

ขมก็ให้รู้ว่าขม | คำ ผกา
ช่วงนี้รัฐบาลและนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เจอเรื่องที่ยากมากๆ สองเรื่องพร้อมกันคือ เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเรื่องอุยกูร์
เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยากเพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจอธิปไตยของไทย และประเทศเมียนมาก็มีลักษณะการเมืองภายในที่เฉพาะตัวอย่างยิ่ง นั่นคือมีหลายรัฐอิสระที่สู้รบระหว่างกัน และที่สู้รบกับรัฐบาลกลาง ไม่ใช่รัฐบาลกลางธรรมดา แต่เป็นรัฐบาลกลางที่เป็นรัฐบาลทหารเผด็จการ
และที่ทึมๆ เทาๆ คือเราไม่มีวันรู้เลยว่าสปอนเซอร์หลักของแต่ละรัฐอิสระนั้นคือใคร หรือทุกกลุ่มที่รบกันอยู่ล้วนแต่มีสปอนเซอร์เป็นรายเดียวกัน แต่ที่แน่ๆ ทุกกลุ่มต่างพัวพันกับธุรกิจสีเทา
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทยจริงๆ คือเป็นแค่ทางผ่าน เรามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้น้อยเสียจนฉันคิดว่าเราควรเข้าไปยุ่งให้น้อยที่สุด แล้วหันมาจัดการเฉพาะที่เป็นปัญหาจากฝั่งเรา เช่น การรับส่วยของเจ้าหน้าที่ไทย หรือจะเลิกขายไฟฟ้า เลิกขายน้ำมัน ทำลายเสาสัญญาณอินเตอร์เน็ตอะไรก็ว่าไป
แต่ดูเหมือนรัฐบาลมีความทะเยอทะยานมากกว่านั้นคือมองว่าต้องเข้าไปจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง (อาจประเมินน้ำหนักของผลงานเหมือนการแก้ปัญหายาเสพติด คิดว่าถ้าทำสำเร็จก็เอาไปโฆษณาได้ว่ารัฐบาลนี้ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์สำเร็จ)
เมื่อตั้งเป้าว่าต้องสำเร็จเป็นผลงานก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ไทยเราต้องทำงานใกล้กับ “จีน” มากขึ้น จนดูเหมือนว่า จีนมาช่วยเราจัดการเรื่องนี้ มาเอาคนจีนเทาเหล่านี้กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศจีน
แต่ความซับซ้อนในความสัมพันธ์ก็บังเกิดเมื่อในเวลาไล่เลี่ยกันมีการส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ 40 คนในประเทศไทยกลับไปยังประเทศจีน
(ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงเราอยากจะใกล้จีนหรือไม่ใกล้จีนในเรื่องไหนบ้างและเราสวยเลือกได้ขนาดนั้นหรือไม่?)
โดยก่อนหน้านั้น ส.ส.ฝ่ายค้านได้เขียนในโซเชียลมีเดียว่า “มีข่าวลือว่ารัฐบาลไทยจะส่งชาวอุยกูร์กลับไปให้รัฐบาลจีน” และตัวฉันเองยังออกไปตอบโต้ว่าเป็นเฟกนิวส์ และเราไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลที่ละเอียด่อนแบบนี้ด้วยการอ้างอิงคำว่า “ข่าวลือ”
ทว่า หลังจากนั้นไม่กี่วันข่าวลือนี้ก็เป็นจริง
ข้อมูลพื้นฐานที่เรารู้เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ
หนึ่ง ปี 2014 นักข่าวไปพบชาวอุยกูร์ 220 คนในป่าสวนยางพารา พวกเขาเดินเท้าเข้ามาทางประเทศไทยเพื่อจะไปมาเลเซีย
