

เป็นเรื่องเป็นราวถกเถียงกันได้ยาวนานหลายวันอย่างไม่น่าเชื่อกับชุดที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ สวมใส่ไปงาน Splash ที่จัดโดย THACCA
ประเด็นที่ถกเถียงกันมีตั้งแต่ ไม่สวย น่าเกลียด เหมือนผ้าเช็ดเท้า ไม่มีรสนิยม
เป็นถึงหัวหน้าพรรคการเมือง ในอนาคตอาจเป็นผู้นำประเทศ ทำไมไม่รู้จักแต่งตัวให้ดูภูมิฐานน่าเชื่อถือ
ในอีกฝั่งหนึ่งก็บอกว่านี่เป็นการส่งเสริมผ้าไทย ให้กำลังใจชาวบ้าน สร้างความภาคภูมิใจให้กับท้องถิ่น และมันก็สวยมาก ไม่สวยตรงไหน
ฉันขอแยกการถกเถียงเรื่องนี้ออกเป็นสองกลุ่มการถกเถียง
กลุ่มแรก เป็นการถกเถียงที่อยู่บนบานของการเลือกข้างทางการเมือง
เราต้องยอมรับว่ามีผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล หรือที่เรียกกันว่า “ส้ม” เป็นผู้ที่รู้สึกเจ็บปวดว่าตัวเองถูกพรรคเพื่อไทยขโมยชัยชนะ มีความเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยล้าหลัง ไม่เก่ง ไม่ทันสมัย ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีความรู้
คนกลุ่มนี้ “เกลียดชัง” ทุกอย่างที่เป็นเพื่อไทย และขับเคลื่อนการวิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดียโดยหวังผลอยากดิสเครดิตพรรคเพื่อไทยไปเรื่อยๆ
สร้างชุดความเชื่อสู่สังคมว่า พรรคเพื่อไทยนั้น handicap ไร้ความสามารถที่จะบริหารประเทศ
กลุ่มนี้จะวิจารณ์โดยอิงอยู่กับตัวบุคคล เช่น ถ้าแพทองธารแต่งตังสวย แต่งตัวดีก็จะบอกว่า มัวแต่เอาเวลา เอาสมองไปแต่งตัว เลยไม่เหลือเวลาและสมองไปพัฒนาตัวเอง
นำไปสู่ข้อสรุปว่า สวยแต่โง่ แบบที่ยิ่งลักษณ์เลยโดน
และถ้าแต่งตัวไม่สวยก็จะด่าว่า เป็นถึงแพทองธาร แต่งตัวได้แค่นี้เองหรือ ไม่มีปัญญาจ้างสไตลิสต์หรือ?
ส่วนการตอบโต้จากกองเชียร์พรรคเพื่อไทย เมื่อโดนกระตุ้นด้วยประเด็นที่ยึดติดกับตัวบุคคล ก็ทำให้กองเชียร์เพื่อไทยต้องตอบโต้ในประเด็นที่วิ่งวนอยู่กับการปกป้องตัวบุคคล
และยิ่งโกรธเพราะมันเป็นการต่อสู้เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมให้กับพรรคหรือบุคคลที่ตนเองเชียร์ว่า ทำไมต้องโดนกระทำเช่นนี้
ฉันจะขอไม่เข้าไปถกเถียงในหมวดหมู่นี้ เพราะทุกอย่างเป็นอคติ และฉันทาคติเรื่องตัวบุคคลล้วนๆ
กลุ่มที่สอง พยายามจะวิเคราะห์วิจารณ์อย่างเป็นกลางและเป็นวิทยาศาสตร์ว่าหลักการของการออกแบบคืออะไร แฟชั่นคืออะไร
ดีไซเนอร์เองก็ออกมาอธิบายว่าโจทย์ของการออกแบบชุดนี้คือการรวมเอาผ้า “อีสาน” หลายๆ ชนิดมาอยู่รวมกันให้ได้ในชุดเดียว
แรงบันดาลใจก็มาจากการใส่ “ผ้าเบี่ยง” หรือผ้าสะพายเฉียงของผู้หญิงอีสาน
และพยายามเอารากเหง้าของความเป็นอีสานนั้นมาอยู่ในความเป็นสากล นั่นคือชุดแพนต์สูท จึงออกมาอย่างที่เห็น
ส่วนจะชอบไม่ชอบ พร้อมน้อมรับคำวิจารณ์และนำไปพัฒนาตัวเองต่อไป
ส่วนฉันมองว่า เรื่องเสื้อผ้านี้มีทั้งด้านที่เราต้องมานั่งคุยกันเรื่องผ้าไทย ดีไซเนอร์ไทย ซอฟต์เพาเวอร์ไทย กับด้านที่เป็นเรื่องของการเมือง
ซอฟต์เพาเวอร์เป็นความพยายามของพรรคเพื่อไทยที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ แล้วพาประเทศไทยไปปรากฏตัวบนเวทีโลกอีกครั้ง
