

มีหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง กับบทบาทผู้นำ คงทำหน้าที่อย่างที่ควร อย่างต่อเนื่อง ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย
ด้วยตั้งใจนำเสนอให้เข้ากับช่วงเวลากำลังสรรหาผู้ว่าการคนใหม่ ของหน่วยงานรัฐสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ ในจังหวะเดียวกัน มีผู้ว่าการ (รวมทั้งอดีตผู้ว่าการ) ในระบบราชการไทยอีกบางคน กำลังเผชิญบททดสอบจากสังคมอย่างเข้มข้น สะท้อนมิติและปัญหาเชิงระบบรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้นำกับหน่วยงานรัฐที่กล่าวถึง อาจเป็นหนึ่งไม่กี่ที่ เชื่อว่า มิได้เป็น “ชิ้นส่วน” สะท้อนภาพใหญ่ที่เป็นปัญหาทั้งระบบราชการ
นั่นคือ เรื่องราวว่าด้วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือที่เรียกๆ กัน “แบงก์ชาติ”
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน เป็นผู้ว่าการคนที่ 21 ในประวัติศาสตร์องค์กรที่มีพัฒนาการมาถึง 83 ปี วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี (1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2568) ของเขา กำลังจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า กระบวนการสรรหาผู้ว่าการคนต่อไป ซึ่งใช้เวลา กำลังเป็นไป
ในฐานะผู้ติดตามสังคมไทย ว่าเฉพาะเกี่ยวกับหน่วยงานราชการ ในกระบวนการนั้นมีบางมิติซ่อนอยู่ คิดว่าสะท้อนภาพใหญ่บางภาพด้วย นั่นคือ ระบบข้อมูลหน่วยงานราชการซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณชนในยุคปัจจุบัน (ผ่าน Official website) ผมเป็นผู้หนึ่งซึ่งให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษ
เป็นที่น่าสังเกต ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th) เป็นหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งซึ่งตั้งใจและให้ความสำคัญ ดูจะมากกว่าหน่วยงานราชการอื่นใดโดยทั่วไปด้วย
สิ่งที่พิจารณาเบื้องต้น คือข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับองค์กร ให้ภาพน่าสนใจและจริงจัง
มิติแรก–ให้ความสำคัญในความสัมพันธ์กับสาธารณชน และผู้เสียภาษี ในการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ
อีกมิติ–ให้ข้อมูลพื้นฐานครบถ้วน อย่างซื่อสัตย์ตามหลักวิชาการ สะท้อนความตั้งใจ ด้วยความรู้ ในฐานะองค์กรสาธารณะที่น่าเชื่อถือและมีความมั่นใจ
กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านการนำเสนอ ประวัติความเป็นมา และเกี่ยวกับผู้ว่าการ ตั้งแต่ต้น จนถึงปัจจุบัน
ขออ้างอิงประวัติศาสตร์การก่อตั้ง (อ้างมาจากเรื่อง “ประวัติธนาคารแห่งประเทศไทย” – www.bot.or.th) ตอนที่สำคัญได้กล่าวเจาะจงถึงบุคคลสำคัญ 2 คน ขอบันทึกไว้

หนังสือประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
“…ภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 สืบเนื่องจากการเสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของคณะราษฎรที่นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เป็นผู้ร่าง ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการจัดตั้งธนาคารชาติ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการดำเนินการเศรษฐกิจของประเทศ…”
ความพยายามในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ จนมาถึงในปี 2481 “นายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง…ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย อธิบดีกรมศุลกากรย้ายมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง…นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ที่ปรึกษากระทรวงการคลังฝ่ายไทยรับผิดชอบในการร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติ…”
นั่นคือจุดตั้งต้นอย่างแท้จริง เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญ “พระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2482”
มาอีกระยะหนึ่ง ถึงมีการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี 2485 และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย คือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนแรก

