ส.ก.ถกหนัก เทรนด์รถ EV ‘แบตจุ-น้ำหนักเพิ่ม’ สะพาน-ตึกรับไหว? ไม่อยากเห็นภาพโศก

กทม.ต้องเป็นผู้นำ! ส.ก.ถกหนัก เตรียมรับเทรนด์รถ EV ‘แบตจุ-น้ำหนักเพิ่ม’ หวั่นโครงสร้าง ‘อาคาร-สะพานเก่าถล่ม’ รองผู้ว่าฯ ลุกตอบ จ่อออกแผนรองรับล่วงหน้า

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และ ส.ก.ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 3 ประจำปีพุทธศักราช 2567

ตอนหนึ่งของการประชุม นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ ยื่นญัตติเสนอเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของอาคาร สะพานเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มมากขึ้น

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า เมื่อ 25 ตุลาคม 2566 ตนได้ยื่นญัตติเรื่องความปลอดภัยไฟไหม้รถ EV ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องกัน เนื่องจากว่ารถยนต์ EV มียอดขายมากขึ้นในประเทศไทย และโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีข้อดีเยอะมาก แต่มันก็มีจุดด้านก็เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ของพ่อแม่พี่น้องชาวกรุงเทพฯ (ย้อนอ่านข่าว : ส.ก.จัดหนัก! ยกสถิติ ‘รถ EV ไฟลุก’ ดับแล้วยังปะทุ- รองผู้ว่าฯ แจงแผน ‘เฮียล้าน’ โต้ ทำจริงไม่เหมือนทฤษฎี)

Advertisement

โดยปัญหาหลักจากรอบที่แล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2 ประเด็นแรกคือ เรื่องแบตเตอรี่ เวลาไฟไหม้ทีไหม้นาน และไหม้หนัก ส่วนเรื่องที่สอง คือควันและน้ำ ที่เอาไว้ใช้ในการดับเพลิงมันเป็นพิษ แต่คราวนี้จะมาถึงเรื่องน้ำหนักของรถยนต์ EV

“รถ EV แม้จะมีชิ้นส่วนรถน้อยกว่ารถยนต์สันดาป (ICE) ชิ้นส่วนมันน้อยกว่าเยอะ แต่สิ่งที่ทำให้มันหนัก คือแบตเตอรี่ หนักกว่า 30-50 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขเบื้องต้นของน้ำหนักรถยนต์รุ่นที่หนักที่สุด มาจนถึงรถ EV รุ่นที่เบาที่สุด สรุปสั้นๆ เลย รถ EV หนักกว่ารถยนต์สันดาปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์” นายกิตติพงศ์เผย

Advertisement

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว คาดการณ์ว่ายอดรถยนต์ EV ยอดตอนสิ้นปีว่าจะขายดี ซึ่งยอดขายสิ้นปีที่แล้ว ได้ยอดตัวเลขมา มีการจดทะเบียนป้ายแดง ตัวเลขกลมๆ 50,000 คัน มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แปลว่ามันเติบโตดีมาก

“ลองคิดว่าเรามีรถยนต์ EV น้อยที่สุดแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องมีอย่างต่ำ 1 หมื่นคัน พร้อมน้ำหนักรถที่มากขึ้น มาขับอยู่ในกรุงเทพมหานครนี้ คราวนี้ก็จะเป็นคำถามจากฝั่งสภากทม. ไปถึงฝั่งบริหารว่า ในเมื่อรถ EV เติบโตมากขึ้นขนาดนี้ อาคาร และสะพานต่างๆ ใน กทม.ปลอดภัยหรือไม่ หากรถ EV มากขึ้น ที่จะไปใช้สถานที่เหล่านี้” นายกิตติพงศ์ชี้

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องอาคารจอดรถยนต์ปี 2521 ข้อ 14 น้ำหนักบรรทุกของอาคารจอดรถยนต์ เพื่อใช้คำนวณออกแบบต้องไม่ต่ำกว่า 400 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร สำหรับรถยนต์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 ตัน กับแบบที่สอง หนักบรรทุกไม่ต่ำกว่า 800 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับรถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเกิน 2 ตัน

“ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขตั้งแต่ 2521 ก็เกือบ 40 กว่าปีแล้ว ข้อบัญญัตินี้อายุมากกว่าผมอีกด้วยซ้ำ สิ่งที่ผมอยากจะสื่อว่า สมัยก่อนรถรุ่นเดียวกันมันมีน้ำหนักเบากว่านี้ และข้อบัญญัตินี้ 40 กว่าปีแล้ว ซึ่งมันไม่ความกังวลของผมต่อตัวเลขเหล่านี้ต่อไป” นายกิตติพงศ์ชี้

