เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

จีนหมดความเป็นจีน เพราะแม่หญิงสยาม

11.05.2025

คนในประเทศไทยหลายพันปีมาแล้ว ประกอบด้วยชนเผ่าพื้นเมืองหลายชาติพันธุ์ ล้วนเป็นบรรพชนคนไทยปัจจุบัน

คนเหล่านี้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายกับจีนก่อนใคร แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่มีเรื่องนี้ แม้สถาบันที่มีการเรียนการสอนทางประวัติศาสตร์โบราณคดีก็ไม่กล่าวถึง และไม่ให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์จีน-ไทย

ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิประวัติศาสตร์ของจีน-ไทยใกล้ชิดกันมากตั้งแต่อดีตอันยาวนานถึงอนาคตอันไม่สิ้นสุด ซึ่งไทยปฏิเสธจีน-มหาอำนาจสมัยใหม่มิได้ แต่เหตุใดรัฐบาลไม่กระตือรือร้น “อัพเดต” ข้อมูลแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวยาวนานความสัมพันธ์จีน-ไทย

A History of the Thai-Chinese เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร เขียนประวัติจีนกรุงสยาม พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์ แปลและเรียบเรียง (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2568) เป็นหนังสือจีน-ไทยดีที่สุดขณะนี้ ที่ผู้อยากรู้ความสัมพันธ์จีน-ไทย อย่างมีหลักฐาน (ไม่มโน) ต้องอ่าน และห้องสมุดสถานศึกษาทุกระดับควรมีไว้

จะยกบางตอนจากหนังสือประวัติศาสตร์จีนกรุงสยามที่สนุกตื่นเต้น ดังต่อไปนี้

 

แม่หญิงอยุธยา

กลืนจีนหมดความเป็นจีน

“สยามเป็นอาณาจักรเดียวที่คนจีนได้เป็นพระราชา และก็เป็นอาณาจักรเดียวที่จีนหมดความเป็นจีน” – ส.ศิวรักษ์

“ปกติชาวสำเภามิได้พาผู้หญิงติดเรือออกโพ้นทะเล ด้วยวัฒนธรรมจีนเน้นความกตัญญูกตเวที ภรรยามีหน้าที่ปรนนิบัติผู้เฒ่าในเรือน ดูแลสุสานบรรพชน ซึ่งเปรียบดุจผีเหย้าผีเรือนที่ปกป้องครอบครัวให้อยู่ดีมีสุข ฝ่ายชายมักออกเรือไปทำมาหากินตามลำพัง

ชุมชนจีนในกรุงศรีอยุธยาถือได้ว่าเป็นจีนลูกผสม มีบิดาเป็นจีนพ่อค้านักเดินเรือ ฝ่ายมารดาเป็นแม่หญิงท้องถิ่น

ล่วงมาถึงสมัยศตวรรษที่ 20 เมื่อสกินเนอร์สัมภาษณ์คนจีนในเมืองไทยยุคสงครามเย็น เขาพบว่าสำหรับครอบครัวจีนในสยามความเป็นจีนเลือนหายไปไม่กี่ชั่วคนเพราะอิทธิพลของฝ่ายหญิงผู้เป็นแม่เรือน กระทั่งชื่อแซ่ชื่อตระกูลก็ไม่ทราบ”

[ประวัติจีนกรุงสยาม เล่มที่ 1 (2568) หน้า 24]

 

ส่งออกข้าวไปเมืองจีน

สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงตั้งแต่ปี 2231 เป็นต้นมา

“พ่อค้าจีนมีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจส่งออกข้าวไปขายที่เมืองจีนเจริญเติบโต ด้วยยามนั้นแผ่นดินจีนสงบ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด การค้าคึกคัก จีนจึงเป็นคู่ค้าที่สำคัญของสยามในช่วงศตวรรษที่ 18”

[ประวัติจีนกรุงสยาม เล่มที่ 1 (2568)]

พระพิมพ์จากกรุวัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา ภายในระบุชื่อจีน แซ่เก่อ ร่วมทำบุญสมัยราชวงศ์หมิง

