

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น
บ้านเมืองมีปัญหา
เพราะไม่มีใครฟังใคร?
นั่งคุยกับเพื่อนรุ่นเยาว์วันก่อน มีคำถามกลางวงว่า
“ทำไมผมรู้สึกว่าผู้ใหญ่บ้านเมืองนี้ตะโกนดังขึ้นทุกวัน…เขาพูดเสียงเบาๆ ไม่เป็นแล้วหรือ?”
ผมก็เพิ่งสังเกตเหมือนกันว่ายิ่งเป็นเรื่องการเมือง การถกแถลงยิ่งวันก็ยิ่งส่งเสียงดังขึ้น
เยาวชนอีกคนถามว่า “ผมว่าคนไทยส่งเสียงดังขึ้น แต่ฟังกันน้อยลง”
วงสนทนานั้นจึงเริ่มตั้งคำถามว่า เพราะไม่มีใครฟังใครบ้านเมืองจึงมีปัญหามากมายแบบทุกวันนี้ใช่ไหม
เพราะเรามี “สมาธิสั้นลง” จึงมุ่งแต่จะพูด ไม่มีความสนใจที่จะฟัง
หรือเราฟังก็เฉพาะที่เราอยากจะฟัง
หากเป็นอะไรที่แย้งกับความเห็นของเรา หรือที่เรียกว่า “ขัดหู” เราจะปิดหู เลิกฟังทันที
ถ้าผู้คนสนใจจะพูด ไม่ต้องการฟัง ก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธความเห็นที่แตกต่าง
เมื่อไม่พยายามจะเข้าใจความเห็นอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ตามมาก็คือช่องว่างของความเข้าใจ
มองคนเห็นเป็นคนละพวก
ร้ายกว่านั้นคือการตีตราว่าเป็นศัตรู
นำไปสู่การแบ่งขั้วแบ่งเหล่ามากขึ้น
ยืนอยู่คนละข้าง เป้าหมายของการแลกเปลี่ยนไม่ใช่เพื่อสร้างความเข้าใจว่าทำไมอีกฝ่ายหนึ่งจึงเห็นต่าง
แต่มุ่งเน้นเอาชนะคะคาน
บางครั้งมองว่าการพยายามฟังเพื่อให้เข้าใจเพื่อหวังแสวงหาจุดร่วมถูกมองเป็นความอ่อนแอพ่ายแพ้
ปัญหาสังคมไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา
เสื่อมทรุดกลายเป็นความขัดแย้งที่หนักหน่วงรุนแรง ปัญหาเดิมมีหนึ่งถูกขยายไปเป็นสองสามสี่โดยไม่รู้ตัว แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีส่วนทำให้ปัญหา “พูดแต่ไม่ฟัง” หรือ “ฟังแต่ไม่ได้ยิน” เลวร้ายลงไปอีก
เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Echo Chamber หรือ “ห้องสะท้อนเสียง”
สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังคือเสียงของตัวเราเองที่ส่งออกไปแล้วสะท้อนกลับมา
แต่เราเหมาว่านั่นคือเสียงคนอื่น
ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าความคิดความอ่านของเรานั้นถูกต้องแล้ว ใครมาแย้งมาเถียงไม่ได้
เป็นการเสริมเพิ่มอคติ
เป็นการบอกปัดมุมมองย้อนแย้งทันทีที่อีกฝ่ายหนึ่งแค่อ้าปาก ความแตกแยกในสังคมจึงหนักหน่วงลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ทำให้ “การสนทนาเชิงสร้างสรรค์” เพื่อหาทางออกร่วมกันยากเย็นยิ่งขึ้น
เมื่อเราให้ลำดับความสำคัญของการพูดมากกว่าการฟังก็จะตามมาด้วยการตีความอีกฝ่ายหนึ่งผิดๆ
เพิ่มความตึงเครียด ความขัดแย้ง
เลวร้ายกว่าการ “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด”
เพราะอย่างน้อยการ “ฟังไม่ได้ศัพท์” ยังมีการ “ฟัง”
ฟังแล้วไปตีความผิดจากที่เจ้าตัวต้องการสื่อ อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังสามารถชี้แจงแก้ไข
แต่หากเป็นการ “พูดแต่ไม่ฟัง” นั้น อาการหนักกว่าหลายเท่า
เพราะไม่ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ
ไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจ
เพราะเชื่อสนิทใจแล้วว่า “อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่”
บางทีเขายังไม่ทัน “อ้าปาก” เราก็ชี้นิ้วไปสรุปว่า “ฉันเห็นทะลุถึงลิ้นไก่คุณแล้ว”
ที่ทำให้เกิดปัญหาในระดับชาติเพราะไม่ฟังกันและฟังนั้นคือปฏิเสธที่จะฟัง “เสียงชายขอบ”
เสียงของชุมชนชายขอบมักจะจมหายไปเพราะคนมีตำแหน่งและฐานะครอบงำการพูดคุย
นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางสังคม
ตามมาด้วยความอยุติธรรม
ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งวันยิ่งลุ่มลึก
เพราะเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยถูกกลบโดยผู้มีอำนาจตัดสินชะตากรรมของผู้อื่นอย่างไร้ความเป็นธรรม
เมื่อไม่ฟังเสียงของชุมชน นโยบายรัฐและความพยายามจะแก้ปัญหาระดับชาติก็ผิดพลาดล้มเหลว
เพราะเมื่อผู้มีอำนาจถามเองตอบเอง ก็ย่อมจะตั้งโจทย์ผิด
เมื่อโจทย์เพี้ยน หนทางแก้ปัญหาก็ถูกบิดเบือน
นำมาซึ่งความล้มเหลวในการแก้ปัญหาส่วนรวมของสังคม
