อาจารย์ ชี้ จบศึกหัวหน้าปชป. ส่อเลือดไหลอีก มองอนาคต เป็นแค่พรรคท้องถิ่น

นักวิชาการสงขลาชี้ เสี่ยต่อ ทะยานหัวหน้าพรรค ยิ่งกดต่ำพรรคประชาธิปัตย์ให้กลายเป็นพรรคท้องถิ่น และยิ่งผลักแฟนพันธุ์แท้ออกไปมากขึ้น

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวให้ความเห็นกรณี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้รับคะแนนท่วมท้นในการดำรงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ในวันนี้ว่า หลังจากนี้ประเมินว่าพรรคประชาธิปัตน์น่าจะกลายเป็นพรรคท้องถิ่น ที่ดูเหมือนว่าจะหวังแต่คะแนน ส.ส.ในระบบเขต ในขณะที่แบบบัญชีรายชื่อ ค่อนข้างยากแล้ว

เนื่องจาก ถ้าเราดูความยั่งยืนและความเติบโตของพรรคการเมืองแต่ละพรรคนั้น ไม่ได้มีเฉพาะปัจจัยภายในพรรคเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยภายนอก สภาพแวดล้อมความคิดทางการเมือง พฤติกรรมการเมือง ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ผ่านมาเขาคิดอย่างไร นอกเหนือจากระบบเขต พบว่า พรรคการเมืองที่หัวก้าวหน้า หรือพรรคเสรีนิยม อย่างพรรคก้าวไกล ได้รับความนิยมสูง พรรคอนุรักษ์อย่าง ปชป.ในภาคใต้ก็ได้ลำดับที่สาม ลำดับที่สองกลับเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ รทชส.

ซึ่งก่อนหน้านี้ ถ้าดูผลโพลของนิด้า ในประเด็นนายนราพัฒน์ แก้วทอง กับ น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ “มาดามเดียร์” จะเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. ปรากฏว่าคนเลือก มาดามเดียร์มากกว่านายนราพัฒน์ ซึ่งผลโพลนี้ได้สะท้อนว่า คนทั่วไปคิดอย่างไรกับ ปชป. เขาต้องการแนวทางใหม่ ต้องการวิสัยทัศน์ของพรรคที่จะนำไปทิศทางใด แต่ผลการเลือกหัวหน้าพรรคของ ปชป.วันนี้ แสดงให้เห็นชัดว่า ปชป. ยังไม่ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม

Advertisement

“การเลือกนายเฉลิมชัย เป็นหัวหน้าพรรค จึงเป็นการเลือกที่ไม่ปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำให้จะกลายเป็นพรรคท้องถิ่น กลายเป็นพรรคที่สัมพันธ์กับตัวบุคคลในพื้นที่ ที่แม้แต่ภาคใต้เองก็ยังเหลือที่นั่ง ส.ส.ไม่กี่จังหวัด แม้แต่สุราษฎร์ธานีก็ยังแพ้หลุดลุ่ย” ผศ.ดร.บูฆอรีกล่าว

นอกจากนี้ ในประเด็นที่ 21 ส.ส.ของ ปชป.ไปเทียบเชิญนายเฉลิมชัยมาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเชื่อว่าจะทำให้พรรคแตกน้อยลง มีความขัดแย้งภายในพรรคลดน้อยลงนั้น ปรากฏชัดเจนแล้วว่า ไม่ทันไรก็มีคนลาออก โดยที่ยังไม่ทันได้เลือกหัวหน้าพรรค อย่างนายอภิสิทธิ์ พอเข้าใจเหตุผลได้ ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ ก็ลาออกทั้งที่มาดามเดียร์ยังไม่ทันรู้ว่าจะลงสมัครได้หรือไม่

นอกจากนั้น ก็ยังเชื่อว่าจะมีอีกหลายคนที่ลาออกตามมา ซึ่งพิสูจน์ได้แล้วว่า นายเฉลิมชัย จะรักษาไม่ให้พรรคแตก จริงเท็จแค่ไหน อดีต ส.ส.หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสนับสนุนนายเฉลิมชัยก็อาจจะลาออกเพิ่ม หรือแม้แต่นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคคนที่ 5 อาจจะลาออกตามนายอภิสิทธิ์ ที่เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 7 หรือไม่ และหากนายชวนลาออกตามไปนั้น ก็น่าที่จะสร้างแรงกระเพื่อมมากกว่าเดิม อย่างน้อยก็คนที่รักศรัทธา ปชป.แฟนขนานแท้ แม้ว่าที่ผ่านมาบารมีของคุณชวน ทั้งในพรรคและต่อคนทั่วไป ลดน้อยถอยลงมามากแล้วก็ตาม

Advertisement

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า การที่นายเฉลิมชัย เป็นหัวพรรค เป้าหมายหลักเพราะมีสมาชิกอยากให้ร่วมรัฐบาล เพราะอาจจะเชื่อว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลดีกว่าเป็นฝ่ายค้าน รวมถึงคิดว่าจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าจริงๆ แล้ว มีบทพิสูจน์มาแล้วว่ารัฐบาลที่แล้วในการเลือกตั้ง 2562 นายจุรินทร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้นก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลลุงตู่ ก็ปรากฏว่าคะแนนไม่ได้มีผล ในการสร้างความนิยมจนทำให้ ปชป.ฟื้นขึ้นมาได้ในการเลือกตั้งปี 2566 จึงแพ้ยับเยิน ถ้าคาดหวังว่าร่วมรัฐบาลเพื่อฟื้นความนิยมก็น่าจะตั้งโจทก์ผิด

ทั้งนี้ ถ้ามองที่ผ่านมาจะพบว่า ผู้บริหาร ปชป.จะมีการแบ่งฝ่ายกันชัดเจน หัวหน้าพรรค จะเป็นฝ่ายบุ๋น มีความเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มีวิชาการสามารถสื่อสารกับคนทั้งสังคมได้ ในขณะที่เลขาพรรคต้องเป็นฝ่ายบู๊ ถือกระเป๋าของพรรค สร้างความสามัคคีให้กับพรรค ประสานรอบทิศ ซึ่งนายเฉลิมชัย เปลี่ยนแปลงบทบาทจากที่เคยเป็นฝ่ายบู๊มาเป็นฝ่ายบุ๋น เป็นการผิดฝาผิดตัว เพราะเฉลิมชัย เหมาะที่จะเป็นฝ่ายบู๊ การเปลี่ยนมาเป็นหัวหน้าพรรค จึงยากจะเรียกคะแนนนิยม

อย่างไรก็ตาม การที่นายเฉลิมชัยที่เคยประกาศวางมือทางการเมือง หลังจากพ่ายการเลือกตั้งยับเยินในการเลือกตั้งปี 2566 แล้วกลืนน้ำลายมาเป็นหัวหน้าพรรคนั้น มองว่าคนไม่เลือก ปชป.อยู่แล้ว ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อพรรค แต่คนที่เลือก ปชป.หรือยังนิยม ปชป.บางส่วนต้องคิดแล้วว่า เป็นการผิดคำพูดมีผลทำให้เปลี่ยนใจไปหนุนพรรคการเมืองอื่นได้ แม้แต่คนที่มีความภักดีกับพรรคมาอย่างยาวนาน ในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็จะตั้งคำถามเรื่องนี้ ทำให้มองว่า การเป็นหัวหน้าพรรคที่เป็นฝ่ายบู๊ ทำให้ถูกมองเป็นพรรคใจถึงพึ่งได้ ถูกตีความในความหมายในแง่นักเลง ซึ่งมองว่าจะส่งผลกระทบส่งต่อพรรคทั้งในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image