เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

สะใจแล้วได้อะไร? | คำ ผกา

20.05.2025

คำ ผกา

สะใจแล้วได้อะไร?

เรื่องชั้น 14 ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อแพทยสภามีมติลงโทษแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กรณีให้เอกสารข้อมูลทางการแพทย์ไม่ตรงกับความเป็นจริง

ถ้าจะให้แปลความแบบชาวบ้านคือ แพทยสภาเห็นว่า อดีตนายกฯ ทักษิณไม่ได้ป่วยวิกฤตถึงขั้นจะต้องย้ายไปพักที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ

จากกรณีนี้ความเห็นในสังคมไทยแบ่งออกเป็นสามกลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรกที่ฉันจะเรียกว่า สลิ่มเฟสหนึ่ง กลุ่มที่เคยเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สนับสนุนยินดีโห่ร้องกับการรัฐประหาร 2549 เรียกได้ว่าเป็นคนกลุ่มที่ไล่ทักษิณมากับมือ และสาสมใจเป็นที่ยิ่งเมื่อมีการรัฐประหาร และตามเช็กบิลทักษิณด้วยคดีความหลายคดี

คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าสมควรแล้วที่คนอย่างทักษิณจะต้องลี้ภัย ไม่ได้กลับมาตายที่เมืองไทย

และคนกลุ่มนี้แหละที่เรียกทักษิณว่า “นช.ทักษิณ” มาตั้งแต่ที่ทักษิณหนีออกไปจากประเทศไทย

ดังนั้น การกลับมาของทักษิณครั้งล่าสุดจึงเป็นเรื่องที่สร้างความโกรธเคืองให้กับคนกลุ่มนี้อย่างที่สุด

แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากจะอธิบายว่า นักการเมืองฉ้อฉล มีการดีล มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า

มันเลวร้ายที่มีทักษิณผู้สมควรได้รับโทษแต่กลับไม่ต้องนอนคุกแม้แต่วันเดียว เพียงเพราะตอนนี้ประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย และต่อมามีนายกฯ เป็นลูกสาวของทักษิณ มันจึงมีการใช้อำนาจรัฐเพื่อไม่ให้ทักษิณติดคุก

ทักษิณและตระกูลชินวัตรเคยชั่วช้า เลวทรามอย่างไร ความชั่วช้าเลวทรามนั้นก็ยังคงดำเนินมาอยู่จนถึงปัจจุบันและดูเหมือนจะเลวร้ายกว่าเดิม

ความผิดหวังของคนกลุ่มนี้คือ คิดว่ากำจัดทักษิณสำเร็จแล้ว แต่ผ่านไป 20 ปี ทำไมทักษิณกลับมาอีก แถมยังมีนายกฯ ที่เป็นลูกสาวทักษิณ

นี่คือเหตุผลว่าทำไมอารมณ์ของสลิ่มเฟสหนึ่งจึงรุนแรง เคียดแค้น ชิงชัง

ไล่ทักษิณ ได้น้องสาว ไล่น้องสาวก็ยังได้ลูกสาว

ภาวะ “ปลอด” ชินวัตร ที่เกิดขึ้นมีความหมายแค่ภาพลวงตาเหรอ?

ที่อุตส่าห์ไปม็อบเป็นปีๆ คือความสูญเปล่าเหรอ?

ที่รังสรรค์บ้านเมืองมาในยุค “ประยุทธ์” คือเสียงแรงเปล่า เหนื่อยเปล่าเหรอ?

มันเจ็บใจ เข้าใจไหม?

 

กลุ่มที่สอง กลุ่มนี้ในปัจจุบันถูกเรียกว่า “นางแบก”

น่าสนใจว่าในกลุ่มนางแบกมีไม่น้อยที่เคยโหวตเลือกพรรคส้ม และเกือบทั้งหมดเป็นคนเสื้อแดง

กลุ่มนี้มองว่าอดีตนายกฯ ทักษิณไม่ควรต้องติดคุกแม้แต่วันเดียวด้วยซ้ำ เหตุเพราะเขาเป็นนายกฯ พลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

หากเห็นว่าเขากระทำความผิดไม่ว่าจะในเรื่องอะไร ควรลงโทษเขา หรือถอดถอนเขาตามกระบวนการยุติธรรมปกติ เช่น อภิปรายไม่ไว้วางใจ ฟ้องศาล

สมมุติว่าไม่พอใจเรื่องฆ่าตัดตอน ก็ไปฟ้องร้อง ดำเนินคดีตามกระบวนการที่มี

แต่การเลือกใช้วิธีการรัฐประหาร ทำให้ทักษิณคือเหยื่อของการรัฐประหาร การดำเนินคดีทักษิณที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารจึงไม่เป็นธรรม ไม่ชอบธรรม

หากจะเปรียบเทียบว่าในการเมืองไทย ใครควรถูกดำเนินคดีมากที่สุด ระหว่าง ทักษิณ คนก่อการรัฐประหารทั้งปี 2549 และ 2557 คนที่คุม ศอฉ. ที่สั่งการสลายการชุมนุมจนทำให้มีคนตายนับร้อยในปี 2553

นายกฯ ที่รับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ใครกันแน่ที่สมควรถูกดำเนินคดี?

