เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ชัยชนะ บ้านใหญ่ ตระกูลดัง ยึดเทศบาล เกือบเบ็ดเสร็จ ช่อ พรรณิการ์ ถอดบทเรียน ปชน. ทรัพยากรเวลาสำคัญกว่ากระแสพรรค

16.05.2025

บทความในประเทศ

 

ชัยชนะ บ้านใหญ่ ตระกูลดัง

ยึดเทศบาล เกือบเบ็ดเสร็จ

ช่อ พรรณิการ์ ถอดบทเรียน ปชน.

ทรัพยากรเวลาสำคัญกว่ากระแสพรรค

 

การเลือกตั้งนายกเทศบาลและสมาชิกสภาเทศบาล จบลงท่ามกลางกระแสพูดถึงเป็นวงกว้าง ในหลายสนามบ้านใหญ่สู้กันอย่างดุเดือดเข้มข้น ไม่มีใครยอมใคร ต่างฝ่ายต่างปล่อยอาวุธหนัก เพื่อเอาชนะคู่แข่งในพื้นที่ ช่วงชิงฐานอำนาจทางการเมือง

โดยไฮไลต์สำคัญที่หลายคนจับตามองเป็นพิเศษคือ สนามเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ ศึกศักดิ์ศรีระหว่าง แดง VS ส้ม วัดพลังทางการเมือง ชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เป็นมากกว่าสนามเลือกตั้งท้องถิ่น

อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ช่วยหาเสียงให้ อัศนี บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย หวังทวงคืนความยิ่งใหญ่ รุกคืบปฏิบัติการ “แดงกลืนส้ม” ในเชียงใหม่

ส่วนพรรคส้มส่งแกนนำคนสำคัญอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลงพื้นที่หาเสียงช่วย ธีรวุฒิ แก้วฟอง ผู้สมัครพรรคประชาชน หวังต่อยอดความสำเร็จจากสนามเลือกตั้งนายก อบจ. ที่ลำพูน

ศึกศักดิ์ศรีครั้งนี้ฝ่ายที่ชนะคือพรรคเพื่อไทย อัศนี บูรณุปกรณ์ ได้นั่งตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่อีกสมัย ชื่อทักษิณยังไม่เสื่อมมนต์ขลังในเชียงใหม่ ตอกย้ำปฏิบัติการ “แดงกลืนส้ม” ได้อีกสนาม ลุ้นกันต่อในสนามเลือกตั้งใหญ่ปี 2570

 

นอกจากศึกเลือกตั้งที่เชียงใหม่แล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์ที่หลายคนให้ความสนใจคือ สนามเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี จ.ปทุมธานี

เพราะมีกรณีของ “ลูกพีช” สมิทธิพัฒน์ หลีนวรัตน์ ผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ตำบลธัญบุรี ทีมธัญญก้าวหน้า ที่ขับรถยนต์ BMW ปาดหน้ารถกระบะจนทำให้ลุงกับป้าได้รับบาดเจ็บสาหัส

คดีนี้สร้างกระแสความไม่พอใจให้กับผู้คนในสังคมมากมาย ลูกพีชถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และมีการคาดการณ์ว่าอาจจะพลาดตำแหน่ง ส.ท. หรือไม่อย่างไร

แต่สุดท้ายอิทธิฤทธิ์ของบ้านใหญ่การันตีความสำเร็จ ตระกูลการเมืองหลีนวรัตน์ประกาศชัยชนะ ครองเทศบาลธัญบุรียกทีม เรื่องดราม่าที่เกิดขึ้นไม่มีผลอะไร

ลูกพีชได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่ เช่นเดียวกับนางยุพเยาว์ หลีนวรัตน์ ภรรยานายกเบี้ยว กฤษฎา หลีนวรัตน์ ที่ได้นั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี

พร้อมวาทะเด็ดของนายกเบี้ยว “ชาวธัญบุรีกินหญ้าหวาน ถ้ากินหญ้าขม เราก็คงไม่ได้รับชัยชนะ พ่อแม่พี่น้องชาวธัญบุรีทานหญ้าหวาน แล้วก็จะทานตลอดไป”

 

ในส่วนของพรรคประชาชน แม้ว่ายังตีไม่เข้าสนามเทศบาลนครในหลายจังหวัด นับตั้งแต่ปี 2564 แต่ผลคะแนนที่ได้รับ อาจสะท้อนนัยสำคัญทางการเมืองเพื่อต่อยอดไปสู่การเลือกตั้งสนามใหญ่ในปี 2570

