เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

Street Art ในกระแส Gentrification : ระหว่างการต่อต้านและสมยอม (1)

15.05.2025

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Street Art ในกระแส Gentrification

: ระหว่างการต่อต้านและสมยอม (1)

 

ภาพ Street Art หลากหลายรูปแบบบนผนังอาคารเก่า คือ ลักษณะทางกายภาพอันโดดเด่นอย่างหนึ่งที่เราเริ่มเห็นได้บ่อยมากขึ้นในย่านเมืองเก่าหลายแห่งทั่วโลก

ปรากฏการณ์นี้เริ่มต้นราวปลายทศวรรษ 1980 ในหลายเมืองทั้งในยุโรปและอเมริกา ไล่มาตั้งแต่ บรู๊คลิน, แมนฮัตตัน, ลอนดอน, เบอร์ลิน, ปารีส, อัมสเตอร์ดัม ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงเอเชีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลังทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็น ปีนัง, สิงคโปร์, จาการ์ตา, โฮจิมินห์, ฮอยอัน, มะนิลา และหลายเมืองในประเทศไทย

ย่านเมืองเก่าในกรุงเทพฯ, สงขลา, เชียงใหม่, อุบลราชธานี, ภูเก็ต, โคราช, หาดใหญ่, ขอนแก่น ฯลฯ เราจะพบเห็น Street Art ปรากฏมากขึ้นบนฝาผนังอาคารเก่าในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และยังทยอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ณ ปัจจุบัน

ในคำอธิบายกระแสหลักและความเข้าใจทั่วไป Street Art ในย่านเมืองเก่า คือ การใช้ศิลปะเพื่อฟื้นชีวิตให้กับย่าน รื้อฟื้นอัตลักษณ์ของพื้นที่ผ่านภาพวาดที่ย้อนกลับไปหารากเหง้าทางวัฒนธรรมของผู้คน ตลอดจนเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับชุมชนผ่านงานศิลปะ

การทำเช่นนี้เป็นทั้งการสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของย่านที่อาจสูญหายหรือหลงลืมไปให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง อย่างน้อยก็มาปรากฏบนผืนผนังอาคารเก่า ซึ่งอาจนำไปสู่การเห็นคุณค่าของคนรุ่นใหม่ในชุมชนนั้นๆ จนอยากจะสืบทอดสิ่งดีงามเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

ขณะเดียวกัน Street Art ก็นำพาโอกาสทางเศรษฐกิจมาให้กับชุมชน ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ทั้งเข้ามาทำความรู้จักเรียนรู้อดีตของย่าน พร้อมๆ ไปกับการจับจ่ายใช้สอย ทำให้คนในชุมชนสามารถหารายได้เพิ่มมากขึ้นจากมรดกวัฒนธรรมที่ตนเองมี

ภาพ Street Art ในย่าน Wynwood ในเมือง Miami
ที่มา : Wikimedia Commons

แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นอาจมิได้สวยงามขนาดนั้น เพราะ Street Art ในหลายกรณีในหลายย่านเก่าของเมืองทั่วโลก ตัวมันได้กลายเป็นเครื่องมือของ Gentrification ในการเปลี่ยนพื้นที่ให้มีราคาแพงมากขึ้น

แพงทั้งราคาที่อยู่อาศัย ค่าเช่า และค่าครองชีพ จนถึงระดับรุนแรงส่งผลให้คนดั้งเดิมที่มีรายได้น้อยถูกผลักออกไป และคนชั้นกลางระดับสูงเข้ามาอยู่อาศัยและหาประโยชน์แทน

ย่าน Wynwood เมือง Miami เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ย่านนี้ในช่วงทศวรรษ 1950 คือพื้นที่พักอาศัยของชนชั้นแรงงานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้า เคยเป็นย่านอยู่อาศัยของผู้อพยพชาวคิวบาและเปอร์โตริโก

