ผู้เขียน | สุรชาติ บำรุงสุข |
---|
สงครามยูเครนเริ่มต้นด้วยการเปิดปฎิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ของรัสเซียในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จนอาจกล่าวได้ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นสงครามที่ใหญ่ที่สุดของรัฐยุโรปนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แม้ช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ของยุโรปในยุคหลังสงครามเย็นก็ตาม แต่ก็เป็นการใช้กำลังในระดับจำกัด ที่ไม่ใช่การใช้กำลังทหารอย่างเต็มรูปแบบของรัฐมหาอำนาจใหญ่เช่นในปัจจุบัน
- ปูตินด็อกทรินกับวิกฤตยูเครน!
- เปิดประตูสงคราม!
- สงครามยูเครน!
- สงครามที่ไม่จบในยูเครน!
- สงครามนิวเคลียร์ยูเครน!
- สังคมไทยและสงครามยูเครน!
- เขตห้ามบินยูเครน!
แต่ในกรณีของสงครามยูเครน รัสเซียเปิด “สงครามตามแบบ” อย่างที่ฝ่ายตะวันตกไม่คาดคิดมาก่อน เพราะหากย้อนกลับไปสู่วิกฤตจอร์เจียในปี 2008 และในวิกฤตไครเมีย วิกฤตดอนบาสในปี 2014 รัสเซียไม่ได้ใช้กำลังขนาดใหญ่อย่างที่โลกได้เห็นในสถานการณ์ยูเครนวันนี้
การใช้กำลังรบขนาดใหญ่ของรัสเซียครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า รัสเซียจะสามารถดำเนินการสงครามเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ต้องการในการเข้าควบคุมยูเครนได้หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขเบื้องต้นที่พอจะคาดคะเนได้คือ การควบคุมเช่นนี้จะเกิดขึ้นจริงต่อเมื่อรัสเซียสามารถเข้าควบคุมเมืองหลวงของยูเครน และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่นิยมรัสเซียขึ้นแทนรัฐบาลเดิมของประธานาธิบดีเซเลนสกี้ หรืออาจกล่าวในทางการเมืองได้ว่า จุดหมายปลายทางของรัสเซียคงต้องการเห็นรัฐบาลใหม่ยูเครนเป็นไปในทำนองเดียวกับรัฐบาลเบลารุส หรืออีกนัยหนึ่งคือ การทำให้ยูเครนมีสถานะเป็น “รัฐบริวาร” ของรัสเซียนั่นเอง
ดังนั้น เมื่อรัสเซียเปิดการรุกทหารเต็มรูปเข้าสู่พื้นที่ของยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จึงทำให้เกิดการประเมินสถานการณ์ทางทหารว่า ยูเครนไม่น่าจะสามารถรับมือกับการโจมตีที่เกิดได้เลย และอายุของเคียฟที่เป็นเมืองหลวงน่าจะอยู่รอดได้เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ตามมาด้วยการล้มลงของรัฐบาล และสถานการณ์สงครามคงจบลงในไม่ช้าด้วยชัยชนะของกองทัพรัสเซีย หลายฝ่ายที่เห็นการเคลื่อนกำลังที่เป็นขบวนรถทหารของรัสเซีย มักจะประเมินในช่วงต้นว่า รัสเซียน่าจะ “ปิดเกมส์สงคราม” ได้ในระยะเวลาไม่น่าจะเกินหนึ่งเดือน
แต่ยิ่งเวลาผ่านไปทีละสัปดาห์ ก็ยิ่งเห็นถึงปัญหาทางทหารของกองทัพรัสเซีย และยิ่งเห็นมากขึ้นในแต่ละวันของการยุทธ์ที่เกิดในสนาม จนกลายเป็นภาพสะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพของกองทัพรัสเซียอย่างไม่คาดคิด ประเด็นเช่นนี้ทำให้นักวิเคราะห์ด้านการทหารหลายคนเชื่อว่า ถึงเวลาที่จะต้องประเมินขีดความสามารถทางทหารของรัสเซียใหม่ ซึ่งว่าที่จริงในมิติทางทหารนั้น ปัญหาประสิทธิภาพของกองทัพรัสเซียได้ปรากฏให้เห็นมาแล้ว เช่น ในกรณีของปฎิบัติการทางทหารของรัสเซียในสงครามกลางเมืองซีเรีย เป็นต้น
