เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

คำ ผกา | สัตว์ร้ายตัวนั้นคือวิธีคิดของคุณ

24.02.2025

คำ ผกา

 

สัตว์ร้ายตัวนั้นคือวิธีคิดของคุณ

 

หนึ่งในความปรารถนาสูงสุดของอารยชนในประเทศไทยคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เหตุเพราะว่า มันคือมรดกของการรัฐประหาร และเรื่องที่ชวนหัวมากกว่านั้นคือ รัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกทิ้งไปคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ก็เป็นมรดกของการรัฐประหารปี 2549

นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์พันลึกของการเมืองไทยที่หัวร่อมิออก ร่ำไห้ก็มิได้ ที่มีการใช้การรัฐประหารมาฉีกรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารนั่นแหละ เพราะอุตส่าห์รัฐประหารมาแล้ว ปล่อยให้มีการเลือกตั้ง อีกพรรคแกงพรรคเดิมก็ยังชนะการเลือกตั้ง อีนังทักษิณก็ยังมีน้องสาวลอยหน้าลอยตาขึ้นมาเป็นนายกฯ คราวนี้แหละรัฐประหารสำเร็จจะเขียนรัฐธรรมนูญให้รัดกุมที่สุดในโลกจักรวาล หวังว่าอีพรรคแดงพรรคเดิมจะไม่กลับมาเผยอหน้าเป็นรัฐบาลเป็นนายกฯ อีก

หมากกลของรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงแยบคายอย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าได้มีการวาง “ค่ายกล” ไว้สองจุดใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง ที่มาของวุฒิสมาชิกชุดแรกให้มาจากการสรรหาขององคาพยพของหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าคณะรัฐประหาร จากนั้นให้อำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเหลื่อมไปในรัฐบาลสมัยต่อมา เพื่อการันตีว่า อีพวกนักเลือกตั้งจะไม่ล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารให้ต้องเสียของกันอีก

สอง วางหมากกลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.ไม่ต่ำว่าหนึ่งในสามเสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นความย้อนแยงในตัวเองว่า ส.ว.ย่อมไม่มีใครอยากยกมือโหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตัวเองสูญเสียอำนาจ

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงอยู่ในสภาพเดินหน้าสามก้าว ถอยหลังสิบก้าวมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะมันเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาให้แก้ไม่ได้หากนักการเมืองทุกพรรคในสภาไม่สมัครสมานสามัคคีเอาวาระของประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง (มากกว่าจะเอาผลประโยชน์ทางอำนาจและคะแนนนิยมของพรรคตัวเองเป็นที่ตั้ง)

และยังไม่นับว่า อีกองคาพยพหนึ่งที่มีอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎรคือ ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญในสมัยที่เพื่อไทยและก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านที่ผ่านสภาไปจนถึงวาระสาม สุดท้ายมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าสภามีสิทธิแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขและเขียนรัฐธรรมนูญแน่นอน

แต่เนื่องจากประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจทางการเมืองจึงต้องให้ประชาชนตัดสินใจว่าประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ (ฉันแปลความภาษากฎหมายได้แบบนี้ และเข้าใจว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ถูกแปลและตีความออกไปได้หลายแบบมาก)

ประชาชนอย่างเราก็คิดในใจแหละว่า ประชาชนเลือกผู้แทนฯ ของตัวเองไปทำงานในสภาแล้วไง หากเสียงส่วนมากในสภาจะแก้ก็ต้องเป็นไปตามนั้น จะกลับมาถามประชาชนอีกทำไม

แต่คำวินิจฉัยนี้ทำให้ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญ (ที่เรียกว่าฉบับประชาชน) แท้งไปดื้อๆ เพราะ ส.ส.ทั้งหลายก็ไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านหมายความว่ายังไงกันนะ

ทีนี้ถ้าเราเป็นหนึ่งในผู้โหวตผ่านให้มี ส.ส.ร. ให้แก้ ให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เราสุ่มเสี่ยงจะถูกยุบพรรคหรือเปล่า เราสุ่มเสี่ยงจะถูดตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตหรือเปล่า

ถามใครก็ไม่มีใครตอบได้ว่า ตกลงสภามีอำนาจนี้หรือไม่? หรือต้องเริ่มจากไปทำกฎหมายประชามติถามประชาชนว่า

“อยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่?”

