

บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
ปรีดี แปลก อดุล
: คุณธรรมน้ำมิตร (64)
จอมพล ป.ไม่รับรองเบาได๋
เมื่อฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะรับรองรัฐบาลประชาธิปไตยของโฮจิมินห์ และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นจักรพรรดิเบาได้ขึ้นในต้นปี พ.ศ.2490 สหรัฐอเมริกาและอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของฝรั่งเศสก็ได้พยายามชักจูงให้รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ของไทยรับรองเบาได๋เพื่อวาดภาพต่อประชาคมโลกว่าระบอบเบาได๋เป็นตัวแทนของชาวเวียดนามที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลในภูมิภาคเดียวกัน
แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลไทยซึ่งถือนโยบายสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของเวียดนามที่นำโดยโฮจิมินห์มาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติ
จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารและจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเมษายน พ.ศ.2491 สหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ลดละความพยายาม
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2491 จอมพล ป.พิบูลสงคราม แม้จะไม่สานต่อนโยบายสนับสนุนการต่อสู้กับฝรั่งเศสของโฮจิมินห์ แต่ก็เห็นคล้อยตามข้อเสนอแนะของกระทรวงการต่างประเทศที่มีนายพจน์ สารสิน เป็นรัฐมนตรีว่าการ ที่เห็นว่าไทยควรวางตัวเป็นกลางและไม่ควรให้การสนับสนุนใดๆ ต่อระบอบเบาได๋
และหากพรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบความสำเร็จในการปฏิวัติจีน ก็ไม่ควรรีบร้อนประกาศไม่รับรองจีนคอมมิวนิสต์ตามแนวทางของประเทศตะวันตกเช่นกัน
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2491 นายเคนเนธ แพ็ตตัน ( Kenneth Patton) ที่ปรึกษาชาวอเมริกันประจำกระทรวงการต่างประเทศไทยได้ทำบันทึกข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ไทยควรจะสนับสนุนระบอบเบาได๋ซึ่งมีแต่ความล้มเหลวรอคอยอยู่ อีกทั้งการสนับสนุนเบาได๋ยังขัดกับหลักสิทธิอัตวินิจฉัยที่แต่ละประเทศควรมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการเลือกทางเดินของตน
นายแพ็ตตันย้ำด้วยอีกว่ากรณีการจะรับรองจีนหรือไม่นั้น รัฐบาลไทยควรจะตระหนักว่าในฐานะประเภทเล็กๆ ไทยย่อมไม่สามารถจะทำอะไรที่จะส่งผลทั้งต่อความพ่ายแพ้ของจีนคอมมิวนิสต์ หรือจะช่วยรักษาระบอบเบาได๋เอาไว้ได้
จอมพล ป.พิบูลสงคราม และกระทรวงการต่างประเทศเห็นด้วยกับข้อเสนอของที่ปรึกษาชาวอเมริกัน จึงปฏิเสธที่จะประกาศรับรองเบาได๋
ในปลายปี พ.ศ 2492 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2492 สหรัฐอเมริกาก็รุกเร้าไทยหนักยิ่งขึ้นในปัญหาเดิมพร้อมยื่นข้อเสนอการให้ความช่วยเหลือไทยเป็นการชักจูง
จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาปัญหาจีนและเบาได๋กับผลกระทบต่อความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
นายพจน์ สารสิน ได้ทำบันทึกข้อเสนอในนามกระทรวงการต่างประเทศเสนอต่อที่ประชุมว่า ในกรณีของจีน รัฐบาลควรรอดูสถานการณ์ไปก่อน ส่วนกรณีเบาได๋ ก็ยังคงยืนยันความคิดเดิมว่าไทยไม่ควรให้การรับรองเพราะเบาได๋ไม่มีฐานสนับสนุนใดๆ ในเวียดนาม อีกทั้งฝรั่งเศสจะต้องถอนตัวออกจากเวียดนามไปในที่สุด หากในอนาคตฝ่ายโฮจิมินห์ขึ้นมาปกครองประเทศก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศัตรูกับเพื่อนบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2493 เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเข้าพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อขอทราบการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบบ่ายเบี่ยงว่ายังไม่มั่นใจต่อมติมหาชนในเวียดนามว่าสนับสนุนเบาได๋มากเพียงใด อีกทั้งหากฝรั่งเศสล้มเหลว ประเทศไทยจะตกอยู่ในฐานะลำบาก โดยเฉพาะจากกองกำลังเวียดนามที่หลบซ่อนอยู่ในภาคอีสานของไทย
นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล อธิบดีกรมการเมืองตะวันตก จัดทำบันทึกข้อเสนอแนะลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 ซึ่งนายพจน์ สารสิน ได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในฐานะความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศไทยในยุคนั้นไม่เพียงมีความรู้สึกดูถูกจักรพรรดิเบาได๋ที่ “แม้พวกปัญญาชนของเวียดนามก็หานิยมชมชื่นในเบาได๋ไม่ ถือว่าชอบสนุกมากกว่าสิ่งอื่น” แต่ยังมีความเห็นอกเห็นใจต่อการต่อสู้เพื่อเอกราชของฝ่ายโฮจิมินห์ซึ่งเป็น “นักรบสู้ฝรั่งเศสเพื่อกู้อิสรภาพและเอกราชของเวียดนามมาโดยตลอด อยู่ในฐานะได้รับการยกย่องจากประชาชนส่วนใหญ่”