ความสำเร็จของการยึดเป้าหมายของรัสเซียจะเกิดขึ้นด้วยการโจมตีทางทหารอย่างหนัก โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านมนุษยธรรมต่อชีวิตของผู้คน และความเสียหายที่เกิดกับชีวิตของเมืองแต่อย่างใด ตัวแบบของปฎิบัติการทางทหารของรัสเซียในซีเรียเช่นนี้หวนคืนให้เราเห็นอีกครั้งในการโจมตีเมืองของยูเครน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสถานการณ์แล้ว คงจะต้องยอมรับความจริงว่า กองทัพรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จในการใช้อำนาจกำลังรบทำลายการต่อต้านทางทหารของยูเครน อีกทั้งกองทัพรัสเซียเองก็ประสบกับปัญหาในตัวเองอย่างมาก จนอาจต้องสรุปในเบื้องต้นว่าเป็น “หนึ่งเดือนแห่งความล้มเหลว” ของรัฐบาลและกองทัพรัสเซีย เช่นเดียวกับที่เป็น “หนึ่งเดือนของการต้านทานอย่างกล้าหาญ” ของรัฐบาลและประชาชนยูเครน
ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงต้นของสงคราม แทบไม่มีนักวิเคราะห์คนใดเลยกล้าที่จะประเมินว่า ยูเครนจะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับ “สงครามของผู้รุกราน” ที่เป็นมหาอำนาจได้มากกว่าหนึ่งเดือน… จนถึงวันอาทิตย์ที่ 27 (หรือวันที่สี่ของเดือนที่สอง) เคียฟยังไม่ถูกยึดครอง รัฐบาลยูเครนยังไม่ล่มสลาย แม้กองทัพรัสเซียจะใช้อาวุธหนักและใช้การทิ้งระเบิดทางอากาศทำลายหลายเมืองของยูเครน มีชาวยูเครนเสียชีวิต และต้องอพยพหนีภัยสงครามเป็นจำนวนมาก แต่สงครามก็มิได้เดินทางไปถึงจุดสุดท้ายด้วยการประกาศชัยชนะของประธานาธิบดีปูติน
ความล้มเหลวทางทหารของรัสเซียด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นจากอัตราความสูญเสียของกำลังพลในสนาม ซึ่งข้อมูลของฝ่ายตะวันตกประเมินว่า จำนวนทหารรัสเซียเสียชีวิตมีจำนวนระหว่าง 7,000 ถึง 15,000 นาย และบาดเจ็บประมาณ 40,000 นาย (ฝ่ายที่สนับสนุนรัสเซียในสงครามยูเครนอาจจะไม่ยอมรับตัวเลขดังกล่าว เพราะถือเป็นตัวเลขประเมินของตะวันตก แต่ก็ใกล้เคียงกับตัวเลขที่เคยหลุดออกมาจากทางฝ่ายรัสเซียเอง) นอกจากนี้ยังมีการสูญเสียนายทหารระดับสูง (ในระดับพันเอกถึงระดับนายพล) หลายนาย ประมาณว่านายพลรัสเซียเสียชีวิตในการรบครั้งนี้ไปแล้ว 6 นาย
ความล้มเหลวอีกด้านหนึ่งเกิดจากการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายรัสเซีย ที่เชื่อว่า ประชาชนยูเครนจะเปิดประเทศ “รอต้อนรับ” กองทัพรัสเซีย เหมือนเช่นในครั้งที่กองทัพรัสเซียเข้าไปปลดปล่อยยุโรปตะวันออกจากกองทัพนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และยิ่งเมื่อประธานาธิบดีปูตินสร้างวาทกรรมการ “ปลดปล่อยยูเครนจากการยึครองของนาซี” แล้ว ก็ยิ่งเป็นจินตนาการว่า ชาวยูเครนกำลังรอรับการมาของกองทัพรัสเซีย และพวกเขาจะไม่ต่อต้านทหารรัสเซีย แต่จะหันไปต่อต้านรัฐบาลของตนเอง อีกทั้งมอสโคว์ประเมินว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีเซเลนสกี้กำลังนับถอยหลังอายุของตนเอง และหากจะมีการต่อต้านเกิดขึ้นบ้างแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นการต่อต้านที่เข้มแข็งแต่อย่างใด เพราะประชาชนยูเครนกำลังรอกองทัพรัสเซียเข้ามาปลดปล่อย
