

คำ ผกา | ฉันรักประชาธิปไตย อันเต็มไปด้วยความบกพร่อง
“หากระบบการเมืองยังถูกปิดกั้นเช่นนี้ ปิยบุตรเชื่อว่า ประชาชนอาจอ่อนล้า ไปพักผ่อน กลับไปใช้ชีวิตปกติ ขณะที่นักการเมืองและพรรคการเมือง จากเดิมพรรค อนค. คิดอ่านว่าต้องการ politicisation (การกระทำเพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางการเมือง หรือทำให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองมากขึ้น) ประชาชน ติดอาวุธความคิดทางการเมืองให้ประชาชน แต่ด้วยระบบที่เป็นอยู่ ทำไปทำมาพรรคจะ bureaucratization (การบริหารหรือเปลี่ยนให้เป็นระบบราชการ) ตนเองหรือเปล่า เช่น จากพรรคที่คิดอ่านเรื่องติดอาวุธความคิดทางการเมืองสัก 70 เลือกตั้งสัก 30 ต่อไปก็คิดเรื่องเลือกตั้งสัก 70 คิดเรื่องติดอาวุธทางความคิด 30 มันจะกลายเป็นพรรคที่เริ่มเข้าสู่ระบบราชการ ทำงานประจำ พอฤดูเลือกตั้งมาถึงก็ส่งผู้สมัคร เวียนแบบนี้ไปเรื่อย
“ถ้าผมเป็นผู้ถือ ‘ใบอนุญาตใบที่ 2’ ที่ผมเรียกว่าคนกุมอำนาจในระบอบนี้ ชนชั้นปกครองทั้งหลาย ผมก็จะทำระบบให้มันเป็นอย่างนี้ ทำให้พรรคของคุณมีชีวิตต่อไป แต่ระบบทั้งระบบจะคุมกำเนิดให้คุณได้แค่นี้ ไม่ให้คุณได้เป็นรัฐบาล ให้คุณทำงานในสภา ให้คุณลดความแหลมคม ความ radical ลงเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ในระบบนี้
ข้อวิเคราะห์ของเลขาธิการคณะก้าวหน้าคือ ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ 20 ปี คนหน้าใหม่ในทางการเมืองที่เข้ามาก็จะกลายเป็น ‘อำมาตย์ทางการเมืองรายใหม่’ ที่ไม่ได้มาจากตระกูลการเมืองเดิม ส่วนการเลือกตั้งที่มองกันว่าเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงในระยะเปลี่ยนผ่านจากสังคมเก่าเป็นสังคมใหม่ ก็จะกลายเป็น ‘เครื่องมือเปลี่ยนผ่านจากคนธรรมดาให้เป็นอำมาตย์’ เท่านั้น”
https://www.bbc.com/thai/articles/ckgd037nvgko
นี่คือส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ ปิยบุตร แสงกนกกุล ของบีบีซีไทย เนื่องในวาระครบรอบห้าปีการยุบพรรคอนาคตใหม่ และห้าปีที่เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
แต่ปิยบุตรยังมีบทบาทเป็นเลขาธิการคณะก้าวหน้า และเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคประชาชน และเป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคม จากภูมิหลังที่เป็นนักวิชาการนิติศาสตร์ การเป็นส่วนหนึ่งของนิติราษฎร์
และในบทบาทของนักกิจกรรมทางการเมืองที่ขับเคลื่อนเรื่องเสรีภาพของประชาชน ประชาธิปไตย ผลพวงของการรัฐประหาร กับการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง
ตอนที่ปิยบุตรยังเป็นนักวิชาการและเป็นนักเคลื่อนไหว ฉันเข้าใจได้ว่านักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องนำเสนอแนวคิดที่เป็นอุดมคติมากๆ ให้กับสังคมโดยไม่มีความจำเป็นต้องคิดว่าจะทำได้จริงหรือไม่ แต่เหมือนเป็นการตั้งราคาสินค้าเผื่อๆ ไว้ให้ลูกค้ามาต่อรอง
ฉันใดก็ฉันนั้น น่าเสียดายที่เราเห็นบทบาทของปิยบุตรในฐานะนักการเมืองเพียง 10 เดือนเท่านั้นก็ถูกตัดสิทธิ์เสียก่อน เลยไม่มีโอกาสจะได้รู้ว่า เมื่อต้องกลายมาเป็น “นักปฏิบัติ” จริงๆ ปิยบุตรจะกลายเป็น “อำมาตย์ใหม่” ที่ต้องทำงานตามรูทีน
ลดความ radical รักษาเนื้อรักษาตัวให้รอดในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป และต่อๆ ไปหรือไม่?
เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์นี้จบลงฉันพบว่า เกษียร เตชะพีระ ธงชัย วินิจจะกูล ประจักษ์ ก้องกีรติ และปิยบุตร วิเคราะห์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 2566 ไปในทางเดียวกัน นั่นคือ ชนชั้นนำ หรือที่ปิยบุตรเรียกว่า “เจ้าของใบอนุญาตใบที่สอง” (ส่วนธงชัยเรียกว่าระบบรัฐราชการ และเกษียรเรียกว่าฉันทามติ 112) กับพรรคเพื่อไทยกลับมาประสานผลประโยชน์กันเพื่อ “กัน” ไม่ให้พรรคก้าวไกล/ประชาชนได้เป็นรัฐบาล ทำให้กระบวนการกลายเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยถูกทำให้ดีเลย์ไป และ/หรืออาจจะไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้นอีกเลยในอนาคตอันใกล้
จึงไม่ต้องแปลกใจที่กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าของประเทศไทยตอนนี้พวกเขาค่อนข้างจะเครียด เพราะมันนำไปสู่การวิเคราะห์ว่า ด้วยสภาวะแบบนี้ที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล และยอมให้กลุ่มอำนาจเก่ามามีส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองด้วยการที่เพื่อไทยจะไม่ “แตะปัญหาเชิงโครงสร้าง” (ที่เกษียรเรียกว่าฉันทามติ 112) ทำได้แต่เพียงนโยบายทางเศรษฐกิจเล็กๆ น้อยๆ เพื่อประคองสถานการณ์ และให้มีการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ รอเป็นรัฐบาลไปเรื่อยๆ
พรรคประชาชนก็จะถูกทำให้อ่อนแอด้วยการที่สมาชิกพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง มีคดีความที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคตลอดเวลา และท้ายที่สุดสมาชิกพรรคประชาชนก็จะค่อยๆ ลดความ “ก้าวหน้า” ของตนเองในฐานะคนทำ “การเมืองใหม่” มาเป็นเหมือนนักการเมืองพรรคอื่นๆ และค่อยหมดพลังในฐานะที่จะเป็นพรรคการเมืองแก่งความหวังไปในที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสที่ประเทศไทยจะได้ “เกิดใหม่” เป็นประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าในแบบที่ปิยบุตรและปัญญาชนหัวก้าวหน้าอดีตคนเดือนตุลาทั้งหลายใฝ่ฝันถึงก็จะไม่เกิดขึ้น
สิ่งนี้เป็นโศกนาฏกรรมสำหรับธงชัย เกษียร ประจักษ์ และสำหรับปิยบุตรก็ย่อมมองว่านี่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่แรก
เรื่องนี้ฉันอยากจะแลกเปลี่ยนกับปิยบุตรว่าฉันไม่เห็นด้วย ปรากฏการณ์ข้ามขั้วตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยไม่ได้เกิดจากการวางแผน ออกแบบอะไรทั้งนั้น
ซึ่งปิยบุตรเองก็ยอมรับกลายๆ ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นการแก้เกมกันตามหน้างานมากกว่าจะวางแผนมาอย่างแยบยลตั้งแต่แรก
