เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

บ้านเก่า เมืองกาญจน์ โบราณคดีเริ่มแรกแบบสากล

16.06.2024

โบราณคดีสมัยแรกๆ หมายถึงเรื่องราวเก่าแก่ดั้งเดิม (ซึ่งครูบาอาจารย์บอกไว้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า historical studies) ที่ได้จากเอกสาร เช่น จารึก, พงศาวดาร, ตำนาน เป็นต้น (อนุโลมเรียกประวัติศาสตร์) และได้จากหลักฐานอื่น ได้แก่ โบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่น สถูปเจดีย์, พระพุทธรูป-เทวรูป เป็นต้น (หรือประวัติศาสตร์ศิลปะ)

หลังการขุดค้นบ้านเก่า (เมืองกาญจน์) ของไทย-เดนมาร์ก ทำให้โบราณคดีเริ่มกล่าวขวัญถึงการสำรวจและขุดค้นอย่างเป็นระบบสากลตามความหมาย archaeology แต่การเรียนการสอนวิชาอื่นๆ ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง

โบราณคดีอย่างเป็นระบบสากลในการสำรวจและขุดค้น โบราณคดีเริ่มมีการเรียนการสอน “แบบทดลอง” ราว 60 ปีมานี้ หรือหลังการขุดค้นทางโบราณคดีของไทย-เดนมาร์ก ที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ซึ่งพบข้อมูลอย่างละเอียดในหนังสือวัฒนธรรมบ้านเก่า (ที่ระลึกเนื่องในการเปิดอาคารนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2565 หน้า 17-47) จะคัดอย่างสรุปสาระสำคัญมาดังนี้

 

ไทย-เดนมาร์ก ร่วมมือทางโบราณคดี

โครงการสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก พ.ศ.2503-2505 (The Thai-Danish Prehistoric Expedition : 1960-1962) เป็นความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเดนมาร์ก

ฝ่ายไทย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร, ศิริราชพยาบาล และมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้แก่ นายชิน อยู่ดี หัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร เป็นหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายไทย, นายอาภรณ์ ณ สงขลา นายธรรมนูญ อัตถากร นายประพัฒน์ โยธาประเสริฐ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร, นายแพทย์สุด แสงวิเชียร จากศิริราชพยาบาล และนายปรีชา กาญจนาคม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร

ฝ่ายเดนมาร์ก มี ดร.ไอกิล นีลเซน เป็นหัวหน้าคณะ, นายเพียร์ ซอเรนเซ็น, เคานต์ ไอกิล คนุท และ ดร.เอช. อาร์. ฟาน เฮเกอเรน นักโบราณคดีชาวดัตช์

พื้นที่ขุดค้นที่บ้านเก่า เมืองกาญจน์ ครอบคลุมพื้นที่กว้างจำนวนหลายหลุมขุดค้น ใช้แรงงานจากชาวบ้านในหมู่บ้านบ้านเก่ากว่า 60 คน โดยมีนักศึกษาจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรมาร่วมฝึกปฏิบัติงานด้วยราว 2 เดือน

ระยะแรก ระหว่าง พ.ศ.2503-2504 เป็นการสำรวจเพื่อค้นหาร่องรอยของมนุษย์ยุคโบราณตามแนวลำน้ำแควน้อยตั้งแต่ปากแพรกขึ้นไปจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ โดยใช้เรือเป็นพาหนะถึงท่าขนุน และใช้ช้างเดินทางไปถึงด่านเจดีย์สามองค์ รวมถึงสำรวจในพื้นที่ลุ่มน้ำแควใหญ่ด้วย

ได้พบแหล่งโบราณคดีสำคัญหลายแห่ง มีอายุตั้งแต่ก่อนสมัยหินใหม่ สมัยหินใหม่ สมัยโลหะ ยุคประวัติศาสตร์ รวมถึงแหล่งภาพเขียนสี เช่น ถ้ำจันเด ถ้ำพระ (ไทรโยค) ถ้ำเขาม้า ถ้ำองบะ บ้านวังโพ ถ้ำแก่งละว้า วังด้ง ถ้ำกระซู่ ถ้ำรูปเขาเขียว และได้เลือกขุดค้นศึกษาที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (แหล่งนายบาง) และถ้ำพระ (ไทรโยค)

