นักวิชาการ รับไม่ได้ ‘ร้อยเอ็ดสิบเอ็ดประตู’ ทำความเท็จเป็นความรู้ ถาม เปลี่ยนคำขวัญ ยากตรงไหน แนะครีเอตใหม่จากตำนานอุรังคธาตุ
สืบเนื่องกรณี นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ควรมีการศึกษาชำระประวัติศาสตร์โดยการตั้งโครงการเปิดเวทีถกเถียงกรณีประตูเมืองร้อยเอ็ดหลังเกิดกระแสตั้งคำถามถึงประเด็นดังกล่าวอีกครั้งเมื่อนายปริญ รสจันทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญ รสจันทร์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เรียกร้องให้หน่วยงานราชการยุติการเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ซึ่งถูกหักล้างไปนานกว่า 10 ปีด้วยข้อมูลทางวิชาการของนักภาษาโบราณ กรมศิลปากร (อ่านข่าว นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด หนุนตั้งเวทีถกปม 11 ประตู ชง อบจ.ตั้งโครงการ เผยอธิบดีกรมศิลป์จ่อลงพื้นที่)
เมื่อวันที่ 4 เมษายน ผศ.ปริญ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า ข้อเรียกร้องของตนไม่ได้ใหญ่โตถึงขนาดต้องชำระประวัติศาสตร์อีกครั้ง เพราะมีการชำระมาแล้วหลายครั้ง เบื้องต้นเป็นที่ยุติมานานกว่า 10 ปีแล้วว่า ไม่มีหลักฐานเรื่อง เมืองสิบเอ็ดประตูตามที่มีผู้อ้างถึงเอกสารซึ่งยังไม่พบว่ามีอยู่จริง สิ่งที่สามารถทำได้เลย คือ หยุดการเผยแพร่วาทกรรมร้อยเอ็ด เมืองสิบเอ็ดประตู
“ขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อ พ.ศ.2558 สมัยผู้ว่าฯ สมศักดิ์ จังตระกูล มีการตั้งคณะกรรมการประวัติศาสตร์ร้อยเอ็ด ผมได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ โดยมีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเป็นผู้ประสานงาน
ตอนนั้นก็ดีใจ คิดว่า จะได้มาถกกันสักทีเรื่องหลักฐาน เลยเขียนอธิบายไปใหญ่โต ส่งเป็นเปเปอร์ไป สุดท้ายก็ถูกเก็บไว้จนถึงบัดนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมามีการชำระครั้งแล้วครั้งเล่า ปี 2555 ก็ทำ 2558 ก็ทำ ตอนนี้ 2566 ก็ยังจะทำอีก ทำแล้วคุณก็เก็บ เก็บแล้วก็ดื้อตาใสเหมือนเดิม
มุมมองส่วนตัวคิดว่าการชำระประวัติศาสตร์ จะเป็นการดองเรื่องนี้ไว้อีก จริงๆ แล้วเรื่องมันง่ายนิดเดียว แค่เอาป้ายที่ติดอยู่ตามที่ต่างๆ ออก หน้าสนามบินร้อยเอ็ดยังมีเลย ในเว็บไซต์ต่างๆ เอาข้อมูลเรื่องสิบเอ็ดประตูออก อะไรมันไม่จริง คุณก็เอาลง แค่นั้นเอง ข้อเรียกร้องนี้ไม่ใช่อะไรที่มันมากมาย ใหญ่โต ขอแค่หยุดผลิตซ้ำความเท็จเท่านั้นเอง หยุดเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่จริง
ส่วนขบวนแห่ในงานประเพณีก็แค่คิดใหม่ เนื้อหาสามารถครีเอตจากตำนานอุรังคธาตุได้เยอะแยะ ไม่รู้ทำไมต้องมายึดติดกับเมืองสิบเอ็ดประตูซึ่งไม่มีหลักฐาน” ผศ.ปริญกล่าว
เมื่อสอบถามถึงกรณีที่ ดร. สาธิต กฤตลักษณ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ระบุว่า คำขวัญที่มีคำว่า 11 ประตู เมื่อไม่ทำให้คนทุกข์ร้อน เกิดเหตุอาเพศ เรื่องอื่นก็ไม่จำเป็น ควรใช้คำขวัญเดิม ไม่เสียหาย อยากให้ทุกคนสามัคคี สร้างสิ่งดีๆ ให้ร้อยเอ็ดนั้น (อ่านข่าว ปธ.สภาวัฒนธรรมร้อยเอ็ดเบรกวิวาทะ ย้อนที่มาคำขวัญจว. ชี้ บ้านเมืองไม่อาเพศ 101 หรือ 11 ประตูก็ไม่สำคัญ)