 

จีนแซ่เก่อทำบุญในอยุธยา

“หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่าชาวจีนตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาแต่แรกสร้าง มีการค้นพบไหสมัยราชวงศ์หยวนในกรุวัดพระราม และยังพบเศษกระเบื้องจีนสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง และต้นราชวงศ์ชิง ในหลายพื้นที่ของกรุงศรีอยุธยา

ที่กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ พบพระพิมพ์เนื้อชินหลายองค์ ภายในระบุชื่อชาวจีนสมัยราชวงศ์หมิง เป็นผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญสร้างวัด”

[ประวัติจีนกรุงสยาม เล่มที่ 1 (2568)]

 

คนจีนเป็น “ลูกค้า” ของไทย

“กรุงศรีอยุธยาและเมืองท่าสำคัญรอบอ่าวไทยมีชุมชนชาวจีนเดินเรือค้าขาย ทำเหมือง เพาะปลูกพืช และตั้งถิ่นฐาน สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับสยาม

ชาวจีนที่รับงานขนส่งสินค้าไปขายต่างแดนมักขึ้นสังกัดกรมท่า บางคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ บางคนรับงานเป็นเจ้าภาษี บ้างก็เข้าไปพัวพันข้องเกี่ยวกับการเมืองอันซับซ้อนของกรุงศรีอยุธยา

ฝ่ายไทยถือว่าคนจีนเป็น ‘ลูกค้า’ มิใช่ไพร่ ต่างจากชาวลาว มอญ และเขมร ในเมืองไทย

และด้วยสายใยที่ข้องเกี่ยวกันมาแต่ต้นกรุง บริเวณราชธานีจึงมีชุมชนจีนกระจายอยู่ทั่ว ทั้งภายในและนอกกำแพงเมือง”

[ประวัติจีนกรุงสยาม เล่มที่ 1 (2568) หน้า 24]

 

คาบสมุทรสุวรรณภูมิ

“เส้นทางสายไหมทางทะเลจากจีนสู่โลกตะวันตกมีคาบสมุทรสุวรรณภูมิขวางกั้นระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน สำเภาจีนมักแวะเวียนมาขายสินค้าตามเมืองท่าฝั่งอ่าวไทยซึ่งเรียงรายจากไชยาลงไปถึงยะโฮร์ แต่ละเมืองมีเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกข้ามคาบสมุทรไปฝั่งทะเลอันดามัน

หากเทียบกับเส้นทางเรือผ่านช่องแคบมะละกาที่มีโจรสลัดคอยดักปล้นแล้ว ถือว่าเส้นทางขนส่งทางบกนี้มีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน เนื่องจากในสมัยโบราณ การเดินเรือ ต้องรอลม หากเดินทางถึงบริเวณช่องแคบมะละกาผิดเวลา ก็จะต้องพักรอลมเป็นแรมเดือน ด้วยว่าเรือไม่สามารถล่องทวนกระแสน้ำข้ามผ่านช่องแคบไปได้ ต้องคอยให้ลมเปลี่ยนทิศตามฤดูกาลก่อน จึงจะเดินทางต่อได้ สองฝั่งคาบสมุทรสุวรรณภูมิจึงมีเมืองท่าการค้าเรียงรายอยู่

ทั้งนี้ ในสมัยราชวงศ์หยวน อาณาจักรตามพรลิงค์ที่นครศรีธรรมราชมีอำนาจควบคุมชายฝั่งอ่าวไทยจากไชยาถึงปะหัง

ส่วนทางฝั่งอันดามัน ไทรบุรีถือเป็นเมืองท่าสำคัญ ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ‘เซียน’ ได้แผ่อิทธิพลลงมายังคาบสมุทรมลายู ดังปรากฏในเอกสารจีนปี 1295/1838 ซึ่งห้ามปรามการสู้รบระหว่าง ‘เซียน’ กับ ‘หมา หลี่อี้เอ๋อร์’ (มลายู)”

[ประวัติจีนกรุงสยาม เล่มที่ 1 (2568) หน้า 18]  •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568