และใครกันแน่ที่ควรได้รับการ “คืนความยุติธรรม”

เมื่อเวลาผ่านไป 17 ปี ทักษิณตัดสินใจกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และตามเงื่อนไขที่มีอยู่แล้วในกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุ และความเจ็บป่วย ทำให้ทักษิณถูกคุมขังที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ แทนการถูกคุมขังในคุก จึงเป็นสิทธิที่ทักษิณพึงได้รับ และแม้จะออกมาจากการถูกคุมขังแล้ว ก็ยังไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

ในมุมมองของคนกลุ่มนี้จึงมองว่า การต้องลี้ภัย 17 ปี และการยอมถูกคุมขังแม้จะเป็นนอกเรือนจำก็เป็นสิ่งมากกเกินไปด้วยซ้ำ เพราะทักษิณไม่ได้ทำอะไรผิด แถมยังเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกปล้นอำนาจด้วยซ้ำไป

 

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มส้ม และนักการเมืองพรรคส้ม ที่โกรธเกรี้ยวอย่างยิ่งในเรื่องนี้

แต่โกรธในเหตุผลที่ต่างจากสลิ่มเฟสหนึ่ง นั่นคือส้มเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยไปดีลกับกลุ่มอำนาจเก่าเพื่อพาทักษิณกลับบ้านแบบไม่ติดคุก

นี่คือที่มาของการตระบัดสัตย์ ข้ามขั้ว

นี่คือเหตุที่พรรคเพื่อไทยทิ้งพรรคก้าวไกลไปจับมือกับ “ลุง”

ไม่เพียงเท่านั้น การไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียวของทักษิณคือสัญลักษณ์ของความยุติธรรมสองมาตรฐาน คำว่า “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนจน” นั้นเป็นเรื่องจริง ทักษิณคืออภิสิทธิ์ชน นี่คือการคอร์รัปชั่นเชิงอำนาจ

พรรคส้มหรือพรรคประชาชนจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกฯ ต้องรับผิดชอบ และให้ทักษิณต้องติดคุกให้ได้

โดยมิได้นัดหมาย เรื่องชั้น 14 อยู่ๆ สลิ่มเฟสหนึ่งและพรรคส้ม ก็ยืนอยู่ในจุดเดียวกัน

นั่นคือเห็นว่าทักษิณต้องติดคุก

และอาจจะโดยสะเพร่าของบุคลากรพรรคส้มหลายๆ คนที่เผลอไปใช้วาทกรรมเดียวกับสลิ่มเฟสหนึ่ง เช่น นักโทษชาย

หรือปล่อยให้ความผิดหวังที่พรรคเพื่อไทยปล่อยมือจากก้าวไกลไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่นๆ ที่เหลือเข้าครอบงำความคิดจนเกิดภาวะหมกมุ่น อยากเห็นทักษิณติดคุกอันเป็นความฝันเดียวกับสลิ่มเฟสหนึ่งที่เชื่อว่าการทำรัฐประหาร กำจัดระบอบทักษิณคือสิ่งที่ถูกต้อง

เพราะทุกปัญหาในประเทศล้วนเกิดจากผู้ชายที่ชื่อทักษิณ

 

หากเรามองว่าความเห็นของคนทั้งสามกลุ่มข้างต้นล้วนตั้งอยู่บนอคติและฉันทาคติทางการเมือง

ลองมาดูความเห็นของทนายความที่ปกติแล้วไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย นั่นคือความเห็นของ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ซึ่งเป็นทนายความที่เคยทำงานที่ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน

นรเศรษฐ์ให้ความเห็นในเฟซบุคของเขาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ว่า

“กรณีการส่งตัวไปรักษานอกเรือนจำ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 55 ไม่ได้กำหนดว่า ‘ต้องป่วยขั้นวิกฤต’ เพียงแต่กำหนดว่า #หากผู้ต้องขังนั้นต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะทาง หรือ #ถ้ายังคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ส่งตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ดังนั้น การต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะทางหรือหากการรักษาอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น จึงไม่ควรนำมาตีความปะปนกับอาการป่วยว่า ‘วิกฤตหรือไม่วิกฤต’ เพราะน่าจะเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบคุณทักษิณแต่เราต้องช่วยยืนยันหลักการที่ถูกต้องครับ”