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า ตนขอยกตัวอย่างเพื่อเห็นภาพถึงความกังวลต่อสภาฯ แห่งนี้ เช่น ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โฆษณาอย่างเป็นประจำว่ามีการคารจอดรถ 3,000 คัน ทุกเสาร์หรืออาทิตย์ ตนไปแล้วไม่เคยได้ที่จอดบนชั้นต้นๆ เมื่อได้ไปจอดรถชั้นบนพบว่า ห้างแทบไม่มีที่จอด มันแปลว่าห้างแห่งนี้รับโหลดน้ำหนักเต็มน้ำหนักแทบตลอดเวลา ของเสาร์-อาทิตย์ หรือวันธรรมดาตอนเย็น

“หากห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ รับโหลดเต็มน้ำหนัก เปลี่ยนถ่ายเป็นรถ EV ทั้งหมด อาคารนี้จะต้องรับน้ำหนักขั้นต่ำ 1.5 ล้าน กิโลกรัม หรือ 1,500 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นน้ำหนักที่หนักมาก ผมอาจจะพูดให้มันดูน่ากลัว แต่ว่าอาคารหลังนี้เพิ่งสร้างได้ไม่ถึง 20 ปี ไม่รู้ว่าการรับน้ำหนักเป็นอย่างไรบ้าง” นายกิตติพงศ์กล่าว

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า กระบะหนักเป็น 2 เท่าของรถเก๋ง ที่เราใช้อยู่ในการรับโหลดทุกวันนี้ และรถยนต์ EV กำลังได้รับความนิยมในประเทศเรา แต่ในกรุงเทพมหานครของเรา ยังคงมีสะพานไม้อยู่ 2 แห่ง อย่างน้อยอยู่ในเขตทุ่งครุ 2 แห่ง สะพานไม้รับน้ำหนักไม่ได้เหมือนสะพานทั่วไปแน่นอน ทั้งน้ำหนักรถและขนของอีก

อีกสถานที่ คือ โรงแรมเก่า ซึ่งยังไม่แปลงสภาพเอารถขึ้นไปชั้น 2-3 อยู่ รวมถึงบ้านเก่า ที่รถ EV ต้องชาร์จตามโรงสร้างบ้านไทยๆ หลายคนไม่เอาที่ชาร์จไว้นอกตัวบ้าน แต่เอาไว้ชั้นหนึ่งของบ้าน ซึ่งคานรับน้ำหนักรับได้ 150-200 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งเราจะเห็นปัญหาว่าบ้านแอ่น บ้านทรุด บ้านต่างๆ ที่ไม่ได้ลงเสาเข็มที่โรงจอดรถ มันก็ต้องมานั่งดัดแปลงกันปัญหาระยะยาว

“หลายคนบอกรอ 1-2 ปีก่อน ค่อยซื้อรถ EV แต่หลายคนที่เขารอไม่ได้ เขาบอกว่าไม่เป็นไร ซื้อมาเป็นรถคันที่สองของบ้าน เวลาไปต่างจังหวัดก็ค่อยขับไปข้างนอก ทีนี้พอมันเป็นรถคันที่ 2 เขาก็ต้องจอดในบ้าน แต่บ้านรับน้ำหนักได้เพียง 150-200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ผมคิดว่ามันไม่น่าจะเพียงพอ ซึ่งแบบอาคารพาณิชย์ หรือ ห้องแถว เป็นหนึ่งในแบบบ้านที่เยอะมาก โดยเฉพาะกรุงเทพชั้นใน” นายกิตติพงศ์ชี้

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า การเติบโตของรถ EV นำมาสู่คำถามว่า ทาง กทม.มีนโยบาย ความพร้อมรองรับอย่างไร เพื่อป้องกันความเสี่ยงในเรื่องน้ำหนักรถ EV โดยเฉพาะอาคารเก่าในกรุงเทพฯ ส่วนคำถามที่สอง คือรถ EV ไหม้นาน ดับยาก ซึ่งอาคารที่เคยดับง่ายภายในครึ่งชั่วโมง แต่รถ EV บางครั้งดับแล้วลุกขึ้นมาใหม่ หรือบางกรณีที่ดับยากใช้เวลาเกือบ 24 ชั่วโมง พร้อมยกตัวอย่างอาคาร World Trade Center ถล่มเมื่อปี 2001 เพราะทนความร้อนไม่ไหว

