เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

พระคเณศ จากเกาะชวา กับรัฐอาณานิคมภายในของสยาม เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเกาะชวา พ.ศ.2439

14.10.2024

รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสชวา ครั้งที่ 2 เมื่อเรือน พ.ศ.2439 โดยนับเป็นเวลาหลังจากการเสด็จครั้งแรกถึง 26 ปี

โดยในการเสด็จครั้งนี้ พระองค์ไม่ได้ทรงเป็นเพียงยุวกษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์ จนพระบารมี หรือพระราชอำนาจยังไม่เติบโตเต็มที่ดีนักอีกต่อไปแล้ว

ประกอบกับการที่สถานการณ์บ้านเมือง และการเมืองภายในราชสำนักของสยามเปลี่ยนแปลงไปจากการเสด็จเมื่อ พ.ศ.2413 ไปไกลอย่างลิบลับ

แต่ภัยคุกคามสำคัญ ที่ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมมาตั้งแต่คราวที่ได้เสด็จประพาสชวาเมื่อยังทรงเป็นยุวกษัตริย์นั้นก็คือ การรุกคืบของลัทธิล่าอาณานิคมจากโลกตะวันตก ที่ดูจะเข้มข้นยิ่งกว่าในช่วงต้นรัชสมัยของพระองค์อย่างชัดเจน

ดังจะเห็นได้ชัดจากการที่สยามอยู่ระหว่างการเจรจาปักปันเขตแดนระหว่างกับสองชาติเจ้าอาณานิคม ที่เป็นชาติมหาอำนาจของโลกในยุคสมัยนั้นอย่างอังกฤษ (ที่ในขณะนั้นครอบครองดินแดนส่วนที่ปัจจุบันคือ ประเทศเมียนมา และมาเลเซีย รวมไปถึงเกาะสิงคโปร์) และฝรั่งเศส (ที่มีดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ในปัจจุบัน เป็นรัฐในอารักขาของตนอยู่ในขณะนั้น) ซึ่งก็ได้เริ่มต้นการปักปันเขตแดนในส่วนต่างๆ ไปบ้างแล้วนั่นเอง

ในขณะที่จุดหมายปลายทางในการประพาสในครั้งนั้นอย่าง “เกาะชวา” ก็ยังคงตกอยู่ใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรม และการเมืองการปกครองของฮอลันดา ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจ ควบตำแหน่ง “เจ้าอาณานิคม” จากโลกตะวันตก ที่เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในภูมิภาคอุษาคเนย์เฉกเช่นเดิม

แถมฮอลันดายังเป็นชาติเจ้าอาณานิคม ที่มีอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง รวมถึงเศรษฐกิจ หยั่งรากลึกในพื้นที่บริเวณส่วนที่เป็นภูมิภาคหมู่เกาะของอุษาคเนย์ มาตั้งแต่ช่วงราว พ.ศ.2200 มาแล้วอีกต่างหาก

แน่นอนว่า อำนาจและอิทธิพลของพวกดัตช์ที่ว่านี้ ย่อมไม่ได้กระจุกอยู่เฉพาะบนเกาะ แต่ยังแผ่ขยายไปเหนือน่านน้ำที่เชื่อมโยงหมู่เกาะเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งก็ย่อมคาบเกี่ยวอยู่กับดินแดนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ติดกับน่านน้ำเหล่านี้ ซึ่งก็คือบริเวณ “แหลมมลายู” อันเป็นพื้นที่บริเวณที่อยู่ระหว่างการเจรจาปักปันระหว่างอังกฤษกับสยามด้วยนั่นเอง

 

ถึงแม้ว่า (ไม่ว่าพระองค์จะทรงตั้งพระทัยหรือไม่ก็ตามแต่) การเสด็จประพาสชวา ครั้งที่ 2 นั้น รัชกาลที่ 5 จะได้ทรงนำ “ความศิวิไลซ์” กลับมายังสยามในลักษณะที่เป็นรูปธรรม ไม่ต่างอะไรกับที่ในการเสด็จประพาสชวาครั้งแรกได้ทรงกลับมาสร้างหอคองคอเดีย อย่างที่ผมได้เคยเล่าให้ฟังเอาไว้ในข้อเขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ตัวอย่างเช่น ในการเสด็จครั้งนี้ พระองค์ได้เสด็จไปยังเมืองโบกอร์ (Bogor) หรือที่ในเอกสารเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า “เมืองบุยเต็นซอก” (Buitenzorg) โดยได้เสด็จไปทอดพระเนตร “สวนโบกะนิเกอล์กาเดน” (คำนี้สะกดตามอักขรวิธีในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีที่มาจากคำว่า Botanical Garden หมายถึง สวนพฤกษศาสตร์เมืองโบกอร์) ที่ในสมัยนั้นถือกันว่าเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ดีเยี่ยมที่สุดในทวีปเอเชีย

