

พักแรมอยู่ในป่า กองไฟเป็นสิ่งสำคัญ กองไฟจะทำหน้าที่เป็นห้องครัว ห้องกินข้าว ห้องนั่งเล่น รวมทั้งเป็นห้องนอนอันอบอุ่นในวันที่อากาศเย็นจัดเกินกว่าจะนอนอยู่ในเต็นท์ หรือเปล
ในฤดูฝนหรือในกรณีที่ต้องเดินลุยในลำห้วยตลอด กองไฟยังทำหน้าที่เครื่องอบผ้า อบรองเท้า ถุงเท้าด้วย
ในแคมป์ กองไฟทำหน้าที่สำคัญ แม้ขณะอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่า กองไฟก็ยังคงสำคัญ เป็นห้องนั่งเล่นที่ทุกคนจะมาชุมนุม ก่อนแยกย้ายไปนอนห้องใครห้องมัน แต่หลายครั้งมีบางคนเลือกนอนข้างกองไฟ จนดึกๆ น้ำค้างแรง เพื่อนๆ ต้องช่วยกันพยุงกลับห้อง
ที่นี่ เรื่องราวต่างๆ ผลัดกันเล่าสู่กันฟัง ทั้งเรื่องปัญหาการทำงาน สิ่งที่พบเจอขณะลาดตระเวน การวิ่งหลบหลีกสัตว์ป่าตัวที่กำลังเครียดและป่วย เรื่องคับขันที่จะกลายเป็นเรื่องขำๆ
บางคนพบเจอปัญหาชีวิต อกหัก เมียพาลูกกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับความเห็นใจนัก มักถูกเพื่อนๆ ซ้ำเติม เพราะรู้ดีว่า ผู้เล่า ใช้เวลากับเหล้าขาวมากไป เมื่อกลับไปพัก
กลายเป็นเรื่องขำๆ อีก เมื่อคนเล่าร้องไห้ฟูมฟาย
นอกจากเรื่องราวของแต่ละคนแล้ว เรื่องข้างกองไฟ ย่อมหนีไม่พ้นจากเรื่องลี้ลับ
ครัวของหน่วยพิทักษ์ป่าแห่งนี้อยู่ข้างลำห้วยสายเล็กๆ ลำห้วยมีต้นตะเคียนใหญ่ราวสามคนโอบ ล้มทอดตัวยาวทางทิศเหนือ-ใต้ต้นหนึ่ง ตะเคียนต้นนี้ล้มมาร่วม 20 ปี
ในฤดูแล้งระดับน้ำตื้นไหลลอดลำต้น แต่ในช่วงฤดูฝนบางครั้งระดับน้ำท่วมลำต้น ถ้าเป็นเช่นนั้นหมายถึงระดับน้ำจะปริ่มๆ พื้นครัวด้วย
ตะเคียนเป็นไม้ยืนต้นพบเจอได้ตามริมๆ ลำห้วย แต่ละต้นมีอายุนับร้อยปี มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง จึงถูกลักลอบตัดเสมอ แม้จะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์
ไม่เพียงมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนว่า ต้นตะเคียนจะมีมูลค่าสูงทางจิตใจของคนในป่าด้วย
เชื่อกันว่า ต้นตะเคียนเป็นที่อาศัยของสิ่งลี้ลับ และสิ่งลี้ลับนี้จะเป็นผู้หญิง
คนเดินป่าจึงให้ความเคารพต้นตะเคียน หลีกเลี่ยงที่จะทำอะไรที่ไม่เป็นการสมควร เลี่ยงการผูกเปลนอนใกล้ๆ
หลายคนแม้จะไม่เชื่อเรื่องราวแบบนี้ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นในอันที่จะทำให้เพื่อนร่วมทางไม่สบายใจ
เดินผ่านต้นตะเคียน หลายคนยกมือไหว้ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะกลัว หรือเกรงใจในสิ่งที่เล่าต่อกันมา แม้จะไม่เคยเห็น
ที่หน่วยนี้ ในช่วงฤดูแล้ง เส้นทางแห้ง การเดินทางจากสำนักงานเขตใช้เวลาเพียงหนึ่งวัน
เล่ากันว่า ก่อนต้นตะเคียนล้ม บริเวณปลายกิ่งที่ล้มอยู่เคยมีบ้านพักสร้างด้วยไม้ไผ่
