เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

จาก ‘นารีพิษ’ สู่ ‘นักรีดพิษผู้มีโลหิตเป็นเซรุ่ม’

15.05.2025

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

จาก ‘นารีพิษ’

สู่ ‘นักรีดพิษผู้มีโลหิตเป็นเซรุ่ม’

 

เคยได้ยินเรื่อง “นารีมีพิษ” หรือ “วิษกัญญา (Vishakanyas)” กันมั้ยครับ?

“วิษ” (visha) แปลว่า “พิษ” ส่วน “กัญญา” (kany?) แปลว่า “สาวน้อยสดใสวัยดรุณี” – และถ้าว่าตามตำนานแห่งแดนภารตะ “วิษกัญญา” ก็คือหญิงสาววัยแรกรุ่นผู้มีรูปโฉมงดงามที่ถูกเลี้ยงให้เติบโตด้วยอาหารสูตรพิเศษ เป็น “อาหารที่เติมด้วยพิษ” มาตั้งแต่เด็ก

ในคัมภีร์ สกันทะปุราณะ (Skanda Purana) เล่าว่า ในการสร้างวิษกัญญา ชาววังอินเดียโบราณจะเลือกหญิงสาวที่เกิดในขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาว จิตรา (Chitra) หรือเมื่อดวงจันทร์อยู่ในคืนที่สิบสี่ของปักษ์จันทรคติ จะมีชะตาถูกกำหนดให้กลายเป็น “วิษกัญญา”

พวกเขาเลี้ยงเธอด้วยอาหารที่เติมพิษเจือจางทีละน้อย ให้พิษค่อยๆ สะสมในร่างกายของเธอ จนเติบโตเป็นหญิงสาวแห่งพิษ แม้จะโดนพิษ แต่เธอจะไม่ตาย แต่ด้วยร่างกายที่เจือด้วยพิษสะสมมาตั้งแต่เด็ก เวลาอยากฆ่าใคร ก็ส่งเธอไปยั่วยวนและสังหาร คนที่พลาดไปจูบ หรือไปมีอะไรกับเธอ ก็จะต้องม้วยมรณังเพราะพิษบนตัวเธอ

วิษกัญญาถูกใช้เป็นอาวุธลับทางการเมืองเพื่ออำนาจ!

แต่ถ้าว่ากันตามหลักพิษวิทยา การโดนพิษเป็นเวลานานแบบนี้ กว่าที่พิษจะสะสมจนร่างกาย “มีพิษ” จริงๆ – “วิษกัญญา” ก็น่าจะตายจากตับพัง ไตวาย ไปเสียก่อนจะได้ออกปฏิบัติภารกิจเสียอีก

ทว่า นักวิชาการบางคนตีความว่า สาวพิษ “วิษกัญญา” อาจไม่ใช่หญิงสาวที่มีพิษอยู่บนร่าง หากแต่อาจหมายถึงหญิงสาวที่เป็นพาหะของโรค เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี ที่หากมีความสัมพันธ์กับใคร ก็อาจถ่ายทอดเชื้อไปได้ และเมื่ออาการกำเริบ ก็ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจนถึงตาย

มุมมองนี้น่าสนใจ เพราะในความเป็นจริง คำว่า virus ในภาษาละติน ก็มีความหมายว่า “พิษ” เช่นกัน

วิษกัญญา (นารีมีพิษ – ภาพจากเอไอ)

แนวคิดเรื่อง “กินพิษ-สะสมพิษ” ไม่ได้มีเฉพาะในอินเดียเท่านั้น

ในวรรณกรรมจีน แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ของกิมย้ง (Jin Yong) ตัวเอกอย่าง ต้วนอี้ (Duan Yu) กินสัตว์พิษอย่างตะขาบ งู แมงป่อง กิ้งกือ เข้าไปโดยบังเอิญ แต่แทนที่ร่างกายจะเป็นพิษ เขากลับต้านทานพิษได้