สอง หลังจากพบแล้ว คนเหล่านี้จึงถูกจับโทษฐานลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตามหลักปฏิบัติสากล สิ่งที่เราควรต้องทำคือให้หน่วยงานอย่าง UNHCR เข้ามารับรองสถานะผู้ลี้ภัยให้พวกเขา และหาทางส่งพวกเขาไปยังประเทศที่สาม ซึ่งดูเหมือนว่าพวกเขาต้องการไปประเทศตุรกี
สาม การช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้ไปตุรกีสำเร็จเพียงครึ่งเดียว นั่นคือสามารถส่งไปได้แต่ผู้หญิงและเด็ก
สี่ จีนเรียกร้องให้ประเทศไทยส่งตัวชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ให้ประเทศจีน และในปี 2015 รัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์ 105 คน กลับไปยังประเทศจีน โดยใส่กุญแจมือและใช้ถุงดำครอบศีรษะ
ห้า วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2025 รัฐบาลไทยส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ที่เหลือทั้งหมดกลับไปยังประเทศจีน โดยทางรัฐบาลชี้แจงว่า รัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นสัญญาในการรับรองความปลอดภัยของทุกคนที่ถูกส่งกลับ และรัฐบาลไทยมีเงื่อนไขในการส่งกลับว่า จะต้องให้เจ้าหน้าที่จากประเทศไทยไปเป็นพยานว่าทุกคนปลอดภัยจริงๆ ได้เดินทางกลับบ้านจริงๆ และขอให้ทางจีนอนุญาตให้ฝ่ายไปได้ติดตามชีวิตของพวกเขาหลังจากนั้น เพื่อยืนยันว่าพวกเขาจะไม่ถูกจับกุม ทำร้าย หรือทำให้เสียชีวิต
หก ประเทศอเมริกา เยอรมนี อียูได้ออกแถลงการณ์ประณามประเทศไทยที่ส่งตัวชาวอุยกูร์ให้รัฐบาลจีน แต่เป็นแถลงการที่ลงท้ายในทำนองว่า การส่งกลับจะทำได้ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าคนที่ถูกส่งกลับจะไม่ถูกทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
เจ็ด ทางรัฐบาลไทย และนายกฯ พยายามออกมาชี้แจงว่า เป็นเวลายาวนานถึง 11 ปีแล้วที่ชาวอุยกูร์ถูกกักตัวใน ตม.ประเทศไทย และไม่มีประเทศไหนจะเข้ามาช่วยเหลือคนเหล่านี้ หรือรับคนเหล่านี้ไปตั้งรกรากในประเทศตนเอง รวมถึง UNHCR
นอกจากจะไม่ดำเนินการพาคนเหล่านี้ไปยังประเทศที่สาม UNHCR ยังตำหนิรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องว่า การกักตัวชาวอุยกูร์เหล่านี้สุ่มเสี่ยงจะเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจีนทวงถามว่าเมื่อไหร่จะส่งชาวอุยกูร์ (ซึ่งเป็นพลเมืองจีนในนิยามของรัฐบาลจีน) ให้จีน และเมื่อจีนยอมทำหนังสือรับรองความปลอดภัยให้รัฐบาลไทย จึงนำมาสู่การตัดสินใจส่งตัวชาวอุยกูร์เหล่านี้ไปจีน
ในมุมมองของรัฐบาลไทย นี่เป็นการยกภูเขาออกจากอก เพราะไทยอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในเรื่องนี้มานานกว่า 11 ปีแล้ว
แปด ฝ่ายค้านมองว่านี่เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม รัฐบาลแพทองธารชั่วร้าย เลวยิ่งกว่ารัฐบาลเผด็จการของ คสช.
