ผู้เขียน | สุรชาติ บำรุงสุข |
---|
สงครามยูเครนที่เกิดจากการรุกรานของกองทัพรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กลายเป็นสงครามใหญ่ของโลกในแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน จนอาจต้องถือว่า เป็นสงครามสำคัญในการเมืองโลกปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในเส้นแบ่งเวลาที่สำคัญของยุคสมัยของเราด้วย อีกทั้งยังอาจต้องกล่าวด้วยว่า สงครามยูเครนเป็นสงครามใหญ่และรุนแรงที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และจะส่งผลอย่างมากต่อแนวความคิดของการพัฒนากองทัพในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นที่สงครามอ่าวเปอร์เซียเคยแสดงบทบาทเช่นนี้มาแล้ว
แน่นอนว่า ในทุกสงครามมีบทเรียนให้นักการทหารทั่วโลกต้องเรียนรู้เสมอ และสงครามครั้งนี้ก็เช่นกัน จนอดตั้งเป็นปุจฉาไม่ได้ว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทยและผู้นำกองทัพไทย มีมุมมองทางทหารต่อสงครามยูเครนอย่างไร และพวกเขาเรียนรู้อะไรจากสงครามครั้งนี้?”
ว่าที่จริงแล้ว คำถามเช่นนี้อาจจะไม่มีคำตอบอะไรจริงจังให้เสียเวลาต้องค้นหา และความพยายามที่จะแสวงหาคำตอบดังกล่าวอาจเป็นเพียง “เรื่องไร้สาระ” ที่หาประโยชน์ไม่ได้ อีกทั้งสังคมไทยก็เองไม่เคยเห็นมุมมองและทัศนะในฐานะ “นักการทหาร” ของประเทศ ไม่ว่าจะมาจากบรรดานายพลทั้งหลายที่มีจำนวนมากมายในกระทรวงกลาโหม หรือมาจากตัวรัฐมนตรีกลาโหมเอง ซึ่งวุ่นวายอยู่กับปัญหาอนาคตทางการเมืองของตัวเอง
แต่นายทหารในระดับสูงทั้งหลายควรต้องตระหนักว่า สังคมไทยลงทุนด้วยภาษีในรูปของ “งบประมาณทหาร” เป็นจำนวนมากให้แก่กระทรวงกลาโหมทุกปี (ซึ่งรวมในตัวเองถึงงบของเหล่าทัพต่างๆ ด้วย) แต่ดูเหมือนหัวข้อเรื่อง “การพัฒนากองทัพ-การปฎิรูปกองทัพ” ซึ่งเป็นประเด็นหัวใจของการสร้างกองทัพสมัยใหม่แทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาให้คนในสังคมซึ่งเป็น “ผู้จ่ายภาษี” ให้กับกระทรวงกลาโหมได้เห็นถึงทิศทางการพัฒนากองทัพในอนาคตเท่าใดนัก และในยามนี้สังคมอาจมีความเห็นแย้ง เพราะวิกฤตโควิดยังไม่จบ และวิกฤตเศรษฐกิจยังรุนแรง… คนในสังคมไทยเป็นจำนวนมากต้องการเห็นรัฐบาลลงทุนทางสังคมให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทิศทางที่ฝ่ายทหารหยิบยกออกมาให้สังคมรับรู้นั้น ดูจะไม่มีเรื่องอื่นมากไปกว่าเรื่อง “ซื้ออาวุธ” จนดูเหมือนกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทยอยู่ภายใต้ “เวทมนต์” ของสำนักคิดแบบ “อาวุธนิยม” จนนายทหารบางนายกล้าที่จะพูดว่า “ถ้าไม่ซื้ออาวุธแล้ว จะมีกองทัพไปเพื่ออะไร!”