แม้จะเป็นนิยาย แต่มันแสดงให้เห็นชัดเจนว่า “พิษ” มีบทบาทในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ทั้งในจินตนาการและในโลกจริง

ในฝั่งโรมันก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ย้อนกลับไปราว 160 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์มิทริเดทีสที่หก (Mithridates VI Eupator Dionysius) แห่งราชอาณาจักรพอนทัส (Pontus) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ประเทศตุรกีปัจจุบัน เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสาธารณรัฐโรมันอย่างยืดเยื้อ พระบิดาของเขาเคยถูกวางยาพิษจนสิ้นพระชนม์ ทำให้เขากลัวพิษเป็นชีวิตจิตใจ

ไวน์ทุกถ้วย เนื้อทุกก้อน ล้วนเป็นภัย

เขาจึงเริ่มหาทางใช้พิษต้านพิษ ด้วยการค่อยๆ กินพิษเข้าไปเองทีละน้อยในอาหารประจำวัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย

เวลาผ่านไปหลายสิบปี มีคนลอบวางยาเขาหลายครั้ง แต่พิษเหล่านั้นกลับไร้ผล

ตำนานเล่าว่า เมื่อเขาพ่ายศึกใหญ่และต้องการปลิดชีพตัวเองเพราะไม่อยากตกเป็นเชลย เขากินพิษเข้าไปมากมาย แต่ไม่ตาย เพราะร่างกายเขาชินชาต่อพิษไปแล้ว

สุดท้ายจึงต้องให้ทหารสังหารเขาด้วยดาบแทน

กษัตริย์มิทริเดทีสมหาราช แห่งพอนตัส (ภาพจากวิกิพีเดีย)

แนวคิดของมิทริเดทีสในการ “ฝึกร่างกายให้ทนพิษ” ถูกเรียกว่า มิทริเดทิซึ่ม (Mithridatism) และในเวลาต่อมา ได้กลายเป็นแนวคิดพื้นฐานของศาสตร์การสร้างเซรุ่มต้านพิษ และแม้กระทั่งแนวทางการรักษาโรคภูมิแพ้บางชนิด

ถ้าจะพูดถึงใครสักคนที่ “ใช้พิษต้านพิษ” จริงๆ ในโลกยุคใหม่ ก็คงไม่มีใครเหมาะไปกว่า บิลล์ ฮาสต์ (Bill Haast)

เขาคือเจ้าพ่ออสรพิษแห่งสวนงูไมอามี (Miami Serpentarium) ในยุค 1960s ผู้ฉีดพิษงูเข้าร่างกายตัวเองเป็นกิจวัตรมานานหลายสิบปี

มือของเขากร้านเหมือนเปลือกไม้ เต็มไปด้วยรอยแผลจากเขี้ยวพิษ แต่เขาก็ยังแข็งแรงดี และไม่เคยกลัวงูเลย

บิลล์เคยกล่าวว่า “คนที่ทำงานกับพิษงูมีอยู่สองแบบ แบบที่เคารพมัน กับแบบที่ตายไปแล้ว”

เขาฉีดพิษจากงูหลายชนิด ทั้งงูหางกระดิ่ง งูเห่า งูทะเล งูสามเหลี่ยม แม้แต่แมมบ้าดำ และยังกล่าวว่า

“ไม่มีเซรุ่มตัวไหนจะสู้เลือดของคุณได้”

เพราะเลือดของบิลได้สะสมพิษงูไว้มากเสียจนมันไม่ใช่แค่เลือดธรรมดาอีกต่อไป

มันกลายเป็น “เซรุ่มต้านพิษเคลื่อนที่”

ในปี 1967 เขาถูกส่งตัวไปยังหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในป่าของเวเนซุเอลา เพื่อช่วยเด็กชายวัยห้าขวบที่โดนงูปะการังกัด และไม่มีเซรุ่มเฉพาะในพื้นที่ การบริจาคเลือดของบิลในครั้งนั้นช่วยชีวิตเด็กคนนั้นได้