ทุกคนก็บอกว่า ดีๆ ประชามติดีกว่า เซฟๆ เสียเงินนิดหน่อยแต่ทุกคนสบายใจ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มาวอแว

 

แต่ปรากฏว่า มีเรื่องใหม่ขึ้นมาอีกว่า เราต้องถามว่า อยากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือถามให้จำเพาะเจาะจงไปเลยว่า ต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวดหนึ่งและหมวดสอง

ทางพรรคเพื่อไทยเห็นว่าเพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายควรถามว่า

“ต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวดหนึ่งหมวดสอง”

ทางพรรคก้าวไกลบอกว่า ไร้สาระ แก้ทั้งฉบับก็คือทั้งฉบับ ใส่คำว่ายกเว้นเข้าไปก็ผิดตรรกะสิ แล้วหมวดหนึ่งหมวดสองไม่แก้อยู่แล้วเป็นข้อยกเว้นเชิงวัฒนธรรมที่เข้าใจตรงกันหมด ไม่จำเป็นต้องระบุ การระบุต่างหากที่ดูไม่ดี ดูมีพิรุธ ดูไม่มีตรรกะ

ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ยังยืนยันว่าหากมีคนไม่สบายใจ พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่สบายใจ ส.ว.ไม่สบายใจ การดันทุรังว่า “แก้ทั้งฉบับ” รังแต่จะเกิดความยุ่งยาก การถกเถียงที่ไม่จำเป็นตามมา

ทางพรรคก้าวไกลก็เถียงกลับมาว่า พรรคการเมืองอื่นล้วนเป็นส่วนต่อขยายของ “ลุง” หากพรรคเพื่อไทยมีกระดูกสันหลังเหยียดตรง ทำไมต้องไป “ยอม” พรรคเหล่านั้น ต้องมายืนเคียงข้างหลักการพรรคก้าวไกลสิ

เป็นพรรคฝั่งประชาธิปไตยที่ยืนอยู่ตรงข้ามพรรค “ลุง” ไม่ใช่หรือ? ทำไมตอนนี้ไปผสมพันธุ์กับเขาแล้วขายวิญญาณล่ะสิ

 

นอกจากมีประเด็นเรื่องหมวดหนึ่งหมวดสอง ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่า สรุปเราต้องทำประชามติกี่ครั้ง? สองครั้ง สามครั้ง หรือสี่ครั้ง

ไม่เพียงแต่ไม่รู้ว่าต้องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่ ยังมีประเด็นเรื่อง double majority ในการทำประชามติว่า หากเสียงข้างมากของคนที่ออกมาโหวตไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกมาเสียงโหวต ก็ไม่นับว่า “ผ่าน” ประชามติ หากเป็นเช่นนี้ก็น่ากลัวว่า ฝ่ายที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญก็รณรงค์ให้คนไม่ออกไปโหวต เช่น เที่ยวไปปล่อยข่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีวาระต้องการลดพระราชอำนาจ

ปล่อยข่าวไปแค่นี้ก็อาจทำให้คนจำนวนหนึ่งบอยคอตไม่ยอมไปใช้สิทธิ์ หรืองดออกเสียง หรือแม้กระทั่งโหวตว่าไม่ต้องการแก้หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

นี่คือค่ายกลหลายชั้นที่พรรคเพื่อไทยซึ่งทำงานในสองสถานะพร้อมกันคือ

หนึ่ง เป็นพรรคการเมืองที่หาเสียง สัญญากับประชาชนมาตลอดว่าจุดยืนของพรรคคือจะทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง (ทั้งหมดหรือไม่ ไม่แน่ใจ) และจะทำให้สำเร็จ

สอง ดำรงสถานะแกนนำรัฐบาลผสมหลายพรรคในสภานิติบัญญัติ และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรี

หน้าที่ของพรรคเพื่อไทยจึงต้องพยายามหาทางแก้รัฐธรรมนูญไปพร้อมๆ กับประสาน “ความเห็นต่าง” ของทุกพรรคการเมืองในสภานิติบัญญัติ เช่น ต้องยืนยันเรื่องไม่แตะหมวดหนึ่ง หมวดสอง เพราะสิ่งนี้เป็นจุดยืนของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด หรือจำนวนครั้งในการทำประชามติ และ เรื่อง double majority ที่ชัดเจนว่าพรรคภูมิใจไทยยืนยันว่าควรให้เป็นเช่นนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหามาประท้วงกันภายหลังในกรณีที่คนออกมาใช้สิทธิ์น้อย ก็จะมีคนออกมา “ร้อง” นั่นไม่สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเจ้าของอำนาจจริงๆ นะ พร้อมกับเกลี้ยกล่อมว่า

“เอาแบบนี้เถอะนะ แล้วเราค่อยไปรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิ์เยอะๆ เราทำได้อยู่แล้ว”

 

ขณะเดียวกันในหลายประเด็นพรรคเพื่อไทยก็มีจุดร่วมเดียวกันกับพรรคประชาชนที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน เช่น การลดอำนาจองค์กรอิสระ และที่มาของ ส.ว.ที่ควรยึดโยงกับอำนาจของประชาชนมากกว่านี้

พร้อมกันนั้นพรรคเพื่อไทยก็มี ส.ส.เพียง 141 ต่อให้รวมกับพรรคก้าวไกลทั้งหมด ก็ยังน้อยกว่าจำนวน ส.ส.ที่เหลือบวกวุฒิสมาชิก สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องทำคือพยายามหากจุดประนีประนอมของทุกฝ่าย ดังเราจะเห็นว่าคนที่มีบทบาทประสานจุดต่างของทุกพรรคในเรื่องนี้คือ คุณนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา และคุณนิกรก็ได้พูดในหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระว่า นี่เป็นรัฐธรรมนูญของทุกคนที่เห็นต่างกันในหลายเรื่อง แม้เราเห็นว่าของเราดีที่สุด เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แต่ถ้าคนอื่นเขาไม่เอาด้วย เราควรมาโฟกัสว่าทำอย่างไรจะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ได้เริ่มต้นให้ได้ก่อนที่จะไปงอแงว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราอยากให้มันเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์

อีกขาหนึ่งของพรรคเพื่อไทยคือการทำงานในฐานะฝ่ายบริหารร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสร้างผลงานให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชน เพราะสิ่งนี้ส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ไม่เพียงแต่คะแนนนิยม ฉันคิดว่า ลึกๆ แล้วพรรคเพื่อไทยมีความอัดอั้นตันใจที่ถูกรัฐประหารไปหลายรอบ มีนโยบายดีๆ อยู่ในมือที่ทำค้างๆ คาๆ ไว้ จึงมีแรงผลักดันลึกๆ ว่า “อยากจะทำงานให้เด็กมันดู”

การเลือกตั้งในสมัยหน้า แพ้หรือชนะไม่รู้ แต่เมื่ออุตส่าห์ได้อำนาจรัฐมาแล้ว อยากพิสูจน์ตัวเองว่า “เพื่อไทยคือของจริง ตัวจริง”

ดังนั้น ขาหนึ่งก็พยายามจะแก้รัฐธรรมนูญ อีกขาก็หนึ่งก็ต้องการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อให้ได้พิสูจน์ตัวเอง มีเวลาทำงานให้ครบ 4 ปี

เพราะฉะนั้น ให้ชั่งน้ำหนัก ฉันคิดว่าพรรคเพื่อไทยเลือกให้น้ำหนักกับการเป็นรัฐบาล ทำดิจิทัลวอลเล็ต ทำบ้านเพื่อคนไทย ทำรถไฟความเร็วสูงไปหนองคาย ทำรถไฟฟ้ายี่สิบบาท ทำ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ทำการท่องเที่ยว ทำ e-government ปราบยาเสพติก วางตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทยให้เป็นตัวกลางในการฟื้นฟูสันติภาพในเมียนมา เพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหายาเสพติด

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเงิน การคลัง การศึกษา การวางโครงสร้างพื้นฐานไปสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนต้องมี “อำนาจรัฐ” อยู่ในมือ จึงจะวางรากฐานเหล่านี้ให้สำเร็จ ที่ไม่แน่ใจว่าแปดปีพอหรือไม่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เพื่อไทยจะเดินหน้าชนทุกอย่าง ทุกคนเพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จเพียงอย่างเดียว

