

คำ ผกา
ใครทำรัฐล้มเหลว?
คําศัพท์ที่ฮิตกันมากในตอนนี้ที่คนเก๋ๆ จะต้องพูดสักครั้งในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองคือ “รัฐล้มเหลว” หรือ Failed state เรื่องนี้คงไม่จำเป็นต้องจบรัฐศาสตร์ ไม่ต้องเป็นรองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ก็คงตอบได้ทันทีว่าประเทศไทย ณ วันนี้เข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลวแล้วหรือยัง
ก่อนอื่นเราต้องรู้นิยามคำศัพท์พื้นฐานนี้ก่อน
เรามีคำเรียกหน่วยทางการเมืองที่เราสังกัดอยู่ในฐานะพลเมืองกันหลายคำ
เรามีคำว่า ประเทศ ภาษาอังกฤษคือ country
เรามีคำว่า ชาติ ภาษาอังกฤษคือ Nation
เรามีคำว่า รัฐ ภาษาอังกฤษคือ State
เรามีคำว่า รัฐบาล ภาษาอังกฤษคือ Government
นิยามของคำว่ารัฐล้มเหลว คืออะไร ฉันขอคัดลอกจากวิกิพีเดียมาดังนี้
“คําๆ นี้เริ่มปรากฏให้เห็นช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เพื่ออธิบายสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศโซมาเลีย หลังจากการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจ ไซอัด บาร์รี (Siad Barre) ที่เป็นผู้นำเผด็จการใน ค.ศ.1991
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ
ในช่วงต้น ค.ศ.2020 ซีเรีย ซูดาน ซูดานใต้ โซมาเลีย พม่า มาลี เยเมน ลิเบีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐแอฟริกากลาง อัฟกานิสถาน และเฮติ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่เป็นรัฐล้มเหลว
ขณะที่เลบานอนกับแอฟริกาใต้ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่สุ่มเสี่ยงเป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต
รัฐล้มเหลว (อังกฤษ : failed state) หมายถึง รัฐที่ขาดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ทางด้านความมั่นคงขั้นพื้นฐานและการพัฒนาประเทศ เช่น ความสามารถในการธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายใน ประกอบกับการบริหารปกครองประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐล้มเหลวมีลักษณะทั่วไป คือ รัฐที่มีรัฐบาลแต่ไม่สามารถจัดเก็บภาษี บังคับใช้กฎหมาย รับประกันความมั่นคง ควบคุมเขตแดน จัดสรรเจ้าหน้าที่ทั้งในทางการเมืองหรือทางแพ่ง และการบำรุงรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานใดๆ ได้ เมื่อปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นก็จะมีแนวโน้มที่ส่งผลให้เกิดการทุจริต การก่ออาชญากรรม การแทรกแซงของผู้มีอิทธิพลทั้งในภาครัฐและเอกชน เกิดการลี้ภัยอพยพย้ายถิ่นฐานโดยไม่สมัครใจ ความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว”
https://th.wikipedia.org/wiki/รัฐล้มเหลว
อ้างอิงตามนิยามนี้ฉันขอถามกลับไปว่า สภาพของประเทศไทยตอนนี้ใกล้เคียงกับคำว่า รัฐล้มเหลวที่ตรงไหนบ้าง?
ความสงบเรียบร้อยภายใน? ตอนนี้ก็ไม่มีเหตุจลาจล ยึดสนามบิน ปิดสนามบินใช่หรือไม่? เรายังคงเดินทางไปไหนต่อไหนได้ตามปกติใช่หรือไม่?
