‘ปริญญา’ งงคนไทย เลือกปราบ ปชต. ดีกว่านักการเมืองคอร์รัป-บอก ส.ว. แค่ยกมือตามปชช. ประเทศเปลี่ยน

อย่าไปร้องหน้าหน่วยเลือกตั้ง – ‘ปริญญา’ งงคนไทย เลือก ‘ปราบประชาธิปไตย’ ดีกว่านักการเมืองคอร์รัปชั่น ชวนกลับสู่หลัก ‘1 คน 1 เสียง’ บอก ส.ว. แค่ยกมือตามประชาชน ประเทศเปลี่ยน

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ คณะกรรมการญาติวีรชน 35, มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล, รัฐสภา ตลอดจนภาคประชาชน ร่วมจัดงานรำลึก “30 ปี พฤษภาประชาธรรม”

โดยช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 08.30 น. ที่อนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 คณะผู้จัดงาน ญาติวีรชน ผู้แทนภาคส่วน และประชาชนร่วมพิธีวางพวงมาลา กล่าวรำลึก ประกอบพิธีทางศาสนา และเปิดอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 อย่างเป็นทางการ

บรรยากาศงานช่วงบ่าย ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม LT2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเปิดเวทีอภิปรายนานาชาติ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม หยุดวัฎจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน และประสบการณ์จากต่างประเทศ พร้อมเผยแพร่ภาพสดผ่านระบบออนไลน์

อ่านข่าว :

Advertisement

โดยเวลา 16.30 น. ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ตนสรุปได้ 3 ข้อ จากเพื่อนต่างชาติ ประการแรกคือ 1.ต้องหนีจากการรัฐประหาร คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ หากเปรียบเทียบเป็นต้นไม้ ต้นไม้ต้นนี้ของไทยไม่เคยโตสักที โตแล้วถูกตัดใหม่ ถูกโยกคลอนจนโตไม่ได้ จึงต้องตกลงกันก่อนว่า ‘การรัฐประหารต้องหมดไป’ จะใช้เหตุผลใดมารัฐประหาร ไม่ได้ทั้งสิ้น แต่ว่าจะทำอย่างไร

ประการที่ 2.ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลเป็นเพียงผู้บริหาร ไม่ใช่มาปกครองแทน

ประการที่ 3.พลังประชาชน ต้องเรียกร้องเคลื่อนไหวในกรอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ไปเรียกร้องหน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือเรียกทหารมารัฐประหาร

Advertisement

การเคลื่อนไหว ตั้งแต่ 12 กันยายน 2549 ก็มีส่วนสำคัญให้ทหารออกมายึดอำนาจ ถ้าหากว่าประชาชนไม่ไปสร้างเงื่อนไข เรียกร้องให้แก้ไขตามวิถีทางประชาธิปไตย ทหารก็จะไม่อออกมา เหตุผลสำคัญของการยึดอำนาจ คือเรื่อง “ทุจริต” หรือกล่าวหาว่ารัฐบาลทุจริต เช่น เรียกรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ว่า ‘บุฟเฟ่ต์คาบิเนต’ สร้างภาพขึ้นจนเกิดความชอบธรรม หรือ 2 พ.ค.57 เป็นเรื่องจำนำข้าว ก็สร้างความชอบธรรม เมื่อไม่ยึดมั่นในหลักในประชาธิปไตย มองว่าถ้ารัฐบาลแย่ ก็ให้รัฐประหารแก้ปัญหา จึงต้องตกลงกันก่อนว่า ‘ไม่ได้’