สิ่งที่ฉันสนใจคือ ปฏิกิริยาของสังคมไทยต่อเรื่องนี้ที่มีความ “ไม่สม่ำเสมอ” หรืออาจจะเรียกได้ว่าลักลั่น
UNHCR นั้นออกมาประณามรัฐบาลไทยต่อเรื่องนี้ ทว่า ถูกตอกกลับด้วยข้อมูลว่า ประเทศไทยเคยขอให้ UNHCR ช่วยเหลือให้ชาวอุยกูร์เหล่านี้ได้ไปประเทศที่สาม แต่ UNHCR เห็นว่า ไทยกำลังจะใช้ UNHCR เป็นเกราะกำบังไม่ต้องขัดแย้งกับรัฐบาลจีน ซึ่ง UNHCR ก็ไม่ต้องการมีปัญหากับจีนเหมือนกัน เพราะรับเงินบริจาคจากจีนมูลค่า 7.7 ล้านเหรียญยูเอสอยู่
พรรคประชาชนออกมาประณามรัฐบาลอย่างหนักโดยอ้างว่ามีหลายประเทศแสดงเจตจำนงจะรับคนอุยกูร์เหล่านี้ไป แต่ก็ไม่สามารถระบุชื่อประเทศได้ว่า หลายประเทศที่ว่านั้นมีประเทศไหนบ้าง ในขณะที่ ทูตรัศมิ์ ชาลีจันทร์ ยืนยันว่า ไม่มีประเทศใดแสดงเจตจำนงนี้เลย
กัณวีร์ สืบแสง พรรคเป็นธรรม อดีตคนทำงาน UNHCR ที่ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประณามรัฐบาลอย่างหนักว่าโกหกเรื่องชาวอุยกูร์สมัครใจกลับไปจีน
โดยแสดงจดหมายสามฉบับที่เขียนถึงรัฐบาลไทยว่าไม่ประสงค์จะกลับไปยังประเทศต้นทาง และยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยทำนั้นผิดหลักการเรื่องการส่งตัว “ผู้ลี้ภัย” กลับประเทศต้นทาง
แต่ก็มีข้อถกเถียงอีกว่า ชาวอุยกูร์เหล่านี้ยังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งองค์กรที่จะให้สถานะผู้ลี้ภัยกับพวกเขาก็คือ UNHCR
หากจะสรุปตัวละครในเหตุการณ์นี้คือ
อเมริกา และชาติตะวันตกทั้งหมด พรรคประชาชน พรรคเป็นธรรม สื่อมวลชนไทย ปัญญาชน นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ngos เห็นว่า ชาวอุยกูร์หนีภัยคุกคามของรัฐบาลจีนมาและตกค้างอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ประเทศไทยมีหน้าที่ช่วยเหลือพวกเขา รวมถึงการไม่ส่งเขากลับไปยังประเทศต้นทาง (เพราะเขาจะถูกลงโทษอย่างหนัก)
รัฐบาลจีนมองว่า ชาวอุยกูร์เป็นพลเมืองจีน ปัญหาระหว่างจีนกับอุยกูร์เป็นปัญหาภายในประเทศ ประเทศอื่นไม่ควรเข้ามาก้าวก่าย ประเทศไทยควรเคารพอำนาจของรัฐบาลจีนเหนือพลเมืองจีน อย่ามาคิดแทน พลเมืองฉันอยู่ใปประเทศของเธอโดยผิดกฎหมาย เธอมีหน้าที่ส่งกลับมา
รัฐบาลไทยพยายามซื้อเวลามา 11 ปี อเมริกา ยุโรป ประณามจีน แต่ก็ไม่ได้มาเป็นปีกเป็นหางให้ไทยในการเผชิญหน้ากับจีน ถึงเวลาก็บอกว่า ประเทศฉันก็ “ยุ่งๆ” กับเรื่องอื่นอยู่ สุดท้าย เมื่อจีนสัญญาว่า คนเหล่านี้จะปลอดภัย อนุญาตให้ไทยไปเยี่ยม ไปดูได้ ก็ตัดสินใจส่งกลับ
รัฐบาลอเมริการู้สึกว่าตัวเองสูญเสียความสำคัญไปนิดหน่อย พยายามลงโทษไทยด้วยการออกจดหมายเตือนระวังจะเกิดเหตุการณ์ระเบิด ก่อการร้าย หลังจากที่รัฐบาลไทยส่งอุยกูร์ให้จีน หวังว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยที่เป็นรายได้หลักของประเทศอยู่ตอนนี้
ตุรกีที่ถูกอ้างว่าเป็นประเทศที่จะรับชาวอุยกูร์ไป ณ วันนี้ยังไม่ได้ออกมาพูดอะไร เพราะถ้าตุรกีจะรับคนเหล่านี้ไป ตุรกีน่าจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ออกมาประณามไทยว่าทำไมไม่ส่งไปประเทศฉัน ฉันรออยู่ เธอส่งไปจีนทำไม
