เมืองที่ไม่ต้องอัจฉริยะมาก : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

หนึ่งในกระแสความคิดที่สำคัญในการพัฒนาเมืองในปัจจุบันก็คือเรื่องของ “เมืองอัจฉริยะ” (smart cities) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยเฉพาะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากรัฐบาลทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมไปถึงการเป็นที่สนใจกับธุรกิจต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เมืองเหล่านั้น

ในอีกด้านหนึ่งก็มีกระแสที่เริ่มตั้งคำถามกับความอัจฉริยะของเมืองเช่นกัน ซึ่งปรากฏออกมาในลักษณะของการเคลื่อนไหวเรียกร้องว่าเมืองนั้น “ไม่ต้องอัจฉริยะมากก็ได้” (not so smart cities) หรือตั้งคำถามว่าเมืองที่อ้างตัวว่าเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยอัจฉริยะเท่าไหร่ (Smart cities are not so smart.)

อาจจะมีข้อสงสัยกันว่า เมืองอัจฉริยะ ก็ดูจะเป็นความคิดที่ดี แต่ทำไมยังจะมีคนตั้งคำถาม และขอลดความอัจฉริยะของเมืองลง คำตอบหนึ่งก็คือ เมืองอัจฉริยะที่พูดๆ กันนั้นในหลายๆ ที่เป็นเพียงคำพูดที่เอามาใช้กลบเกลื่อนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นด้วยโครงการราคาแพงและมีส่วนกีดกันที่จะทำให้คนอีกจำนวนมาก

ในเมืองนั้นมีโอกาสเข้าถึงเมืองนี้ได้น้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ผู้คนเข้าใจในเรื่องนี้

Advertisement

การศึกษาและนำแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะเข้ามาใช้ในพื้นที่หนึ่งๆ นั้นจึงจะต้องคำนึงที่ความสำคัญของเรื่องความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมของเมืองให้มาก และที่สำคัญต้องเข้าใจว่าเมืองอัจฉริยะนั้นจะต้องมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การเสริมอำนาจให้คนในเมืองด้วยเทคโนโลยี และเข้าใจความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คนที่หลากหลายในเมืองอีกด้วย

ว่ากันว่าแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะนั้นเป็นแนวคิดที่พยายามเข้ามาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของเมืองในด้านเทคโนโลยี เพราะเริ่มมีการค้นพบว่า พื้นที่ของเมืองนั้นมีความเจริญไม่เท่ากันและการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต และโทรคมนาคมอื่นๆ นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นสักประมาณช่วงยี่สิบปีที่แล้ว

ต่อมาแนวคิดดังกล่าวนี้ก็ขยายตัวไปรวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการสื่อสารต่างๆ เพื่อนำมาแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรในเมืองให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันขึ้น ทัั้งในแง่การคมนาคมขนส่ง ความปลอดภัย และการส่งเสริม-สนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากเอกชนในพื้นที่ต่างๆ โดยมีประเด็นทั้งในด้านการนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูง และการใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บและสร้างฐานข้อมูลที่เรากำลังตื่นเต้นกับสิ่งเหล่านี้ในแง่ของ big data หรือการจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่

Advertisement

นิยามสำคัญอีกสองประการที่เพิ่มเข้ามาในเรื่องเมืองอัจฉริยะก็คือเรื่องของความยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของเมือง แต่เรื่องนี้มักจะพูดกันแบบหลวมๆ ไม่ได้เป็นรูปธรรมขนาดพวกโครงการราคาแพง หรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เชื่อว่าเมื่อเมืองมีโครงการคมนาคมขนส่งราคาแพง และมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่แล้ว ประชาชนก็จะสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะเหล่านั้น และสามารถตรวจสอบการให้บริการสาธารณะของรัฐบาลได้

ประเด็นที่เกริ่นมานี้เป็นบทเรียนสำคัญเสมอในการศึกษาวิจัยและพยายามเปลี่ยนแปลงเมือง เพราะมักจะมีช่องว่างระหว่างความใฝ่ฝันและความสวยหรูของแนวคิดการพัฒนาเมือง กับความเป็นจริงของการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะในเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูงซึ่งไม่ใช่แค่การเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระบบที่แข่งขันอย่างเป็นธรรม

แต่เป็นความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและสิทธิในการมีอำนาจในการกำหนดทิศทางและควบคุมการพัฒนาเมืองในภาพรวม (rights to the city) ที่บ่อยครั้งเรามองไม่เห็น หรือ ไม่ทันได้ระแวดระวังในสิ่งเหล่านี้

รูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงในโครงการเมืองอัจฉริยะ จึงมักเป็นเรื่องของการพูดถึงเม็ดเงินการลงทุนของรัฐและเอกชน ภาพฝันของความทันสมัยทางเทคโนโลยี ซึ่งบรรดาขบวนการเคลื่อนไหวใน เรื่องของความไม่ต้องอัจฉริยะมากของเมืองนั้นพยายามชักชวนให้ผู้คนเริ่มตระหนักว่า ความสำคัญของเมืองอัจฉริยะที่แท้จริงนั้นควรจะอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาในเมือง

และปัญหานั้นจะต้องเป็นปัญหาที่ไม่ใช่แค่ปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาทางธุรกิจ แต่ต้องคำนึงถึงปัญหาทางสังคมด้วย หรือว่าง่ายๆ ว่าต้องศึกษาและเข้าใจปัญหาทางสังคมและปัญหาของผู้คนให้ลึกซึ้ง ก่อนที่จะตื่นเต้นว่าจะต้องลงทุนด้วยเทคโนโลยีราคาแพงภายใต้ข้ออ้างว่าเมื่อลงทุนในเทคโนโลยีราคาแพงเหล่านั้นแล้วปัญหาของผู้คนและสังคมรวมทั้งท้องถิ่นนั้นจะบรรเทาเบาบางหรือหมดไปง่ายๆ หรือหมดไปโดยอัตโนมัติ

จนบางครั้งก็เริ่มสับสนว่าตกลงเราจะเน้นการอัพเกรดเทคโนโลยี หรือจะเน้นการอัพเกรดคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมกันของผู้คนในเมืองนั้น หรือการอัพเกรดเทคโนโลยีกับการอัพเกรดคุณภาพชีวิตอย่างเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรมในเมืองนั้นมันเป็นเรื่องเดียวกันแน่ๆ ใช่ไหม?

ในกรณีของประเทศที่เจริญแล้ว หนึ่งในข้อถกเถียงในเรื่องของเมืองอัจฉริยะก็คือ เมื่อมีการพูดถึงโครงการต่างๆ ที่จะสร้างความอัจฉริยะของเมืองนั้น เอาเข้าจริงแล้วโครงการเหล่านั้นมีแรงจูงใจเบื้องหลังที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน และเป็นธรรมของเมืองจริงหรือไม่

บ่อยครั้งเกิดคำถามขึ้นมาวิธีคิดในเรื่องของการสร้างเมืองอัจฉริยะ และการสร้างเมืองในภาพรวมนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีกำหนดทุกอย่าง” ประเภทใหม่ขึ้นต้องดีขึ้นโดยอัตโนมัติ เหมือนกับพวกรายการจำนวนมากในช่องยูทูบ ที่มีคนมาแนะนำสินค้าเทคโนโลยีราคาแพง โดยไม่ได้ทดสอบจริง หรืออธิบายถึงต้นทุนที่เสียไปกับการได้มาซึ่งเทคโนโลยีแบบนั้น เราจึงไม่ค่อยเห็นรายการประเภทว่า แม้ว่าสินค้าไฮเทคเหล่านั้นจะดี แต่ถ้าดูภาพรวมของชีวิตเราแล้ว ควรจะนำเงินก้อนนั้นไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพื่อให้คุณภาพชีวิตในภาพรวมของเราดีขึ้น

รวมทั้งกรณีของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการจัดเก็บนั้น บ่อยครั้งที่เราไม่ได้ตั้งคำถามและสนใจว่า ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นนั้นเรามีความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้นไหมว่าทำไมจะต้องจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้น อาทิ การที่บริษัทเอกชนจำนวนมากขอข้อมูลบัตรประชาชนของเราในการไปสร้างฐานข้อมูลของเขา ทั้งที่ใน ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกานั้น ข้อมูลตัวเลขประกันสังคมเป็นข้อมูลที่มีค่าและความสำคัญ ไม่ใช่ข้อมูลที่จะต้องกรอกให้เอกชนห้างร้าน แต่ข้อมูลที่จะต้องกรอกมักจะเป็นเรื่องของหมายเลขโทรศัพท์บ้าน เพราะเป็นการยืนยันการมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมีที่อยู่ที่แน่นอน รวมทั้งในหลายกรณีเป็นการยืนยันว่าเราต้องลงทะเบียนกับสถานีตำรวจในพื้นที่