วาทกรรมของ “ทหารนักช้อป” เช่นนี้ ทำให้บางทีก็อยากถามกลับไปยังบรรดานายทหารเหล่านั้น ให้มองเห็นปัญหาอีกด้านบ้างว่า “ถ้ากองทัพมีแต่ภารกิจในการซื้ออาวุธ แล้วเราจะมีกองทัพไปเพื่ออะไร?” แม้จะมีคำกล่าวเสมอว่า “ทหารและอาวุธเป็นของคู่กัน” แต่สงครามที่กองทัพถูกสร้างให้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้กรอบภารกิจและความต้องการของทุกประเทศนั้น มีมากกว่าความต้องการด้านอาวุธ… ประเทศต้องการมากกว่าทหารที่ถือปืนได้และยิงปืนเป็น เพราะในด้านหนึ่ง สงครามยูเครนชี้ให้เห็นถึงภาวะสงครามสมัยใหม่ที่ประเทศต้องเผชิญ และสะท้อนให้เห็นถึงมิติต่างๆ ของสงคราม ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของการมีอาวุธเท่านั้น ถ้าอาวุธเป็นปัจจัยชี้ขาดสงครามได้จริงอย่างที่ “นักอาวุธนิยม” เชื่อ กรุงเคียฟน่าจะถูกรัสเซียยึดและยูเครนน่าจะพ่ายแพ้ไปนานแล้ว
แต่เมื่อ “สำนักอาวุธนิยม” ถือเอาการมียุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงเป็นปัจจัยกำหนดอำนาจทหารแล้ว เราก็จะได้คำตอบเสมอว่า กระทรวงกลาโหมและกองทัพไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดหาอาวุธใหม่ จนสิ่งนี้กลายเป็น “ทิศทางหลัก” ของการพัฒนาทางทหารของประเทศ การกำเนิดทิศทางดังกล่าว อาจทำให้นายทหารระดับสูงทั้งในกระทรวงกลาโหมและในกองทัพไทยกลายเป็นกำลังพลที่สังกัดอยู่ใน “เหล่าจัดซื้อจัดหา” และปฎิเสธความจริงไม่ได้เลยว่า บรรดา “นายพลนักจัดซื้อ” เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดอนาคตของกองทัพ
สภาวะเช่นนี้ อาจทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในอีกด้านได้ว่า กองทัพไทยไม่เคยมี “การประมาณการทางยุทธศาสตร์” อย่างจริงจัง และในหลายครั้ง เราอาจจะพบว่าการประมาณการดังกล่าวถูกทำขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในการจัดซื้อจัดหาอาวุธของผู้นำในกระทรวงกลาโหมหรือในเหล่าทัพ มากกว่าจะเป็นการประมาณการที่จะใช้ในการกำหนด “ยุทธศาสตร์ทหาร” ของรัฐไทย และ “ทำเนียบกำลังรบ” ของประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ถูกใช้วิเคราะห์เพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ทหาร แต่ถูกใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการซื้ออาวุธมากกว่า
ดังนั้น จึงน่าสนใจอย่างมากในบริบทของการบริหารกองทัพว่า กำลังพลในระดับสูงของ “เหล่าจัดซื้อ” มองเหมือนกันและคิดเหมือนกัน กล่าวคือ พวกเขาไม่ว่าจะมาจากเหล่าทัพใด เชื่อด้วยหลักการประการเดียวกันว่า อำนาจทางทหารของรัฐไทยจะเกิดได้ต้องมีการจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ มิใยต้องกล่าวถึงปัญหาความไม่โปร่งใสในอีกมิติหนึ่งที่เป็นเรื่องของ “ความอื้อฉาวด้านอาวุธ” (arms scandals) ซึ่งได้กลายเป็นหัวข้อในสื่อและในสังคมทุกครั้งเสมอ เมื่อมีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์มูลค่าสูง อันอาจกล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า ปัญหาการจัดซื้ออาวุธคือ ส่วนหนึ่งของประเด็นปัญหา “ลัทธิเสนาพาณิชย์นิยม” และเรื่องเหล่านี้ทำให้สังคมไม่เชื่อถือกองทัพ
