
ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าอเมริกันทำไม? 2) ความคลี่คลายขยายตัวของดอลลาร์ครองโลก

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าอเมริกันทำไม?
2) ความคลี่คลายขยายตัวของดอลลาร์ครองโลก
สัปดาห์ก่อน ผมได้ประมวลเรียบเรียงลักษณะเด่น 6 ประการของภาวะดอลลาร์สหรัฐครองโลกอันเป็นมูลเหตุเชิงโครงสร้างของภาษีทรัมป์มาแล้ว (ดูตารางด้านบน)
ในตอนนี้ ผมใคร่ขออธิบายการคลี่คลายขยายตัวจนดอลลาร์สหรัฐผงาดขึ้นครองโลกตามลำดับในประวัติศาสตร์นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาดังนี้ (จากข้อมูล ChatGPT@17April2025)
ดอลลาร์ผงาดขึ้นครองโลก
@1914-1944 : ฉากนำ
– 1914 : สงครามโลกครั้งที่หนึ่งบั่นทอนเหล่าประเทศมหาอำนาจยุโรปให้อ่อนเปลี้ยลง สหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นประเทศเจ้าหนี้สุทธิ
– 1920s-1930s : มาตรฐานทองคำที่ใช้กำหนดค่าเงินตราสกุลต่างๆ เริ่มสึกกร่อนลง ขณะเงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐ (US$) ได้แต้มเพิ่มขึ้นพร้อมกับที่เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต
– 1934 : สหรัฐลดค่า US$ อย่างเป็นทางการและห้ามเอกชนถือครองทองคำ US$ ยังคงผูกค่าติดกับทองคำแต่ที่อัตราใหม่
– ปลาย 1930s : สหรัฐกลายเป็นโรงกำเนิดพลังเศรษฐกิจหลักของโลกแทนที่บริเตน
@1944 : ข้อตกลงเบรตตัน วูดส์
– ที่ประชุมเบรตตัน วูดส์ (ณ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา) : ชาติพันธมิตร 44 ประเทศตกลงกันเรื่องระเบียบการเงินใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
– US$ กลายเป็นเงินตราสกุลหยั่งยึดของโลก โดยตรึงค่ากับทองคำที่ 35US$ ต่อทองคำหนึ่งออนซ์
– เงินตราสกุลอื่นๆ ตรึงค่ากับ US$
– กำเนิดสถาบันโลกาภิบาลทางเศรษฐกิจ อาทิ IMF และธนาคารโลก
– การที่ US$ ปริวรรตเป็นทองคำได้ ทำให้ US$ เป็นที่เชื่อถือไว้ใจและมีฐานะครอบงำในแวดวงการค้าและเงินตราสำรองของนานาชาติ

แผนภูมิเปรียบเทียบฐานะบทบาทปัจจุบันของเงินตราสกุล US$ กับเงินตราสกุลยูโร, ปอนด์, เยน, หยวน และอื่นๆ ในด้านเงินตราต่างประเทศสำรองของนานาชาติ, หนี้สินระหว่างประเทศ, การปล่อยกู้ระหว่างประเทศ, ใบกำกับสินค้า, การชำระเงินระหว่างประเทศ และธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างชาติ ดูข้อมูลและข้อแม้ประกอบจาก Sam Boocker and David Wessel, “The changing role of the US dollar”, Brookings, 23 August 2024
@1950s-1960s : สหรัฐครองฐานะเศรษฐกิจสูงสุดไร้เทียมทาน
– หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐมี GDP เกือบกึ่งหนึ่งของทั้งโลก
– แผนการมาร์แชล (ริเริ่มโดยสหรัฐในปี 1948 เพื่อช่วยเหลือยุโรปตะวันตกและยุโรปใต้ทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) แพร่กระจาย US$ ไปทั่วยุโรป
– US$ กลายเป็นเงินตราสกุลที่นิยมใช้ในการค้า การเงินและเงินตราสำรองของโลก
– ตลาดยูโรดอลลาร์ (เงินฝากนอกฝั่งในสกุล US$) ปรากฏขึ้นซึ่งยิ่งทำให้ US$ แผ่ขยายกว้างไกลออกไป
@1971 : ประธานาธิบดีนิกสันช็อกระบบการเงินโลก
– ประธานาธิบดีนิกสันแห่งสหรัฐประกาศยุติการปริวรรต US$ เป็นทองคำ (เรียกกันว่า “นิกสันช็อก”) เนื่องจากเงินเฟ้อในสหรัฐและทองคำไหลออก