ว่ากันว่าพระองค์ทรงประทับใจในสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้เป็นอย่างมาก จนได้เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการนำมาสร้างเป็น “พระราชอุทยานสวนดุสิต” ภายในพระราชวังดุสิต (ต่อมาได้ถูกปรับใช้เป็น เขาดิน หรือ สวนสัตว์ดุสิต ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่ปัจจุบันสวนสัตว์แห่งนี้ได้ถูกยุบทิ้งไปแล้ว) อันเป็นพระราชวังที่ประทับแห่งใหม่ของพระองค์ ที่ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อเรือน พ.ศ.2442 นับเป็นเวลา 3 ปีหลังกาลับจากการเสด็จประพาสชวาในครั้งนั้น

แน่นอนว่า “สวนพฤกษศาสตร์” นั้น ก็เป็นเครื่องหมายของความศิวิไลซ์ขนานหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นพระราชอุทยานที่อยู่ในรั้วในวัง ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปคงไม่ได้รับสิทธิ์ที่จะได้เข้าชมก็ตาม

 

อันที่จริงแล้ว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงมักจะนำความเป็นสมัยใหม่ ในนามของความศิวิไลซ์ในรูปแบบต่างๆ เข้ามาสู่ประเทศสยามอยู่แทบทุกครั้งที่ได้เสด็จประพาสไปยังประเทศต่างๆ เช่น การประดิษฐ์ชุดราชปะแตน ซึ่งก็คือการแต่งกายแบบไทยประยุกต์เข้ากับแบบสากล หลังจากทรงเสด็จประพาสประเทศอินเดียเมื่อ พ.ศ.2415 เป็นต้น

ดังนั้น รัชกาลที่ 5 จึงไม่ได้ทรงนำความศิวิไลซ์มาจากเกาะชวา ภายใต้ความเป็นอารยะของพวกดัตช์เท่านั้นนะครับ แต่พระองค์ทรงพยายามนำเข้าความศิวิไลซ์ต่างๆ เข้ามาในสยาม เพื่อให้ประเทศของพระองค์มีความเป็นอารยะทัดเทียมกับชาติเจ้าอาณานิคมจากโลกตะวันตกเท่าที่จะทรงกระทำได้ต่างหาก

ส่วนสิ่งที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในการเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 2 ของพระองค์ จนทำให้ผมอยากจะนำมาพูดถึงในที่นี้ก็คือ การที่รัชกาลที่ 5 ทรงวางพระองค์อย่างที่ชวนให้นึกถึงกษัตริย์ หรือผู้นำของชาติเจ้าอาณานิคมของยุคสมัยนั้น ด้วยการแสดงพระราชอำนาจบางอย่าง

 

ในการเสด็จประพาสชวา ครั้งที่ 2 นั้นมีพระราชกรณียกิจบางอย่างที่ไม่ได้ทรงกระทำในการเสด็จประพาสเกาะชวาเมื่อครั้งยังทรงเป็นยุวกษัตริย์ นั่นก็คือ การนำเอาศิลปโบราณวัตถุของเกาะชวากลับมาไว้ยังประเทศสยาม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสือเก่าที่ชื่อ “ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน” อันเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ทื่ทรงเขียนเล่าถึงการเสด็จประพาสชวาเมื่อ พ.ศ.2439 ด้วยพระองค์เองนั้น พระองค์ได้เล่าถึงเรื่องราวตอนที่เสด็จไปยังบุโรพุทโธ อันเป็นมหาสถูปที่ใหญ่ที่สุดของเกาะชวา โดยถือเป็นศิลปโบราณสถานที่สำคัญ และขึ้นชื่อที่สุดของเกาะใหญ่แห่งนี้ เอาไว้ว่า ได้ทรงไปคัดเลือกเอาพระพุทธรูป และโบราณวัตถุจากบุโรพุทโธด้วยตัวของพระองค์เองเลยทีเดียวนะครับ