หากไม่มีการฟังอย่างตั้งใจ โดยเฉพาะจากผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ปัญหาที่สั่งสมก็จะยืดเยื้อและเสื่อมทรุด
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางสังคม เช่น ความยากจน การเหยียดเชื้อชาติ และความไม่เท่าเทียมทางเพศ
หากผู้ปกครองไม่ฟังก็จะไม่เห็นคุณค่าของการต่อสู้ดิ้นรนของผู้อื่น
นำไปสู่การขาดการสนับสนุนสำหรับการปฏิรูปที่จำเป็น และทำให้ปัญหาเชิงระบบยืดเยื้อเรื้อรัง
ยิ่งหากจะสร้างสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและครอบคลุม “พลังแห่งการฟัง” ยิ่งต้องถูกจัดเป็นลำดับต้นๆ ของวาระแห่งชาติ
เพราะการฟังคือรากฐานของ “ประชาธิปไตยแบบไตร่ตรอง”
อันหมายถึงการแสวงหาทางออกของสังคมผ่านการ “ถกแถลงอย่างสร้างสรรค์”
ฝรั่งเรียกว่า Deliberative Democracy และ Creative Disagreement
นั่นหมายความว่าเราต้องไม่ให้เสียงตะโกนโหวกเหวกกลบความสำคัญของ “ความเห็นอีกด้านหนึ่ง”
และความเห็นที่ย้อนแย้งนั้นจะเกิดประโยชน์สำหรับการแสวงหาทางออกของสังคมก็คือการฟัง
และต้องเป็นการฟังอย่างตั้งใจ…ด้วยความจริงใจที่จะเข้าใจความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง
เรียกว่า “ฟังอย่างแข็งขันและเห็นอกเห็นใจ” ก็ได้
“ประชาธิปไตยแบบไตร่ตรอง” คือการอภิปรายและการถกเถียงที่สมเหตุสมผลในหมู่ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
แตกต่างจากประชาธิปไตยรูปแบบอื่นๆ ที่อาจเน้นการลงคะแนนเสียงเพื่อให้ “เสียงข้างมาก” กำหนดทิศทางทุกอย่างเท่านั้น
แต่หากจะสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสันติก็ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการถกแถลงและโต้แย้ง ไตร่ตรอง
เพื่อนำไปสู่การสร้างฉันทามติ
นั่นแปลว่าจะต้องมีกระบวนการที่เสมอภาคในสาระจริงๆ
เพื่อให้แน่ใจว่าเสียงของพลเมืองทุกคนต้องได้การ “รับฟัง”
และเป็นการรับฟัง “ด้วยความเคารพ”
เพื่อนำไปสู่การได้ “รับการพิจารณา” อย่างแข็งขันจริงจังและจริงใจ
นั่นคือสังคมจะต้องจัดความสำคัญของ “การฟัง” มากกว่า “การบอกเล่า”
เพราะการฟังเป็น “ทักษะ” ที่สำคัญในการสร้าง “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”
ทักษะที่ว่านี้หมายความถึงการทำความเข้าใจมุมมองของผู้อื่น
นั่นคือการเปิดใจฟังเพื่อแสดงความเต็มใจที่จะรับรู้และทำความเข้าใจกับแนวคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง
ตามมาด้วยการใช้วิจารณญาณเพื่อรับรู้ข้อโต้แย้งโดยไร้อคติ… หรือมีอคติน้อยที่สุด
ที่สำคัญคือต้องฝึกปรือความอดทน รับฟังให้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ลุกขึ้นแย้งทันทีที่หงุดหงิดฉุนเฉียวกับความเห็นต่าง
เมื่อฟังอย่างตั้งใจก็ย่อมจะตั้งคำถามแบบไตร่ตรองมากกว่าเป็นการตอบโต้เพียงเพื่อเอาชนะ
หากสร้างวัฒนธรรม “การฟังอย่างกระตือรือร้น” พลเมืองก็จะเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อปัญหาที่ซับซ้อน
เพราะยิ่งวันสังคมก็ยิ่งต้องเผชิญกับอุปสรรคของการปัญหาที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ถ้า “ฟังอย่างตั้งใจ” ก็จะสกัดการแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิดหรือบิดเบือน
แก้ปัญหา fake news ที่กำลังกลายเป็นวิกฤตการสื่อสารของสังคมทุกวันนี้ได้
ถ้าเราฟังซึ่งกันและกัน แทนที่จะตะโกนใส่กัน เราก็จะพบว่าสังคมไม่จำเป็นต้องอยู่ในบรรยากาศของความขัดแย้ง
และความคิดเห็นที่แตกต่างก็ย่อมจะหาทางออกร่วมกันได้ด้วยการฟังก่อนพูด
ซึ่งจะนำไปสู่การพูดเพื่อจะนำไปสู่การกระทำเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
มิใช่เพียงต้องการโต้เถียงเพื่อพิสูจน์ว่าตนเก่งกว่าอีกคนหนึ่งเท่านั้น
ผู้รู้บอกว่าปัญหาของมนุษย์มีอยู่ 3 อย่าง
ปัญหาของคุณ
ปัญหาของฉัน
และปัญหาของเรา
ถ้าสังคมมองว่าทุกอย่างคือ “ปัญหาของเรา” ไม่โยนว่าเป็นของคนอื่นหรือเฉพาะของตน
บางทีเพียงแก้ทัศนคตินี้ได้
ปัญหาหลายเรื่องอาจจะสลายหายไปต่อหน้าต่อตาได้เลย
เพราะเราไม่เพียงแต่ฟัง
แต่จะ “ได้ยิน” อย่างชัดแจ้งอีกด้วย!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022