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยพยายามจะทำเรื่องนี้และมันสัมพันธ์กับระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเสมอมา
สถานะของประเทศไทยในสายตาชาวโลกย้อนไปไกลที่สุดที่ยุคสงครามเย็นคือช่วงทศวรรษที่ 1970s โลกจดจำเราในฐานะส่วนหนึ่งของสมรภูมิรบสงครามเวียดนาม
หลังจากนั้นจดจำเราในฐานะประเทศที่รองรับผู้อพยพจากสงครามในอินโดจีน พร้อมๆ กับภาพประเทศที่ล้าหลัง ยากจน อัตราการตายของทารกแรกเกิดสูง มีภาวะทุพโภชนาการของพลเมือง
“เรื่องเล่า” ของประเทศไทยที่ส่งออกไปสู่โลกภายนอกคือ เรื่องเล่าผ่านปากคำของอาสาสมัครชาวอเมริกันที่มาทำงานเพื่อ “สงเคราะห์” ช่วยเหลือประชาชนในประเทศโลกที่สามที่แสนล้าหลัง ขาดแคลน กับระบบราชการที่แสนจะเจ้ายศเจ้าอย่าง คนพื้นเมืองที่น่าสงสารและไร้เดียงสา
หรือถูกเล่าผ่านนักข่าว นักหนังสือพิมพ์มาทำถ่ายภาพทหารอเมริกันกับหญิงเมียเช่า เรื่องราวที่ exotic, sexy และอันตรายนิดๆ น่าค้นหา
ไทยเราพยายามจะล้างภาพจำนั้นและลุกขึ้นมาเป็น “ผู้เล่าเรื่อง” จากตัวเองบ้าง สำหรับฉันครั้งแรกคือ การฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เรากำลังจะบอกชาวโลกว่าประเทศไทยนั้นเก่าแก่ งดงาม อลังการ มีประวัติศาสตร์มลังเมลือง
และนี่แหละที่เขาว่า soft power กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องเดียวกัน
เมื่อภาพประเทศไทยถูกเล่าให้เป็นประเทศล้าหลัง ยากจน โง่งม ป่าเถื่อน ด้อยพัฒนา อันตราย และผู้หญิงพร้อมพลีกายให้ชายต่างชาติเพื่อแลกเงินดอลลาร์
เมื่อ “ความขัดแย้ง” ทางการเมืองในประเทศเริ่ม “สงบ” และเราต้องทำมาค้าขายกับต่างประเทศ สิ่งที่ต้องรื้อฟื้นคือความเชื่อมั่น และทำยังไงให้ต่างประเทศหันมามองเราด้วยสายตาที่ “เคารพ” เรามากขึ้น
ไม่ใช่เอะอะเห็นเราเป็น “กะหรี่” อยู่ภาพเดียว
การฉลองกรุงเทพฯ สองร้อยปี จึงเป็นการสร้างซอฟต์เพาเวอร์แรกของไทย ที่ ณ เวลานั้น ไม่มีใครเอ่ยคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ออกมา
และเราเริ่ม “ร่าย” ประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องความวิจิตร บรรจงสวยงาม งานแกะสลัก ร้อยมาลัย รำไทย อาหารไทยที่วิจิตร เสื้อผ้าชุดไทย ฝีพายงดงามอลังการในขบวนพยุหยาตราให้โลกรู้ว่าเราก็ลูกพระยานาหมื่น อย่ามาดูถูกกัน
ถัดจากงานสมโภชน์สองร้อยปี ก็มาสู่งาน Amazing Thailand สำหรับฉันนี่ก็ซอฟต์เพาเวอร์ เพราะมันคือการโปรโมตให้คนทั้งโลกหันมาตกลุมรัก “เสน่ห์” ของเมืองไทย
และมันประสบความสำเร็จอย่างชนิดที่ถ้าเรามองย้อนกลับไป เราต้องอยากชื่นชมรัฐบาลในขณะนั้นว่าทำดี ทำเก่งทำถึง
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการท่องเที่ยวกลายเป็นรายได้หลักที่สำคัญของประเทศ
แม้เราในฐานะประชาชนจะบ่น ก่นด่า รัฐบาลว่า ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบฉาบฉวย ไม่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเราไม่ยั่งยืน นักท่องเที่ยวมาเสพสุขแล้วก็จากไป