หนังสือที่ระลึกครบรอบ 30 ปี…ประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
หากสนใจประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร หาอ่านได้จากระบบข้อมูลทางการของ ธปท. เฉพาะในยุคก่อตั้ง มีหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีอยู่ (โปรดพิจารณาภาพประกอบ) นำเสนอรายละเอียดไว้อย่างดี “หนังสือที่ระลึกครบรอบ 30 ปี…ประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย” ปี 2515 จัดทำขึ้นในยุค พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ เป็นผู้ว่าการ (16 สิงหาคม 2514-23 พฤษภาคม 2518)
หนังสือเล่มนี้ให้ภาพธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเวลาก่อตั้ง จนถึงการวางรากฐานอย่างมั่นคงในสังคมไทย สัมพันธ์กับบทบาทผู้ว่าการคนสำคัญ 3 คน ตามข้อมูลทางการ (หัวข้อ “ผู้ว่าการอดีตถึงปัจจุบัน” – www.bot.or.th) ดูตั้งใจให้ความสำคัญไว้เป็นพิเศษ ด้วยอรรถาธิบายเนื้อหามากกว่าคนอื่นๆ ทั้งประวัติส่วนตัวค่อนข้างละเอียด
ที่สำคัญมีบทขยายความ ว่าด้วย “บทบาทต่อธนาคารแห่งประเทศไทย”
คนแรก-พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย (2442-2503) ผู้ว่าการคนแรก (ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ 27 พฤศจิกายน 2485-16 ตุลาคม 2489 และ 3 กันยายน 2491-2 ธันวาคม 2491)
คนที่สอง-ดร.เสริม วินิจฉัยกุล (2450-2528) ผู้ว่าการคนที่ 2 ดำรงตำแหน่ง 2 วาระเช่นกัน (17 ตุลาคม 2489-24 พฤศจิกายน 2490 และ 1 มีนาคม 2495-24 กรกฎาคม 2498)
และ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2459-/2542) ผู้ว่าการคนที่ 7 ผู้อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด (11 มิถุนายน 2502-15 สิงหาคม 2514)
ทั้งสามเป็นคนต่างรุ่นไล่ระดับกันมา ต่างฐานะจากราชนิกูล ขุนนางและสามัญชน ทว่า ยังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวต่อเนื่องกันจากอิทธิพลระบบอาณานิคม มาเข้ายุคต้นอิทธิพลสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางระยะเปลี่ยนผ่านในสังคมไทย จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สู่รัฐบาลเผด็จการทหารค่อนข้างยาวนาน
พวกเขาถือเป็นผลิตผลจากแนวคิด “การเรียนรู้วิทยาการของระบบอาณานิคม จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในยุคนั้น…ความคิดของชนชั้นนำไทยในการเรียนรู้ฝรั่งเพื่อต่อสู้และประนีประนอมผลประโยชน์กับฝรั่ง…” บางตอนจากหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” โดย วิรัตน์ แสงทองคำ (เมษายน 2545)
มีบางตอนระบุไว้ “หนังสือของมานิต ชุมสาย (King Mongkut & The Britsh) ระบุว่าในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1926 หรือ พ.ศ.2469) มีนักเรียนศึกษาในอังกฤษประเทศเดียว ไม่น้อยกว่า 2,000 คน”
เป็นช่วงเดียวกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ศึกษาในต่างประเทศอย่างยาวนานตั้งแต่ประถม มัธยมและปริญญาตรีรวมกันราวทศวรรษ
ส่วน ดร.เสริม วินิจฉัยกุล กับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีภูมิหลังการศึกษาพื้นฐานในสังคมไทยเชื่อมโยงกัน จากโรงเรียนอัสสัมชัญ (ก่อตั้งปี 2418) ผลผลิตจากระบอบอาณานิคมซึ่งลงหลักในสังคมไทย ต่อเนื่องมายังระบบการศึกษาชั้นสูง จากสถาบันการศึกษาเพิ่งก่อตั้งและหลอมรวมกัน จากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม (ก่อตั้งปี 2440) ถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก่อตั้งปี 2477)
ต่อมาทั้งสองเดินตามกัน มีโอกาสไปศึกษาต่อ ณ สถาบันการศึกษาชั้นนำของยุโรป ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองสังคมไทย
ผู้ว่าการ ธปท.ทั้งสามมีบทบาทสำคัญ ต่างกรรมต่างวาระ (อ้างอิงข้อมูลทางการบางช่วงบางตอน – www.bot.or.th)
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย “…เผชิญปัญหาเกี่ยวกับการคลังและการเงินในระหว่างสงคราม ตลอดจนการป้องกันภาวะเงินเฟ้อในประเทศ…เสนอวิธีการต่างๆ ต่อรัฐบาลไทยหลายวิธี จนสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงได้”
ดร.เสริม วินิจฉัยกุล “…เป็นช่วงที่ประเทศไทยขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากสามารถส่งออกสินค้าได้เพียงเล็กน้อย รัฐบาลจึงต้องมีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และออกกฎหมายอนุมัติให้ขายทองคำทุนสำรองในสหรัฐอเมริกาและได้เงินมา 5 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องซื้อกลับคืนมาภายในเวลา 5 ปี แต่…ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการซื้อทองคำคืนมาได้ภายในระยะเวลา 2 ปี”
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “มีบทบาทสำคัญในการยกร่างพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 …การพัฒนาตลาดทุน…ริเริ่มให้มีการศึกษาการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย…ผลักดันให้มีการเปิดสาขาธนาคารในต่างจังหวัด…พิมพ์ธนบัตรในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และริเริ่มส่งนักเรียนทุนไปศึกษาต่างประเทศเป็นจำนวนมาก…”
ทั้งสามคือบุคคลสำคัญ แสดงบทบาทอย่างโดดเด่น ไม่เพียงเป็นผู้นำองค์กรรัฐที่สำคัญที่ว่ามา หากมีส่วนในวงกว้างให้ระบบเศรษฐกิจไทย ก้าวข้ามช่วงเวลาท้าทาย •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022