“อีกประเด็น จากประสบการณ์ทั่วโลกที่ต้องพูดให้ชัด ถ้าท่านไปดู Democray Index กับ Transparency Index เทียบกัน น่าสนใจว่า ประเทศที่ประชาธิปไตยเข้มแข็ง มีคอร์รัปชั่นน้อย หรือไม่มีเลยนั้น ตีความได้ 2 แบบ 1.เพราะเขาปราบคอร์รัปชั่นได้สำเร็จ ประชาธิปไตยจึงเข้มแข็ง หรือ 2.ประชาธิปไตยเข้มแข็ง จึงปราบคอร์รัปชั่นได้สำเร็จ แต่ไทยเชื่อว่า ‘ต้องปราบคอร์รัปชั่นก่อน ประชาธิปไตยจึงจะเข้มแข็ง’ ที่เราทำคือการ ‘ปราบประชาธิปไตย’

องค์กรถ่วงดุลไม่มีอีกต่อไป สภา แปรสภาพเป็น สนช. ไม่มีฝ่ายถ่วงดุลอีกต่อไป ทำไมเราถึงรู้สึกว่า ‘ปฏิวัติ ดีกว่านักการเมืองคอร์รัปชั่น’ ? ประชาธิปไตยมีเครื่องตรวจเยอะ ตรวจเจอก็รักษา ขณะที่เผด็จการ เครื่องตรวจถูกดึงทิ้ง จึงไม่เจอคอร์รัปชั่น ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่มี ดังนั้นเรื่องคอร์รัปชั่น ไม่ได้แปลว่าเผด็จการมีน้อยกว่า เพราะเราไม่รู้” ผศ.ดร.ปริญญาระบุ

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อว่า เราได้ยินว่า รัฐธรรมนูญ 60 เป็นฉบับปราบโกง อย่างไรก็ตาม มีการไปเขียนเพิ่มว่า ถ้าเป็นนายกฯ ต่อภายใน 30 วันไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เราจึงไม่ได้เห็นบัญชีฯ ท่านนายก นี่คือเครื่องมือที่หายไป ต้องตั้งหลักตรงนี้ก่อน

“ถ้าหากท่านจะทำอะไรไม่ดี เช่น จะเข้าไปจอดรถตรงที่คนพิการ มีพลเมืองดี ยกกล้องถ่าย ท่านก็จะถอย เช่นเดียวกันกับ ‘หลักการประชาธิปไตย’ เมื่อหลักการโปร่งใส สาธารณชนจะตรวจสอบ-ส่องไฟได้ แต่ที่ทำไม่ได้ เพราะเราอยู่ในความมืด ปิดไฟมืดหมด ทำอะไรจึงไม่ทราบ ดังนั้นการมีรัฐบาลรัฐประหาร ไม่เรียกว่า ปราบคอร์รัปชั่น แค่เรียกว่า ‘ปราบประชาธิปไตย’ จัดการคนที่ไม่ใช่พวกตัวเอง

รัฐธรรมนูญ เขียนดีแค่ไหนก็ถูกฉีกทิ้งได้ อย่างรัฐธรรมนูญที่ว่าดีที่สุด คือรัฐธรรมนูญ ปี 2517 ก็โดนฉีกทิ้งแม้จะมีการเขียนไว้ว่าห้ามฉีก ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับจารีต อยู่ 1 ฉบับ เขียนปี 2496 ที่มีใจความว่า ‘ปฏิวัติทำได้ ถ้าทำสำเร็จ’ ซึ่งเป็นฉบับที่ใหญ่กว่าฉบับลายลักษณ์อักษรที่ผ่านมา ปี 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งแรกของไทย ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งฉบับนี้อยู่ได้แค่ปีเดียว คดีไปถึงศาลฎีกา วินิจฉัยในปี 2496 สุดท้าย คณะรัฐประหารยึดครองบ้านเมืองได้สำเร็จ สามารถออกกฎหมายได้ คือบรรทัดฐานที่วางไว้ ต่อมาคือสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง ครั้งแรกยุบสภา ครั้งที่ 2 ฉีกรัฐธรรมนูญไปด้วย ซึ่งก็ยึดคำสั่งรัฐธรรมนูญ ปี 2496