คำตอบคือ ใช่ ไฟฟ้าไม่ดับ สัญญาณอินเตอร์เน็ตทำงาน ไปทำเอกสารที่อำเภอได้ แถมปัญหาฝุ่นควันปีนี้ยังดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นแปลว่าการทำงานของภาครัฐและราชการยังดำเนินไปได้และในหลายๆ เรื่องไปได้ค่อนข้างดี
รัฐไทยจัดเก็บภาษีได้หรือไม่? ฉันเห็นเราบ่นกันมากไม่ใช่หรือว่า สรรพากรของประเทศไทยเก่งมาก เราแทบไม่มีทางหลบเลี่ยงภาษีได้เลย ขายของได้เท่าไหร่ ขายก๋วยเตี๋ยวได้วันละกี่ชาม สรรพากรรู้หมด
หากรัฐไทยเก็บภาษีเก่งขนาดนี้จะบอกว่ารัฐล้มเหลวได้หรือไม่? คำตอบคือ ไม่
ฉันไม่ได้ออกมายืนยันเรื่อง รัฐไม่ล้มเหลว เพราะอยากจะออกมาปกป้องรัฐบาล เพราะ “รัฐ” ไม่ใช่ “รัฐบาล”
รัฐคือ state รัฐบาลคือ government ครม. คือ cabinet เวลาพูดว่ารัฐล้มเหลว มันจึงไม่เท่ากับรัฐบาลล้มเหลว หรือคาบิเน็ตล้มเหลว
แต่ฉันละอายใจแทนครูบาอาจารย์ที่สอนรัฐศาสตร์ว่าจะไม่มีใครออกมาเอดูเขทสังคมเลยหรือว่า หากจะด่ารัฐบาลให้ด่าว่า รัฐบาลล้มเหลว ไม่ใช่ด่าว่า “รัฐล้มเหลว” หรืออย่างน้อยพูดให้รัดกุมว่ารัฐบาลล้มเหลวจนน่ากลัวว่าจะนำไปสู่รัฐล้มเหลว (ซึ่งก็ไม่สมเหตุสมผลอยู่ดีเพราะรัฐบาลที่มีอายุสองปีนี้ไม่ได้ไปประกาศสงครามหรือพิมพ์เงินมาแจกหรือทำอะไรประหลาดๆ เสียจนจะทำให้อยู่ๆ รัฐไทยก็ล้มเหลวขึ้นมาเสียอย่างนั้น)
ไม่เพียงเท่านั้น ฉันยังละอายใจแทนครูบาอาจารย์ นักวิชาการปัญญาชนที่ทำราวกับว่าสองปีของรัฐบาลเพื่อไทยคือสาเหตุของสารพัดปัญหาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคอร์รัปชั่น ไฟไต้ ตึก สตง.ถล่ม ระบบราชการเทอะทะ เศรษฐกิจย่ำแย่ ฯลฯ
ครูบาอาจารย์หลายคนเป็นนักประวัติศาสตร์ที่น่าจะรู้ดีกว่าใครว่าปัญหาของสังคมไทยโดยเฉพาะการเมืองนั้นซับซ้อนอย่างไรบ้าง และการใช้พรรคเพื่อไทยเป็น “แพะ” ในการด่ามันมักง่ายเกินมาตรฐานวิชาการที่ควรมีหรือไม่
และทั้งหมดนี้ฉันไม่เคยพูดสักครั้งว่า พรรคเพื่อไทยดีเลิศเลอปราศจากข้อบกพร่องหรือผิดพลาด
แต่สิ่งที่ฉันพยายามจะสื่อสารมาโดยตลอดคือพรรคเพื่อไทยเป็นเพียงเป้า “สะดวก” ของการประณาม และมันจะไม่นำพาสังคมเราไปสู่การเรียนรู้เพื่อจะสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นได้เลย
ฉันอยากจะให้เราลองไตร่ตรองดูดีๆ ว่าองคาพยพทางอำนาจในหน่วยทางสังคมการเมืองที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นรัฐไทยนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
ระบบราชการอันประกอบไปด้วยข้าราชการในกรมกองต่างๆ
ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็น law maker ประกอบไปด้วย ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง และ ส.ว.ที่มาโดยกรรมวิธีแสนประหลาดจากรัฐธรรมนูญปี 2560
ฝ่ายตุลาการ (ไม่ต้องอธิบาย)
ฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้ง
องค์กรอิสระเทคโนแครต เช่น สภาพัฒน์ และแบงก์ชาติ ที่ห้ามการเมืองแทรกแซง
รัฐวิสาหกิจ
องค์กรอิสระ เช่น กกต. ป.ป.ช. สตง. กกพ. ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
กองทัพ
ใน 7 องคพยพนี้มีองคาพยพที่ยึดโยงกับประชาชนเพียง 2 ใน 9 เท่านั้นคือ สภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายบริหาร ถามต่อไปว่าในทางทฤษฎีแล้ว ระบบราชการต้องตอบสนองนโยบายของฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลใช่หรือไม่?
