เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (66)

21.05.2025

บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

ปรีดี แปลก อดุล

: คุณธรรมน้ำมิตร (66)

 

การครอบงำของฝ่ายอนุรักษ์

ย้อนกลับไปเมื่อคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะรัฐประหารร่วมกับฝ่ายอนุรักษนิยมมีแผนจับกุม 3 คนสำคัญของรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย นายปรีดี พนมยงค์ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และหลวงสังวรยุทธกิจ แต่ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไปจับนายปรีดี พนมยงค์ ได้มีการใช้ปืนต่อสู้อากาศยานซึ่งเป็นอาวุธหนักยิงใส่ทำเนียบท่าช้างที่มีเพียงท่านผู้หญิงและลูกๆ เนื่องจากนายปรีดี พนมยงค์ หลบหนีไปได้อย่างหวุดหวิด

น่าสังเกตว่า คืนวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่คณะรัฐประหารปฏิบัติการอย่างรุนแรงนี้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังไม่ได้เข้าร่วมคณะรัฐประหารแต่อย่างใด กลุ่มผู้ก่อการจึงประกอบด้วยคณะทหารและฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีความขัดแย้งรุนแรงกับนายปรีดี พนมยงค์ อย่างยาวนานอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและยิ่งรุนแรงหนักขึ้นไปอีกหลังการเสด็จสวรรคต ร.8 เมื่อ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489

เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้รับเชิญเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารในวันรุ่งขึ้น 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ท่าทีของคณะรัฐประหารกลับอ่อนลงอย่างทันทีทันใด

จอมพล ป.พิบูลสงคราม แถลงต่อนักข่าวเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารว่าจะไม่จับใคร และยังได้ออกประกาศห้ามให้ร้ายรัฐบาลชุดเก่าและเสรีไทยด้วย

พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ แถลงเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ว่าไม่ได้คิดติดตามผู้ที่หลบหนี และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็แถลงเพิ่มเติมว่า หลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือได้เข้าพบและรายงานว่า นายปรีดี พนมยงค์ อยู่ที่กองทัพเรือ ซึ่งได้ตอบว่าไม่ต้องมารายงานตัว ให้พักผ่อนตามสบาย

นอกจากนี้ แถลงการณ์ของคณะรัฐประหารฉบับที่ 11 ก็อ้างว่า คณะทหารเองก็ถือว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของเสรีไทย

มีคำอธิบายว่า ท่าทีของคณะรัฐประหารที่แสดงออกต่อประชาชนเช่นนี้สืบเนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าล้วนแต่ได้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันในนามคณะราษฎรทั้งสิ้น นอกจากนั้น ผลงานของเสรีไทยก็ยังอยู่ในความนิยมชื่นชอบของประชาชนและประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสัญญาณจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่า นับแต่นี้ไป การดำเนินการใดๆ ของคณะรัฐประหารจะไม่เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายอนุรักษนิยมเสียทั้งหมด

 

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งยังคงมีความผูกพันลึกๆ อยู่กับคณะราษฎรและยังคงไม่ไว้วางใจฝ่ายอนุรักษนิยม เหมือนที่เคยกล่าวต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2483 ว่า “ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก แย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้”

แต่แทบจะทันทีทันใดก็เกิดการโต้กลับจากฝ่ายอนุรักษนิยมเมื่อนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญของคณะรัฐประหารซึ่งไม่มีทางเลือกมากนักเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ส่งผลให้ฝ่ายอนุรักษนิยมได้เข้ามีบทบาทนำในคณะรัฐประหารทันที คณะรัฐประหารเองก็แถลงชัดเจนว่าได้มอบอำนาจการบริหารประเทศทั้งสิ้นให้กับรัฐบาลแล้ว