– เป็นอันว่าระบบเบรตตัน วูดส์ พังทลายลง
– ถึงปี 1973 เงินตราสกุลต่างๆ ทั่วโลกก็มีค่าลอยตัวเสรี ไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่อีกต่อไป
– ทั้งที่ระบบเบรตตัน วูดส์ พังครืนลงแล้ว แต่กระนั้น US$ ก็ยังคงมีฐานะบทบาทใจกลางในเศรษฐกิจโลกเนื่องจากอำนาจทางการเงินของสหรัฐเอง และการที่สหรัฐมีตลาดทุนที่หยั่งรากลึก
@1970s-1980s : ยุคเปโตรดอลลาร์
– โอเปค (องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก) กับสหรัฐตกลงกันที่จะกำหนดราคาและขายน้ำมันใน US$
– ความข้อนี้ช่วยเสริมสร้างอุปสงค์ต่อ US$ และพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐทั่วโลก
– ระบบเวียนใช้เปโตรดอลลาร์ช่วยออกเงินทุนอุดหนุนให้แก่ภาวะขาดดุลของสหรัฐอีกทั้งทำให้ธุรกิจการเงินวอลล์สตรีตเฟื่องฟูขึ้น
– ธนาคารกลางสหรัฐภายใต้ประธานพอล โวลเกอร์ (1979-1987) ปราบเงินเฟ้ออยู่หมัด ตอกย้ำความน่าเชื่อถือไว้ใจได้ของ US$
@1990s : โลกาภิวัตน์ที่มีดอลลาร์เป็นศูนย์กลาง
– การล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำให้สหรัฐคงเหลือเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก
– สหรัฐเป็นผู้นำการวางผังออกแบบการเงินโลกตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ กล่าวคือ เปิดกว้างตลาดการเงิน, ลดละเลิกระเบียบกฎเกณฑ์กำกับบังคับทั้งหลาย
– ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายพากันกู้หนี้ยืมสินพอกพูนในรูป US$
– ภาวะเฟื่องฟูทางเทคโนโลยีกับตลาดหุ้นกู้และพันธบัตรในสหรัฐดึงดูดเงินลงทุนจากทั่วโลก
@2000s : ดอลลาร์แข็งแกร่งกับวิกฤตต่างๆ นานา
– 2001-2008 : US$ ฝ่าฟันผ่านพ้นวิกฤตใหญ่ต่างๆ มาได้ (วินาศกรรม 9/11, สงครามอิรัก, วิกฤตการเงิน)
– 2008 วิกฤตซับไพรม์ : ภาวะ US$ ขาดแคลนทั่วโลกเผยให้เห็นสภาพที่โลกพึ่งพาอาศัย US$
– ธนาคารกลางสหรัฐจัดหาสภาพคล่อง US$ มาสนองให้โดยผ่านการสว็อปไลน์ (ข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราต่างสกุล) กับธนาคารชาติอื่นๆ
– พันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐถูกถือว่าเป็นสินทรัพย์ “แหล่งพักพิงที่ปลอดภัย”
@2010s-2020s : เผชิญการท้าทายและความยืดหยุ่นคงทน
– จีนผงาดขึ้นและผลักดันให้ใช้เงินตราสกุลหยวนในระหว่างประเทศ
– ประเทศต่างๆ อย่างรัสเซีย, อิหร่านและเวเนซุเอลาพยายามละเลิกการใช้ US$
– เงินตราดิจิทัลสกุลต่างๆ และเงินตราดิจิทัลของธนาคารกลางต่างๆ ปรากฏขึ้นมาในฐานะที่อาจเป็นตัวพลิก ป่วนให้ US$ เสียกระบวน
– แต่กระนั้นก็ตาม US$ ยังคงครองฐานะครอบงำไว้ได้อยู่
– เงินทุนสำรองของโลก 60% อยู่ในสกุล US$
– ธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในโลก 88% เกี่ยวข้องกับ US$
– US$ ยังคงเป็นเงินตราสกุลที่ใช้สูงสุดยอดในใบกำกับสินค้า
อาจสรุปได้ว่าแม้จนทุกวันนี้ฐานะบทบาทของ US$ ในเศรษฐกิจโลกก็ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ดังแผนภูมิด้านล่าง จนพาลเป็นเหตุให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังแก่สหรัฐและนำมาสู่มาตรการปกป้องการค้าอย่างภาษีทรัมป์ในที่สุด :
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022