ระยะที่ 2 ช่วงปลายปี พ.ศ.2504 จนถึงปี พ.ศ.2505 คณะทำงานได้ขยายการขุดค้นที่แหล่งนายบางและถ้ำพระ (ไทรโยค) และยังขุดค้นที่แหล่งนายลือ (บ้านเก่า) ถ้ำจันเด ถ้ำละว้า และถ้ำองบะ ในลุ่มน้ำแควใหญ่ รวมถึงคัดลอกภาพเขียนสีที่ถ้ำรูปเขาเขียวด้วย

แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าซึ่งเป็นสุสานสมัยหินใหม่นั้น ขุดค้นพบหลักฐานสำคัญจำนวนมาก โดยได้พบหลุมฝังศพมนุษย์ที่แหล่งนายบางจำนวน 44 หลุมศพ และที่แหล่งนายลือพบ 2 หลุมศพพร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นของอุทิศในหลุมศพ

การขุดค้นโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก ได้ส่งผลให้ “บ้านเก่า” มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับนานาชาติในฐานะแหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ ที่ผู้คนมีการตั้งถิ่นฐานถาวร และรู้จักทำการเกษตรกรรมเป็นแห่งแรกๆ ในภูมิภาคนี้

งานสำรวจและขุดค้นโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์กครั้งนี้ ส่งผลให้งานการศึกษาโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทยตื่นตัว เกิดการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีในภูมิภาคต่างๆ ตามมา เช่น ที่ศูนย์กลางทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี, โนนนกทา จังหวัดขอนแก่น, บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น

โครงกระดูกมนุษย์ขุดพบชุดแรก พ.ศ.2504 (2 โครง) อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว ที่บ้านเก่า ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นใคร? มาจากไหน? บรรพบุรุษของไทยหรือเปล่า? [ภาพจาก Archaeological excavation in Thailand. Copenhagen : Munksgaard, 1967-1969 (2510-2512)]

คนไทยเป็นใคร? คำถามเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

โครงกระดูกมนุษย์หลายพันปีจากหลุมฝังศพที่บ้านเก่า เมืองกาญจน์ ขุดพบโดยโครงการไทย-เดนมาร์ก เป็นข่าวแพร่หลายผ่านสื่อมวลชนสมัยนั้น (ซึ่งมีไม่มากเหมือนทุกวันนี้) กระตุ้นคำถามจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยสมัยนั้น ทำให้มีกิจกรรมสัมมนาวิชาการที่ ท้องพระโรง วังท่าพระ โดยอาจารย์กลุ่มหนึ่งของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดกิจกรรมวิชาการสะท้อนคำถามของสังคมไทยขณะนั้น ดังนี้

“สัมมนาทางประวัติศาสตร์โบราณคดีครั้งแรก ในหัวข้อ ‘บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร’ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2507 โดยบุคคลสำคัญในการริเริ่มคือ อาจารย์ไฮแรม วูดวาร์ด (Hiram Woodward) อาจารย์นิสา เชนะกุล อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี”

[จาก “หนังสือที่ระลึก 5 รอบ 60 ปี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร” พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558 หน้า 26]

น่าสนใจ ว่าอาจารย์ที่ริเริ่มการสัมมนาวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีครั้งแรกนี้ มีอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ 2 คน, อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ 1 คน โดยไม่มีอาจารย์สอนวิชาโบราณคดี?

“บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร” คำถามเมื่อ 60 ปีที่แล้วมีเหตุ ดังนี้

(1.) ประวัติศาสตร์ไทย (กระแสหลัก) ครอบงำชัดเจนว่า “คนไทยแท้ เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์” มีถิ่นกำเนิดเทือกเขาอัลไต (สมัยนั้นบอกว่าอยู่ในดินแดนจีนตอนเหนือ) ต่อมาถูกจีนแย่งพื้นที่ต้องถอยลงไปสร้างอาณาจักรน่านเจ้า หลังจากนั้นถูกจีนรุกรานต้องหนีอพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนลงไปตั้งสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์

(2.) พ.ศ.2503-2505 ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว ที่บ้านเก่า (กาญจนบุรี)

(3.) สังคมมีคำถามว่าโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเก่าเมืองกาญจน์ เป็นคนไทยหรือเปล่า?

(4.) ถ้าเป็นคนไทย แล้วที่ว่าคนไทยมาจากอัลไตในเมืองจีนจะเอายังไง?

(5.) ถ้าไม่เป็นคนไทย แล้วเป็นใคร?

โบราณคดีเริ่มแรกแบบสากลหลังเรียนรู้เทคนิคการขุดค้นจากนักโบราณคดีเดนมาร์กที่มาขุดค้นบ้านเก่า เมืองกาญจน์ มากกว่า 60 ปีมาแล้ว ต่อจากนั้นได้เรียนรู้เพิ่มอีกจากนักโบราณคดีอเมริกัน และได้สั่งสมประสบการณ์จากนักโบราณคดีนานาชาติที่เข้ามาขุดค้นในไทย และไปศึกษาต่อประเทศนั้นๆ ซึ่งหนักไปทางเทคนิคการขุดค้นหาวัตถุสิ่งของทางโบราณคดี โดยอ่อนแอทางด้านอื่นๆ

ดังนั้น จึงยังหาคำตอบไม่ได้ต่อคำถามเมื่อ 60 ปีที่แล้วว่าบรรพบุรุษของไทยเป็นใคร? •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

รมว.กต.ขอคนไทยรวมน้ำหนึ่งใจเดียวกัน-พาประเทศเดินหน้าไม่ติดกับสุญญากาศ ยืนยันพร้อมรักษาอธิปไตยชาติ
ปธ.กมธ.ต่างประเทศ ประณามพฤติกรรมผู้นำกัมพูชา ทำลายมิตรภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ
ส่องความเห็นนักวิชาการเตือน “แพทองธาร” อย่ายุบสภา หวั่นเปิดทางรัฐประหาร – ชี้การเจรจาลับหากช่วยหลีกเลี่ยงสงคราม ชี้สังคมไทยควรตั้งสติ-อย่าตกเป็นเครื่องมือสร้างวิกฤต
กต.เชิญทูตเขมร รับหนังสือประท้วงปมกัมพูชาปล่อยคลิปเสียงนายกฯ ผ่านสื่อ – ซัด! ไร้มารยาททางการทูต – ผิดมารยาทระหว่างรัฐ – ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ 2 ประเทศ – ย้ำไม่ว่านายกฯ จะเป็นใครต้องให้เกียรติ
“ณัฐพงษ์” ชี้วิกฤตผู้นำ “แพทองธาร” ไม่อาจเป็นที่ไว้วางใจได้ต่อไป เรียกร้องนายกฯ รับผิดชอบทางการเมือง ยุบสภาคืนอำนาจประชาชน
CJ MORE เปิดเส้นทางเชื่อมร้อยชุมชน หนุนคนตัวเล็ก สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน
กรมการปกครองต้อนรับ กมธ.ปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาดูงานด้านกฎหมาย
Thai-style Neoclassical Revival กับความทรงจำที่เพิ่งสร้าง บนถนนราชดำเนิน (3)
การปกครองเปลี่ยน-แฟชั่นปรับ : แฟชั่นสมัยคณะราษฎร-สงคราม (9)
มหากาพย์ ปราบ ‘คางคกอ้อย’ (2)
“ลูกแบด ภราดร” ประกาศลาออกจาก “รองประธานสภา” รักษาหลักการเสียงข้างมาก คืนอำนาจให้สภาฯเลือกใหม่
พรรคไทยสร้างไทย แถลงการณ์ จี้ นายกฯ แสดงความรับผิดชอบด้วยการ “ลาออก”