 

ฉันไม่ได้บอกว่าคิดแบบเพื่อไทยถูก เพราะหลายคนอาจจะมองว่า หากสี่ปีนี้เพื่อไทยมุ่งแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จ ได้รัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา เลือกตั้งเลย รับรองว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องเป็น legend เป็นตำนานที่ต้องจดจาร จารึกไว้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่ยอมตระบัดสัตย์เพื่อปฏิสังขรณ์รัฐธรรมนูญไทยให้กลับมาเป็นของประชาชน

แต่หากชั่งน้ำหนักแล้ว ระหว่างแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ กับทำให้ประชาชนมีเงินมีทองมากขึ้น แก้ปัญหายาเสพติดได้ กระตุ้นการลงทุนได้ เพิ่มจีดีพีได้มากขึ้นกว่าเดิม ลงเสาเข็มรถไฟความเร็วสูงสายแรกได้ ทำ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมได้ ฟื้นโอท็อปได้ หากสิ่งเหล่านี้มีแนวโน้มจะทำได้ภายในสี่ปี และมีอุปสรรคน้อยกว่าการวิ่งท้าชนทุกฝ่ายเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าฉันเป็นเพื่อไทย ฉันก็เลือกจะทำอย่างหลัง

ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญจะใช้วิธีนวดไปเรื่อยๆ ดีกว่าวิ่งสู้ฟัด เอาพลังงานทั้งหมดมาทำตรงนี้จนอย่างอื่นไม่ได้ทำ

ส่วนพรรคประชาชนเป็นพรรคฝ่ายค้าน ไม่มีอะไรให้ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่ต้องมีพันธกิจแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ขึ้นชื่อว่าเป็นฝ่ายค้าน มีหน้าที่ค้าน หรือด่ารัฐบาลทุกเรื่องอยู่แล้ว

และพรรคประชาชนก็รู้อยู่แก่ใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากมาก ก็ไม่ใช่เรื่องคาดเดาไม่ได้ เพราะหากฉันเป็นฝ่ายค้านฉันก็เล่นเกมนี้เหมือนกัน คือ ฟาดไปเลยว่า พรรคเพื่อไทยมันไปสมสู่กับนั่งร้านเผด็จการแล้ว มันหวงอำนาจ มันไม่รักษาสัจจะ คราวหน้าพี่น้องประชาชนอย่างเลือกมันอีก หันมาเลือกเราแยะๆ เลือกเราให้แลนด์สไลด์ เราเป็นรัฐบาลพรรคเดียวแล้วเราจะแก้รัฐธรรมนูญให้ดู

ตรรกะนี้เข้าใจได้ไม่ยาก ประชาชนฟังแล้วก็คล้อยตามได้โดยง่าย เพราะพรรคส้มยังไม่เคยเป็นรัฐบาลก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าหากเขาเป็นรัฐบาล เขาจะทำได้จริงอย่างที่โม้หรือไม่ พรรคประชาชนจึงไม่มีต้องเสีย สู้เทหมดหน้าตัก ลุ้นให้ได้ ส.ส.เยอะๆ ปี 2570 แล้วตั้งรัฐบาล

จากนั้นจะทำอะไรได้แค่ไหน จะร่วมรัฐบาลกับใคร ก็ค่อยไปว่ากันหน้างาน

ส่วนฉันก็ไม่มีปัญหาว่าใครจะเป็นรัฐบาล ขอให้เป็นรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งเท่านั้นก็พอ เพราะหากทำงานห่วยขึ้นมาเมื่อไหร่ ฉันก็จะด่าไม่ยั้ง จะด่าวันละยี่สิบห้าชั่วโมงด้วย

 

