เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ตลกหน้าม่าน : ความหรรษาของคนไทยในช่วงสงคราม (1)

10.10.2024

ในช่วงสงคราม การแสดงชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมควบคู่ไปกับการชมภาพยนตร์และละครเวที คือ การแสดงตลก หรือจำอวด อวดรอสลับภาพยนตร์หรือละครเวที บ้างก็เรียกว่า “คณะละครย่อย”

ในเวลาต่อมา เมื่อสงครามระเบิดขึ้น การแสดงตลกได้สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่ชาวไทยในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเป็นอย่างมาก

แต่การศึกษาคณะตลกกลับมีการศึกษาไม่มากนัก

ก่อนจะเป็นจำอวด

กว่าจะมาเป็นคณะจำอวดหรือคณะตลกที่สร้างเสียงหัวเราะ สร้างความขบขันให้ผู้ชมละครหรือภาพยนตร์นั้น พัฒนาการของจำอวดมีวิวัฒนามาจาก “การสวดคฤหัสถ์” หมายถึง การสวดของชาวบ้านหรือสวดโดยฆราวาสในงานสวดอภิธรรมศพ โดยมีผู้เล่น 4 คน มีหีบพระธรรมและตาลปัตรเป็นอุปกรณ์

แต่เดิมนั้น การสวดในลักษณะนี้จะสวดโดยกลุ่มพระภิกษุด้วยอาการตลก คะนอง โลดโผน สร้างความขบขันนี้ว่า “สวดพระ”

ต่อมาภายหลังจึงเป็นสวดโดยชาวบ้านธรรมดาที่เคยบวชเรียนมาแล้วนํามาสวดเลียนแบบกัน เรียก “สวดคฤหัสถ์” ต่อมา การละเล่นนี้เริ่มเลือนหายกลายเป็นการแสดงชนิดใหม่เรียกว่า จําอวด

ทั้งนี้ การละเล่นสวดคฤหัสถ์มีพัฒนาการมาจากการสวดพระเป็นการสวดคฤหัสถ์ จําอวด และเป็นละครย่อย ตามลําดับ (ไอยเรศ งามแฉล้ม, 2561, 1317, 1322)

สวดคฤหัสถ์

คณะจำอวด

จากความทรงจำของเสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์, 2442-2510) ผู้เชี่ยวชาญการละครไทยให้ความหมายคำว่า คณะจำอวด หมายถึง พวกที่เล่นตลกเอกเทศ ไม่ต้องร่วมแสดงกับอะไร คาดว่าเลียนแบบการแสดงมาจากการสวดคฤหัสถ์ มีสมาชิก 4 คน แต่ละคนมีหน้าที่ แม่คู่ คอสอง ภาษา และตัวตลก (ตุ๊ย) (อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, 2511, 111)

สำหรับวิธีการแสดงของคณะจำอวด มีดังนี้

เมื่อเลิกโรงนั้น แม่คู่จะออกมาแสดงก่อน กล่าวอารัมภคาถาเล็กน้อยแล้วจากนั้นก็จะเรียกคอสองออกมาซัก แล้วจึงเรียกภาษาออกมาเป็นลำดับที่สาม ตลกออกบทสุดท้าย

ในครั้งนั้น มีการจัดแสดงเป็นชุดคล้ายสวดคฤหัสถ์ เช่น มีชุดจีน ขุดแขก ชุดญวน ชุดโขนละคร ต่อมา มีการพัฒนาเล่นชุดหัดทหารใหม่ ชุดต่อกลอน ชุดส่งวิทยุ ชุดสั่งอาหารจีน ชุดดนตรีปาก ตามแต่คณะไหนถนัดอะไร

ในระหว่างการแสดงจะมีการแสดงดนตรีสลับทั้งดนตรีไทยและสากล หากแสดงดนตรีไทยสลับจะมีรำไทยออกมาแสดง แต่หากมีการแสดงดนตรีสากลพร้อมเพลงร้องจะมีระบำแบบฝรั่ง (อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, 112)

เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ และนายทิ้ง มาฬมงคล 2472 เครดิตภาพ : เอนก นาวิกมูล