จนเข้าสู่ทศวรรษ 1980 ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจใหม่หลายประการ ธุรกิจต่างๆ เริ่มทยอยย้ายออกจากพื้นที่จนทำให้ย่านเริ่มถูกทิ้งร้าง กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโกดังเก่าที่ทรุดโทรม เป็นแหล่งมั่วสุมและอันตราย

จนราวทศวรรษ 2000 ย่าน Wynwood ได้ถูกเปลี่ยนกลายเป็นย่านศิลปะ โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญจากคุณ Tony Goldman นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่คิดโปรเจ็กต์ Wynwood Walls ขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกำแพงของโกดังสินค้าทิ้งร้างให้กลายเป็นผืนผ้าใบของศิลปิน Street Art จากทั่วโลก

และนับจากนั้นมา Wynwood ก็เกิด แกลเลอรี ร้านอาหาร บาร์ และอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง จนเปลี่ยนตัวเองจากย่านเสื่อมโทรม กลายเป็นย่านศิลปะและท่องเที่ยวระดับโลก

อย่างไรก็ตาม Wynwood ในเวลาต่อมาก็เผชิญกับความท้าทายใหญ่อีกครั้ง เมื่อความนิยมของย่านนี้เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้มูลค่าที่ดินพุ่งสูงตามไปด้วย กระทบกับความสามารถในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของคนที่เคยอยู่อาศัยในย่านมายาวนาน และสุดท้ายพวกเขาต้องถูกผลักไสออกไปจากพื้นที่

(ดูเพิ่มใน Oner, A. C., Grant, R. J., & Li, H. (2023). Global arts world and the worlding of Wynwood, Miami, Florida. International Journal of Cultural Policy, 30(4), 447-467.)

โครงเรื่องลักษณะนี้ ที่เริ่มต้นจากย่านเสื่อมโทรม ถูกพัฒนาเป็นย่านศิลปะผ่านทักษะของศิลปิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปิน Street Art จนทำให้ลักษณะทางกายภาพของย่านดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้นในตอนต้น แต่สุดท้ายนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมของปรากฏการณ์ Gentrification มิใช่เกิดแค่เฉพาะ Wynwood นะครับ หลายเมืองทั่วโลกต่างประสบปัญหาในรูปแบบนี้

ภาพ Street Art ชื่อ Little Children on a Bicycle ในย่าน George Town เมือง Penang
ที่มา : Wikimedia Commons

ย่าน George Town เมือง Penang เป็นอีกตัวอย่างที่ประสบปัญหาในแบบเดียวกัน เริ่มต้นจากความตั้งใจในการฟื้นฟูเมืองเก่าให้มีชีวิตชีวาผ่านงานศิลปะ

แต่จบลงด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของย่านเพื่อคนชั้นกลางระดับบนและนายทุน

George Town เป็นย่านประวัติศาสตร์และเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลผสมจีน โดยหากย้อนกลับไปราว 30-40 ปี ย่านนี้จะเงียบเหงาและถูกละเลยทางเศรษฐกิจ

แต่ภายหลังการได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2008 ที่ตามมาด้วยนโยบายฟื้นฟูเมืองโดยรัฐบาลท้องถิ่นในปี 2012 ซึ่งได้ทำการเชิญศิลปินต่างชาติมาวาด Street Art ลงบนกำแพงอาคารต่างๆ ในย่านเมืองเก่า (ปัจจุบันมีงานศิลปะบนผนังต่างๆ มากกว่า 50 ชิ้น)

ที่โด่งดังมาก เช่นงาน “Little Children on a Bicycle” และ “Boy on a Motorcycle”

ภาพวาดเหล่านี้กลายเป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินสุดฮิต และเกิดเป็นกระแส “เดินเที่ยวตามหาศิลปะ” ไปทั่วเมือง ที่สุดท้ายสิ่งนี้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้เดินทางมาที่ George Town

ไม่นานหลังจากนั้น ร้านค้าเก่าแก่เริ่มถูกแทนที่ด้วย คาเฟ่, โฮสเทล, แกลเลอรี ที่รองรับไลฟ์สไตล์ฮิปๆ ชิกๆ ค่าเช่าและราคาที่ดินพุ่งสูง จนเจ้าของกิจการท้องถิ่นดั้งเดิมจำนวนมากต้องปิดกิจการหรือย้ายออก

