหนจึงต้องเดินหรือวิ่งไปแทน เราจะได้เห็นความทรหดของเธอท่ามกลางเหล่านักวิ่งอัลตร้ามาราธอนผู้ชาย

“การวิ่งสอนให้ฉันมีวินัย รู้จักตั้งเป้าหมาย และเปลี่ยนมุมมอง” ลอเรน่าพูดไว้สั้นๆ แต่คนดูอย่างเรากลับได้สัมผัสถึงพลังของมนุษย์ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ฉีกทุกกฎเกณฑ์ ผ่านภาพมุมสูงระยะไกลเผยให้เห็นป่าเขามหึมาที่โอบล้อม “ลอเรน่า” ขณะวิ่งอย่างเดียวดายราวกับ “กวางป่า” ที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

เป็นภาพยนตร์และหนังสารคดี 5 เรื่อง ที่นำมาเล่าสู่และแนะนำให้ชมกันให้เห็น “พลังของผู้หญิง” ที่กล้าลุกขึ้นมาอยู่แถวหน้าท่ามกลางสังคมที่วางกฎเกณฑ์ทางเพศที่ยากลำบากต่อเธอเหล่านี้

สัปดาห์หน้ามาเล่ากันต่อถึงผลงานภาพยนตร์ และสารคดี ที่เกี่ยวกับ “สตรีกับพลังภายในอันเปี่ยมล้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image