บทสรุปศึกเลือกตั้งสนามเทศบาลปี 2568 พรรคประชาชนได้ชัยชนะรวม 13 แห่ง (เทศบาลเมือง 4, ตำบล 9) แม้จำนวนเทศบาลตำบลที่ชนะจะลดลงเล็กน้อยจากปี 2564 (จาก 12 เหลือ 9 แห่ง) แต่เป็นชัยชนะในพื้นที่ที่มีเดิมพันสูงขึ้น

แน่นอนว่า “คลื่นลูกใหม่สีส้ม” ยังต้องใช้เวลาในการช่วงชิงพื้นที่ต่อไป แม้คะแนนพรรคประชาชนจะเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะแซงบ้านใหญ่ที่ครองใจชาวบ้านมานานได้

นายกเทศมนตรีเทศบาลเมือง พรรคประชาชนส่ง 23 แห่ง ชนะ 4 ประกอบด้วย เทศบาลเมืองบางกร่าง จ.นนทบุรี เทศบาลเมืองบางศรีเมือง จ.นนทบุรี เทศบาลเมืองปากน้ำ จ.สมุทรปราการ และ เทศบาลเมืองบางคูวัด จ.ปทุมธานี

ส่วนนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล พรรคประชาชนส่ง 54 แห่ง ชนะ 9 ประกอบด้วย เทศบาลตำบลเหมืองจี้ จ.ลำพูน เทศบาลตำบลสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เทศบาลตำบลเก่ากลอย จ.หนองบัวลำภู

เทศบาลตำบลสว่างแดนดิน จ.สกลนคร เทศบาลตำบลหนองแคน จ.มุกดาหาร เทศบาลตำบลโพนทราย จ.มุกดาหาร เทศบาลตำบลนาดี จ.สมุทรสาคร เทศบาลตำบลสำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ และ เทศบาลตำบลหนองตำลึง จ.ชลบุรี

 

ช่อ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารพรรคก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Politics ข่าวบ้าน การเมือง โดยฉายภาพความสำเร็จ และสิ่งที่ต้องปรับปรุงของพรรคประชาชนในการเลือกตั้งสนามท้องถิ่น

เธอยอมรับว่า ไม่ได้กลัวพรรคส้มจะหมดหวังที่ไม่ประสบความสำเร็จในสนามเทศบาล เพราะการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในทุกระดับเป็นเป้าหมาย หรือเป็น KPI ของพรรคประชาชนอยู่แล้ว

ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคส้มจะต้องทำให้ได้ ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองที่มุ่งมั่น กึ่งๆ หมกมุ่นในเรื่องของการกระจายอำนาจ และเป็นนโยบายเรือธงมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่น ถือเป็นเรื่องที่พรรคต้องทำอยู่แล้วและจะทำต่อไป

“ดิฉันอยากบอกพี่น้องว่าอย่าหมดหวัง ให้มองมันอย่างเข้าใจ ในส่วนที่ยังมีความหวัง มันก็ยังมีความหวังอยู่ ในพื้นที่เทศบาลนครที่เป็นอำเภอเมืองจะมีลักษณะคล้ายกัน”

“คือส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่มานาน พื้นที่เหล่านี้คนจะมีแนวโน้มผูกพันกับนายกคนเดิม รวมถึงระบบอุปถัมภ์ ซึ่งมันไม่ใช่แค่เงินจ่ายซื้อเสียง แต่มันคือการช่วยเหลืออุปถัมภ์ไหว้วานกัน เพราะตระกูลฉันเคยได้รับการช่วยเหลือกันมา”

“ระบบเทศบาลมันเล็กมาก มันเป็นพื้นที่ที่คนรู้จักกันหมด เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์แบบแน่นแฟ้น มันจึงมีผลมากๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พรรคประชาชนไม่ชนะ”

“เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครอุดรธานี แม้ว่าผู้สมัครในพื้นที่จะดีมาก ทีมนโยบายพร้อม การทำพื้นที่ค่อนข้างต่อเนื่อง แต่ก็แพ้เยอะ”

“ถ้าให้เรากลับมาดูอย่างมีความหวังก็จะเห็นว่า มันมีพื้นที่ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงอยู่ หลักๆ คือพื้นที่ที่เป็นชุมชนใหม่ เป็นเมืองใหม่ ที่ประชากรย้ายมาจากที่อื่น หรือเป็นประชากรที่ไม่ได้ยึดติดกับท้องถิ่นเดิมๆ”

“อันนี้เราก็มีโอกาสที่จะเข้าไป เราในที่นี้หมายถึงผู้สมัครอิสระคนอื่นๆ ที่จะเสนอตัวเข้าไปเป็นตัวเลือกให้พี่น้องด้วย ไม่ใช่แค่พรรคประชาชนเท่านั้น”