ปิยบุตรต้องลองย้อนกลับไปดูแคมเปญการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยว่า เพราะพรรคเพื่อไทยรู้เหมือนที่ปิยบุตรรู้ในวันนี้ว่า เราเลือกตั้งกันภายใต้กติกาของ “คณะรัฐประหาร” และการวางหมากกลขององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว. และการเลือกตั้งภายใต้ กกต. ที่ไม่ได้มีหลังพิงประชาชน
เรื่องนี้เพื่อไทยรู้ ก้าวไกลรู้ ว่าเราต้องสู้ในกติกาของเขา และด้วยเหตุดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงหาเสียงจะเอาแลนด์สไลด์เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. และเพื่อจะไปแก้รัฐธรรมนูญ
ปิยบุตรและพรรคก้าวไกลเองต่างหากที่จับปลาสองมือ เหยียบเรือสองแคม นั่นคือ มือข้างหนึ่งก็ต้องการจับมือกับเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เพื่อให้การเข้าสู่อำนาจรัฐครั้งนี้นำไปสู่การปลดแอกประชาชนจากมรดกของการรัฐประหารที่มาในรูปของกฎหมาย กติกาห้าร้อยอย่างที่มีไว้เพื่อบอนไซพรรคการเมืองและนักการเมือง
มืออีกข้างก็ต้องการตกปลาในบ่อเพื่อน ไม่ต้องการให้เพื่อไทยแลนด์สไลด์ เพราะหากก้าวไกลได้ ส.ส.น้อยก็ไม่มีอำนาจต่อรองอีก ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาไดเล็มม่า
ปัญหาหว่างเขาควายติดล็อกซ้ายล็อกขวาเองมาตั้งแต่ต้น
หากคิดเอาบ้านเมืองเป็นหลักก็ต้องยอมให้เพื่อไทยแลนด์สไลด์แล้วอุ้มก้าวไกลไปเป็นรัฐบาลด้วยกัน แต่โดยจุดยืนของพรรคการเมือง ใครจะยอมไป “ฮั้ว” แบบนี้
เพราะแต่ละพรรคก็มีวาระที่ตัวเองอยากทำในแบบของตัวเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลยุทธ์การหาเสียงที่พยายามบีบให้เพื่อไทยกลายเป็นพรรคที่ไม่มีความชัดเจนเรื่อง 112 และไม่มีความชัดเจนเรื่องมีลุงไม่มีเรา นายกฯ กล่องสุ่ม ฯลฯ บวกกับกระแสพิธาฟีเวอร์ เพราะลึกๆ คนไทยก็โหยหาใครสักคนมาแทนที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คืออภิสิทธิ์ในเวอร์ชั่นที่มือไม่เปื้อนเลือด
แถมสื่อไทยก็ต้องการล้างบาปจากสมัยรักลุงตู่ก็หันมาเชียร์พรรคก้าวไกล เปลี่ยนภาพลักษณ์จากสื่อเชียร์เผด็จการมาเป็นสื่อน้ำดีในชั่วข้ามคืน
ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่ง
สิ่งนี้พรรคเพื่อไทยก็ไม่คาดคิด
พรรคก้าวไกลก็ไม่คาดคิด
และปิยบุตรต้องไม่ลืมว่า สิ่งแรกที่พรรคเพื่อไทยทำไม่ใช่การตั้งรัฐบาลแข่งกับก้าวไกล แต่ไปทำ MOU กับก้าวไกล และให้ก้าวไกล “นำ” ในการตั้งรัฐบาล และทุกคนรู้ว่าด่านแรกที่ต้องผ่านคือ ส.ว.