แต่นั่นเป็นคนละประเด็นที่ฉันกำลังพูดถึง นั่นคือ นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างหนักหน่วง เพื่อหารายได้เข้าประเทศ
ถ้าเอามาพูดในปัจจุบันมันก็คือซฟอฟต์เพาเวอร์
จาก Amazing Thailand ทำให้ประเทศไทยได้ยกระดับเรื่องบุคลากรในอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านอาหาร การบิน เชฟ สถาปัตยกรรม อินทีเรียดีไซน์ ฯลฯ
เหล่านี้เป็น “ทางลัด” ที่เข้ามายกระดับ องค์ความรู้ในประเทศ “ด้อยพัฒนา” อย่างเรา ฉันยังจำได้ว่า โรงแรมโฟร์ซีซั่นแม่ริม เชียงใหม่ กลายเป็นผู้นำเทรนด์ เรื่องการยกระดับโรงแรมของเชียงใหม่ให้สวยขึ้นตามๆ กันมา
จากที่จ้างสถาปนิกต่างชาติมาออกแบบให้เห็นเป็นตัวอย่างหลังจากนั้น
สำนักสถาปัตยกรรมในมหาวิทยาลัยท้องถิ่นก็อัพเกรดตามทันจน “ล้ำ” ไปได้อย่างรวดเร็ว
ถัดจาก Amazing Thailand มาถึงยุคโอท็อป มาถึงยุคที่รัฐบาลส่งเสริมการผลิตสุราชุมชน ไวน์พื้นบ้าน อาหารท้องถิ่นหลายอย่างได้รับการยกระดับ ปลาร้า ผักดอง กะปิ น้ำปลา ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ไข่เค็ม
จากที่เป็นของ “ชาวบ้าน” คำว่า “ชาวบ้าน” กลายเป็นมูลค่าทางการตลาด สังคมไทยเริ่มเดินมาในจุดที่ผู้คนแสวงหาอัตลักษณ์ในการบริโภคผ่าน
“ความสามารถในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ชาวบ้านที่ยังรักษาภูมิปัญญาในการผลิต” เช่น น้ำปลาโฮมเมด ปลากุเลาเค็มตากใบ กะปิจากจังหวัดต่างๆ ได้เล่าเรื่อง “เคยแท้” และเอกลักษณ์ของกะปิ กุ้ง วิถีการประมง น้ำตาล เกลือ น้ำอ้อย ที่ชาวบ้านยังคงกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม กลายเป็น “สินทรัพย์” ที่มีค่า โดดเด่น
จนกลายเป็นการจดทะเบียน GI กันในภายหลัง
แม้จะมีการรัฐประหารไปสองครั้งคือ 2549 กับ 2557 โครงการโอท็อป และเศรษฐกิจจากอุตสาหรรมซอฟต์เพาเวอร์ที่ได้ริเริ่มเอาไว้ ชะงักงัน ซบเซา
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใดๆ ก็ตามที่ผลิดอกออกผลแล้ว มันก็กระเสือกกระสนที่จะมีชีวิตรอด งานของ TCDC งานของ TK Pak มิวเซียมสยาม งานบางกอกแฟชั่นวีกแสนยิ่งใหญ่ จุดพลุเรื่องรัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยมีอาชีพดีไซเนอร์ ทำให้คนรุ่นใหม่ของไทย ไม่ใช่ลูกหลานคนรวย แต่ ลูกหลานคนชั้นกลาง ต่างจังหวัดได้เรียนเรื่องการออกแบบ แฟชั่น สิ่งทอ สถาปัตย์
และหากเราจะมองปรากฏการณ์ที่สอง-สามปีให้หลังมานี้ เราเห็นคนรุ่นใหม่แม้จะไม่มาก แต่ก็มีให้เห็นจับต้องได้อย่างมีนัยสำคัญได้กลับ “บ้าน” และไปดึง ไปหยิบ ธุรกิจของท้องถิ่นตัวเองมายกระดับให้ “อินเตอร์”
เราเห็นเหล้าพื้นบ้าน ได้รับการปรุงแต่ง ออกแบบในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม มีรสนิยมเป็นสากล
เราเห็นข้าวซอยกลายเป็นข้าวโซอิ
เราเห็นอาหารอีสานถูกตีความใหม่กลายเป็นอาหารสุดฮิปอย่างร้านเผ็ดเผ็ด ร้านซาว เราเห็น “ลาบเสียบ” ที่มีกลิ่นอายเป็นอิซากายะ และแม้แต่คำว่า “อิซากายะ” ภาษญี่ปุ่นก็ถูกเล่นคำใหม่เป็น “อิสานกายะ”