ในหนังสือเรื่อง “Borobudur: Golden Tales of the Buddhas” (บุโรพุทโธ : เรื่องเล่าคลาสสิคของเหล่าพระพุทธเจ้า) ที่เขียนขึ้นโดย จอห์น มิคสิค (John Miksic) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2533 ได้ระบุว่า โบราณวัตถุที่รัชกาลที่ 5 ทรงนำกลับมาจากเกาะชวาในครั้งนั้นประกอบไปด้วย ภาพแกะสลักจำนวน 30 ชิ้น พระพุทธรูป 5 องค์ (เข้าใจว่าคือ พระพุทธรูปจากบุโรพุทโธ ซึ่งแสดงปางแตกต่างกันไป รวมทั้งสิ้น 5 ปาง ตรงตามลักษณะของพระธยานิพุทธ 5 พระองค์ ในคติของพุทธศาสนามหายาน ที่ประดับอยู่ที่มหาสถูปแห่งนี้ โดยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงเลือกกลับมายังสยาม ปางละ 1 องค์) ประติมากรรมรูปสิงห์ 2 รูป และเครื่องประดับตกแต่งทางเข้าจันทิ (คำนี้ในภาษาชวา หมายถึง ศาสนสถาน) และทวารบาล ซึ่งเข้าใจว่ามาจาก บูกิต ดาคิ (Bukit Daki) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบุโรพุทโธ

ดูเหมือนว่ารายการโบราณวัตถุที่รัชกาลที่ 5 ทรงนำกลับมาของมิคสิคนั้นจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะนอกเหนือจากรายการข้างต้นแล้ว นักโบราณคดีอินโดนีเซียบางท่านว่า ยังมีรูปสลักนูนต่ำอีก 5 ชิ้น ที่นำไปจากจันทิปรัมบนัน และยังไม่รวมถึงประติมากรรมรูปนางทุรคา, นางตารา

และพระคเณศองค์ใหญ่ ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่มิคสิคไม่ได้กล่าวถึงอยู่ด้วย

 

เฉพาะรูปพระคเณศองค์ใหญ่นั้น กรมศิลปากรระบุว่า มีที่มาจากจันทิสิงหส่าหรี โดยข้อความใน “จดหมายเหตุเสด็จประพาสเกาะชวา ครั้งที่ 2 เมื่อปีวอก พ.ศ.2439” ได้กล่าวถึงคราวที่รัชกาลที่ 5 เสด็จไปประทับที่กราตอน (คือ วัง) ที่เมืองสิงหส่าหรี (ในจดหมายเหตุเรียกเมือง สิงกัสส่าหรี) ว่า

“ที่ประทับนั้นมีเทวรูปพระพิฆเนศใหญ่และรูปยักษ์ใหญ่ 2 รูป”

ถึงแม้ว่าในจดหมายเหตุข้างต้น จะไม่ได้กล่าวถึงการนำรูปพระคเณศองค์ดังกล่าวกลับมายังสยาม แต่ในหนังสือ “ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน” รัชกาลที่ 5 ได้ทรงกล่าวถึงรายละเอียดของการร้องขอรูปพระคเณศใหญ่องค์นี้กลับมายังสยามเอาไว้ว่า

“มหาวิฆเนศวร์รูปใหญ่ชำรุดแต่แขนเปนฝีมืองามกว่าทั้งสิ้น อยากจะใคร่ได้ แต่ออกเกรงใจเขาเพราะเห็นใหญ่โตนัก ทั้งที่นี่ก็ไม่ได้ขอคอเวอนเนอเยเนราล (Governor general, ข้าหลวงใหญ่ หรือผู้สำเร็จราชการเมืองขึ้น) ไว้ด้วย เรสิเดนต์รับอาสาจะมีโทรเลขไป แลสั่งให้แอสสิสตันเรสิเดนต์เตรียมการที่จะยกรื้อไว้ พอได้อนุญาตก็ให้ยกส่งไปสมารัง (หมายถึง เมืองซมารัง บางทีก็เรียกเสมารัง หรือเซอมารัง [Semarang] เมืองหลวงของจังหวัดชวากลางในปัจจุบัน ที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะชวา) ทีเดียว แต่คอเวอนเนอเยเนราลก็อนุญาตทันที” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่จัดย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านสะดวกมากขึ้นโดยผู้เขียน)

เมื่อนำพระคเณศองค์นี้หลับมายังสยามแล้ว ก็ได้มีการนำไปประดิษฐานไว้ที่หน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก่อนที่จะถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ดังเช่นทุกวันนี้

 

