

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด
Facebook : @Pitsanuofficial
นักฟุตบอลแกล้งพุ่งล้ม
การแข่งขันฟุตบอล Euro 2024 มาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายแล้ว
ในเวลาไล่เลี่ยกัน จะมีการแข่งขันรักบี้ รายการใหญ่ 2024 Rugby Championship ที่จะเริ่มวันที่ 10 สิงหาคม
มีคนเคยกล่าวว่า ความต่างระหว่างนักฟุตบอลกับนักรักบี้ คือนักรักบี้จะเจ็บยังไง ก็จะทำเข้มแข็ง ไม่แสดงอาการเจ็บปวดขณะแข่งขัน
จะถูกชนล้ม เลือดออก ฟันหัก ก็ไม่แสดงอาการดิ้นลงกับพื้น ร้องโอดโอย
ในขณะที่นักฟุตบอล หรือนักบาสเกตบอลนั้น โดยแตะนิดแตะหน่อย ก็มักล้มลงไปร้องครวญคราง เล่นละครตบตากรรมการ
การแกล้งพุ่งล้ม การแกล้งเจ็บ ถือเป็นการโกงทีมฝั่งตรงข้าม และเป็นการโกงคนดู เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี และถ่วงเวลาการแข่งขันฟุตบอล
ซึ่งพบว่า สาเหตุหลักที่การแข่งขันฟุตบอลหยุดชะงักนานที่สุด มาจากการแกล้งเจ็บ แกล้งพุ่งล้ม เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกีฬาฟุตบอล
เพราะนอกจากจะทำให้กีฬาฟุตบอลดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว ยังทำให้การตัดสินของกรรมการในสนามดูไม่ศักดิ์สิทธิ์
เพราะการที่กรรมการจะตัดสินว่าการล้มนั้นเป็นการล้มจริง หรือเป็นการแกล้งพุ่งล้มนั้น มีเวลาไม่ถึง 1 วินาทีในการวินิจฉัย
ขนาดผู้ชมทางบ้านดูภาพสโลว์โมชั่นทางโทรทัศน์ บางทียังตัดสินลำบากเลยว่าล้มจริงหรือแกล้งล้ม
จากการศึกษาพบว่า ในการแข่งขันฟุตบอลแต่ละนัดจะมีนักฟุตบอลล้มแสดงอาการบาดเจ็บ นัดละ 11 ครั้ง
แต่มีเพียง 1 ครั้งเท่านั้นที่บาดเจ็บจริงๆ
ฟุตบอลต้องการเล่นอย่างยุติธรรมตรงไปตรงมา การชนะโดยการแกล้งล้มเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หากกลับบ้านไปนักฟุตบอลจะกล้าบอกลูกด้วยความภูมิใจหรือว่า พ่อชนะเพราะแกล้งล้ม หรือโกงเค้า
การชนะควรเป็นการชนะอย่างมีเกียรติ หลายทีมโค้ชใช้แท็กติกให้นักเตะทำฟาวล์บริเวณกลางสนาม เพื่อทำลายจังหวะการบุกของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งกรรมการต้องอ่านแท็กติกตุกติกที่โค้ชวางแผนมาให้ออก
หากกรรมการอ่านแผนตุกติกนี้ออกตั้งแต่ช่วง 10 นาทีแรกของการแข่งขัน ก็ต้องตักเตือน เพื่อเป็นการบอกให้รู้ว่ากรรมการอ่านแผนตุกติกของโค้ชออกแล้ว
กรรมการที่มีประสบการณ์สูงจะอ่านแท็กติกที่โค้ชแต่ละทีมออก
ดังนั้น กรรมการก็จะยืนถูกตำแหน่งถูกเวลา ไม่ต้องวิ่งเหนื่อยไปทั่วสนาม ช่วยให้การตัดสินถูกต้องแม่นยำ
การเป็นกรรมการที่ทีมชอบจ่ายลูกสั้นๆ ครองลูกได้นานอย่างทีมสเปน การเป็นกรรมการจะไม่เหนื่อยเท่าไหร่ ตลอดการแข่งขัน 90 นาที จะวิ่งประมาณ 9-10 กิโลเมตร
แต่หากเป็นกรรมการตัดสินเกมที่ทีมทั้งสองฝ่ายเล่นไม่ดีด้วยกันทั้งคู่ เปลี่ยนการครองลูกตลอดเวลา เสียการครองลูกกันบ่อย กรรมการจะเหนื่อยมาก เพราะวิ่งไม่หยุด
และอาจวิ่งถึง 12 กิโลเมตรใน 1 แมตช์เลยทีเดียว
ในปี 2009 มีการศึกษาเรื่องการแกล้งเจ็บ แกล้งล้ม ของนักฟุตบอล โดยยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ พอร์ทสมัธ (University of Portsmouth) ประเทศอังกฤษ นำโดย ดร.พอล มอร์ริส อาจารย์ด้านจิตวิทยา ทำการศึกษาวิดีโอการล้มเจ็บ ทั้งจริงและแกล้งล้มของนักฟุตบอลจำนวน 400 คลิป
ได้ผลน่าสนใจว่า ถ้านักฟุตบอลแกล้งล้ม แกล้งเจ็บ จะมีอาการดังนี้
1. หลังจากกระทบกระทั่งกันแล้ว ใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะแสดง อาการเจ็บโอดโอย
2. ทำตัวแอ่นโค้งไปข้างหลัง ชูมือขึ้นฟ้าเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ตัดสิน เพราะการชูมือขึ้นฟ้าเวลาถูกชน หรือกระแทก ไม่ใช่เป็นท่าที่เกิดโดยธรรมชาติ
ตามสัญชาตญาณของมนุษย์ เวลาถูกชน ตัวลอย มือมักจะตกลงมาเพื่อยันพื้น เวลาหล่นลง หรือกางออกข้างลำตัวเพื่อพยายามทำให้ร่างกายสมดุล ดังนั้น หากแขนยกเหนือไหล่เมื่อไหร่ โอกาสแกล้งเจ็บก็สูงมาก
3. โดนกระแทกนิดเดียว แต่แสดงความอาการบาดเจ็บสุดขีด
4. โดนกระแทกจุดหนึ่ง แต่ไปกุมจุดที่เจ็บอีกจุดหนึ่ง
แม้ว่าในการแข่งขันฟุตบอลจะมีการทดเวลาบาดเจ็บ 3-4 นาที แต่จากการศึกษาพบว่า เวลาที่ใช้ไปกับการหยุดเกมเพื่อดูแลนักเตะ ที่บาดเจ็บทั้งจริง และไม่จริงนั้น รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 7 นาที
ทำให้เวลาการแข่งขันฟุตบอลจริงๆ เมื่อรวมทดเวลาบาดเจ็บอีก 3-4 นาที อยู่ที่ประมาณ 86.5 นาที ไม่ถึง 90 นาทีตามกติกา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