น่าสนุกกว่านั้นเมื่ออ่านคอมเมนต์ใต้โพสต์นี้ของทนายนรเศรษฐ์ที่พยายามจะอธิบายตามตัวบทกฎหมายอย่างเรียบง่ายที่สุด ก็มิวายมีคนมาแสดงความคิดเห็นว่า ทักษิณป่วยไม่จริง ป่วยทิพย์ บ้างก็ว่าเป็นไปตามกฎหมายก็ใช่ ก็ทำไมกฎหมายนี้ไม่ถูกนำไปใช้กับทุกคน แล้วเมื่อมีการให้ข้อมูลเพิ่มว่ามีคนที่ได้รับสิทธิเดียวกันนี้กับทักษิณ ทักษิณไม่ใช่คนไทยคนแรกและคนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้สิทธินี้

พวกเขาก็จะไม่ฟังและเปลี่ยนประเด็นไปที่

“เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับป่วยหรือไม่ป่วย ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย แต่เกี่ยวกับธงทางการเมือง”

 

ซึ่งหากจะคุยกันเรื่องธงทางการเมือง ฉันก็สงสัยว่าแล้วทำไมไม่พูดเรื่องธงการเมืองตั้งแต่แรก จะไปหน้าดำหน้าแดง (ดังเช่นที่รังสิมันต์ โรม เข่นเคี้ยวเขี้ยวฟันเรื่องป่วยทิพย์)

และหากเราจะมองทุกอย่างเป็นธงทางการเมือง นั่นแปลว่า เราก็ไม่ต้องพยายามพูดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่ต้องพูดเรื่องการแก้ฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

ไม่ต้องพยายามผลักดันนโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ

เพราะการกระทำของพวกเราทุกคนช่างไร้ความหมาย ทำไปทำไมในเมื่อทุกอย่างมี “ธง” ทางการเมืองอยู่แล้ว

ถ้าเราทุกคนพากันเชื่อว่า การเมืองของประเทศนี้เป็นเรื่องการต่อรองทางอำนาจระหว่างชนชั้นำสอง-สามกลุ่ม มีใบอนุญาตพิเศษสอง-สามใบ นอกเหนือจากใบอนุญาตของประชาชน และทุกสิ่งทุกอย่างถูกลิขิต ถูกจัดวาง และมีธงอยู่แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ทุกๆ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองล้วนเกิดจากการที่ “ชนชั้นนำ” แตกคอกันเอง ทะเลาะกันเอง งัดกันเอง จึงมีกุศลผลบุญตกมาที่ประชาชนบ้างแต่ประชาชนไม่ได้เป็นคนกำหนดเกมนั้นเลยแม้แต่น้อย

เฮ้อ ชีวิตมันช่างน่าสิ้นหวังจริง

คำถามของฉันคือหากเราเชื่อเรื่อง “ธง” การเมือง เราจะตั้งพรรคการเมืองทำไม?

หากเราเชื่อว่าทุกอย่างมีธง ทุกอย่างถูกวางแผนมาแล้ว ทุกอย่างผ่านการดีลมาหมดแล้ว บรรดาคนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจะเหนื่อยยาก ตั้งพรรคอนาคตใหม่มาทำไมตั้งแต่แรก?

ตอนที่สู้อุตส่าห์ตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา ไม่คิดเหรอว่า ประเทศนี้มีคนกำหนดธงทางการเมืองไว้แล้ว พรรคการเมืองที่ประกาศจะปฏิรูปทุกอย่างทั้งกองทัพแลัะสถาบันที่อยู่สูงกว่านั้น เอาอะไรมาคิดว่าตัวเองจะได้เป็นรัฐบาล?

แต่ก็เพราะเราไม่เชื่อเรื่อง “ธง” และเราเชื่อใน “ประชาชน” ไม่ใช่หรือ

พวกเราทุกคนจึงไม่มีใครล้มเลิกความคิดที่จะตั้งพรรคการเมือง สู้ในสนามเลือกตั้ง สู้ในสภา และยังคงพยายามสู้อยู่ในทุกวันนี้

และในขณะที่สู้ในนามของพรรคการเมือง สู้ในสนามเลือกตั้ง สู้ในสภา ปากก็พร่ำพูดแต่เรื่องใบอนุญาตที่สองที่สาม พูดเรื่องทุกอย่างมีธงอยู่แล้ว

ซึ่งฉันฟังทฤษฎีเหล่านี้แล้วก็อยากจะตะโกนว่า หากเชื่อเรื่อง “ธง” ก็ไม่ต้องตั้งพรรคการเมือง ไม่ต้องลงเลือกตั้ง กลับไปเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าทำธุรกิจที่บ้านต่อไป

และหาทางอยู่ให้ได้ภายใต้แผนที่ทางการเมืองที่มีธงอะไรบางอย่างกำหนดอนาคตให้ทุกคนแล้ว

 