นายกิตติพงศ์กล่าวต่อว่า อาคารทั้งหลายที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ได้ออกแบบถึงขนาดทนความร้อนที่รถ EV ไฟไหม้ในบ้านได้ และระบบดับเพลิงตามอาคาร คอนโด ควรยกเครื่องหรือไม่ สุดท้ายมันเป็นหาที่เวลาลงพื้นที่ชาวบ้านมักเดินมาบอก ตนไม่ทราบว่า 8 ปีที่แล้ว ส.ก.ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็ไม่ทราบว่าพวกท่านได้กังวลกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่ แต่แน่นอนว่าวันนี้เรามี ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้ง เราก็จะเอาปัญหาของประชาชนมาพูดในสภา กทม.

“เราไม่อยากเจอข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าถอดบทเรียนที่เกิดขึ้น หรือคำที่ไม่สุภาพ คือล้อมคอก เวลามันเกิดอะไรขึ้นมา เช่น รถ EV ไปจอดในบ้าน อาคาร เกิดร้าว หรือถล่มลงมา หรือเกิดเพลิงไหม้แล้วไม่มีความสามารถในการดับเพลิงได้ เพราะยังใช้โครงสร้างแบบเก่าอยู่ในการดับเพลิง” นายกิตติพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่เราสมควรที่จะศึกษา เพราะน้ำหนักรถมันเพิ่มขึ้น มันมีแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนัก ถึงแม้ว่ารถ EV จะลดเรื่องมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ข้อเสียที่ควรศึกษา คือ เรื่องน้ำหนักมันที่เพิ่มมากขึ้น

นายสุทธิชัยกล่าวต่อว่า น้ำหนักรถยนต์ประมาณ 2,500 กิโลกรัม เดิมต่อตารางเมตรเขาจะกำหนดว่ารับน้ำหนัก 250 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ทุกวันนี้ประเทศอังกฤษ เขามีการพัฒนาเตรียมการล่วงหน้าไว้แล้วว่า น้ำหนักที่จะรับโครงสร้างต่อรถคันหนึ่ง เพิ่ม 20 เปอร์เซ็น จาก 250 เป็น 300 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

“สิ่งที่เขาให้ความสำคัญต่อการรองรับความปลอดภัย ในการจอดรถ ดูแลพี่น้องประชาชนด้านอาคาร เขาเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว เขาปรับเป็น 300 กิโลกรัมแล้ว เขามีการรองรับเรื่องนี้เป็นขั้นเป็นตอน จนประชาชนเขารู้สึกอุ่นใจ ในการไปจอดรถ EV แล้วรู้สึกว่าไม่เป็นปัญหา ซึ่งค่าเฉลี่ยของรถ EV ที่น้ำหนักมากขึ้นกว่ารถใช้น้ำมัน มีความแตกต่างกัน ลองคิดดูว่าหลายคันจอดพร้อมกัน มันมีน้ำหนักมากขึ้น อาคารจะรับไหวไหม เราจะมีการตรวจสอบไหม ตรงนี้เป็นข้อสำคัญ” นายสุทธิชัยชี้

นายสุทธิชัยกล่าวว่า ขณะนี้น้ำหนักรถใช้น้ำมันตามกระทรวง มันจะเพิ่มขึ้นเป็น 400 กิโลเมตรต่อตารางเมตร ถ้าจะดูเรื่องความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างที่รองรับน้ำหนักได้ให้ดี และปลอดภัย ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 ปี 2527 ขาจะดูน้ำหนักว่า ตลาด อาคาร ห้างสรรพสินค้า ห้องประชุม ห้องอ่านหนังสือ ที่จอดรถยนต์ เขาจะเขียนเลยว่า 400 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เขามีการเตรียมการซึ่งยังไม่พอ

“เราต้องเตรียมการ เพื่อดูแลความมั่นคงของอาคารเก่า เนื่องจากน้ำหนักที่กระทำต่อโครงสร้างมากขึ้น จะต้องมีการตรวจสอบโรงสร้างเพิ่มเติม กำลังการรับน้ำหนักเพียงหรือไม่ ต้องตรวจหลายอาคาร ถ้าญัตตินี้ผ่านผมคิดว่าท่านรองผู้ว่าฯ คงต้องตื่นตัวเช่นเดียวกัน สำนักโยธา สำนักระบายน้ำ ต้องมาช่วยกันดู ต้องมาดูอาคารที่จะต้องมารับน้ำหนักรถ EV ที่หนักเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ของรถสันดาป แต่โครงสร้างเดิม เราไม่ได้คำนวณเพื่อรองรับในเรื่องนี้” นายสุทธิชัยชี้

