‘มาดามเดียร์’ ทวงเอกสิทธิ์ ส.ส. ย้ำสิ่งที่บ่อนเซาะประชาธิปไตย คือระบบพรรคการเมือง

‘มาดามเดียร์’ แจมเวที 30 ปีพฤษภา 35 ทวงเอกสิทธิ์ ส.ส. ย้ำสิ่งที่บ่อนเซาะประชาธิปไตย คือระบบพรรคการเมือง

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ห้องประชุม LT2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเปิดเวทีอภิปรายนานาชาติ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม หยุดวัฏจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน และประสบการณ์จากต่างประเทศ พร้อมเผยแพร่ภาพสดผ่านระบบออนไลน์

อ่านข่าว : 

ในตอนหนึ่ง น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การออกความเห็นนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ในหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องการรำลึกพฤษภาประชาธรรม เราจะทำอย่างไรให้ขจัดระบบเผด็จการ และกระบวนการรัฐประหาร ซึ่งจากการร่วมรับฟังคณะอภิปราย (Panel) ที่แลกทรรศนะ หลายคนได้ถ่ายทอดประสบการณ์และให้ความเห็นหลายส่วน ซึ่งครอบคลุมในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเรื่องรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง คือกติกาไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในสังคมปัจจุบัน

Advertisement

“ย้อนกลับไปที่รัฐเผด็จการ หรือรัฐประหาร สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสรุปเห็นตรงกันคือ มาจากข้ออ้างความชอบธรรมของระบอบการเมืองที่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าอยากให้ขจัดระบบรัฐประหารไป คงต้องลุกขึ้นมาแล้วลงมือทำก่อน จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยหลุดออกจากอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองเพื่อขจัดการหาความชอบธรรมในขบวนการรัฐประหาร” น.ส.วทันยากล่าว

น.ส.วทันยากล่าวว่า เรื่องอุดมการณ์ต่อต้านทางการเมืองคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากคือ ในฐานะที่วันนี้เป็น ส.ส.ในสภา นักการเมืองต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สภาเป็นที่ศรัทธาและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

“สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ นักการเมืองต้องไม่นำความขัดแย้งเข้ามาสู่ระบบการเมือง ที่สุดท้ายแล้วในประสบการณ์ของการเมืองไทย คือมักจะนำไปสู่การประท้วงบนถนน ซึ่งสุดท้ายแล้วมันจะกลับมาเป็นวงจรด้วยกระบวนการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง กติกาชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง มันก็ออกมาเป็นแบบนี้” น.ส.วทันยากล่าว

น.ส.วทันยากล่าวว่า อีกหนึ่งในแง่ของรัฐธรรมนูญในฐานะ ส.ส.คนหนึ่งที่อาจจะมีความเห็นต่างในรัฐสภาบ้างในบางจุด ซึ่งตนได้แสดงจุดยืนไปคือ สิ่งหนึ่งของปัญหาระบบการเมืองที่นำมาสู่การรัฐประหาร ในช่วงที่ผ่านมา ปกติเรามีอำนาจ 3 เสาหลัก ที่เรียน ท่องประจำ คือเรื่องอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ และอำนาจบริหาร ในระบบรัฐสภาเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ผ่านระบบข้อแรกคือนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหาร คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายนิติบัญญัติมีสิทธิที่จะตรวจสอบ และลงโทษฝ่ายบริหารที่ไม่สามารถดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะหากมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น สิ่งนี้คืออำนาจการถ่วงดุลนิติบัญญัติ ในฝ่ายบริหารมีการถ่วงดุลเช่นกันคืออำนาจของการยุบสภา