การที่รัชกาลที่ 5 ทรงนำเอาศิลปโบราณวัตถุสำคัญจากเกาะชวา มาเก็บไว้ยังสยามนั้น ชวนให้นึกถึงการที่ชาติเจ้าอาณานิคมในสมัยนั้นอย่าง อังกฤษ นำเอาชิ้นส่วนงานสลักจากวิหารพาร์เธนอน (Parthenon) จาประเทศกรีซมาจัดแสดงที่บริติช มิวเซียม (British Museum)

หรือการที่ปรัสเซีย (ต่อมาจะเป็นเยอรมนี) นำเอาประตูอิชตาร์ เกต (Ishtar Gate) ของเมืองบาบิโลน ในอิรัก มาจัดแสดงอยู่ที่เพอร์กามอน มิวเซียม (Pergamon Museum) ในกรุงเบอร์ลิน ในช่วงร่วมสมัยกันอย่างชัดเจน

จึงอาจจะเรียกได้ว่า สยามของรัชกาลที่ 5 มีลักษณะเป็น “อาณานิคมภายใน” (Internal Colonialism) คือรัฐส่วนกลาง ที่มีอำนาจทางการเมืองเหนือกว่ารัฐอื่นในภูมิภาคเดียวกัน และได้แสวงหาผลประโยชน์จากรัฐอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่อยู่รายรอบ

และนี่ก็คงเป็นข้อต่อรองที่สำคัญของรัฐสยาม เพื่อใช้ต่อรองในการปักปันเขตแดนบริเวณพื้นที่แหลมมลายู ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันหลังจากการเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งนี้ไม่นานนัก (มีต่อ) •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

 

 

 

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“พีระพันธุ์” เรียกประชุมด่วน หลังอิหร่านเตรียมปิดช่องแคบฮอร์มุซเตรียมมาตรการรองรับทั้งด้านราคาและปริมาณสำรองหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น
พล.ท.ภราดร ชี้ครบ93ปีประชาธิปไตยไทย เดินสายพูดคุยปชช. พบสาเหตุที่ ปชต.อ่อนแอ
อดีต รมว.คลังชี้ช่วงนี้​ จะให้ศก.​เติบโต​สูงขึ้น ต้องปรับค่าเงินบาทลดลง​ ให้แข่งขันได้​ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐบาล​ ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นๆลงๆ​ ตามนักเก็งกำไร
รสนา ชี้กัมพูชาอ้างชุมนุม1.5 แสนคน เป็นแค่ราคาคุย ความจริงแค่หมื่นกว่าคนเท่านั้น
‘ลิณธิภรณ์’ จวก ‘ศุภชัย’ ร้อนรนเป็นฝ่ายค้าน ลืมอดีต เพื่อไทย เคยเสนอนำกัญชากลับบัญชียาเสพติด ย้ำรัฐบาล ‘แพทองธาร’ เร่งรื้อมรดก ‘ภูมิใจไทย‘ ทิ้งกัญชาเสรีทำลายสังคมไทย
มงคล ทศไกร ร่วมเปิดฟุตบอลคลินิก ให้เยาวชนคลองเตยและชุมชนเชื้อเพลิง โครงการ “BROS.CORE 2025 : เปิดเทอมเติมฝัน ปีที่ 2”
‘ใหม่-เต๋อ’ หมั้นแล้ว เปย์หนักแหวนเพชร 15 กะรัต ‘7 ปีกลัวที่สุด จับแต่งเลย จะได้ไม่ต้องเลิก’
ประเทศดี ที่มี ‘คนทุจริต’ กับ ‘อยุติธรรม’ อยู่อาศัย
93 ปี 24 มิถุนายน 2475 อาจต้องรอเกิน 100 ปี …จึงจะมีประชาธิปไตย
‘เครียด-จุดเดือดต่ำ-ซึมเศร้า’ บช.น.จัดคอร์สธรรมะขัดเกลาใจ สู้ความกดดันชีวิตอย่างมีสติ
จากการไล่ล่าผู้อพยพของ I.C.E. ในแอลเอ สู่การประท้วงใหญ่ ‘No Kings’ ทรัมป์ ทั่วอเมริกา
ขยายผลขบวนการค้า ‘ยาเสียสาว’ สวมชื่อ 370 คนตาย-สั่งซื้อ อย.แจ้งจับเพิ่ม 6 แพทย์ ร่วมทีม ‘หมอแอร์’ ใช้แฟลต ตร.ซุก 1.7 แสนเม็ด