เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ขวาคือใคร… คิดอย่างไร (3) การสร้างชาติกับอนุรักษนิยมอเมริกัน

14.08.2024

“อนุรักษนิยมเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นศัตรูกับเสรีนิยม และไม่เคยยกเลิกข้อท้วงติงในเรื่องของประชาธิปไตย”

Edward Fawcett
Conservatism (2020)

 

ในเงื่อนไขของการพัฒนาทางการเมืองของอังกฤษ อันเป็นผลสืบเนื่องที่สำคัญจาก “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” ในปี 1688 และการประกาศ “The Bill of Right” ในปี 1689 ทำให้ความคิดทางการเมืองชุดใหม่จากเมืองแม่ ไปปรากฏชัดอีกส่วนใน “การปฏิวัติอเมริกา” ที่เริ่มก่อกระแสการกบฏในปี 1765

แต่กษัตริย์พระองค์ใหม่ก็ประกาศให้สิทธิแก่รัฐแต่ละรัฐในอาณานิคม และรัฐเหล่านี้หันกลับไปสู่การปกครองตนเองในแบบที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งการปกครองตนเองของรัฐเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของอาณานิคมอเมริกันมาตั้งแต่เดิม

อีกทั้งบรรพชนผู้ก่อตั้งรัฐเอกราชใหม่เหล่านี้มีความรู้และความเข้าใจทางการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะมีทักษะอย่างสูงในการออกแบบประเทศผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกระบวนการทางการเมือง อันเป็นรากฐานสำคัญของรัฐประชาธิปไตยอเมริกัน ที่เสรีนิยมและอนุรักษนิยมยังต่อสู้กันไม่จบ

 

สงครามปฏิวัติอเมริกา

ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของเสรีชนที่เป็นชาวอาณานิคมอเมริกา ได้เกิดการแบ่งคนในทางการเมืองออกเป็น 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายกษัตริย์นิยม” ในความหมายคือชาวอาณานิคมที่สนับสนุนการอยู่กับจักรวรรดิอังกฤษต่อไป และไม่ต้องการการแยกตัวออกเป็นเอกราช กับ “ฝ่ายกบฏ” คือกลุ่มที่สนับสนุนการเรียกร้องเอกราชของชาวอาณานิคม และต้องการแยกออกมาตั้งประเทศใหม่ หรือในภาษาสมัยใหม่ คนพวกนี้คือ “กบฏแบ่งแยกดินแดน” แม้ในเบื้องต้นจะมีข้อเรียกร้องเพียงขอให้อาณานิคมอเมริกาเป็น “อิสระ” จากระบบการเมืองของอังกฤษ แต่คนจะยังอยู่ในฐานะพลเมืองของจักรวรรดิอังกฤษ

ประเด็นของการต่อสู้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของเอกราชของอาณานิคมเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงปัญหาข้อถกเถียงในเรื่องของ “อธิปไตยของปวงชน” ที่โยงกับเรื่อง “ความยินยอมของผู้ถูกปกครอง” ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ตกค้างอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองในอังกฤษ แม้จุดเริ่มต้นของปัญหาคือ เรื่องของการที่รัฐสภาอังกฤษต้องการที่จะเก็บภาษีในอาณานิคมมากขึ้น

น่าสนใจว่าการเรียกเก็บภาษีครั้งนี้ไม่ได้มาจากคำสั่งของกษัตริย์ แต่มาจากการตัดสินใจของรัฐสภา และคนในอาณานิคมได้ต่อสู้ด้วยประเด็นของสิทธิทางการเมือง เนื่องจากคนในอาณานิคมไม่มีผู้แทนของตนเองในรัฐสภาที่ลอนดอน จึงทำให้เกิดประเด็นว่าการเก็บ “ภาษีที่ปราศจากผู้แทน” (tax without representation)

อีกทั้งการตรวจค้นและยึดทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันควร ห้ามการครอบครองอาวุธ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองของชาวอังกฤษ (ในขณะนั้นพวกเขายังมีสถานะเป็นพลเมืองอังกฤษ)

 

การต่อสู้ในการปฏิวัติอเมริกานั้น เริ่มต้นด้วยเรื่องอำนาจในการเก็บภาษี หรืออาจต้องเรียกว่า “สงครามภาษี” ในทางการเมือง แต่ก็นำไปสู่ข้อถกเถียงชุดใหญ่ในปัญหาสิทธิของพลเมือง และอำนาจในการปกครอง ความขัดแย้งชุดนี้ขยายตัวเป็นสงครามนานถึง 5 ปี และยุติลงด้วยชัยชนะของชาวอาณานิคมในปี 1776