ส่วนปฏิกิริยาคนไทยขวาจัด มองว่า ดีแล้วที่ส่งกลับไป จากนั้นก็ใช้วาทกรรม “ถ้าสงสารคนเหล่านี้ก็รับไปดูแลที่บ้านสิ” หรือเรียกนักการเมืองที่ออกมาประณามรัฐบาลว่า เป็น ส.ส.อุยกูร์ ส.ส.โรฮิงญา ส.ส.พม่า ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ส่วนคนที่ไม่ขวาจัดบางกลุ่ม ไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยส่งอุยกูร์ให้จีน แต่ก็เข้าใจว่า ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้สำหรับประเทศเล็กๆ อย่างไทย มองว่าเราไม่มีหน้าตักมากพอที่จะ “หือ” กับจีน บางกลุ่มวิเคราะห์ว่า สถานการที่ซินเจียงดีขึ้นแล้ว ไม่เหมือนเมื่อสิบปีที่แล้ว ตอนนี้ซินเจียงถูกทรีตเป็นเมืองท่องเที่ยว สวยงาม การถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจีนไม่ใช่เรื่องที่คนอุยกูร์ชอบ แต่สู้รบไปก็ไม่มีประโยชน์ การตัดสินใจกลับไปซินเจียงของกลุ่มผู้ต้องกักกลุ่มนี้อาจเกิดจากการที่เขาชั่งใจแล้วว่า ดีกว่าค้างเติ่งอยู่ในประเทศไทย
สิ่งที่น่ากังวลสำหรับฉันคือ โหวตเตอร์เพื่อไทยกลุ่มที่มีความตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เราสามารถเข้าใจข้อจำกัดและทางเลือกอันน้อยนิดของรัฐบาลได้
แต่เราต้องไม่กลายเป็นฝ่ายขวา คลั่งชาติ รังเกียจผู้อพยพ ต้องการไล่อุยกูร์ โรฮิงญา ออกนอกประเทศ
เราไม่ชอบพรรคประชาชนก็ได้ แต่การไม่ชอบไม่เชียร์พรรคประชาชนไม่ได้แปลว่าเราไม่สามารถสมาทานคุณค่าของความเป็นเสรีนิยม มนุษยนิยม และการเมืองเชิงอัตลักษณ์ได้
อย่าลืมว่าผลงานของพรรคเพื่อไทย เรื่องสมรสเท่าเทียม เรื่องการให้สัญชาติแก่ผู้ไร้สัญชาติในประเทศไทย ล้วนแต่เป็นคุณค่าของการเมืองเชิงอัตลักษณ์ ประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค เสรีภาพ อันเป็นคุณค่าที่เราต้องกดดันให้พรรคเพื่อไทยรักษาไว้จนถึงที่สุด เพราะมันคือคุณค่าเดียวที่จะยืนยันว่าทำไมถึงยังต้องมีพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยอยู่ในประเทศนี้
กรณีอุยกูร์ ฉันเห็นว่าเราสามารถพูดได้ว่า เราไม่เห็นด้วยเท่าๆ กับที่เราก็ไม่เห็นว่ามีทางเลือกที่ดีกว่านี้ การเป็นพรรคเพื่อไทย และการเป็นโหวตเตอร์เพื่อไทย ไม่ได้แปลว่าเราต้องทำอย่างตรงกันข้ามกับพรรค “ส้ม” เพราะคุณค่าของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
การโอบรับอัตลักษณ์ที่หลากหลายของผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา เป็นคุณค่าสากล เพียงแต่มันถูกขับเน้นให้เป็นจุดขายของพรรคส้มแต่ไม่ได้แปลว่าพรรคส้มผูกขาดคุณค่าเหล่านั้นไว้แต่เพียงพรรคเดียว
เราสามารถอธิบายเรื่องการส่งอุยกูร์ไปจีนด้วยเหตุผลที่เป็นข้อจำกัดทางการเมืองระหว่างประเทศและอำนาจอันน้อยนิดของเรา แต่เราไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องยินดีต่อการตัดสินใจนี้
และเราควรจะสามารถออกมาพูดคำว่าเสียใจด้วยซ้ำต่อภาวะที่เราจำต้องเลือกหนทางนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022