“นี่ไม่ใช่เรื่องอดีต การรับรองอดีต เป็นการอนุญาตอนาคต กองทัพจึงไม่เคยกลัว แม้แต่ ม.113 ซึ่งมีความร้ายแรงกว่า ม.112 เยอะ แต่ทุกครั้งก็นิรโทษกรรมตัวเอง นี่คือสิ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีผลยิ่งกว่า รัฐธรรมที่เป็นลายลักษณ์ หลักการคือ ‘ต้องเลิกรับรอง’

ในทางปฏิบัติ เมื่อมีประกาศคณะปฏิวัติ รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็จะออกมา มีการนิรโทษกรรมตัวเอง คดีไปไม่ถึงศาลฏีกา เช่น รัฐประหารปี 2490 คดีถึงในปี 2496 ดังนั้น จึงต้องไม่รับรองการรัฐประหารอีกต่อไป ตั้งใจว่า 27 มิถุนายนนี้ ครบรอบ 90 ปีประชาธิปไตย ผมจะมีข้อเสนอคือ 1.รัฐธรรมนูญ 60 เหมือนกับ รัฐธรรมนูญ 50 ที่รับรองว่าการปฏิวัติที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นการรับรองเพียงในเชิงรูปแบบ สถานะเหมือน พ.ร.บ. แต่ไม่ได้รับรองถึงเนื้อหาที่อาจขัดรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนแนวทางการรับรอง” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว และว่า

รัฐธรรมนูญที่ชอบด้วยกฎหมาย คือธรรมนูญ 2515 ของ จอมพลถนอม กิตติขจร ความหมายคือ หนทางที่จะบอกว่า ประกาศคณะปฏิวัติก่อนหน้าปี 2515 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถทำได้ เพราะไม่มีการรับรองไว้ การไปยกเลิก ปว. ไม่ใช่เพื่อป้องกันอดีต แต่เพื่ออนาคตไม่ให้เกิดการปฏิวัติอีก ทั้งหมดนี้ คือแนวทางเบื้องต้นที่ฝ่ายตุลาการสามารถทำได้ แต่จะต้องไม่ใช่เรื่องการปฏิวัติแล้วไม่รับรอง เพราะเรื่องไม่ทันไปถึงศาลฏีกา” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวอีกว่า รัฐประหาร 22 พ.ค. 57, 22 ก.ค.57 มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกมา รับรองคณะรัฐประหารไปแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2534 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยังไม่แย่เท่ารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ ส.ว.มาเลือกนายกฯ ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2534 ถูกแก้ไขถึง 3 ครั้ง ก่อนจะร่างใหม่ทั้งฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญ 2540 คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ คงมีบทเรียนจากครั้งนั้นว่า มีการแก้หลายรอบ รัฐธรรมนูญ 60 จึงทำให้แก้ยาก โดยมี ส.ว.เข้ามา

“ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ 60 อาจจะมีชะตากรรมไม่ต่างกัน ออกแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาในหลายประการ เพราะไม่ได้มีความอิสระ หรือคิดถึงประชาชนเสียเท่าไหร่ จึงใช้งานลำบาก เพราะเป็นอาเจนด้าของการสืบทอดอำนาจ ไม่พ้นต้องทำใหม่อีกครั้ง คงแก้ลำบาก  ซึ่งฉบับปัจจุบัน อาจสำเร็จในปี 2567 ผมมองในแง่ดี 3 ปี ผ่านมาครึ่งทางแล้ว

เฉพาะหน้าผมเสนอว่า ประชาชนเขาจะเลือกพรรคอะไรก็ตาม ไม่มีปัญหา ก็จบที่บัตรเลือกตั้ง ด้วยกติกาข้อนี้ ยาก ดี มี จน ทุกคนเท่ากัน เลือกตั้งเสร็จ ก็จบ แต่ปัจจุบันไม่เท่ากัน ประชาชนต้องรวมกัน 71,000 เสียง ได้ ส.ส. 1 คน ขณะที่นายกฯ มี 250 เสียงในการโหวต นายกฯ มีสิทธิมากกว่าประชาชนกี่เท่า ? ’18 ล้านเท่า’ อยากเชิญชวนว่า ก่อนมีการเลือกตั้งครั้งหน้า กลับสู่หลักการ ’1 คน 1 เสียง’ ได้หรือไม่