ในอีกด้านหนึ่ง การปฏิวัติอเมริกายังเชื่อมต่อเข้ากับการเมืองชุดสำคัญของยุโรปคือ การปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดในอีก 13 ปีต่อมา และมีประเด็นที่เป็นข้อ “วิวาทะเรื่องการปฏิวัติ” ให้นักคิดทางการเมืองยุคปัจจุบันต้องเรียนรู้เสมอ

อีกส่วนของปัญหามาจากเรื่องของศาสนา เพราะราชสำนักและรัฐสภาอังกฤษมองว่าพวกอาณานิคมเป็น “กบฏทางศาสนา” เพราะพวกเขาไม่ได้ยอมรับศาสนจักรแองกลิคันที่เมืองแม่ คือเป็น “กบฏเพรสไบทีเรียน” หรือเกิดความศรัทธาในแบบ “ศาสนานิวอิงแลนด์” (New England Religion) ที่เชื่อว่ากษัตริย์และรัฐสภาเอาสิทธิที่พระเจ้าได้มอบให้ไปจากชาวอเมริกัน และความเชื่อดังกล่าวทำให้ศาสนาเป็นแรงจูงใจให้คนอเมริกันก่อกบฏ อันเป็นการต่อสู้เพื่อ “อิสรภาพของชาวคริสเตียน” อีกทั้งนักเทศน์มักจะเน้นว่า ชาวคริสเตียนที่ดีมีหน้าที่ที่ต้องต่อสู้กับทรราชเพื่อเสรีภาพ และมีคำสอนที่เน้นความเป็น “เสรีชน” แต่ก็มีนัยที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการยึดโยงอย่างมากกับพระเจ้า อันทำให้ปัจจัยศาสนาเป็นมรดกสำคัญของปีกขวาอเมริกัน

เพราะเสรีภาพในอีกด้านเป็นเรื่องของ “เสรีภาพทางจิตวิญญาณ” (spiritual liberty) ที่แม้การต่อสู้จะมีพื้นฐานแบบเสรีนิยม แต่ก็ผูกโยงโดยตรงเข้ากับพระเจ้าที่เป็นศูนย์กลางของโลกอนุรักษนิยม

ชัยชนะเช่นนี้ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาถือกำเนิดขึ้นเป็นประเทศใหม่ และถือเป็น “ระบอบสาธารณรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional republic) ประเทศแรกของโลกในปี 1776 [เปรียบเทียบ- อังกฤษเป็นประเทศที่มี “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” เป็นครั้งแรกของโลกในปี 1689]

ความเป็นสาธารณรัฐของอเมริกาที่ตั้งอยู่บนหลักการทางการเมืองที่สำคัญ 2 ประการ คือ หลักความยินยอมของประชาชน และหลักนิติรัฐ โดยหลักการนี้มีรัฐธรรมนูญเป็นฐานรองรับที่สำคัญ

 

อนุรักษ์ชนอเมริกัน

การตั้งรัฐเอกราชของชาวอาณานิคมในอเมริกาหลังจากความสำเร็จของการปฏิวัติในปี 1776 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดของกลุ่มอนุรักษนิยม แต่เดิมการต่อสู้ชุดนี้สะท้อนถึง 2 ขั้วของความคิดที่อาจไม่ต่างจากอังกฤษ คือ การต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายรัฐสภานิยม vs. ฝ่ายกษัตริย์นิยม” ที่มาพร้อมกับข้อเรียกร้องในเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty) และประเด็นเรื่องเอกราชของการสร้างรัฐใหม่

เมื่อการต่อสู้ขยายวงกว้างออกไป การไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกษัตริย์ก็ขยายตัวออกไปด้วย ตลอดรวมถึงต่อต้านแนวคิดในแบบการรวมอำนาจ ดังจะเห็นได้ว่าการเมืองในยุคหลังอาณานิคมมีทัศนะที่ให้ความสำคัญกับอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลท้องถิ่น และต้องการลดอำนาจของรัฐบาลกลางให้มีเท่าที่จำเป็นในการดำรงความเป็นรัฐอธิปไตยเท่านั้น อีกทั้งการต่อสู้ในเรื่องสิทธิในการครอบครองอาวุธ เพราะสิทธินี้ถือเป็นสิ่งที่กฎหมายและนักเทศน์สนับสนุนไว้แต่เดิม ดังจะเห็นได้ว่าปีกอนุรักษนิยมปัจจุบันยึดมั่นในเรื่องปืน ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมต้องการออกกฎหมายควบคุมปืน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าบรรพบุรุษทางการเมืองของชาวอเมริกันในยุคสร้างชาติเป็นคนเก่ง มีความรู้มากและลึกซึ้งในเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไม่น่าเชื่อ ดังที่ปรากฏความเห็นและข้อโต้แย้งเป็นเอกสารชื่อ “The Federalist Papers”