อย่าลืมว่าเราไม่ค่อยรู้อะไรมากนักว่าข้อมูลที่ปรากฏตัวขึ้นในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เราค้น เช่น ร้านอาหาร สถานที่ต่างๆ หรือความเห็นที่เราใส่เข้าไปนั้นมันถูกนำไปทำอะไรบ้าง และมีผลอะไรต่อชีวิตเราในระยะยาว บริษัทที่เอาข้อมูลของเราไปนั้นมีส่วนทำให้บริการสาธารณะในพื้นที่รอบบ้านเราดีขึ้นไหม หรือมีส่วนแต่ทำให้ราคาที่ดินและต้นทุนการใช้ชีวิตของเราสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการลงทุนและถือครองที่ดินรอบบ้านเรามากขึ้น

อีกอย่างหนึ่งที่มีการถกเถียงกันเรื่องเมืองอัจฉริยะก็คือ เมืองอัจฉริยะที่อ้างตัวจากโครงการคมนาคมหรือเทคโนโลยีการสื่อสารขนาดใหญ่ราคาแพง โดยเฉพาะที่อิงกับการลงทุนของเอกชน และของรัฐนั้น เริ่มมีการตั้งคำถามว่าหลักประกันในการพึ่งพาต่อโครงการแบบนี้จะมีความยั่งยืนแค่ไหน บ่อยครั้งที่เราเห็นโครงการอัจฉริยะต่างๆ ล้มลงไม่เป็นท่า หรือเป็นอนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวของเมือง

ที่สำคัญอีกด้านก็คือต้นทุนที่เสียไปกับการพึ่งพาบริการจากผู้ให้บริการรายเดียว และด้วยเทคโนโลยีแบบเดียวนั้น จะเป็นปัญหามากในกระแสของ disruption หรือการแข่งขันในโลกธุรกิจที่วันหนึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นทำให้กระบวนการทำธุรกิจหรือให้บริการในแบบเดิมนั้นหมดความหมายลง หรือเลิกใช้ไปเลยทั้งที่งบประมาณการลงทุนในเรื่องนั้นยังมีอยู่ เรื่องแบบนี้คงต้องถามกันล่ะครับว่าหลายครั้งนั้นเราก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีและบริการต่างๆ นั้นมันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแค่ไหน แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ใครจะแบกรับต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น หากงบประมาณมหาศาลนั้นถูกทุ่มลงไปในโครงข่ายและกิจการสาธารณะในแบบเดิมในนามของความอัจฉริยะของเมือง

ทิศทางใหม่ของการสร้างเมืองอัจฉริยะในวันนี้คือการทำความเข้าใจความสลับซับซ้อนของเมืองในฐานะสิ่งที่มีชีวิตที่มีเสน่ห์มากขึ้น เปิดกว้างมากขึ้น เท่าเทียมเป็นธรรมมากขึ้น น้อมรับเอาความคิดเรื่องของความไม่แน่ไม่นอนและความบังเอิญมากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้คือเสน่ห์ของเมือง

อธิบายตามประสาคนที่สนใจเมืองก็คือ ต้องการสร้างเมืองอัจฉริยะแบบ Simcity (เกมสร้างเมืองที่เรามองจากมุมบนลงไป ไม่ได้มองจาก street view และคนในเมือง) หรือเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ และเต็มไปด้วยความเหมือนกันไปหมด หรืออยากได้เมืองน่าอยู่น่าเที่ยวน่าค้นหาแปลกตาตื่นใจด้วย ไม่ใช่เมืองที่ทุกส่วนเหมือนกันไปหมด

หรือโจทย์ประเภทเมืองน่าอยู่ที่ทุกคนอยากค้นหาเมืองของตนเองเพิ่มขึ้น ไม่ใช่รอแค่วันหยุดยาวที่จะออกไปเที่ยวเมืองอื่น ขณะที่่วันธรรมดาหรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์เราไม่ค่อยจะมีกิจกรรมต่างๆ ภายในเมืองของเราเอง หรือเราไม่ค่อยรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบชุมชนหรือรอบบ้านเรา เพราะในข้อมูลอันแสนอัจฉริยะที่เอกชนอ้างว่าเปิดให้เราใช้ฟรีๆ นั้น มีแต่ข้อมูลร้านอาหารและธุรกิจอื่นๆ แต่ไม่ได้มีข้อมูลพื้นที่สาธารณะและกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับเราในแบบที่ไม่ต้องเกี่ยวกับการใช้เงินใช้ทอง หรือไม่ได้มีข้อมูลความน่าอยู่ และความพร้อมของบริการสาธารณะในพื้นที่นั้นอย่างจริงจัง