และโดยไม่ต้องมีใบสั่งจากใคร ปิยบุตรก็ต้องรู้อีกว่า ผลของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยที่ยังแข็งแกร่งอยู่ในหมู่คนไทยอีกครึ่งประเทศ อยู่ในหมู่ ส.ว. และอยู่ในอีกทุกพรรคการเมืองในประเทศไทย
คือ พวกเขากลัวว่าพรรคก้าวไกลจะมาพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน คนเหล่านี้จึงต้องการคำมั่นสัญญาจากพรรคก้าวไกลว่าจะไม่แตะหมวดหนึ่งหมวดสอง และจะไม่มายุ่งกับเรื่องมาตรา 112
ประเด็นนี้มีทั้งคนที่กังวลจริงๆ กับคนที่ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างเพราะไม่อยากให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล แต่ปิยบุตรต้องยอมรับว่าเพียงสองปัจจัยนี้ก็ทำให้ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้ใบสั่ง
ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ไม่ต้องทำอะไร แค่ยกมือให้พิธาเป็นนายกฯ ทุกครั้งที่มีการโหวตเพื่อแสดงจุดยืนว่าพรรคทำตามหลักการจนถึงที่สุด
เป็นพรรคก้าวไกลเองที่เลือกวิธี “แพ้ศึกเพื่อชนะสงคราม” ประกาศไม่ประนีประนอมจนทำให้ล้มเหลวในการส่งพิธาเป็นนายกฯ และไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลในที่สุด
ถามว่า “ส้มหล่นใส่มือ” ขนาดนี้มีหรือเพื่อไทยจะปล่อยให้โอกาสหลุดมือไป และด้วยคติ ไม่มีใครได้ทุกอย่าง พรรคเพื่อไทยก็คิดสะระตะแล้วว่า ตัวเองจะเสียรังวัดเรื่องอุดมการณ์ โหวตเตอร์อาจจะหายไปสอง-สามล้านคน จากคนที่ฝากความหวังกับเพื่อไทยว่าจะจับมือกับก้าวไกลเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่การได้เข้าสู่อำนาจรัฐไปทำอะไรบางอย่าง ไปฝากผลงานบางอย่าง น่าจะดีกว่าการไม่ได้ทำอะไรเลย
พรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นแล้วว่า สองลุง สามลุง ไปต่อไม่ได้ การร่วมกับเพื่อไทยก็เหมือนกลับไปหาอดีตอันแสนหวานสมัยไทยรักไทย พวกเราก็ล้วนแต่ลูกหม้อไทยรักไทยทั้งนั้น การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วจึงเกิดขึ้น
และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าพรรคการเมืองสองพรรค นั่นคือ รวมไทยสร้างชาติตั้งหลักเป็นพรรคการเมืองต่อได้ แต่พลังประชารัฐแตกสลาย ซึ่งฉันเคยเขียนบทความวิเคราะห์เรื่องนี้ไปแล้วในมติชนสุดสัปดาห์นี่แหละ
ความน่าสนใจของปรากฏการณ์นี้คือ ฉันและเพื่อกลุ่มหนึ่งมองว่านี่คือ “กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย” ที่เราจะไม่เสียเลือดเนื้อแบบซีเรียแต่ยอมให้ศัตรูของเรายังมีที่อยู่ที่ยืนทางอำนาจอยู่บ้าง ไม่ผลักใครไปเป็นหมาจนตรอกในวันที่เราชนะอันมีตัวอย่างให้เห็นคือเกาหลีใต้