เอกสารชุดนี้รวมบทความทางการเมืองทั้งหมด 85 เรื่อง โดยผู้เขียนใช้นามปากกาว่า “Publius” และเป็นการเขียนเพื่อรณรงค์ให้คนสนับสนุนการให้สัตยาบันต่อร่างรัฐธรรมนูญอเมริกันในช่วงปี 1787-1788 ความคิดที่นำเสนอแนวคิดแบบเสรีนิยม และอิงอยู่กับนักคิดฝ่ายเสรีนิยมของยุโรป อีกทั้งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้าง “สหพันธรัฐ” (federation) พร้อมกับออกแบบให้มลรัฐในสหพันธรัฐนี้ มีอำนาจในการปกครองตนเอง

แม้เอกสารนี้จะเป็นพื้นฐานของความคิดแบบเสรีนิยมอเมริกัน แต่พวกเขาก็ไม่ทิ้งประเด็นสำคัญในเรื่อง “สิทธิของรัฐ” ไว้เป็นข้อถกเถียงที่สำคัญให้แก่กลุ่มอนุรักษนิยมในเวลาต่อมา ดังจะเห็นเป็นมรดกทางรัฐศาสตร์ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมจะให้ความสำคัญกับ “รัฐ” รวมถึงเรื่องของการป้องกันทางรัฐธรรมนูญต่อสิทธิของบุคคลที่ต้องเผชิญกับการขยายอำนาจของรัฐบาลกลาง

ดังเช่นที่การต่อสู้ของพวกฝ่ายขวาในปัจจุบัน เรียกร้องที่จะ “เอารัฐกลับคืนมา” เพราะพวกเขามีความเชื่อเป็นพื้นฐานว่า การมาของกระแสโลกาภิวัตน์ได้ลดทอนความสำคัญของรัฐลง ดังนั้น พวกเขาจึงมีจุดยืนไม่เพียงต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์เท่านั้น หากยังยืนในจุดที่สนับสนุนต่อการสร้างความเข้มแข็งของรัฐ หรือดึงรัฐออกจากพันธะกรณีเดิม หากเป็นในการเมืองยุโรปแล้ว พวกเขาจะต่อต้านการเอารัฐไปไว้ “ใต้” องค์การระหว่างประเทศในแบบสหภาพยุโรป ซึ่งมีสถานะ “เหนือรัฐ”

ซึ่งประเด็นเช่นนี้ดูจะเป็นจุดยืนที่สำคัญของฝ่ายขวาในโลกปัจจุบัน และสะท้อนผ่านคำขวัญของคนอย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คือ “America Great Again” (หรือ “อเมริกาต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”)

 

ในกรณีของสหรัฐอเมริกา โทมัส เจฟเฟอร์สัน เป็นตัวแทนที่ชัดเจนของแนวคิดอนุรักษนิยมดั้งเดิมแบบอเมริกัน เขามีอิทธิพลในทางความคิดอย่างมากในฐานะผู้ร่าง “คำประกาศเอกราช” (The Declaration Of Independence, 1776) และเขียนเอกสารเรื่อง “บันทึกว่าด้วยรัฐแห่งเวอร์จิเนีย” (Note on the State of Virginia, 1784) ที่ถือเป็นต้นร่างของรัฐธรรมนูญอเมริกันในปี 1788 (การประกาศใช้รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาตรงกับ พ.ศ.2331 ในสมัยรัชกาลที่ 1)