นอกจากเหตุการณ์นั้น เลือดของบิลล์ยังได้ช่วยชีวิตเหยื่อของงูพิษได้อีกถึง 21 คน

บิลล์เชื่อว่าถ้าเราเข้าใจพิษดีพอ เราจะช่วยคนได้มากกว่านี้

สำหรับเขา พิษคือยาวิเศษ

เขาเชื่อว่าการที่เขาได้รับพิษงูอย่างต่อเนื่องเกือบทุกวันทำให้ร่างกายเขาแข็งแรง ไม่เจ็บ ไม่ไข้

“ผมไม่เคยป่วยจริงๆ เลยสักวัน ไม่เคยมีอาการไขข้ออักเสบ หรือเอ็นอักเสบแม้แต่ครั้งเดียว” เขากล่าว

“และถ้าผมอยู่ได้ถึง 100 ปี นั่นแหละคือบทพิสูจน์ บางทีผมอาจจะกลายเป็นนายแบบโฆษณาสรรพคุณของพิษงูก็ได้”

และบิลล์ก็อยู่ได้ถึง 100 ปีจริงๆ

เขาเสียชีวิตในปี 2011 ด้วยวัย 100 ปีพอดี

กษัตริย์มิทริเดทีสมหาราช แห่งพอนตัส (ภาพจากเอไอ)

แต่ตำนานของบิลล์ไม่ได้หยุดอยู่แค่เลือดของเขา หรือคนไม่กี่คนที่เขาช่วย

สวนงูแห่งไมอามีที่เขาสร้างขึ้น กลายเป็นโรงเรียนของนักรีดพิษรุ่นใหม่มากมาย

จอร์จ แวน ฮอร์น (George Van Horn) เคยเล่าว่าเขาแอบปีนรั้วเข้าไปดูงูของบิลล์ตอนอายุ 12 ปี โดนจับได้ โดนสวดไปชุดใหญ่ แต่ก็ยังหลงใหลงู และเมื่อเติบโตขึ้นก็กลับไปหาบิลล์อีกครั้ง บิลล์ก็เปิดโอกาสให้เขาทำงานในสวนงูแห่งนั้น

ต่อมา เขาได้ร่วมมือกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แจ็ก ฟาเซนต์ (Jack Facente) ร่วมกันก่อตั้ง “Reptile World Serpentarium” และห้องแล็บ “Biotoxins, Inc.” ในปี 1972 ก่อนที่แจ็กจะออกมาตั้ง “Agritoxins” ในราวปี 2010

รวมแล้ว ห้องแล็บผลิตพิษงูระดับประเทศในสหรัฐทั้งเจ็ดแห่ง มีห้าแห่งที่บริหารโดยลูกศิษย์ของบิลล์ และอีกแห่งเป็นของอดีตภรรยาเขา แนนซี่ ฮาสต์ (Nancy Haast)

พิษจากแล็บเหล่านี้ ถูกใช้ผลิตเซรุ่มต้านพิษจากงูหางกระดิ่ง งูปะการัง งูเห่า งูแมมบ้า และยังถูกส่งไปยังแล็บวิจัยมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อศึกษาตัวยาต้านมะเร็ง สารต้านการแข็งตัวของเลือด และยาระบบภูมิคุ้มกัน

นี่คืออุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นจากความไม่กลัวงู

และบิลล์…คือชายประหลาดผู้กล้าทำธุรกิจจากการรีดพิษงูมาขายจนเป็นล่ำเป็นสัน

งูปะการัง

เพราะแท้ที่จริงแล้ว

พิษ…ก็แค่โปรตีน

อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันฆ่า

หรือจะใช้มันรักษา

เรื่องนี้ยังไม่จบ…

ในยุคที่คนตายจากงูกัด มากกว่าคนที่ตายจากไวรัสอีโบลา

เรื่องราวของมหากาพย์แห่งการต้านพิษงู ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น!

งูปะการัง



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