งานเสนาธิการกิจของการประเมินสงครามที่ผิดพลาดไปจากความเป็นจริงเช่นนี้คือ พื้นฐานของความล้มเหลวตั้งแต่วันแรกของการเคลื่อนทัพ และอาจจะเป็นเพราะการควบคุมทางการเมืองอย่างเข้มงวดของระบอบอำนาจนิยมแบบรัสเซีย พร้อมกับการสร้าง “วาทกรรมโฆษณาชวนเชื่อ” ทางการเมือง ที่ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลปูติน อันทำให้วาทกรรมเช่นนี้ถูกใช้เพื่อเป็นเข็มมุ่งของงานฝ่ายเสนาธิการในการวางแผนการยุทธ์ หรืออาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยของความล้มเหลวที่สำคัญคือ การทำแผนทางทหารเพื่อตอบสนองต่อการสร้างวาทกรรมของประธานาธิบดีปูติน มากกว่ากระทำตามหลักวิชาของ “ทหารอาชีพ” ที่เป็นฝ่ายอำนวยการ
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความล้มเหลวทางทหารจะเกิดในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในทางการข่าว การส่งกำลังบำรุง และการควบคุมและบังคับบัญชา เป็นต้น และความล้มเหลวเช่นนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การปรับวัตถุประสงค์ใหม่ ดังที่ผู้นำทางทหารของรัสเซียออกมากล่าวว่า ปฎิบัติการทางทหารของรัสเซียที่เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการเข้าควบคุมพื้นที่ดอนบาสที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งว่าที่จริง รัสเซียขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่นี้ตั้งแต่วิกฤตในปี 2014 และเข้าควบคุมเต็มรูปในช่วงต้นของสงครามแล้ว
การปรับวัตถุประสงค์เช่นนี้จึงเป็นภาพสะท้อนถึง “ความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์” ของรัสเซียโดยตรง เพราะหากต้องการยึดเพียงพื้นที่ของดอนบาสแล้ว รัสเซียไม่จำเป็นต้องทุ่มกำลังรบขนาดใหญ่ และยกระดับสงครามอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในยุโรป เพราะสงครามครั้งนี้ส่งผลลบกับรัสเซีย โดยเฉพาะการแซงชั่นที่ตัดเศรษฐกิจรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก ตลอดรวมถึง การสร้างให้เกิดการต่อต้านรัสเซียในรูปแบบต่างๆ ในเวทีโลก จนประธานาธิบดีปูติน ถูกกล่าวหาจากฝ่ายต่อต้านว่าเป็น “อาชญากรสงคราม” ในเวทีโลกไปแล้ว
อีกทั้ง ผลอย่างมีนัยสำคัญในทางการเมืองระหว่างประเทศคือ การสร้างเอกภาพของโลกตะวันตก พร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งของเนโต้ ทั้งที่แต่เดิมนั้น เนโต้เป็นดังองค์กรความมั่นคงที่ “ตกยุค” สำหรับยุโรปในยุคหลังสงครามเย็น แต่สงครามยูเครนกลับเป็นปัจจัยในการ “ชุบชีวิต” เนโต้ให้เกิดอีกครั้งได้อย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้ง สงครามยูเครนยังทำให้เกิดเอกภาพของฝ่ายตะวันตก จนรัฐบาลจีนเองก็อาจต้องประเมินใหม่เช่นกันด้วย
หนึ่งเดือนของสงครามยูเครนคือ “หนึ่งเดือนแห่งความล้มเหลวของรัสเซีย” ทั้งทางการเมืองและการทหาร และเห็นชัดว่า โลกทัศน์อำนาจนิยมแบบเก่าของปูตินกำลังสร้างปัญหาที่เป็นผลลบขนาดใหญ่ให้แก่รัสเซียอย่างไม่คาดคิด !