เจฟเฟอร์สันพยายามสร้างความเป็นอุดมคติของอนุรักษนิยมในอเมริกา เช่น เขาสร้างบ้านในไร่ของเขาที่ Monticello ด้วยสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค และเมื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (The University of Virginia) เขาออกแบบหลักสูตรให้เป็นแบบดั้งเดิม หรือที่กล่าวกันว่าเจฟเฟอร์สันสร้างความต่อเนื่องในความเป็นรัฐเอกราชใหม่ด้วยการแอบอิงกับความคิดของระเบียบแบบเก่ายุโรป และทั้งยังส่งเสริมค่านิยมของวิถีชีวิตเกษตร ที่ถือเป็นพื้นฐานของชีวิตชาวอเมริกันในยุคนั้น อันเป็นแนวคิดแบบ “อนุรักษนิยมอเมริกัน” ที่พัฒนาต่อมาอีก 2 ศตวรรษ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเช่นนี้ก็ถูกท้าทายจากกระแส “เสรีนิยมคลาสสิค” ในแบบการเมืองอเมริกัน ที่ฝ่ายเสรีนิยมให้ความสำคัญกับเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และการสร้างพลังทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมยังยึดติดอยู่กับสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม ให้ความสำคัญกับการอาศัยอยู่เป็นชุมชนแบบเก่า เน้นความสำคัญของที่ดิน และยึดอยู่กับแนวคิดแบบ “หนึ่งชาติภายใต้พระเจ้า” (one nation under God) อีกทั้งให้คุณค่ากับความสวยงามแบบอุดมคติกับเมืองในแบบเดิม เช่น เมืองชาลส์ตัน เมืองเก่าของนิวยอร์ก หรือบอสตัน เป็นต้น

แต่สำหรับฝ่ายเสรีนิยมแล้ว เมืองเหล่านี้กำลังสิ้นสภาพไปกับกาลเวลา และไม่มีความสวยงามแบบที่พวกอนุรักษนิยมชอบกล่าวถึง

 

ภาวะเช่นนี้คือ การต่อสู้ระหว่าง “อารยธรรมเกษตร” ในแบบของเจฟเฟอร์สัน กับการเติบใหญ่ของโลกทุนนิยม ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของเศรษฐกิจการตลาดและการเมืองแบบเสรีนิยม กระแสชุดนี้จึงมักให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้ประโยชน์มากกว่าคุณค่าทางจริยศาสตร์แบบเดิม หรือที่หลายคนมองว่าการต่อสู้ระหว่าง “สังคมเกษตร” ของรัฐฝ่ายใต้ที่เป็น “อนุรักษนิยม” กับ “สังคมทุนนิยม” ของรัฐฝ่ายเหนือที่เป็น “เสรีนิยม” สะท้อนให้เห็นชัดในสงครามกลางเมืองอเมริกัน และสงครามนี้ก็คือภาพสะท้อนอีกส่วนของการต่อสู้ 2 อุดมการณ์ โดยมีปัญหาการเลิกทาสเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง

ว่าที่จริงแล้วการต่อสู้ชุดนี้ไม่ได้หายไปจากสังคมอเมริกันในปัจจุบัน กลุ่มอนุรักษนิยมจึงยังฝันถึง “โลกเก่าในอุดมคติ”

ภาวะเช่นนี้ทำให้คนที่สมาทานแนวคิดแบบอนุรักษนิยม ต้องการที่จะพาสังคมอเมริกันกลับสู่ “โลกอุดมคติ” ในแบบอเมริกัน หรือกลับไปสู่โลกแห่งความสวยงามของสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมเช่นในยุคของเจฟเฟอร์สัน

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

จดหมาย
หมี่กระเฉด ซีฟู้ด
เดินตามดาว | ศรินทิรา
‘มิตซูบิชิ ไทรทัน’ MY2025 ปรับใหม่ดุดันขึ้น-เพิ่มออปชั่น
ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ลุกลาม ‘วงการกีฬา’ จับตาห้ามแข่ง ‘ซีเกมส์’
อสังหาฯ อย่าคาดหวังกำลังซื้อจีน
ยูเอส โอเพ่น ครั้งที่ 125 เมื่อ ‘โจทย์’ ยากเกินไป ก็ไม่สนุก
สะแกแสงและขางหัวหมู ไม้ยาหายาก
ดาวกับดวง วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2568
ขอแสดงความนับถือ
“อนุทิน” นิ่งสงบหลังถอนตัวจากรัฐบาล ย้ำ “ภูมิใจไทย” ไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง เตรียมทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ ขอให้บ้านเมืองสงบ
“ชัยวุฒิ”เผย เพื่อไทยพยายามชวนร่วมรัฐบาล แต่ พปชร.ไม่ร่วม ฝากพรรคร่วมฯ ถ้ายังกอดคอกันอยู่ จะจมน้ำตายกันหมด แนะ ถอนตัวตั้งรัฐบาลใหม่