คำตอบคือ “ใช่”
แต่มาดูโลกแห่งความเป็นจริงของประเทศไทยที่ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบบราชการไทย ถูกทำให้ใหญ่โต เทอะทะ ยุ่งเหยิง รวมศูนย์ มีอัตลักษณ์ของตัวเองชัดเจน และมีจิตวิญญาณอนุรักษนิยม กลัวความเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
ข้าราชการไทยกลัวว่าความเปลี่ยนแปลงจะทำให้ตัวเองตกงาน กลัวว่าความเปลี่ยนแปลงจะทำให้ตัวเองสูญเสียสวัสดิการ บำนาญ บำเหน็จ สิทธิการรักษาพยาบาล
คำว่าปฏิรูประบบราชการ การทำองค์กรให้เล็กลง คล่องตัวขึ้น ลดอำนาจดุลพินิจของราชการลง เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ราชการไม่ไว้ใจฝ่ายการเมือง
และในขณะที่คนไทยกลัวนักการเมืองคอร์รัปชั่น แต่ก็มักจะลืมเสมอว่าตำแหน่งทางการเมืองนั้นหมดตามวาระ แต่ตำแหน่งราชการนั้นอยู่จนเกษียณอายุ แถมยังต่ออายุราชการได้อีก
ทั้งนี้ ฉันยังไม่ได้พูดถึงระบบราชการที่ใหญ่โตขึ้นภายใต้รัฐบาลรัฐประหารที่มีจุดมั่งหมายชัดเจนว่าต้องการให้ระบบราชการคานอำนาจของฝ่ายการเมือง
ชัดเจนว่าถูกออกแบบมาเพื่อเป็นอุปสรรคไม่ให้ฝ่ายการเมืองทำงานได้ “สะดวกเกินไป”
เพราะหากฝ่ายการเมืองทำงานได้ดี เป็นที่นิยมของประชาชน
ฝ่ายการเมืองจะได้รับความชอบธรรมจากประชาชนให้มา “ปฏิรูประบบราชการ”
อันเป็นที่สิ่งราชการไม่ปราถนาให้เกิดอย่างยิ่ง
นอกจากระบบราชการอันใหญ่โตทรงอำนาจแล้ว
จะให้ฉันฉายหนังซ้ำๆ อีกกี่รอบว่าองค์กรอิสระไม่ยึดโยงกับประชาชนอย่างไร
แถมยังบั่นทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตยการเลือกตั้งอย่างไร
กรณีตึก สตง.ถล่ม และการใช้งบฯ ใช้เงินของผู้บริหาร สตง. เก้าอี้ตัวละเก้าหมื่นหรืออะไรต่างๆ ที่ปะทุออกมาเหมือนฝีแตก
เราควรด่าแพทองธาร ชินวัตร ด่าทักษิณ ชินวัตร หรือเราควรด่าใครกันแน่?? เพราะทักษิณคือคนที่ถูกรัฐประหารและถูกไล่ล่า แพทองธารเพิ่งมาเป็นนายกฯ ปีกว่า???