ถ้าแก้ ม.272 ไม่ได้ ก็มีวิธีหนึ่ง คือให้ว่าตามสภาผู้แทน เลือกเป็นนายก ถ้าทำได้ โอกาสในการฟื้นฟู ประชาธิปไตยจะกลับมา ซึ่งตนเตรียมนำเสนอแนวทางป้องกันรัฐประหาร

สุดท้ายแล้ว ‘ประชาชนเป็นผู้ชี้ขาด’ ว่าให้ ส.ว.เคารพเสียงประชาชน หรือบอกผู้มีอำนาจว่า ต้องการฟื้นฟู และกลับสู่ประชาธิปไตย แต่สันติภาพไม่เกิดเมื่อไม่มีความเป็นธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหามาก ต้องแก้
ประชาชนจากนี้ไป อย่าไปเรียกร้องหน้าหน่วยเลือกตั้ง เรียกทหารมาปฏิวัติ แล้วประชาธิปไตยจะสำเร็จแน่นอน” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญาอีกว่า ความต้องการรัฐประหาร มีมาก่อนปี 2475 เช่นสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อไทยเข้าสู่หลักการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ มีธรรมนูญสยาม ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งระบุว่า ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทั้งหลาย’ แต่การปฏิวัติยังไม่หมด เพราะยังไม่เกิดการยอมรับและเปลี่ยนบรรทัดฐาน ตอนนั้น หนังสือ ‘ข่าวพิเศษรายสัปดาห์’ มีอิทธิพลอย่างมาก รัฐธรรมนูญแย่ลง พูดอย่างรวบรัด

“ประชาธิปไตยไทยเป็นประชาธิปไตย 4.0 คือ CCTV ที่พร้อมถ่ายภาพนิ่งและคลิป ใครทำอะไรไม่ดี ตรวจสอบได้ ถ้าประชาธิปไตยมีการตรวจสอบปกติ การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว เป็น ‘สมาร์ท เดโมเครซี’ ที่ไปไม่ได้ ไม่ใช่ความถดถอยของประชาธิปไตย แต่เป็นการถดถอยของ ‘ประชาธิปไตยแบบตัวแทน’ ปัจจุบันกลับมาเป็นประชาธิปไตยโดยตรงสมัยใหม่ มีการโหวตมติออนไลน์ ที่ผู้มีอำนาจต้องฟังมากขึ้น ว่าที่ผู้สมัคร กทม. ไม่เคยมีครั้งใด ที่ดีเบตกันวันละ 2 รอบมาก่อน” ผศ.ดร.ปริญญาชี้

เมื่อมีผู้สอบถามว่า มีแนวทางตัดตอน อำนาจ ส.ว. อย่างเร่งด่วนบ้างหรือไม่ ?

ผศ.ดร.ปริญญาระบุว่า ประชาชนต้องส่งเสียง เลือกตั้งครั้งหน้าโปรดให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตัวเอง ประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่ ส.ว. ให้รอฟังเสียง ว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ประชาชนส่วนมาก จะเอาใครเป็นนายกฯ แล้ว ส.ว.ยกมือตามนั้น แค่นั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว

“จากนี้ไป ท่านต้องมีความเป็นตัวเอง ลืมที่มาจาก คสช. เดี๋ยว ส.ว.จะหมดไป แต่ประชาชนจะอยู่เที่ยงแท้ ขอให้ท่านปลดตัวเองจากการถูกจองจำ จากนี้ไปใช้ความเห็นของท่านว่า โหวตแบบไหนให้ประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด เพราะถ้า 250 คนโหวตเหมือนกันหมด จะเป็นหุ่นยนต์ ไม่ใช่มนุษย์ สุดท้ายประชาชนคือคำตอบ” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ก่อนยุติการเสวนา ในเวลา 17.22 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image