“ปัญหาที่ผ่านมาคือในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ กลายเป็นว่าระบบฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารในช่วง 10 ปีมานี้กลับไม่ได้ทำหน้าที่ถ่วงอำนาจซึ่งกันและกัน และทำให้เกิดเป็นวงจรเผด็จการทหาร
พอเข้าสู่กระบวนการรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็บอกว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา เพราะปัญหาคือเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กลับเป็นเพียงแค่กระดาษเปล่า เอกสิทธิ์ ส.ส.ในเวทีรัฐสภา ซึ่งไม่ได้ดำรงอยู่จริง” น.ส.วทันยากล่าว

น.ส.วทันยากล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ตนคิดอยู่เสมอเวลานั่งอยู่ในสภา ตนมองว่าถ้าหากเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ดำรงอยู่ได้จริง จะไม่ได้เป็นแค่เสือกระดาษเปล่าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะอยู่ในเจตนารมณ์อำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา

“ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนก็จะได้ดำรงตามอำนาจของอธิปไตยของประชาชนจริงๆ แต่ที่ผ่านมากลายเป็นว่า การจำกัดในเรื่องของระบบพรรคการเมือง การเข้ามาแทรกแซงของบุคคล ของอำนาจต่างๆ ในระบบพรรคการเมือง กลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวาง แล้วสุดท้ายเป็นสิ่งที่คอยบ่อนเซาะกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งจริงๆ แล้วพรรคการเมืองควรจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสะท้อนเรื่องของกระบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่ในพรรคด้วยซ้ำ ถ้าเราขจัดปัญหาตรงนี้ได้เมื่อไหร่ เชื่อว่าเจตนารมณ์อธิปไตยของประชาชนก็จะได้รับการถ่ายทอด ที่สำคัญที่สุด ส.ส.เองก็จะได้ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ตามนิยามที่ควรเป็นจริงๆ” น.ส.วทันยากล่าว

น.ส.วทันยากล่าวว่า จุดประสงค์ของงานในวันนี้ ชื่อหัวข้อบอกได้ชัด เมื่อตอนที่เกิดเหตุการณ์ 22 พฤษภาฯ 2535 ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในวันนั้นจุดเริ่มต้นอันหนึ่งคือ เรื่องเพาเวอร์ของประชาชนที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขในการรัฐประหาร และรัฐบาลที่มาจากระบบเผด็จการในคราวนั้น แล้วนำมาสู่กระบวนการที่เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และทำให้ประเทศไทยสามารถหลุดจากวงจรรัฐประหารมาได้หนึ่งระยะ แต่ช่วงนั้นเห็นได้ว่าการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยกำลังค่อยๆ พัฒนา กำลังโตเต็มใบขึ้น

“วันนี้สิ่งที่เรามาพูดคุยเสวนา คือการที่เราจะทำอย่างไรให้เพาเวอร์ของประชาชน หรือการ Empowering The People มีความเข้มแข็ง วันนี้เราเสวนาในเรื่องของมิติการเมือง ในเรื่องของด้านกฎหมายตุลาการ แต่อีกสิ่งที่เป็นข้อสังเกตคือ ด้านมิติสังคม ถ้าเราศึกษากระบวนการประชาธิปไตยในของแต่ละประเทศ อย่างที่มักพูดถึง เช่น กรณีของประเทศเกาหลีใต้ หรือว่าในละตินอเมริกา จะเห็นได้ว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของทุกประเทศจะมาพร้อมกับการปฏิรูปในเรื่องของการศึกษาในระบบสังคมไปพร้อมๆ กัน เช่น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น ในกรณีของละตินอเมริกา ไม่ใช่รัฐเผด็จการ แต่กระบวนการต้องโปร่งใสและเป็นธรรมมากพอ จึงจะเป็นส่วนช่วยให้ประชาชนตาสว่าง และกระบวนการเหล่านี้จะเป็นขั้นตอนพัฒนาประชาธิปไตย คือประชาชนค่อยๆ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ แต่เราต้องไม่ลืมอดีตที่ผ่านมา ต้องเรียนรู้บทเรียนแล้วจดจำกับมัน” น.ส.วทันยากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image