ฉันเดาว่า จากการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วนี้พรรคก้าวไกลคิดว่าจะกาหัวเพื่อไทยให้กลายเป็นพรรค “จัณฑาล” ด้วยการสร้างแบรนด์ “ตระบัดสัตย์” และ ทำให้ผู้สนับสนุนเพื่อไทยกลายเป็นจัณฑาลของแวดวงปัญญาชนไปด้วย
เช่น การลดทอนคำ ผกา ให้กลายเป็น “นางแบกผู้บ้าคลั่งรับใช้ขายตัวให้ชินวัตรแลกเงิน” โดยผนวกเอาบุคลิก คำพูด ภาษา คำหยาบที่ใช้ให้อยู่เหนือ “ข้อถกเถียง” หรือแก่นสารของเรื่องที่พูด ไปจนถึงความพยายามจะบอกว่านายกฯ จากพรรคเพื่อไทยไม่เก่ง ไม่ฉลาด เป็นเด็กเส้น
ปูเส้นเรื่องว่า เพื่อไทยได้แปรสภาพเป็น “สลิ่ม” โดยสินเชิง จากนี้ต่อไป พรรคการเมืองที่สู้เพื่อประชาธิปไตยเหลือพรรคเดียวเท่านั้นคือ ก้าวไกล/ ประชาชน
พรรคก้าวไกล/ประชาชนคิดว่าด้วยกลยุทธ์นี้จะทำให้พรรคก้าวไกล/ประชาชน ชนะการเลือกตั้งในปี 2570 ได้ และระหว่างนี้ก็ทำงานทางความคิดกับสังคมไปเรื่อยๆ ดังที่ปิยบุตรใช้คำว่า politicise กับสังคม ไปเรื่อยๆ
แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ผ่านไปสองปี สลิ่มเฟสหนึ่งก็เกลียดเพื่อไทยเหมือนเดิม สลิ่มเฟสหนึ่งที่เกลียดเพื่อไทยและสิ้นหวังกับประชาธิปปัตย์ก็หันไปเป็นโหวตเตอร์ก้าวไกล/ประชาชน เพราะจริตมันได้กัน แดงที่เปลี่ยนเป็นส้มก็สมทบกับสลิ่มเฟสหนึ่งฟาดฟันเพื่อไทย
แต่คนที่เห็นว่าเพื่อไทยยอมเจ็บเพื่อให้ประเทศไปต่อได้ ก็มีไม่น้อย คนที่เลือกภูมิใจไทยก็ยังเลือกเหมือนเดิม และไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่าการอธิบายว่า สังคมไทยยังไม่มีความลงรอยกันทางอุดมการณ์ว่า อุดมการณ์แบบไหนของใครครองอำนาจนำโดยสิ้นเชิง ยังอยู่ในระหว่างการแข่งขันกันระหว่างหลายฝ่าย เช่น ในหมู่โหวตเตอร์เพื่อไทยก็มีทั้งคนหัวก้าวหน้ากับคนอนุรักษนิยม
ในหมู่โหวตเตอร์พรรคประชาชนก็มีทั้งคนที่สมาทานการเมืองคนดีไปพร้อมๆ กับอยากแก้กฎหมาย 112
คนเลือกภูมิใจไทยอาจมาจากคนที่ไม่ชอบทั้งเพื่อไทย ไม่ชอบทั้งพรรคประชาชน และฉันอยากจะบอกว่า ทั้งหมดนี้มันเกี่ยวกับคนถือครองใบอนุญาตใบที่สองอะไรในแบบที่ปิยบุตรวิเคราะห์น้อยมาก
มันก็แค่เป็นการเมืองของรัฐบาลผสมหลายพรรคธรรมดาๆ ที่ช่วงชิง ต่อรองกันในทุกเรื่องเป็นปกติ ซึ่งพรรคประชาชนมองว่าเป็น “รอยร้าว” ในพรรคร่วม
ซึ่งฉันมองว่า “รอยร้าว” เป็นเรื่องสามัญธรรมดาของพรรคร่วม ถ้าไม่ร้าวเลยสิผิดปกติ แปลว่าทุกพรรคฮั้วกันหมดแล้ว ประชาชนไม่มีความหมาย เป็นเผด็จการรัฐสภาอย่างที่เคยด่าๆ กันมาไม่ใช่หรือ?