ฉันยังยืนยันว่าเราไม่สมควรต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนโดยเผด็จการ แต่หากการแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้กลไกสภา มันไม่ง่ายอย่างที่ใจเราอยากให้เป็นเพราะ ส.ส.จากพรรคการเมืองหนึ่ง (ที่ก็มาจากการเลือกตั้งนี่แหละ) และ ส.ว.อีกจำนวนมาก บวกองค์กรอิสระไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ พยายามจะเหนี่ยวรั้งเอาไว้ คำถามคือ เราจะหักด้ามพร้าด้วยเข่า หรือเราจะประคองสถานการณ์ ข่มใจไม่ใช้กลไกนอกสภาเพื่อออกจากปัญหานี้ (ถึงอยากใช้ก็ไม่มีปัญญา)

ศัตรูของประชาธิปไตยเหมือนสัตว์ร้ายที่สังคมไทยเองนี่แหละเลี้ยงดู อุ้มชูมาเกือบจะศตววรษ จะฆ่าให้ตายวันนี้พรุ่งนี้ในสมัยแรกของรัฐบาลพลเรือน ฉันคิดว่ามันจะเป็นปาฏิหาริย์ไปสักหน่อย

สิ่งที่ฉันกังวลมากกว่าคือ วาทกรรม อุดมการณ์ของฝ่ายค้านเวลานี้ต่างหากที่ปากบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแต่กลับมีโลกทัศน์ วิธีคิด และวิธีการทำการเมืองบนการอ้างความเป็น “คนดี” มา dictates คนอื่นที่คิดไม่เหมือนตัวเอง

สิ่งนี้ล่ะคืออาหารอันโอชะของสัตว์ร้ายตัวนั้นที่เป็นอุปสรรคของชีวิตและวัฒนธรรมประชาธิปไตย

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พล.ท.ภราดร ชี้ครบ93ปีประชาธิปไตยไทย เดินสายพูดคุยปชช. พบสาเหตุที่ ปชต.อ่อนแอ
อดีต รมว.คลังชี้ช่วงนี้​ จะให้ศก.​เติบโต​สูงขึ้น ต้องปรับค่าเงินบาทลดลง​ ให้แข่งขันได้​ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐบาล​ ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นๆลงๆ​ ตามนักเก็งกำไร
รสนา ชี้กัมพูชาอ้างชุมนุม1.5 แสนคน เป็นแค่ราคาคุย ความจริงแค่หมื่นกว่าคนเท่านั้น
‘ลิณธิภรณ์’ จวก ‘ศุภชัย’ ร้อนรนเป็นฝ่ายค้าน ลืมอดีต เพื่อไทย เคยเสนอนำกัญชากลับบัญชียาเสพติด ย้ำรัฐบาล ‘แพทองธาร’ เร่งรื้อมรดก ‘ภูมิใจไทย‘ ทิ้งกัญชาเสรีทำลายสังคมไทย
มงคล ทศไกร ร่วมเปิดฟุตบอลคลินิก ให้เยาวชนคลองเตยและชุมชนเชื้อเพลิง โครงการ “BROS.CORE 2025 : เปิดเทอมเติมฝัน ปีที่ 2”
‘ใหม่-เต๋อ’ หมั้นแล้ว เปย์หนักแหวนเพชร 15 กะรัต ‘7 ปีกลัวที่สุด จับแต่งเลย จะได้ไม่ต้องเลิก’
ประเทศดี ที่มี ‘คนทุจริต’ กับ ‘อยุติธรรม’ อยู่อาศัย
93 ปี 24 มิถุนายน 2475 อาจต้องรอเกิน 100 ปี …จึงจะมีประชาธิปไตย
‘เครียด-จุดเดือดต่ำ-ซึมเศร้า’ บช.น.จัดคอร์สธรรมะขัดเกลาใจ สู้ความกดดันชีวิตอย่างมีสติ
จากการไล่ล่าผู้อพยพของ I.C.E. ในแอลเอ สู่การประท้วงใหญ่ ‘No Kings’ ทรัมป์ ทั่วอเมริกา
ขยายผลขบวนการค้า ‘ยาเสียสาว’ สวมชื่อ 370 คนตาย-สั่งซื้อ อย.แจ้งจับเพิ่ม 6 แพทย์ ร่วมทีม ‘หมอแอร์’ ใช้แฟลต ตร.ซุก 1.7 แสนเม็ด
ศึกอิหร่าน-อิสราเอล เมื่อ ‘คาเมนี’ ถูกต้อนเข้ามุม