ยกข้อมูลโต้ชัด ‘ตึกหุ่นยนต์’ แบบเดิมประหยัดพลังงานกว่า ย้ำ ปรับปรุงได้แต่ต้องคงคุณค่า

กลุ่มรักษ์ตึกหุ่นยนต์ ยัน แบบเก่าประหยัดพลังงานกว่า แนะ ปรับปรุงได้ แต่ควรคงคุณค่า

สืบเนื่องกรณี ธนาคารยูโอบี (UOB) เจ้าของตึกหุ่นยนต์ (Robot Building) กำลังรีโนเวตอาคารสำนักงานดังกล่าว ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2541 ที่ได้รับการขนานนามว่าทันสมัย แปลกไม่เหมือนใคร ทั้งยังอยู่คู่ย่านสาทรมานานกว่า 3 ทศวรรษ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์ผ่านทางโซเชียล ด้วยความเสียดายสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยนั้น (อ่านข่าว ‘สมาคมสถาปนิกฯ-Docomomo Thai’ แนะ UOB ทบทวน ‘รีโนเวตตึกหุ่นยนต์’ อนาคตเป็นอาคารปวศ.)

เมื่อวันที่ 28 เมษายน เวลา 10.30 น. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กลุ่มรักษ์ตึกหุ่นยนต์ ร่วมกับสมาคมอนุรักษณ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) และกลุ่ม Docomono Thai (คณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยการเก็บข้อมูลและการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโมเดิร์นไทย) ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว

ในตอนหนึ่ง มีผู้สอบถามว่า ธนาคารยูโอบีแจงว่าจะปรับปรุงอาคารโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก วัสดุดั้งเดิมนั้นมีปัญหาอย่างไร หรือทำมาจากวัสดุชนิดใด

Advertisement

นางปองขวัญ ลาซูส ประธาน Docomomo Thai กล่าวว่า สิ่งที่ยูโอบี (UOB) พูดเป็นสิ่งที่สถาปัตยกรรมยุคใหม่ทำกันอยู่ทั่วไป การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในตึกทั่วไปนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่อาคารนี้เป็นมรดกสถาปัตยกรรม ที่จะต้องคงไว้ซึ่งคุณค่าของลักษณะวัสดุที่ใช้ รวมถึงเทคโนโลยีในการก่อสร้างยุค 80

“ในยุคนั้นสิ่งที่ดร.สุเมธ ชุมสายฯออกแบบ ท่านมีเหตุผลของท่าน คือ ความทึบที่อยู่ด้านข้าง ซึ่งเราอาจจะไม่ชอบ เพราะแสงไม่เข้า แต่การที่แสงไม่เข้า เป็นการประหยัดพลังงานมากกว่ากระจก ส่วนที่บอกว่าจะประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วยการใช้กระจกรอบด้าน ข้อกล่าวอ้างนี้ 1.ไม่จริง 2.เรื่องการอนุรักษ์ตึกที่มีการคิดสร้างสรรค์อย่างดี ประหยัดพลังงาน ใช้เทคโนโลยีที่ใช้วัสดุทันสมัยในยุคนั้น ยืนยันว่าตึกหุ่นยนต์ของเดิมประหยัดพลังงานกว่า” นางปองขวัญกล่าว (อ่านข่าว อ่านรธน.กลางหอศิลป์ สถาปนิกลั่น ขอปกป้องมรดกชาติ จ่อยื่นวุฒิสภา เสนอ 3 ข้อ Saveตึกหุ่นยนต์)

ด้านนายวีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) เสริมว่าแนวคิดประหยัดพลังงานสมัยนั้น มีเทคโนโลยีวัสดุที่ใช้น้อย กระเบื้องเซรามิกเป็นวัสดุในสมัยนั้น ซึ่งมีการขอให้ผู้ผลิต ทำชิ้นกระเบื้องใหญ่ขึ้น

Advertisement

“กระเบื้องเซรามิกปกติใช้ปูพื้น ใช้ปูผนัง มีขนาดเล็กเล็ก 8 × 8 แต่ในสมัยนั้นมีการสั่งให้ผลิต เป็นเซรามิกขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องพัฒนาเรื่องเทคนิคการเกาะผนัง เพราะการใช้ไปเกาะผนัง มันไม่สามารถทำได้ง่ายๆ มันสามารถหลุดร่วงลงมาได้ตลอด” นายวีระพันธุ์เล่า

นายวีระพันธุ์ อธิบายต่อว่า ผนังจะกันแสง กันความร้อนเข้ามาทางด้านตะวันตก-ตะวันออกซึ่งเป็นด้านที่รับความร้อนได้ง่าย ก็ใช้เป็นผนังทึบ ฉะนั้นมันจึงประหยัดพลังงานได้ อีกอย่างคือ ในวัสดุตัวกันสาด เป็นอลูมิเนียมชุบสี ซึ่งสมัยนั้นเป็นครั้งแรกๆ ที่นำมาใช้

“ระบบกระจกที่ใช้ก็เป็นระบบกระจกที่ prefabricate จากโรงงาน แล้วมา insert เข้าไป ซึ่งเป็นวิธีการออกแบบที่ล้ำยุคไปในสมัยนั้น จริงๆ แล้ว มันเป็นมารยาททางสถาปัตยกรรมของสถาปนิก ถ้าเราออกแบบสักอาคารขึ้นมา แล้วเจ้าของอยากจะปรับปรุงต่อ อาจจะไปติดต่อสถาปนิกอีกท่านก็ได้ แต่มันควรจะต้องมีการสื่อสารระหว่างสถาปนิก คนที่รับช่วงงานต่อกับคนเก่า เพื่อจะได้รู้ข้อมูลต่างๆ ก็สามารถทำได้ แต่อันนี้มันไม่เกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ ไม่ได้เป็นความผิด แต่เป็นเรื่องมารยาทเฉยๆ” นายวีระพันธุ์กล่าว (อ่านข่าว สถาปนิกชื่อดังรวมตัวแถลงจี้หยุดทำร้าย ‘ตึกหุ่นยนต์’ ชี้ ขึ้นแท่นมรดกสถาปัตย์ระดับโลกยุค 80)

ด้านนายวิชัย ตันตราธิวุฒิ ประธานกลุ่มรักษ์ตึกหุ่นยนต์ กล่าวว่า ในอเมริกาจะมีตึกเก่าที่มีคุณค่า เวลาเขาปรับปรุงเขาจะรักษาคุณค่าเอาไว้ โดยมีการปรับให้ทันสมัยขึ้น เพราะเรื่องแสงสว่างหรือแอร์คอนดิชั่นต่างๆ ต้องเข้ามามีส่วนในการให้ความสะดวกกับผู้ใช้อาคาร

“ทำได้ แต่ขอให้มีการคุยกันเพื่อที่จะทำให้แบบคงคุณค่าเอาไว้” นายวิชัยกล่าว (อ่านข่าว ชัชชาติ วาร์ปฟังกลุ่ม ‘รักษ์ตึกหุ่นยนต์’ แนะทำ Inventory list นักอนุรักษ์เผย เคยยื่นแล้ว แต่ไม่ได้ผล)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image