คำถามคือทำไมเราไปจิกทึ้งด่าทอราวกับแพทองธารเป็นคนสถาปนา สตง.ขึ้นมาในประเทศนี้????
และคร่ำครวญว่านี่แหละรัฐล้มเหลวเพราะนายกฯ ชื่ออุ๊งอิ๊ง จัดการอะไรไม่ได้สักเรื่อง? แต่ก่อนหน้านี้สิบปีเต็มภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับไม่มีใครเอื้อนเอ่ยเรื่องรัฐล้มเหลวแม้แต่น้อยทั้งๆ ที่นั่นคือต้นธารของอำนาจอันล้นเหลือขององค์กรอิสระด้วยซ้ำ ยังไม่นับว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ถูกระงับไปเกินไป 4 ปี มีทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และ ม.44
ระบบการเมืองของประเทศนี้ที่ถูกออกแบบไว้คือ มีประชาธิปไตย มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ภายใต้เงื่อนไขว่า รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งต้องไม่เป็นที่ “รัก” หรือเป็นที่นิยมมากเกินไป
มีระบบราชการที่เข้มแข็งกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
และแม้จะมีการปกครองท้องถิ่นก็ให้มันซ้ำซ้อนกับระบบราชการเดิมนั่นแหละ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวพวก “เลือกตั้ง” มันจะเหิมเกริมเกินไป
และท้ายที่สุดก็พยายามแปลงร่างการปกครองท้องถิ่นให้อยู่ในจิตวิญญาณและพิธีกรรมรัฐราชการเพื่อไม่ให้ท้องถิ่นกลายเป็นภัยคุกคามของระบบราชการรวมศูนย์ นายกฯ ไม่มีอำนาจโยกย้ายใครเพราะเสี่ยงจะโดนมาตรา 157
มีเทคโนแครตและแบงก์ชาติที่ “ถ่วง” รัฐบาลหากเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากฝ่ายที่ตนเองเชียร์
ผลก็คือ ต่อให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลพลเรือนนั้นก็ไม่มีทางเลือกอะไรมากระหว่างจะเอาหลังพิงระบบราชการหรือจะเอาหลังพิงกองทัพ?
เมื่อเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งรัฐบาลก็จะถูกด่าว่า ไม่ตอบสนองประชาชน แย่จริงๆ เนี่ยะ รัฐล้มเหลว
แต่ถ้ารัฐบาลเลือกจะเฟียซ เดินหน้าชนทุกสถาบันสถาปนา รัฐบาลนั้นก็จะสุ่มเสี่ยงที่จะโดนคดีจาก ป.ป.ช. จาก กกต. จากสตง. จากศาล รธน. หรือแม้แต่โดนรัฐประหาร และนั่นแปลว่า ประเทศก็จะวนลูปไปที่เดิมอีกครั้ง
แหม ก็รัฐบาลเพื่อไทยมันขี้ขลาดไงเล่า มันข้ามขั้วไปอยู่กับเขามันก็ต้องสมยอมเขา แล้วเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย
คําถามของฉันคือ แล้วพรรคส้มมีความกล้าหาญกว่าพรรคเพื่อไทยตรงไหนเหรอ?