สภาวะแบบนี้แหละ ที่จะไม่มีการรัฐประหาร ไม่มีการประท้วง ม็อบไล่รัฐบาล
พร้อมๆ กับที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างมีนัยยะสำคัญ
เพราะมันคือการเปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยที่รัฐบาลก็ไม่ค่อยเก่งแต่มีเสถียรภาพไปพร้อมๆ กับที่มีฝ่ายค้านทำงานเชิงรุก สร้างซีน สร้างกระแส เล่นกับสื่อเก่ง แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะได้เป็นรัฐบาล เพราะฝั่งพรรคร่วมเขาปึ้กกว่า
แถมพรรคฝ่ายค้านยังชอบเล่นท่ายาก นั่นคือเล่นท่าข้ามาคนเดียว ข้าเก่งคนเดียว ข้าดีอยู่คนเดียว คนอื่นเลวหมด ก็ยิ่งยากที่ในการเลือกตั้งจะทำให้พรรคฝ่ายค้านพลิกกลับมาเป็นรัฐบาลเหตุก็เพราะไปด่าคนอื่นไปเยอะนั่นล่ะ
เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็ถูกที่ปิยบุตรจะบอกว่า เลือกตั้งครั้งหน้า หากพรรคประชาชนได้น้อยกว่า 200 โอกาสจะเป็นรัฐบาลแทบไม่มี
คําถามคือทำอย่างไรจะได้ 200 และปิยบุตรก็พูดเองอีกนั่นแหละว่ายาก เพราะ ส.ส.ของพรรคก็หนีไม่พ้นจะต้องลดความแรดิคัลลง ทำงานทางความคิดน้อยลง เอาตัวรอดมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคประชาชนก็ไม่มีจุดขาย ที่ต่างจากเพื่อไทย
เมื่อเครียดเรื่องไม่มีจุดขาย ก็เข้าตาจน หันไปทำการเมืองเอากระแสวูบวาบ เล่นกับ sentiment หรืออารมณ์ความรู้สึกของคนในเชิงดราม่า ละครคุณธรรม ตั้งแต่ตากใบ ถึงชเวก๊กโก้ ประกันสังคม
ถามว่าดีไหม ก็ดี แต่มันเป็นอย่างที่ปิยบุตรวิจารณ์คือ มันไม่นำไปสู่การ conceptualized เชิงนโยบาย ที่จะเอาไปสู้ในการเลือกตั้งใหญ่
และกระแสเหล่านี้มันวูบวาบเหมือนรายการโหนกระแส และยิ่งกดดันให้พรรคต้องใช้พลังงานไปกับกระแสจนไม่มีแรงเหลือไปลงหลักปักฐานในประเด็นที่นามธรรมอันเป็นจุดแข็งสมัยอนาคตใหม่
ฉันคิดว่าปิยบุตรวิเคราะห์ถูกในเรื่องยุทธศาสตร์พรรคประชาชน แต่ผิดในเรื่องการให้น้ำหนักกับ “ชนชั้นนำ” มากเกินไปจนมองข้ามพลังของประชาชนไทยที่มีความหลากหลายซับซ้อนแถมยังย้อนแย้งในตัวเองสูงมา
เมื่อมองไม่เห็นมิตินี้ โยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องการฮั้วการดีลของชนชั้นนำก็ยิ่งจะทำให้คำอธิบายของปิยบุตรยังอยู่ในโครงเรื่องเดิมสมัยรัฐประหารปี 2549 ดังนั้น จึงเฝ้าแต่ครุ่นคิดว่าทำอย่างไรประชาชนจะลุกฮือขึ้นอีกครั้ง
ฉันจึงอยากบอกปิยบุตรว่า บางทีประชาธิปไตยมันก็ไม่ได้มลังเมลืองขนาดนั้น และหากคาดหวังความมลังเมลือง มีปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นต้นแบบอยู่ร่ำไป มันก็เท่ากับจัดวางตัวเองให้ต้องอยู่กับความผิดหวัง หดหู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปโดยปริยาย
ไอ้ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็เป็นแล้วประชาธิปไตย มันแค่ไม่สวยงามอย่างที่คิดว่ามันควรจะเป็นเท่านั้นเอง เหตุก็เพราะพรรคตัวเองไม่ได้เป็นรัฐบาล
ก็เท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