ทิศทางที่สำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องของแนวโน้มในหลายๆ ที่ในโลกที่ว่าด้วยความอัจฉริยะของเมืองที่ถูกตีความไปในแง่ของการเอาข้อมูลเป็นสรณะ โดยการใช้ข้อมูลไปในทิศทางของการ ควบคุม เฝ้าติดตามตรวจสอบ และใช้มาทำการตลาดเป็นหลัก (survillance-marketing paradigm) โดยเชื่อว่าผู้มีข้อมูลนั้นสามารถเฝ้าติดตามตรวจสอบประชาชนโดยข้อมูลต่างๆ ที่เก็บเอาเองโดยที่พลเมือง/ประชาชนไม่ต้องรู้ก็ได้ เช่นข้อมูลจากการค้นหาข้อมูลเหล่านี้ก็เพียงพอที่จะติดตาม คาดเดาพฤติกรรมของเราโดยไม่จำเป็นต้องถามจากเราโดยตรง (data extractivity) ซึ่งนอกจากไม่ถามเราแล้วยังเอาข้อมูลเราไปใช้ โดยไม่ถาม และเราตรวจสอบไม่ได้ว่ามันดีกับเราจริงไหม หรือเราถูกลดสถานะลงมาเป็นเพียงแค่หมากในกระดานการออกแบบ-ลงทุนของพวกเขาเท่านั้น

คำถามที่จะต้องมีต่อปรากฏการณ์เหล่านี้ก็คือว่า เราไม่รู้ว่าความอัจฉริยะของเมืองนั้นมีข้อมูลอะไรที่รัฐและเอกชนรู้เกี่ยวกับเรา แล้วเราไม่รู้บ้าง และเขาเอาข้อมูลเหล่านั้นไปทำอะไรไปแบ่งให้ใครบ้าง และสิ่งเหล่านี้มันจะกลับมาทำให้เกิดอะไรกับเราบ้างในเรื่องชีวิตของเรา อัตลักษณ์ของเรา สิ่งเหล่านี้เราจะกลายเป็นสิ่งที่เขาจูงใจให้เราทำเพราะเขารู้เรา แต่เราไม่รู้เขาใช่ไหม สิทธิมนุษยชน สิทธิของการมีอำนาจกำหนดความเป็นไปในเมืองของเราอยู่ที่ไหน ความเป็นส่วนตัวของเรายังมีอยู่ไหม อะไรคือนัยยะในเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจในเมือง การควบคุมที่เรามีต่อเมือง อะไรคือ เสรีภาพ เสน่ห์ และนัยยะของประชาธิปไตยในระดับเมือง

ตัวอย่างที่สำคัญอีกประการคือการที่เราชอบพูดถึงการเปิดกว้างเรื่องข้อมูล open data นั้น เรากำลังใช้ข้อมูลที่เปิดกว้างนั้นเปิดเมืองให้กว้างขึ้น (open city) และปกป้องตัวเราจากความผันผวนและการแสวงหากำไรที่ไม่เป็นธรรม หรือจากการที่เราไม่มีอำนาจในการกำหนดชีวิตเราและชีวิตเมือง หรือจากการพัฒนาที่อาจจะผลักคนบางกลุ่มรวมทั้งตัวเราออกจากเมืองและความมั่งคั่งของเมืองได้มากน้อยแค่ไหน

หรือว่ายิ่งอัจฉริยะแล้วยิ่งแพงและยิ่งอยู่ยาก รวมทั้งอำนาจของเราต่อทิศทางการพัฒนาเมืองยิ่งน้อยลง ตรวจสอบการทำงานรัฐก็ไม่ค่อยได้ แถมยังไม่รู้ว่าเราเป็นเพียงหมากในกระดานการลงทุน และเปลี่ยนแปลงเมืองแค่ไหน

เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว อัจฉริยะไม่ต้องมีก็ได้

ขอให้มีเสน่ห์เพิ่มสักหน่อย เป็นธรรมขึ้นบ้าง และมีเสรีภาพเพิ่มอีกสักนิดก็น่าอยู่แล้วครับ

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

จากเมือง ‘เดิน’ ได้ สู่เมือง ‘ดม’ ได้ : มลพิษทางอากาศในเมือง

การกระจายอำนาจหายไปไหน?

เทคโนโลยีกับการแก้ปัญหาความยากจน

การเดินหน้าลงน้ำอีกครั้งหนึ่งของกรุงเทพฯ

ก่อนจะลดโลกร้อน… ลดเมืองร้อนกันก่อนไหม

จากปัญหาฝุ่น สู่ปัญหามลพิษทางอากาศในเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image