เราเห็นร้าน “เฟชเทเบิล” ที่กลับไปค้นหาวัตถุดิบพื้นถิ่น
องค์ความรู้เรื่องการหมักดอง เราเห็นน้ำปลา “เด็ดดวง” อยู่ในสถานะวัตถุดิบพรีเมียม
เหล่านี้คือดอกผลที่ได้หว่านเมล็ดเอาไว้จากปรัชญาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังนโยบาย ตั้งแต่ Amazing Thailand โอท็อป กองทุนหมู่บ้าน บางกอกแฟชั่นวีก TCDC TKPark การส่งงเสริมให้ราชภัฏ, ราชมงคล ในต่างจังหวัดเปิดคณะที่เกี่ยวกับศิลปะ การออกแบบ การอุดหนุนโรงเรียนอาชีวะ คหกรรม ตัดเย็บ ฯลฯ
เหล่านี้เป็นระบบนิเวศน์อันเดียวกันคือ ระบบนิเวศน์ของการ empowering คนรากหญ้า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับฐานะ ยกระดับความฝัน รสนิยมของผู้คน
พูดรวมๆ ว่ามันคือการสร้าง “ชนชั้นกลาง” ขึ้นมาในสังคมไทยให้มีจำนวนมากขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นแทนการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่
ผลลัพธ์ที่เราเห็นวันนี้คือเมล็ดพันธุ์ที่หว่านไว้ตั้งแต่ 20 ที่แล้ว เพราะ 20 ปี คือช่วงเวลาของเจเนอเรชั่นใหม่ หนึ่งเจเนอเรชั่นที่ก่อตัวขึ้น
แต่เมื่อมีการรัฐประหารปี 2557 สังคมไทยเราไม่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเลย อย่าว่าแต่หว่านเมล็ดพันธุ์ แม้แต่การเตรียมดิน ถางหญ้าก็ไม่ได้ทำ ท่ามกลางวิกฤตภูมิศาสตร์ สงคราม โรคระบาด
มันคือทศวรรษที่สูญหาย เมื่อมีการเลือกตั้งและพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นี่คือ “เกม” ที่พรรคเพื่อไทยถนัด และทำมาตลอดชีวิต นั่นคือเร่งสร้างเศรษฐกิจจากซอฟต์เพาเวอร์ พัฒนาซอฟต์สกิล เพราะมันคือ “ทางลัด” ของการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ
ตราบเท่าที่เรา, ประชาชน ไม่สามารถมีอำนาจไปทลายโครงสร้างสารพัด “การผูกขาด” ในประเทศนี้ ไม่สามารถปฏิรูประบบราชการที่สุดแสนจะแข็งแกร่ง
จะมีอะไรสำคัญไปกว่าการปลดปล่อยประชาชนออกจากอำนาจกดทับด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และ Talent ที่สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้โดยไร้พรมแดน นั่นคือ Talent ของปัจเจกบุคคล
ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนทำผ้า เป็นเชฟ เป็นคนฟาร์ม เป็นคนที่ปลูกทุเรียนได้อร่อยที่สุด เป็นคนในอุตสาหกรรมกีฬา เป็นคนในอุตสาหกรรมบันเทิง เป็นนักเขียน เป็นนักออกแบบ เป็นนักจัดดอกไม้ เป็นคนทำขนมปัง ฯลฯ
เหล่านี้คือผู้คนที่จะไม่เข้าไปอยู่หรือทำงานใน “ระบบ” ไม่ว่าจะระบบ “ทุนใหญ่” หรือ “ระบบรัฐราชการ”
เพราะฉะนั้น สำหรับตัวฉันเอง ไม่มีวิธีไหนที่จะออกจากปัญหาโครงสร้างรัฐราชการเดิมๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศได้เท่ากับการติดอาวุธให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพอิสระหรือ เป็นผู้ประกอบการายย่อย หรือเป็น talent ในทางใดทางหนึ่งที่ทำให้คนผู้นั้นไม่จำเป็นต้องศิโรราบต่ออำนาจรัฐไทย
แต่สามารถผันตัวไปเป็น global citizen ทำงานได้ทั่วโลก อาวุธทางทักษะ ปัญญา