ผศ.ปริญ กล่าวว่า ถ้ามองกลับกัน ตนคิดว่าอย่างนั้นก็ยิ่งง่าย หากจะทำให้คำขวัญถูกต้อง ในเมื่อไม่มีอะไรเสียหาย ทั้งนี้ เดิมตนไม่ค่อยสนใจเรื่องแก้ไขหรือเปลี่ยนคำขวัญ เคยคิดเพียงว่าควรยุติการเผยแพร่ข้อมูลหรือผลิตซ้ำเนื้อหาเรื่องเมืองสิบเอ็ดประตูเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คำขวัญที่มีข้อมูลเท็จนี้ ถูกนำไปใส่ในบทเรียนให้เด็กและเยาวชน จึงยอมไม่ได้ เพราะการที่ทำให้ความเท็จกลายเป็นความรู้ติดตัวไปเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ควรเริ่มต้นด้วยการยกเลิกคำขวัญจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีท่อนแรกว่า ‘สิบเอ็ดประตูเมืองงาม’ เพราะกลายเป็นสิ่งที่พิทักษ์เรื่องเมืองสิบเอ็ดประตูไว้
“คำขวัญเป็นสิ่งที่สื่อง่าย เข้าใจง่าย หากจะไปเถียงกับใครว่ามันไม่จริง ก็จะโดนเถียงกลับได้ว่า ถ้าไม่จริงทำไมอยู่ในคำขวัญจังหวัด ดังนั้น คำขวัญจึงควรถูกยกเลิกไปก่อน โดยคิดคำขวัญใหม่ก็ได้ คำขวัญเก่าก็มี คำขวัญนี้เหมือนเป็นสิ่งที่ช่วยพิทักษ์เรื่องสิบเอ็ดประตูไว้ ถ้าไม่ยกเลิก ก็ทำอย่างอื่นไม่ได้หรอก การแก้หรือเปลี่ยนคำขวัญ มันยากตรงไหน คำขวัญที่ว่า
สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกต บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ เป็นความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ราวปลายปี 2547 เท่านั้น” ผศ.ปริญกล่าว
ผศ.ปริญ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ดมองว่า คำขวัญเดิมไม่ได้สร้างความเสียหายนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการยกข้อมูลที่ผิดมาทำให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
“ในมุมของการจัดการวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ที่ทำกัน คือหากไม่มีเรื่องจริง ค่อยเมค แต่นี่เริ่มต้นกลับเมคเลย ทั้งที่หลักฐานก็มี คำถามคือ ทำไม เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องนำสิ่งผิดยกขึ้นมาเป็นสิ่งที่ถูก การหยิบข้อมูลที่ผิดมาผลิตซ้ำในท้องถิ่นกลายเป็นเรื่องเสียหาย ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าไม่ใครเขาทักท้วง การทักท้วงเริ่มต้นมาตั้งแต่มีคำขวัญชุดนี้เกิดขึ้นแล้ว และยังทักท้วงมาเป็นระยะ ถ้าดี ถ้าปกติจริง คนจะทักท้วงกันเยอะแยะขนาดนี้ไหม ทำไมคำขวัญจังหวัดอื่น ไม่ค่อยมีการทักท้วงอะไรกัน แต่คำขวัญร้อยเอ็ด นักวิชาการท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศท้วงกันหมด แต่คุณก็เฉย มันคืออะไร” ผศ.ปริญกล่าว
ผศ.ปริญกล่าวต่อไปว่า ย้อนกลับไปเมื่อราว 20 ปีก่อน ในกระบวนการจัดทำคำขวัญ ทางวัฒนธรรมจังหวัดคือแม่งาน โดยรับเรื่องมาจากทางจังหวัดให้ดำเนินการออกประกาศ เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดในขณะนั้นมีนโยบายสร้างเอกลักษณ์ร้อยเอ็ดให้อยู่ในคำขวัญจังหวัด จึงตั้งคณะกรรมการปรับปรุงคำขวัญ โดยให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเป็นเจ้าภาพ เมื่อมีนโยบายอย่างนั้น คำว่า 11 ประตูเมืองงาม จึงเหมือนเป็นการบังคับให้ต้องไปอยู่ในคำขวัญ
“วิธีการทำคำขวัญ เหมือนถูกเซ็ตมาแล้วว่าต้องการประโยค 11 ประตู ซึ่งวัฒนธรรมจังหวัดมีบทบาทในการประกาศ ในการจัดประกวด คำขวัญนี้ มีผู้ทักท้วงว่าไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ เป็นการให้นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ กาเลือกเท่านั้น แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ประเด็นประเด็นคือ มีข้อมูลที่เป็นเท็จในคำขวัญ” ผศ. ปริญกล่าว
อ่านข่าวและเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สุจิตต์ ทวง เอกสารทิพย์ ปม ‘ร้อยเอ็ด-สิบเอ็ดประตู’ เถียงกันมา 30 ปี ถ้ามีขอดูหน่อย
เมืองร้อยเอ็ด ต้องชำระประวัติศาสตร์ เป็นอุบายกลบเกลื่อนปกปิดข้อผิดพลาด
หยุด! ผลิตซ้ำความเท็จ เมืองร้อยเอ็ด ไม่ใช่เมือง “11” ประตู