ดังจะเห็นได้ว่าจนถึงวันนี้ เรือดำน้ำยังกลายเป็น “ตัวตลก” ให้สังคมนำมาล้อเลียนอย่างขบขัน จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีอะไรที่ทำให้กองทัพเรือดูตกต่ำในมุมมองของผู้เห็นต่างได้มากเท่ากับการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน และอาจกลายเป็นเรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องยนต์ด้วย หรือในอีกกรณีคือ ความต้องการเครื่องบินรบใหม่ของกองทัพอากาศ ดังจะเห็นได้ว่าหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 กองทัพอากาศมีการจัดซื้อเรื่องบินรบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง “อัลฟาเจ็ต” ซึ่งเป็นเครื่องบินรบเก่าจากเยอรมนี และซื้อ “เอฟ-16 เอดีเอฟ” ซึ่งเป็นเครื่องบินรบเก่าจากสหรัฐ ต่อมาซื้อ “กริพเพน” ซึ่งเครื่องบินรบใหม่จากสวีเดน แต่วันนี้กองทัพอากาศต้องการงบเป็นจำนวนมากสำหรับเครื่อง “เอฟ-35” เช่นเดียวกับปัญหาการจัดซื้อ “รถถังจีน” ชุดใหญ่ของกองทัพบก… กองทัพไทยวันนี้มีภาพเป็น “กองทัพของนักจัดหา” จนดูเหมือนนายทหารระดับสูงบางส่วนละเลยต่อ “ความเป็นทหารอาชีพ” ของตนไปแล้ว
ฉะนั้น สิ่งแรกที่กองทัพไทยต้องคิดหาคำตอบให้ได้ คือ การฟื้นความน่าเชื่อถือของสังคม… กองทัพที่สังคมไม่เชื่อถือ จะไม่มีทาง “ได้ใจ” ประชาชนในประเทศ และกองทัพที่ไม่ชนะใจคนในบ้าน จะแพ้สงครามตั้งแต่ก่อนที่กระสุนนัดแรกจะดังขึ้นในสนามรบเสมอ กองทัพเช่นนี้เป็นสิ่งที่ “ไม่มีคุณค่าทางยุทธศาสตร์” แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ถ้าเช่นนั้นแล้ว สงครามยูเครนจะส่งผลให้เกิดการปฎิรูปกองไทยอย่างไรในอนาคต หรือว่าในความเป็นจริงเราไม่ควรถามเช่นนี้ เนื่องจากเป็นคำถามสำหรับทหารอาชีพ และกระทรวงกลาโหมก็ยุ่งอยู่กับภารกิจทางการเมือง จนอาจละเลยความจริงว่า สงครามยูเครนกำลัง “ปรับรื้อ” ชุดความคิดทางทหารแบบเก่าทิ้งไปแล้ว
ความท้าทายใหม่ทางทหารที่ปรากฏในสงครามยูเครน เช่น อาวุธต่อต้านรถถังเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับรถถังรัสเซีย โดรนโจมตีทำให้รถถังรัสเซียกลายเป็นเป้านิ่ง อาวุธต่อต้านอากาศยานทำให้เครื่องบินรบรัสเซียไม่กล้าบินโจมตีเหนือน่านฟ้ายูเครน อีกทั้ง ทหารและประชาชนยูเครนเข้าร่วมต่อสู้กับผู้รุกรานอย่างกล้าหาญด้วยแรงบันดาลใจจากผู้นำ ปัจจัยขวัญกำลังใจและความมุ่งมั่นในการต่อสู้ของประชาชนยามสงครามเป็น “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” ที่รัสเซียไม่อาจเอาชนะยูเครนได้ และวันนี้ “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” อาจสำคัญกว่า “อำนาจกำลังรบที่มีตัวตน”… กองทัพที่มีแต่อาวุธ แต่ไม่มีความสนับสนุนจากประชาชน ไม่มีทางที่จะรบชนะได้
โลกทางทหารกำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็หวังว่าผู้นำทหารไทยรุ่นใหม่จะเข้าใจถึงพลวัตรสงครามยูเครนครั้งนี้!
- หนึ่งเดือนแห่งความล้มเหลว
- ปูตินด็อกทรินกับวิกฤตยูเครน!
- เปิดประตูสงคราม!
- สงครามยูเครน!
- สงครามที่ไม่จบในยูเครน!
- สงครามนิวเคลียร์ยูเครน!
- สังคมไทยและสงครามยูเครน!
- เขตห้ามบินยูเครน!