talent แบบนี้แหละที่ท้ายที่สุดจะกลายเป็นอำนาจต่อรองของปัจเจกบุคคลต่ออำนาจรัฐในเชิงโครงสร้าง
ถ้าซอฟต์เพาเวอร์ผ่านโครงการ THACCA ทำสำเร็จเท่ากับว่าเราจะมีประชากรคนไทยที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น
เราจะมีคนประกอบอาชีพนักเขียน ศิลปิน นักกีฬา เชฟ ช่างฝีมือ เกษตรกรกึ่งผู้ประกอบการ ในสัดส่วนที่สูงขึ้น
และคนเหล่านี้แหละที่ท้ายที่สุดจะหันมากดดัน เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ กดดันให้เกิดการแก้กฎหมายที่ขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ คนเหล่านี้จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการออกแบบเมือง
กดดันให้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาหรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปี่ยนแปลงนั้น
เมื่อพวกเขาเป็น “อิสระชน” เป็น คนทำธุรกิจ เป็นเจ้าของร้าน เป็นเจ้าของฟาร์ม เป็นผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟ เป็นเจ้าของโรงเรมเล็กๆ เป็นคนทำเหล้า ทำคราฟต์เบียร์ ฯลฯ
พวกเขาจะผนึกกำลังกันกดดันรัฐให้ทำอะไรบางอย่างให้เขาสามารถแข่งขันกับทุนเจ้าสัว เป็นต้น
เวลาที่เราพูดเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือปฏิรูป นู่น นั่น นี่ มันไม่ใช่เรื่องของการเดินไปผ่าตัดองค์กร
แต่มันคือกระบวนการสร้างระบบนิเวศน์ใหม่เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นเสียงที่ถูกขับเคลื่อนมาจากฐานรากที่อยู่ข้างล่างสุด ไม่ใช่เกิดจากคุณพ่อรู้ดีมาสั่งให้เปลี่ยน
ดังนั้น เราจึงต้องสร้างกลุ่มประชากรที่เป็นฐานรากตรงนี้ให้เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากพอที่ส่งเสียงออกไปแล้วมีพลัง ดังนั้น เศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงไม่ใช่แค่เรื่อง “ปากท้อง” หรือเศรษฐกิจอย่างเดียว
ไม่นับถึงการทำให้ประเทศไทยมีที่อยู่ที่ยืนบนเวทีโลก
คำว่ามีที่อยู่ที่ยืน ไม่ใช่เพราะเรามีกองทัพ มีอาวุธ แต่เรามี “เรื่องราว” ที่ผูกจิตผูกใจคนบนโลกใบนี้ให้อยู่กับเรา ทุกข์กับเรา สุขกับเรา ไม่ว่าจะด้วยดนตรี หมอลำ มวยไทย หนังไทย อาหารไทย ทุเรียน หากเขา “อิน” กับเรามากพอ เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิด “วิกฤต” ในประเทศไทย โลกก็จะเดือดร้อนไปกับเราและรู้สึกอยากเข้ามาแบ่งเบาทุกข์สุขนั้นกับเรา ไปจนถึงอยากมีส่วนร่วมในการพาเราออกจากวิกฤตที่เราเผชิญ
เช่น หากเกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย โลกทั้งใบจะต้องรู้ร้อนรู้หนาวไปกับเรา ไม่ใช่แค่ยักไหล่แล้วบอกว่า “เออ ประเทศโลกที่สามก็แบบนี้”
ฉันเขียนมายืดยาวเพื่อที่จะบอกว่า การเถียงกันเรื่อง สวย ไม่สวย แต่งตัวเป็นหรือไม่เป็น ดีไซเนอร์เก่งหรือไม่เก่ง ไม่ใช่ประเด็นที่เราต้องพูดถึงในกรณีของชุดสูทที่แพทองธารในฐานะประธานซอฟต์เพาเวอร์ใส่ในวันนั้น
แต่สิ่งที่เราต้องพูดคือ ชุดนั้นของแพทองธารเป็นการสื่อสารทางการเมืองไม่ใช่เรื่องการแต่งตัวให้สวย
การสื่อสารทางการเมืองในที่นี้คืออะไร?