5 วันต่อมา วันที่ 15 พฤศจิกายน หลวงกาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การวางแผนและการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกกันว่าฉบับ “ตุ่มแดง” แถลงว่าได้ค้นพบ “แผนการมหาชนรัฐ” ซึ่งหมายถึงกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ รวมทั้งแผนการสังหารบุคคลสำคัญ ทำให้คณะรัฐประหารจำเป็นต้องชิงยึดอำนาจเสียก่อน แม้นายควง อภัยวงศ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะแถลงว่าเป็นข่าวเหลวไหล แต่ในทางปฏิบัติกลับมอบอำนาจให้คณะรัฐประหารกวาดล้างจับกุมผู้ต้องสงสัยจากข่าวนี้ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อเรื่องขึ้นสู่ศาลก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง

นอกจากนั้น ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่สิงคโปร์ โดยได้รับความคุ้มครองจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษซึ่งยังไม่กำหนดนโยบายต่อฝรั่งเศสในอินโดจีนอย่างชัดเจน รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้ติดต่อผ่านช่องทางการทูตขอให้อังกฤษส่งตัวปรีดี พนมยงค์ และพวก ให้แก่รัฐบาลไทยในข้อหาฉกรรจ์ว่ามีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคตของ ร.8 แต่อังกฤษมิได้ดำเนินการใดๆ

 

หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี พ.ศ.2491 พรรคประชาธิปัตย์กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง นายควง อภัยวงศ์ ฝ่ายอนุรักษนิยมอาศัยความช่ำชองทางการเมืองและความได้เปรียบตามรัฐธรรมนูญกดดันและลิดรอนอำนาจของฝ่ายทหารจนแตกหักด้วยการที่คณะรัฐประหาร “จี้” ให้นายควง อภัยวงศ์ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2491

แต่การต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งยังอาศัยชั้นเชิงทางการเมืองและความได้เปรียบจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ยังไม่จบสิ้น

ฝ่ายอนุรักษนิยมยังไม่ลืมและไม่มีวันลืมเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

และยิ่งไม่ลืมศาลพิเศษ พ.ศ.2482 รวมทั้งการเสด็จสวรรคตของ ร.8 เมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ.2489 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่คนสำคัญ 2 คน จอมพล ป.พิบูลสงคราม และนายปรีดี พนมยงค์

ท่ามกลางความโดดเดี่ยว จอมพล ป.พิบูลสงคราม นึกถึงสหายรักที่เร่ร่อนลี้ภัยอยู่ต่างแดน

 

กลับมาเถิดปรีดี

ท่ามกลางความขัดแย้งหลายด้านที่รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องเผชิญ โดยเฉพาะการตกเป็นรองด้านการเมืองจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ที่ร่างโดยฝ่ายอนุรักษนิยม จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เลือกที่จะเปิดไมตรีกับนายปรีดี พนมยงค์ อดีตสหายเก่าเมื่อครั้งปฏิวัติ 2475 เพื่อร่วมมือในการต่อต้านการขยายอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม

แต่นายปรีดี พนมยงค์ กำลังพบความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากสหรัฐอเมริกาที่กำลังเข้ามีอิทธิพลในไทยซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีที่กำลังขัดแย้งกับฝ่ายอนุรักษนิยม

นับตั้งแต่รอนแรมผ่านน่านน้ำไทยสู่ดินแดนสิงคโปร์ของอังกฤษเมื่อต้นปี พ.ศ.2491 นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการดูแลจากสหรัฐและอังกฤษอย่างดียิ่ง

จนกระทั่งปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2491 จึงเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกงแล้วพบความเปลี่ยนแปลงของมหามิตรสหรัฐอเมริกาเมื่อถูกระงับขีดฆ่าวีซ่าเดินทางผ่านสหรัฐอเมริกาไปเม็กซิโก

จากนี้ไป สหรัฐอเมริกา “พญาอินทรี” จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญยิ่งทางการเมืองของไทยมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ทั้งต่อฝ่ายอนุรักษนิยม คณะรัฐประหาร และนายปรีดี พนมยงค์

 

พญาอินทรี

“ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของณัฐพล ใจจริง บันทึกว่า ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2492 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แถลงข้อความผ่านวิทยุที่สื่อถึงกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ว่าคือสมาชิกเริ่มแรกของคณะราษฎรและเป็นเพื่อนของตน