เพราะในทุกการถูกกระทำไม่ว่าจะเป็นการเพิกถอนสิทธิ์ ตัดสิทธิ์ ยุบพรรค สั่งให้ถอดนโยบายสำคัญออก ในทุกๆ คำสั่งที่โดน ฉันก็ไม่เห็นว่ามวลมหาประชาชนพรรคส้มจะออกมา “ต่อสู้” อะไร
ไม่เห็นออกมาประท้วง ไม่เห็นออกมาอารยะขัดขืน ไม่เห็นจะดื้อแพ่งปฏิเสธอำนาจอันไม่ยุติธรรมใดๆ
ฉันก็เห็นพรรคส้มทำเหมือนที่พรรคเพื่อไทยทำนั่นแหละคือก้มหน้าก้มตายอมรับโดยดุษฎีไม่มีบิดพลิ้ว
ไอ้ที่เย้วๆ บนเวทีว่า “ไม่ให้แก้ก็ไปยกเลิกด้วยกัน” ก็ไม่เห็นจะทำตามที่พูดเอาไว้
แต่พรรคส้มไม่เคยยอมรับว่าตนเองก็ไม่ได้มีความกล้าหาญมากกว่าพรรคเพื่อไทย
และทำเหมือนที่พรรคเพื่อไทยทำนั่นคือพยายามสู้ในระบบและกติกาแม้จะรู้ว่ากติกาไม่เป็นธรรม
ความขี้คุยของพรรคส้มคือไปทำให้สังคมเชื่อว่าหากส้มได้เป็นรัฐบาล ส้มจะยกเลิกเกณฑ์ทหารทันที ส้มจะขึ้นค่าแรงทันที ส้มจะกระจายอำนาจทันที ส้มจะแจกเงินคนแก่สามพันทันที ส้มจะปฏิรูประบบราชการทันที ส้มจะเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ทันที ส้มจะทำน้ำประปาดื่มได้ทันที ส้มจะปราบคอร์รัปชั่นได้ทันที จะแก้รัฐธรรมนูญทันที ฯลฯ
กลับไปที่องคาพยพทางอำนาจอันประกอบขึ้นเป็นรัฐไทยที่ฉันเขียนไว้ข้างต้น
คำถามของฉันคือส้มจะใช้เครื่องมืออะไรไปขุดรากถอนโคนองคาพยพที่เป็นอิสระและมีอำนาจเหนือและเป็นเอกเทศจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
เพราะแค่จะ “ต่อรอง” ให้ตัวเองที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งได้เป็นรัฐบาลส้มยังล้มเหลวเลย!
เรียกว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนชุดลงไปสู้
เราแพ้เพราะเพื่อไทยมันตระบัดสัตย์ ส้มจะแผ่นเสียงตกร่องด้วยประโยคนี้เสมอ
ซึ่งฉันก็จะแผ่นเสียงตกร่องกลับว่า เพื่อไทยไม่ได้มีอยู่เพื่อเป็นนั่งร้านให้ส้มได้เป็นรัฐบาล!
เมื่อต้องตั้งรัฐบาลแข่งกัน (และเพื่อไทยยกมือให้ส้มสองครั้งแล้ว) แม้แต่การเจรจาให้ได้เสียงสนับสนุนในสภา ส้มยังล้มเหลว แล้วเรื่องที่ยากกว่านั้น เช่น ปฏิรูปกองทัพ ส้มจะเอาปัญญาที่ไหนไปทำ????
เพราะการทำเรื่องยากๆ เหล่านี้ ใช่ว่ามีอำนาจเต็มมือแล้วจะทำได้ ประยุทธ์มี ม.44 ยังไม่สามารถเนรมิตอะไรได้อย่างใจเลย
ความล้มเหลวในการเจรจาตั้งรัฐบาลผสมจึงบอกเราไปในตัวว่า พรรคส้มนั้นอย่าว่าจะบริหารประเทศ ทำในเรื่องยากๆ ทำเรื่องที่ประชิดตัวอย่างเช่นการหาคนมายกมือในสภาให้ตัวเองเป็นนายกฯ ให้ได้ก่อน ถ้าแค่นี้ยังทำไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อหรอกว่าส้มจะแสวงหาความร่วมมือในการทะลวงเรื่องที่ยากกว่านี้ได้ เช่น แก้รัฐธรรมนูญ
เพราะดูทรงแล้วน่าจะเป็นรัฐบาลที่เที่ยวไปเอดูเขทคนอื่นจนไม่มีใครคบมากกว่า
ดังนั้น ภาวะคร่ำครวญของปัญญาชนเรื่องรัฐล้มเหลว มันเป็นเรื่องของส้มล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลมากกว่า และแม้จะผ่านไปสองปีส้มก็ยังทำใจไม่ได้
แต่ข้ามขั้วไปเป็นรัฐบาลแบบพรรคเพื่อไทยแล้วทำอะไรไม่ได้สักอย่างจะเข้าไปเป็นทำไม?