แพทองธารเลือกใส่ชุดที่มาจากดีไซเนอร์ที่ยังไม่เกิด ไม่ดัง ยังค้นหาตัวเองอยู่
แพทองธารเลือกใส่ชุดที่มาจากดีไซเนอร์ที่ยังไม่เกิด ไม่ดัง ยังค้นหาตัวเอง เป็นคนอีสาน
แพทองธารเลือกใส่ชุดที่มาจากดีไซเนอร์ที่ยังไม่เกิด ไม่ดัง ยังค้นหาตัวเอง เป็นคนอีสาน และตัดเย็บชุดนี้ด้วยโจทย์ที่ต้องใช้ผ้าเอกลักษณ์ของอีสานทั้งหมด
แพทองธารเลือกใส่ชุดที่มาจากดีไซเนอร์ที่ยังไม่เกิด ไม่ดัง ยังค้นหาตัวเอง เป็นคนอีสาน และตัดเย็บชุดนี้ด้วยโจทย์ที่ต้องใช้ผ้าเอกลักษณ์ของอีสานทั้งหมด และเป็นชุดที่ไม่สวย ไม่สมบูรณ์แบบ
ทั้งหมดนี้คือหัวใจของ THACCA คือหัวใจของนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย อีสานคือสัญลักษณ์ของภูมิภาคที่ยากจน แร้นแค้น
ถูกดูถูกเหยียดหยามมากที่สุดเท่าๆ กับการถูกตราหน้าว่าคนอีสานเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะถูก “ซื้อ” เพราะโง่ เพราะจน เพราะเจ็บ
ซอฟต์เพาเวอร์จึงหมายถึงการปลดปล่อยผู้คนออกจากการถูกดูหมิ่นดูแคลน
คือการเสริมพลังให้คนอีสานฮึกเหิม
คือการโอบรับความเป็นอีสานมาประทับบนเนื้อตัวร่างกายของหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีสัญญาใจกับผู้คนทั้งหลายว่าเราจะแข็งแกร่งไปด้วยกัน
ซอฟต์เพาเวอร์ยังหมายถึงการเริ่มต้นค้นหาจากความไม่สมบูรณ์แบบ จากดีไซเนอร์ที่ยังไม่เก่ง ยังไม่ established ยังลองผิดลองถูก แต่มีพลัง มีความฝัน มีความตั้งใจ
มีแรงปรารถนาอยากพาอัตลักษณ์ของความเป็นอีสานไปให้โลกรู้จักและยอมรับ
ซอฟต์เพาเวอร์คือการ empower คนตัวเล็กหรือไม่ใช่?
ซอฟต์เพาเวอร์คือการเปิดเวทีให้หน้าใหม่ได้ปรากฏตัวหรือไม่ใช่?
แพทองธารไม่ได้ใส่ชุดนี้เพราะมันสวยเท่าชาแนล ดิออร์
แต่ใส่เพราะความสวยของชุดนี้คือหัวใจของนโยบายซอฟต์เพาเวอร์
คือความทะเยอทะยานของท้องถิ่นที่ถูกกดทับเหยียดหยาม
คือการดิ้นรนแสวงหาที่ทางและตัวตนคือการทดลองของนักเรียนดีไซเนอร์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยหัวเมือง สุดแสนจะเป็นชายขอบของโลกแฟชั่น
สูทตัวนี้ที่แพทองธารใส่จึงไม่ได้ใส่เพราะแพทองธารอยากเป็นคนที่สวยที่สุด เด่นที่สุดในงาน
แต่ใส่เพราะนี่คือ political statement คือการประกาศวาระทางการเมือง เป้าหมายของนโยบายของพรรคที่เธอรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าพรรค
แต่งตัวแล้วสวยใครๆ ก็ทำได้ มีเงินก็จ้างสไตลิสต์ได้
แต่นี่คือแต่งตัวเพื่อประกาศวาระทางการเมือง แต่งตัวเพื่อวางหมุดหมายและประกาศว่า “นี่คืองาน นี่คืออนาคต และนี่คือชีวิตของฉันที่หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน”
และการที่อยู่ๆ ทุกคนก็เกิดจะ “รู้ร้อนรู้หนาว” กับการใส่ชุดนี้ของแพทองธารก็เป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สร้างความสั่นสะเทือนบางอย่างได้มากกว่าเรื่องสวยหรือไม่สวย
เพราะถ้ามันจะแค่ไม่สวย สังคมคงไม่หมกมุ่นกับมันมากและนานขนาดนี้
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