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องการให้นายปรีดี พนมยงค์ กลับมาร่วมงานกับรัฐบาลของตนเพื่อให้การเมืองมีความเป็นเอกภาพ ในขณะที่คณะรัฐประหารไม่สามารถควบคุมกลไกทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญได้เนื่องจากกลุ่มอนุรักษนิยมควบคุมกลไกเหล่านั้นไว้แล้วและกำลังออกแบบระบอบการเมืองที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มอนุรักษนิยมให้ได้เปรียบทางการเมืองอย่างถาวรเหนือกลุ่มต่างๆ ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

แต่กลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ไม่ไว้วางใจและปฏิเสธแนวทางนี้ โดยยังคงแนวทางท้าทายอำนาจรัฐของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 กระทรวงต่างประเทศสหรัฐรายงานว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางกลับเข้าไทยเป็นครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2490 เพื่อทวงอำนาจคืนจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “กบฏวังหลวง” หรือ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์”

ไม่กี่วันหลังจากนั้น เมื่อรัฐบาลล่วงรู้ความเคลื่อนไหวที่จะต่อต้านรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ และพวก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ออกแถลงการณ์ทางวิทยุเพื่อเตือนขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลและมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงขออนุมัติจากกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการ เพื่อประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่พระองค์ไม่เห็นด้วยเพราะการประกาศภาวะฉุกเฉินจะมีผลทำให้รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่อาจส่งผลต่อฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ในที่สุดรัฐบาลสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้สำเร็จและนำไปสู่การจับกุมกลุ่มก่อการของนายปรีดี พนมยงค์ บางส่วน

นายปรีดี พนมยงค์ ยังคงเดินหน้าแผนการรัฐประหารต่อไปด้วยการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลก๊กมินตั๋งซึ่งมีบันทึกด้วยว่ารองนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวเป็นนัยว่ายินดีหากมีโอกาสดำเนินการให้เกิดการโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม

นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มชาวอเมริกันอดีตโอเอสเอสที่เคยร่วมงานกับเสรีไทยก็ไม่พอใจที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมามีอำนาจเช่นกัน

ขณะที่ในระดับนโยบายนั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกานอกจากจะไม่ให้การสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม แล้วยังต้องการสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกด้วยเพื่อร่วมกันต่อต้านคอมมิวนิสต์



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

เมื่อ AI รับตำแหน่ง CEO!
ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา จากแว่นของสหรัฐอเมริกาและจีน
เจาะโครงการ ‘น้ำ-คมนาคม’ ของบประมาณ 1.57 แสนล้าน เร่งปั๊ม ศก.-รักษาฐานเสียง รบ.
ชายแดนใต้ ‘เทศกาลอีดิ้ลอัฎฮา’ ระเบิด เชือดสัตว์พลีทาน และฟุตบอล
ลูกหลานเราจะเติบโตอย่างไร ถ้าเราดูแลครูของเราไม่ดี
MatiTalk ‘เสธ.หิ’ หิมาลัย ผิวพรรณ เปิดใจจุดพลิกผันในชีวิต จากทหารสู่เวทีการเมือง มองอนาคตพรรค ‘รทสช.’
‘ถกเขมรเถียงสยาม’ บทสนทนาสร้าง ‘สติ-ปัญญา’ ในภาวะขัดแย้ง ‘ไทย-กัมพูชา’
‘ครู นักเรียน และ AI’ แค่ไหนเรียกว่าโกง
ดาวกับดวง วันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2568 โดยพิมพ์พรร
“พีระพันธุ์” เรียกประชุมด่วน หลังอิหร่านเตรียมปิดช่องแคบฮอร์มุซเตรียมมาตรการรองรับทั้งด้านราคาและปริมาณสำรองหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น
พล.ท.ภราดร ชี้ครบ93ปีประชาธิปไตยไทย เดินสายพูดคุยปชช. พบสาเหตุที่ ปชต.อ่อนแอ
อดีต รมว.คลังชี้ช่วงนี้​ จะให้ศก.​เติบโต​สูงขึ้น ต้องปรับค่าเงินบาทลดลง​ ให้แข่งขันได้​ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐบาล​ ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นๆลงๆ​ ตามนักเก็งกำไร