ต้นตะเคียนล้มทับบ้านพัง เจ้าหน้าที่ในสมัยนั้นจึงย้ายขึ้นมาอยู่ตรงที่อยู่ปัจจุบัน
ต้นตะเคียนล้ม พวกเขามีความคิดว่าจะเลื่อยเอาไม้มาใช้ประโยชน์ เตรียมคนเตรียมเครื่องมือแล้ว แต่แผนการไม่สำเร็จ
มีผู้ใหญ่ในจังหวัดเข้ามาเที่ยวในช่วงนั้นพอดี ผู้ใหญ่คนนั้นเล่าให้ฟังว่า กลางคืนเขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่บนขอนตะเคียน
แผนการเลื่อยต้นตะเคียนยุติ ไม่มีใครกล้าเลื่อยหรือคิดจะเอาไม้มาใช้ประโยชน์แล้ว

หมาไน – หลังไฟป่าผ่านพ้น ทุ่งหญ้ากลับมาเขียวชอุ่ม เหล่าสัตว์กินพืชมาชุมนุม นักล่าอย่างหมาไนก็ตามมา
ตะเคียนล้มตัวทอดยาว คล้ายเป็นส่วนหนึ่งของลำห้วย
เราใช้ประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ โดยวางสบู่ ยาสีฟันไว้บนขอนไม้ตอนลงมาอาบน้ำ
โดยปกติการอาบน้ำในป่า เมื่ออยู่เฉพาะผู้ชายในตอนกลางคืน ผ้าขาวม้าไม่ใช่สิ่งจำเป็น
แต่เมื่ออาบตรงนี้ ทุกคนจะนุ่งผ้าขาวม้าอย่างเรียบร้อย
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแล้งจัด ไฟป่ามักเข้าช่วงนี้
ไฟไหม้ในทุ่งหญ้าเป็นผลดี ในทุ่งหญ้าแห้งแข็งสูงท่วมหลังกระทิง ด่านที่ใช้เดินรก ไฟช่วยแก้ปัญหาให้ และภายในสองสัปดาห์ พื้นดำๆ ในบริเวณทุ่งหญ้าอันเป็นผลจากไฟ จะเขียวชอุ่ม และมักจะมีสายฝนมาในช่วงนี้
นั่นทำให้ระบัดหรือหญ้าอ่อนๆ คืออาหารที่สัตว์ป่ารอคอย ทั้งสัตว์กินพืช และสัตว์ผู้ล่า
มีสัตว์กินพืชมาชุมนุม สัตว์ผู้ล่าก็ตามมา
ไม่เฉพาะสัตว์ผู้ล่า คนล่าสัตว์ก็มา เป็นเวลาที่คนลักลอบล่าสัตว์รู้เช่นกันว่า เป็นช่วงเวลาที่ดีในการล่ากระทิงเพื่อเอาเขา
เป็นช่วงที่คนทำงานในป่า งานหนักขึ้น ทั้งการลาดตระเวนและเฝ้าระวัง
ในขณะอาหารอุดมสมบูรณ์ อาจหมายถึงความตายของกระทิงบางตัว
กองไฟข้างลำห้วยกองนี้แทบจะไม่เคยดับ สภาพอากาศในช่วงกลางคืนแม้จะเป็นในช่วงฤดูแล้งก็ยังเย็นยะเยือก
เหนือกองไฟ มีกาต้มน้ำที่ถูกเขม่าเกาะหนา ข้างในกา มีสมุนไพรหลายอย่างต้ม น้ำขมๆ ร้อนจัดนั่นช่วยให้อบอุ่น
ในหมู่คนที่นี่ ไม่มีใครเคยเห็น “ผู้หญิง” ที่อยู่ที่ต้นตะเคียนหรอก
แต่อีกนั่นแหละ ในป่า เรื่องแบบนี้ มันคือเรื่องธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของป่า การ “เกรง” หรือนับถือต้นตะเคียนก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน
เรื่องเล่าที่บอกต่อๆ กันมา เป็นส่วนหนึ่งของป่า กลัวป่า กลัวสัตว์
“กลัว” ในสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่รู้จัก ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของคน •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022