กรณีเบาได๋เป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจในสงครามเย็นซึ่งไทยเป็นประเทศเล็กๆ และเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับเวียดนาม ไทยจึงต้องเสี่ยงมากกว่าหากรับรองเบาได๋แล้วเบาได๋อยู่ไม่รอด ไทยก็จะกลายเป็นศัตรูกับรัฐบาลโฮจิมินห์ทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากโฮจิมินห์ร่วมมือกับจีนคอมมิวนิสต์แล้วกลายเป็นปฏิปักษ์กับไทย ถึงตอนนั้นประเทศไทยก็ไม่อาจจะร้องขอความเห็นใจจากใครได้
และประการสำคัญ “ถ้าการต่อสู้ในอินโดจีนเป็นการต่อสู้ระหว่างญวนกับฝรั่งเศส ประเทศไทยย่อมสนับสนุนฝรั่งเศสไม่ได้ ถ้าเป็นการต่อสู้ระหว่างเบาได๋กับโฮจิมินห์ช่วงชิงอำนาจกันในเวียดนาม ไทยก็ไม่ควรเข้าแทรกแซงในกิจการภายในของเวียดนาม โดยลำพังตัวเองเบาได๋ไม่มีทางสู้โฮจิมินห์ ต้องอาศัยมือฝรั่งเศส การสนับสนุนเบาได๋เท่ากับส่งเสริมให้มีการแบ่งแยกภายในอินโดจีนให้รุนแรงขึ้นกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศซึ่งจะนำความกระทบกระเทือนใหญ่หลวงมาให้ประเทศไทยแน่นอน”
นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า โฮจิมินห์เป็นคอมมิวนิสต์จริงหรือไม่ โดยอ้างคำกล่าวของนายแม็กโดแนลข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ว่า ในขบวนการของโฮจิมินห์มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นคอมมิวนิสต์ นอกนั้นเป็นพวกชาตินิยม “การที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ (จีนและสหภาพโซเวียต/บัญชร) รับรองโฮจิมินห์จะทึกทักว่ารัฐบาลโฮจิมินห์เป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ภายใต้การบังคับบัญชาของจีนคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตได้แล้วหรือ”
นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ยังชี้ให้เห็นถึงความเคารพต่อกติกาการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญคือ “หลักสิทธิอัตวินิจฉัยของรัฐ”
ดังที่ได้บันทึกไว้ว่า “สำหรับไทยเหล่านั้น เราไม่นิยมคอมมิวนิสต์เป็นพื้นฐาน แต่ถ้าประเทศอื่นเลือกโดยสมัครใจหรือไม่ก็ตามที่จะมีระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ อย่างมากที่ไทยจะกระทำได้ก็คือเสียใจด้วยที่เขาเลือกเช่นนั้น แต่เราไม่อาจจะเข้าไปแทรกแซง”
สรุปว่าเมื่อสถานการณ์ในอินโดจีนยังไม่ลงตัว ไทยควรถือนโยบายรอดูเหตุการณ์ไปก่อน “โดยไม่เข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอันอาจถือเป็นการแทรกแซงเข้าไปในกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน”
จอมพล ป.กลับลำ
สหรัฐอเมริกายังคงไม่ลดละความพยายามที่จะให้รัฐบาลไทยรับรองรัฐบาลเบาได๋ โดยพยายามโน้มน้าวในหลายภาคส่วนของรัฐบาลไทยจนทำให้บางส่วนเห็นด้วยซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในคณะรัฐบาลมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เริ่มเอนเอียงเห็นด้วยกับสหรัฐอเมริกามากขึ้นตามลำดับ จนในที่สุดก็หันมาให้การสนับสนุน
ในการประชุมครั้งถัดมาเพื่อพิจารณาปัญหานี้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ระดมฝ่ายทหารและตำรวจถึง 67 นายเข้าร่วมประชุม แต่ก็ยังไม่สามารถหาฉันทามติสนับสนุนจุดยืนของตนที่เปลี่ยนไปได้
ในที่สุด จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ตัดสินใจประกาศรับรองรัฐบาลภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีนทั้ง 3 ประเทศในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2493 โดยลงมือร่างทำประกาศด้วยตนเอง ส่งผลให้นายพจน์ สารสิน ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทันที
แถลงการณ์ประกาศรับรองรัฐบาลเบาได๋ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อ้างว่าสถานการณ์ในภูมิภาคกำลังถูกกระทบกระเทือนจากลัทธิคอมมิวนิสต์ “อันเป็นลัทธิที่ประชาชนจะต้องทำลายล้างศาสนาประจำชาติของตนและล้มเลิกระบอบถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนทั้งมวล”
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ย้ำว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นลัทธิที่ไม่ใช่ไทย เพราะ “ฝืนต่อความเป็นอยู่ของประชาชาติไทยที่บรรพบุรุษของเราได้ก่อสร้างขึ้นไว้ให้แก่เรามาจนทุกวันนี้” หากคอมมิวนิสต์เข้ามาในไทยจะทำให้คนไทยรบราฆ่าฟันดังที่เกิดกับประเทศอื่นๆ และขณะนี้ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้เข้าไปยังประเทศจีนและขยายเข้าสู่เวียดนามแล้ว
ด้วยเหตุนี้การรับรองรัฐบาลเวียดนามลาวและเขมร “ซึ่งประเทศฝรั่งเศสได้มอบความเป็นเอกราชให้ด้วยเมตตาจิต” จะนำความสุขมาสู่ประชาชน ชาวเวียดนาม ลาวและเขมร “ตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตยและตามหลักของสหประชาชาติต่อไป ทั้งจะเป็นทางให้ประเทศชาติเพื่อนบ้านใกล้เคียงทั้งหลายรวมทั้งประเทศไทยให้ปลอดภัยแห่งระบอบคอมมิวนิสต์”
(ขอบคุณข้อมูลจาก “สงครามเวียดนาม : สงครามกับความจริงของ “รัฐไทย” พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ภวัครพันธุ์)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022