ฉันไม่ได้บอกว่าการเมืองไทยไม่มีพลัง “นอกระบบการเลือกตั้ง” ที่พยายามช่วงชิงภาวะนำทางการเมือง ภาวะการนำทางความคิด

แต่ความพยายามจะช่วงชิง ไม่ได้แปลว่าพวกเขาปักธงได้ทุกอย่างตามใจนึก

และหากเรามีชีวิตอยู่ด้วยการสะกดจิตตัวเองเรื่อง “ธง” มันก็เท่ากับเรากำหนดให้ตัวเองเป็นไอ้ขี้แพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้สู้ หรือออกมาสู้แล้วแพ้ แต่ไม่อยากโทษตัวเอง เลยโยนความผิดไปให้คนอื่นว่า “มึงทำกูแพ้ เพราะมึงหักหลังกูไปเข้าข้างคนอื่น พวกมึงสุมหัวกันชนะแล้วทิ้งกูให้แพ้อย่างเดียวดาย อีพวกตระบัดสัตย์ เลวจริงๆ”

ด้วยตรรกะแบบนี้ มันจึงชวนให้กลายเป็นตัวตลก

เพราะเวลาตัวเองชนะก็บอกว่าเป็นเพราะประชาชนตาสว่างแล้ว ประชาชนตื่นแล้ว

พอตัวเองแพ้หรือฝ่ายตรงกันข้ามตัวเองรอดก็บอกว่า “อ้อ เขามีธงมาแล้ว”

 

กลับมาที่เรื่องของคุณทักษิณ ฉันคิดว่า เราควรต้องกลับมาที่ประโยคที่ว่า

“จะชอบหรือไม่ชอบคุณทักษิณเราก็ควรเริ่มต้นคุยกันบนหลักการอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ความชอบหรือความชังของเรา”

ข้อแรก เราต้องยอมรับก่อนว่าตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 55 แพทย์มีอำนาจในการวินิจฉัยให้ส่งผู้ป่วยไปรักษานอกเรือนจำหากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะทาง

เพราะหากเราไม่เริ่มคุยจากมาตรานี้ เราจะกลับไปสู่วังวนเดิมคือเอาความรักความชังหรือภาวะฝังใจว่าความยุติธรรมไม่มีอยู่จริงในสังคมไทยมาเป็นสรณะ แล้วบทสนทนาก็จะวนเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ

ข้อสอง เราต้องยอมรับว่แพทยสภามีสิทธิและใช้สิทธิของเขาในการตักเตือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตแพทย์ เราก็ต้องยอมรับว่าเขาทำตามสิทธิและหน้าที่ของเขา

พร้อมกันนั้น เราก็พึงรู้ว่าแพทย์ทั้งสามคนนั้นก็มีสิทธิ์ฟ้องกลับแพทยสภาเช่นกัน อ้างอิงตามมาตราที่ 55 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์นั้น

ข้อสาม เราต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่า ทักษิณคือเหยื่อของการรัฐประหาร และแม้แต่ตัวทักษิณเองก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมคืนมาแม้แต่น้อย เพราะหากความยุติธรรมมีจริง นอกจากเขาไม่ควรต้องถูกดำเนินคดี เขาควรได้รับค่าชดเชยเยียวยาด้วยซ้ำไป

ข้อสี่ หากผ่านข้อสามไปได้ และยังมีคนเชื่อมั่นว่าทักษิณกระทำการบกพร่องหรือทำให้ประเทศชาติเสียหาย ก็สามารถไปฟ้องร้องดำเนินคดีนั้นได้ แต่ต้องอยู่ในข้อแม้ว่า ทักษิณต้องได้รับความเป็นธรรมจากกรณีที่ถูกรัฐประหารก่อน

ข้อห้า หากติดใจว่า ทำไมอากงไม่ได้รับสิทธิเช่นทักษิณ ทำไมเนติพร ไม่ได้รับสิทธิเช่นทักษิณ สิ่งที่เราต้องทำคือต่อสู้ให้ทุกคนได้รับสิทธินี้อย่างเสมอภาค ไม่ใช่ทำในทางตรงกันข้าม นั่นคือใช้มาตรฐานว่า หากอากงไม่ได้ หากเนติพรไม่ได้ คนอื่นก็ไม่ควรจะได้ ยิ่งชื่อทักษิณก็ยิ่งไม่ควรได้

เพราะหากเราทำเช่นนั้นก็เท่ากับว่าเรากำลังดึงสังคมไปสู่ภาวะของการล้างแค้นกันไปมาเหมือนบ้านป่าเมืองเถื่อน มึงยิงกู กูต้องยิงมึง แค้นนี้ต้องชำระ เหมือนโลกของหนังจีนกำลังภายในที่ดูกันในสมัยยังเด็ก

แต่สังคมประชาธิปไตยไม่ได้ขับเคลื่น



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568