สําหรับการแต่งกายของจำอวดสมัยก่อนนั้น จะนุ่งผ้าม่วงเซี่ยงไฮ้สี แต่มีวิธีนุ่งผ้าแปลกกว่าทั่วไป คือ จะนุ่งให้แลบชายมุมบนตอนข้างหน้าที่จะม้วนเป็นชายกระเบนไว้นิดหน่อย เมื่อม้วนและโจงกระเบนแล้วก็จะแผ่ชายผ้ามุมบนที่เหลือไว้นั้นให้เป็นปีกออกไป ต้องยกปีกให้กาง สวมเสื้อแพรเนื้อดีคอพวงมาลัย คาดพุงด้วยผ้าแพรหรือผ้าไหม ผัดหน้าให้ขาว แต่งคิ้วทาปากแต่ไม่มากเท่าละคร ใส่เครื่องประดับที่เป็นเพชรทองให้มาก เช่น นาฬิกาข้อมือสายทอง ตัวเรือนทอง สวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือทอง มีกิริยาที่ชอบจัดผ้านุ่ง ดึงแขนเสื้อให้ไปหาหัวไหล่ เสยผม ท้าวเอว (อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, 112)

“ท้วม ทรนง” (ชูชีพ ช่ำชองยุทธ, 2469-2550)) อธิบายถึงพัฒนาการของเล่นจำอวดไว้ว่า “เมื่อก่อน ไม่มีจําอวด หรือละครย่อย มีแต่สวดคฤหัสถ์ มีผู้แสดงอยู่สี่คน ไม่มีผู้หญิง แต่มีตัวนางอยู่คนหนึ่ง มีตัวตุ๊ยกับคอหนึ่ง คอสอง มีหีบพระธรรมตั้งอยูใบหนึ่ง มีตาลปัตรคนละอัน มีเทียนจุดหนึ่งเล่ม เขาจะเล่นและแต่งตัวกันตรงนั้นเอง โดยใช้ตาลปัตรบังเอาไว้ เล่นกันสนุกมาก

ต่อมาการสวดคฤหัสถ์เริ่มเลือนๆ หายไป กลายมาเป็นจําอวดตัดเอาตาลปัตรออกไป เพราะเกะกะ การแต่งตัวก็แต่งกันหลังฉาก หน้าฉากมีเตียงตั้งอยูตัวหนึ่ง ทั้งหมดที่จะแสดงก็ออกมา แต่ก็ไม่ออกมากันทั้งหมดออกมากัน 2 คนก่อน พอให้คนฮาเข้าที่ดี แล้วทีนี้ก็ทยอยกันออกมาจนครบชุด เรียกว่า ฮากันไม่ขาดระยะ สิ่งที่จําอวดจะขาดไม่ได้ก็ คือ ไม้ตะขาบ ใช้ตีหัวเมื่อไหร่ฮาเมื่อนั้น” (ไอยเรศ, 1321)

ทิ้ง มาฬมงคล และอบ บุญติด เครดิต : University of South Carolina

คณะเสมาทองของนายทิ้ง

จมื่นมานิตย์นเรศเล่าว่า การแสดงตลกที่มีชื่อเสียงในช่วงแรก คือ คณะเสมาทองเป็นตลกละครสมัยใหม่ ของนายทิ้ง มาฬวงศ์ และนายอบ บุญติด (2447-2521)

ในครั้งนั้นเล่นตลกสลับฉากให้กับละครร้องที่เฟื่องฟูในช่วงก่อนปฏิวัติ 2475 ซึ่งเล่นเป็นตลก “ตามพระ” จะทำตัวเป็นตัวขัดจังหวะระหว่างบทเข้าพระเข้านาง (อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, 2511, 110)

สำหรับประวัติของทิ้ง มาฬมงคล จากการค้นคว้าพบข้อมูลกระจัดกระจาย พอปะติดปะต่อได้ว่า เขาเคยเป็นนายหมู่ตรี กรมเสือป่าปืนใหญ่หลวงรักษาพระองค์ เคยขอพระราชทานนามสกุลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงพอพบข้อมูลว่า เขามีพ่อชื่อนายมงคล และปู่ชื่อปราง เขาเคยเป็นสมาชิกคณะจำอวดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ คาดว่าคงเคยรับราชการในราชสำนัก จนมีตำแหน่งในเสือป่า

ต่อมา เขาประกอบอาชีพเป็นจำอวดหาเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นไปได้ว่า หน่วยงานของเขาอาจถูกยุบเมื่อเปลี่ยนรัชกาลและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนั้น

จมื่นมานิตย์นเรศเล่าว่า ความสามารถในการแสดงของคณะเสมาทองในการแสดงจำอวดนี้ถึงเคยได้รับเสมาอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร ทองคำจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ด้วย (อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, 2511, 112)

ความโด่งดังของคณะเสมาทองในช่วงนั้น ถึงขนาดมีการถ่ายภาพยนตร์เก็บไว้ ดังข่าวในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง รายวัน เมื่อเดือนมีนาคม 2472 รายงานว่า บริษัท ฟอกซ์ มูวี่โทน นิวส์ ซึ่งเป็นบริษัทถ่ายทำหนังข่าวมีเสียงได้เข้ามาในประเทศ โดยนำอุปกรณ์ถ่ายหนังเสียงและรถยนต์สำหรับถ่ายทำหนังเสียงในสยามหลายแห่ง