นายสุทธิชัยกล่าวอีกว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีแบตเตอรรี่ขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และไฟฟ้าลัดวงจร เกิดความผิดปกติ เราจะดับโดยใช้น้ำอย่างเดียว หรือ ถ้าหากเกิดบนถนนสำนักป้องกันภัยฯ เรามีการเตรียมหรือไม่ ซึ่งต่างประเทศเกิดเพลิงไหม้ลักษณะนี้เขามักใช้ผ้าคลุมไฟ แล้วมันจะไหม้คันนั้นคนเดียวแล้วไม่ลุกลามไปคันอื่น เราควรศึกษาเรื่องนี้หรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น

“เราจะต้องมาช่วยกันคิด ระดมความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนที่ใช้รถ EV แล้วก็มาจอดรถแบบปลอดภัย ผมไม่อยากให้เห็นโครงสร้างที่ถล่มมา แล้วเป็นข่าวเป็นคราวแล้วเราจะแก้ไขกันไม่ทัน ฝากไปยังท่านรองวิศณุฯช่วยกันดูแล ทางสภาผมคิดว่าเราช่วยกัน เพื่อจะได้ขับเคลื่อนดูแลความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเท่าที่เราจะทำได้” นายสุทธิชัยกล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า ตนเห็นว่าควรเพิ่มเติมมากกว่าการกำหนด มันไม่ได้เป็นสภาพบังคับ กรุงเทพฯต้องไปข้างหน้า สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือแท่นชาร์จ มันต้องมีพลังงานไฟฟ้า แท่นชาร์จต้องมีมาตรฐานอย่างไร ระยะห่างจากอาคารแค่ไหน มีกำลังไฟเท่าไหร่ ต้องเป็นผู้นำในการกำหนดข้อบัญญัติว่า ใครจะทำแท่นชาร์จแบบต้องทำแบบไหน

“เทรนด์มันเยอะแบบนี้ ถ้าเขาทำทั่วกรุงเทพฯ แล้วข้อบัญญัติออกมาทีหลัง เขาก็ต้องรื้อออก เราต้องไปล่วงหน้าเลยว่าสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการชาร์จ ต้องมีมาตรฐานอย่างไร เพื่อให้คนที่จำทำต้องคำนึงถึงข้อบัญญัติ

ฉะนั้น ญัตติตัวนี้ แค่กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย เตรียมความพร้อมไม่พอ ต้องบัญญัติเป็นกฎหมายของกรุงเทพ ว่าใครที่จะมาทำที่ชาร์จแบตรถไฟฟ้าจะต้องมีมาตรฐานอย่างเรา กรุงเทพฯ เราต้องเป็นผู้นำ ไม่ใช่เกิดเหตุแล้วค่อยมาทำข้อบัญญัติทีหลังแบบนี้” นายพีรพลกล่าว

ด้าน รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ความสามารถในการรับน้ำหนักของอาคารและสะพานใน กทม.เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และได้ออกแบบไว้เผื่อมากพอ สูงกว่าน้ำหนักของร ถEV ที่เกิดขึ้นจริง เป็นไปตามมาตรฐานของ UK แต่เรื่องระบบดับเพลิง สำนักการโยธา กทม. ร่วมกับวิศวกรรมสถานฯ และกรมโยธาธิการและผังเมือง จะออกแบบมาตรการการจัดที่จอดรถสำหรับรถ EV ใหม่ ให้ได้มาตรฐานต่อไป

ขณะที่ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยของสถานีชาร์จไฟ กทม.ได้ขอข้อมูลจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน วิศวกรรมสถานฯ และการไฟฟ้านครหลวง เพื่อลงข้อมูลสถานีในแผนที่ Risk Map และจะใช้ในการออกมาตรการกำกับควบคุมล่วงหน้า ส่วนเรื่องของข้อกำหนดใหม่ ทั้งการจัดทำแผนเผชิญเหตุ ซึ่งได้มีการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ การกำหนดความห่างของจุดชาร์จกับตัวอาคาร การจัดหาสปริงเกอร์ กทม.จะร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง วิศวกรรมสถานฯ จัดทำแนวทางต่อไป

อ่านข่าว :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image