“การเมืองท้องถิ่น มันคิดหยาบๆ แบบง่ายๆ ไม่ได้ว่า อบจ.เราได้คะแนนเท่านี้ ส.ส.เราได้คะแนนเท่านี้ แปลว่าเทศบาลเราต้องได้คะแนนเท่านี้ มันไม่ใช่เลย” ช่อ พรรณิการ์ กล่าว และย้ำว่าพรรคส้มอยากส่งผู้สมัครดีๆ ให้ครบทุกพื้นที่

“การทำงานท้องถิ่น คือการสร้างฐานที่จับต้องได้ของพรรค ไม่ใช่แค่กระแสโซเชียลมีเดีย หรือกระแสข่าวที่จะเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่การเป็นพรรคมวลชน ซึ่งเป็นความตั้งใจของพวกเราตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ มันก็ต้องมีฐานมวลชนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จริง”

“การที่จะทำให้เกิดกลไกแบบนั้นได้ คุณก็ต้องมีคนในพื้นที่ในระดับที่จัดกิจกรรมได้ มีความสัมพันธ์กับสมาชิกพรรค หรือคนในพื้นที่จริงๆ ซึ่งก็ต้องมีเครือข่ายในท้องถิ่น”

“เพราะฉะนั้น ถ้ามีผู้สมัคร และผู้สมัครมีคุณสมบัติที่ดีพอ พรรคก็อยากส่ง เพราะในหลายๆ พื้นที่ที่ไม่ได้ส่งผู้สมัคร ประชาชนก็ผิดหวัง มีเสียงบ่นมาเยอะ”

“โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พรรคได้คะแนนดีๆ มี ส.ส. หรือปาร์ตี้ลิสต์เยอะ มันก็เป็นหนทางที่พรรคต้องเลือก พอพยายามส่งผู้สมัครเยอะๆ ก็เกิดปัญหาเรื่องการคัดกรองผู้สมัคร ทำให้เกิดรูรั่วต่างๆ”

“พรรคต้องระมัดระวังขึ้นแน่นอน ต้องมีระบบคัดกรองที่เข้มข้น และไม่ใช่แค่ในส่วนกลาง เพราะส่วนกลางดูไม่ไหวหรอก มันต้องเข้มข้นลงไปในระดับจังหวัด มีคณะทำงานจังหวัด มีทีม ส.ส.ประจำแต่ละจังหวัดที่คอยคัดเลือกกลั่นกรอง นี่คือหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของพรรค”

 

ขณะเดียวกัน ช่อ พรรณิการ์ ยังฉายภาพให้เห็นว่าการส่งผู้สมัครมากหรือน้อยไม่ใช่ปัจจัยที่จะตัดสินผลแพ้ชนะเพียงอย่างเดียว เพราะทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการเลือกตั้งคือเวลา

“การเลือกตั้งท้องถิ่น อย่าหวังกระแสแกนนำ อย่าหวังกระแสพรรค การทำงานท้องถิ่นคืองานที่ละเอียด ต้องเจอทีละคน คุยทีละบ้าน ให้เขาเห็นหน้า ให้เขาได้เจอตัว ไม่ใช่การขึ้นรถแห่ ไม่ใช่การเดินแจกแผ่นพับในตลาด ผู้สมัครมีหน้าที่ทำงานให้ละเอียด เดินให้ทั่ว เก็บทุกวัน”

“เพราะฉะนั้น เวลาคือทรัพยากรที่มีความสำคัญกับผู้สมัคร จึงไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ว่าจะส่งมากหรือส่งน้อย แล้วจะมีโอกาสชนะมากหรือน้อยกว่านี้” ช่อ พรรณิการ์ ระบุ

ขณะที่ ใบตองแห้ง อธึกกิต แสวงสุข ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของพรรคประชาชนในการเลือกตั้งสนามเทศบาล โดยระบุว่า พรรคอยากได้ปริมาณผู้สมัครกว้างเกินไปในเวลาที่จำกัด บางที่ควรส่ง แต่บางที่ก็ไม่น่าส่ง

“ปัญหาในช่วงหลังผมคิดว่าพรรคส้มเขาหย่อนไป เขาไปเอาด้านจำนวนมาก คิดไกลเกินไป คนว่าเราไม่มีฝีมือบริหารประเทศ ยังไม่ได้พิสูจน์ เพราะฉะนั้น เราต้องได้นายก อบจ. ได้นายกเทศมนตรีเยอะๆ”

“ผมไม่รู้ว่าพรรคตัดสินใจยังไง หลายที่มันต้องส่งนะ แต่บางที่ไม่น่าส่งเลย ยิ่งรู้ว่าแพ้ก็ต้องส่ง” ใบตองแห้งสะท้อนมุมมองถึงพรรคประชาชน



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