ต่อมา คณะถ่ายทำภาพยนตร์ของนายมานิต วสุวัต และพี่น้องขอยืมกล้องและฟิล์มจากบริษัทฟอกซ์ มาทดลองถ่าย การถ่ายทำของพี่น้องวสุวัตได้ถ่ายการแสดงจำอวดของนายทิ้ง มาฬมงคล นายอบ บุญติด และคณะไว้ด้วย คือเรื่อง Royal Siamese musicians เป็นการแสดงดนตรีตลกของสองนักดนตรีหลวงและนางนักระบำ ออกลีลาแกตสบี้ โดยถ่ายทำที่หน้าเรือนแถวแห่งหนึ่ง (fapot.or.th/main/archive/637)

โฆษณาขายแผ่นเสียง ยาสแบนปาก ของนายทิ้ง มาฬมงคล เครดิตภาพ: เอนก นาวิกมูล

จากการค้นคว้าของเอนก นาวิกมูล แสดงหลักฐานว่า ในช่วงปี 2472 ปรากฏแผ่นเสียงของนายทิ้ง ที่เล่น “ยาสแบนปาก” เพลงตลกอัดลงแผ่นจำหน่ายในช่วงเวลานั้นด้วย นอกจากนี้ ในภาพยนตร์เคลื่อนไหวมีเสียงในฟิล์มของ University of South Carolina ปรากฏการแสดงของนายทิ้งเล่นเครื่องตีให้จังหวะที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเองคู่กับการแสดงชักแอคคอเดี้ยน ของนายอบ บุญติด อย่างสนุกสนาน เราพอที่จะสามารถอนุมานได้ว่า การแสดงของคณะเสมาทองในครั้งนั้น น่าจะคงมีการเล่นดนตรีประกอบการแสดงตลกที่สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมด้วย

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้ว ส.อาสนจินดาเล่าว่า เมื่อปี 2482 เขาได้เห็นการแสดงคณะเสมาทองของนายทิ้ง มาฬวงศ์ ในงานฉลองปีใหม่ที่ท้องสนามหลวงของรัฐบาลว่า “การแสดงอันเป็นบริการของทางราชการนั้น นอกจากโยธวาทิตหน้ากระทรวงกลาโหมแล้ว โดยรอบท้องสนามหลวงก็มีลิเก ละครร้อง โขน ลำตัด และที่ขาดไม่ได้ก็คือ โรงจำอวดคณะนายทิ้ง มาฬมงคล หรือคณะเสมาทอง ซึ่งประกอบด้วยนายทิ้ง, นายเจริญ, นายตุ๋ย, ลุงฟ้อน คุ้มเดช และสลับฉากด้วยชุดรำอันสวยงามของลูกสาวนายทิ้งและลูกสาวลุงฟ้อน คือ คุณประณีต คุ้มเดช สมัยสาวสดแรกรุ่น”

การแสดงของคณะเสมาทองสะกดผู้ชมครั้งนั้นได้เพียงใดนั้น ลองมาฟังประสบการณ์ของ ส.อาสนจินดาเล่าว่า “เขายืนปักหลักดูจำอวดคณะเสมาทองโดยไม่ขยับเขยื้อนไปไหนเป็นเวลาตั้งแต่สองทุ่ม ไม่กินอะไรเลย แม้กระทั่งปวดท้องเยี่ยว ความชอบในศิลปะการแสดงของข้าพเจ้าแต่ครั้งนั้น หัวร่อได้หัวร่อเอา มีความสุขเป็นที่สุด”

ส. เล่าต่ออีกว่า ต่อมาคณะเสมาทองได้เป็นที่นิยมของประชาชนถึงขนาดได้เข้าไปเล่นสลับฉากที่ศาลาเฉลิมบุรี จากนั้น มีผู้รับช่วงคณะตลกต่อ เช่น จำรูญ หนวดจิ๋ม ขวัญ สุวรรณะ และสาหัส บุญหลง (ส.อาสนาจินดา, 2536, 197)

นายอบ บุญติด นักแสดงตลกอีกคนในคณะเสมาทองของนายทิ้ง มาฬมงคล



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568
“พิชัย” สั่งทุกหน่วยเดินหน้าตามข้อสั่งการนายกฯ เร่งเครื่องล้างบางสินค้าผิดกฎหมายกว่า 57,739 คดี-ปราบธุรกิจนอมินี ลุยตรวจนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยง 46,918 ราย