ฉันมีคำตอบให้
มันถูกต้องที่ว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถไปทลายโครงสร้างใดๆได้ และพรรคเพื่อไทยก็ยังยืนอยู่บนเส้นด้าย สุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญชะตากรรมอย่างที่เผชิญมาตลอดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
แต่การเข้าไปเปลี่ยนสมการในพรรคร่วมรัฐบาลจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ มาเป็นพรรคเพื่อไทยนี้ หากพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลประคองประเทศให้อยู่กับรัฐบาลพลเรือนให้ได้ 4 ปี เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2549!
ฉันถามหน่อยว่านี่ไม่ใช่หมุดหมายอันสำคัญของการเมืองไทยร่วมสมัยหรือ??
เราอาจจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แต่มีบางอย่างเกิดขึ้น
การแก้ปัญหาคนไร้รัฐครั้งใหญ่ผ่านการให้สัญชาติคนไร้สัญชาติ การเริ่มต้นมีบอร์ดเอไอ สมรสเท่าเทียม ปลดล็อก พ.ร.บ.สุราชุมชน พ.ร.บ. ease of doing business แจกเงินหมื่นกับคนกลุ่มเปราะบาง ปรับเงื่อนไขการเกณฑ์ทหารให้ประจำการบ้านเกิด สร้างแรงจูงใจให้คนอยากสมัครเป็นทหารมากขึ้นเพื่อลดการบังคับเกณฑ์ หวยเกษียณที่จะสร้างหลักประกันให้คนไทยที่อยู่นอกระบบสวัสดิการ และให้คนไทยออมเงินได้ตั้งแต่เด็กโดยมีรัฐคอยสมทบให้
เรื่องยากๆ ที่รัฐบาลนี้อยากทำคือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ แต่ก็ช่วยไม่ได้ถ้าคนส่วนใหญ่ค้าน สำหรับฉันสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
แต่เรื่องใหญ่ที่สุดคือหากรัฐบาลพลเรือนนี้อยู่ครบสี่ปี
มันคือหมุดหมายทางประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เพราะหากรัฐบาลนี้อยู่สี่ปี นั่นแปลว่ามีการเลือกตั้งท้องถิ่น คือ อบจ. เทศบาล ส.ก. และ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
นี่คือกระบวนการประชาธิปไตยในภาพใหญ่ที่การันตีว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสร้างด้วยมือของประชาชน ไม่ใช่เนรมิตด้วยอัจฉริยภาพของพรรคการเมือง “ก้าวหน้ากว่าใคร” ไม่ว่าพรรคนั้นจะชื่อพรรคอะไรก็ตาม
พรรคการเมืองในสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่เทวดา มันย่อมเป็นพรรคการเมืองที่ลุ่มๆ ดอนๆ นั่นแหละ แต่พรรคการเมืองจะค่อยๆ เก่งขึ้น ดีขึ้น จากการแข่งขันที่มากรอบขึ้นเรื่อยๆ ในวงจรการเลือกตั้ง
ดังนั้น คนสร้างชาติสร้างรัฐที่ไม่ล้มเหลวคือประชาชนและสิ่งนี้ไม่ได้สร้างขึ้นได้ในการเลือกตั้งหนึ่งครั้ง แต่เลือกตั้งกี่ครั้งพรรคที่เราเชียร์ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลสักครั้ง
เอาคำถามนี้ไปถามตัวเองว่า จะอดทนหรือจะเรียกหาอำนาจนอกการเลือกตั้ง
ได้คำตอบในใจแล้วตอบคำถามฉันทีว่าใครคือต้นเหตุของรัฐล้มเหลว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022