สุดท้ายผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม เช่น ชาวจีนฮ่องกง, อินเดีย และมลายู เริ่มถูกเบียดขับออกจากพื้นที่ เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้อยู่อาศัยกับการสร้างสรรค์งานศิลปะเหล่านี้

(ดูเพิ่มใน Ying Qi Wu & Yue Cao (2021). Wall Art in George Town: The Effects of Aesthetic Gentrification in a Cultural Heritage Site. JATI-Journal of Southeast Asian Studies, Vol. 26(2) : 174-206.)

สิ่งที่เป็นตลกร้ายที่สุดของโครงเรื่องแบบนี้ก็คือ งาน Street Art (รวมถึงงาน Graffiti) ซึ่งกำเนิดของมันคือการเข้ายึดพื้นที่ถนน สะพาน ผนังอาคาร รวมไปถึงโครงสร้างเมืองรูปแบบต่างๆ มาใช้เป็นผืนผ้าใบสำหรับการแสดงออกทางสังคมและการเมือง เพื่อทำหน้าที่เป็นเสียงสะท้อนของผู้คนในเมือง โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบที่ถูกกดทับในสังคม

หรือพูดให้ชัดก็คือเป็นรูปแบบศิลปะของการขบถและการต่อต้านอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน แต่เมื่อเวลาผ่านไป งานศิลปะแนวนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือของการสมยอมให้แก่รัฐและทุน (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) เป็นเครื่องมือสร้างความเหลื่อมล้ำและกดทับเสียเอง

โดยสวมใส่หน้ากากแห่งมายาคติว่าด้วยการรื้อฟื้นชุมชนและส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมมาบังหน้า

ภาพ Street Art ชื่อ Universal Language ในเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย
ที่มา : สารคดี Alice Street

เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวไว้ก่อนว่า มีศิลปินไม่น้อยที่มิได้สยบยอมไปกับแนวทางนี้ทั้งหมด และยังคงสร้างสรรค์งาน Street Art ที่คงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของการขบถ ตั้งคำถาม และต่อต้าน Gentrification

สารคดีชื่อ Alice Street กำกับโดยคุณ Spencer Wilkinson (ออกฉายในปี 2020) ได้นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ของศิลปินและชุมชนในเมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ตัวสารคดีแสดงให้เห็นชัดว่า สำหรับศิลปินหลายคน Street Art เป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักรู้และการเคลื่อนไหวทางสังคมของชุมชน โดยศิลปินและชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อปกป้องงานศิลปะที่มีชื่อว่า Universal Language ที่เขียนขึ้นบนผนังอาคารกลางชุมชนที่ทำหน้าที่สะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่ จากการถูกลบทิ้งโดยการพัฒนาเมืองที่ไม่คำนึงถึงชุมชนดั้งเดิม

ซึ่งการต่อสู้นี้ ได้นำไปสู่การสร้างเครือข่ายของกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมในพื้นที่ เป็นการใช้ Street Art เพื่อต่อต้าน Gentrification

กล่าวได้ว่างาน Street Art ณ ปัจจุบันแม้จะถูกทำลายจิตวิญญาณลงไปอย่างมาก จากศิลปะเพื่อการต่อต้านอำนาจสู่ศิลปะที่สยบต่อนายทุน แต่ในหลายพื้นที่ก็ยังคงยืนหยัดและต่อสู้เพื่อผู้คนและชุมชนอยู่

ทั้งหมดทำให้ผมสนใจที่จะลองมองย้อนกลับมาดูในสังคมไทย และเกิดคำถามตามมาว่า Street Art ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามย่านและเมืองเก่ามากมายทั่วประเทศ ณ ปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายอะไร

เป็นงานสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อรับใช้จิตวิญญาณแบบใด ระหว่างการต่อต้านและสมยอมต่อปรากฏการณ์ Gentrification

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568