เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

เดินหน้าสู่ปีที่ 4 (13) ยิ่งรบยาว ก็ยิ่งรบยาก

21.05.2025

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

เดินหน้าสู่ปีที่ 4 (13)

ยิ่งรบยาว ก็ยิ่งรบยาก

 

“ปัญหาคือ ยูเครนไม่ได้กำลังเผชิญกับการไม่มีเงิน พวกเขากำลังเผชิญกับการไม่มีชาวยูเครนต่างหาก”

Marco Rubio

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ด้วยสถานะของความเป็นประเทศเล็กกว่าและอ่อนแอกว่าของยูเครนเป็นข้อเสียเปรียบในตัวเอง เมื่อต้องทำสงครามกับรัสเซีย ซึ่งเป็นรัฐมหาอำนาจที่ใหญ่กว่า มีทรัพยากรมากกว่า และมีกองทัพที่ใหญ่กว่า

ดังนั้น เมื่อสงครามยาวนานเกินกว่า 1-2 ปีแล้ว ความเสียเปรียบของยูเครนปรากฏชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางทหาร ดังจะเห็นได้ว่าการเป็นประเทศเล็กกว่า ที่มีประชากรน้อยกว่านั้น การระดมพลเข้าสู่กองทัพในยามสงคราม ย่อมเป็นปัญหาในตัวเอง เช่นที่รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันกล่าวในข้างต้นว่า ยูเครนไม่มีคนเหลือมากพอให้รัฐบาลเกณฑ์มาเป็นทหารแล้ว

ขณะเดียวกันเห็นได้ชัดว่าในเชิงปริมาณสำหรับปี 2022-23 ที่เป็นเวลาเริ่มต้นของสงครามนั้น กองทัพรัสเซียมีขนาดใหญ่ด้วยจำนวนกำลังพลราว 1.19 ล้านนาย ส่วนยูเครนกำลังประมาณ 6.88 แสนนาย อีกทั้งในมิติของสงครามนั้น อำนาจกำลังรบอีกส่วนคือ ขีดความสามารถของอุตสาหกรรมทหาร ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมทหารของยูเครน มีขนาดเล็กกว่าของรัสเซียมาก ทั้งมีความจำกัดอย่างมากด้วย เพราะใช้พื้นฐานเดิมของระบบอาวุธโซเวียต และที่สำคัญอีกส่วนได้รับผลกระทบอย่างมากจากการถูกโจมตีจากรัสเซีย

ดังนั้น การประเมินสถานะทางทหารของยูเครนจึงมีความจำกัดอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏชัดในสภาพเช่นนี้คือ เงื่อนไขของจำนวนประชากรที่ลดลง บีบรัดให้รัฐบาลยูเครนต้องเผชิญกับปัญหาอย่างมากในการวางแผนกำลังพล เพราะหากคนในประเทศเริ่มมีไม่มากพอ ประกอบกับกำลังพลอีกส่วนประสบความสูญเสียอย่างหนักจากการรบที่รุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่นเดียวกับความสูญเสียของยุทโธปกรณ์

ถ้าเช่นนั้นแล้วนับจากปีแรกของสงครามในปี 2022 ยูเครนจะรบต่อไปอย่างไรในอนาคต… โจทย์สงครามเช่นนี้ไม่ง่ายเลย และท้าทายต่อเซเลนสกีเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ทำอย่างไรที่กองทัพยูเครนจะรบได้ในระยะยาว และยังจะต้องรบให้ชนะกองทัพรัสเซียอีกด้วย

แต่ความเป็นจริงที่โหดร้ายของสงครามคือ “ยิ่งรบยาวเท่าใด ก็ยิ่งรบยากเท่านั้น” เพราะสงครามที่ทอดระยะเวลายาวนานออกไปมากเท่าใด จะยิ่งทำลาย “ศักย์สงคราม” (war potential) ของรัฐมากขึ้นเท่านั้น

 

สงครามที่ไม่เคยหยุดรบ

สิ่งที่ยูเครนประสบปัญหาอย่างมากในการทำสงครามต่อต้านการรุกรานของรัสเซียนั้น เป็นภาพสะท้อนถึงความอ่อนแอที่เกิดจากเงื่อนไขภายในของยูเครนเอง สภาวะของสงครามเป็นคำตอบในตัวเองว่า เมื่อกองทัพรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จในการยึดยูเครนตามแผนยุทธการที่เขียนขึ้นจาก “จินตนาการที่ผิดพลาด” แล้ว กองทัพรัสเซียไม่ได้ยกเลิกแนวคิดในการทำสงครามกับยูเครนแต่อย่างใด กลับยังเดินหน้าทำสงครามต่อไป

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดรูปแบบทางยุทธวิธีอย่างง่ายๆ คือ “ฝ่ายหนึ่งโจมตี อีกฝ่ายต่อต้านการโจมตี” (หรือในทางทหารคือ “attacks and counter-attacks”) เกิดขึ้นต่อเนื่องและสลับกันไปมา ดังนั้น เราอาจกล่าวในทางทฤษฎีการสงครามได้ว่า คู่ขัดแย้งตัดสินใจที่จะเข้ามาเล่นเกมสงครามแบบเดียวกัน กล่าวคือ ต่างฝ่ายต่างทำให้สงครามดำเนินไปบนหลักการของ “การรบแบบทอนกำลัง” (the battle of attrition)

แนวคิดทางยุทธศาสตร์แบบนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ยูเครนมีความมั่นใจว่า จะสามารถ “ทอนกำลัง” กองทัพรัสเซียได้มากกว่าและเร็วกว่าที่รัสเซียจะกระทำกับฝ่ายตน รัสเซียก็คิดด้วยความมั่นใจในชุดความคิดแบบเดียวกันว่า รัสเซียต่างหากที่จะเป็นฝ่าย “ทอนกำลัง” กองทัพยูเครนได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งรัสเซียมีความมั่นใจมากกว่า เพราะเชื่อว่าฝ่ายที่อ่อนแอกว่าในความหมายของการมีกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่น้อยกว่า จะไม่สามารถทานสภาวะของการ “ทอนกำลัง” ได้ในระยะยาว และการถูกทอนกำลังจากเงื่อนไขของสนามรบ จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้รัฐที่อ่อนแอกว่า จะเป็นฝ่ายถูกบังคับให้ต้องยอมแพ้ไปโดยปริยาย

หรือในอีกด้านหนึ่ง ระยะเวลาของสงครามที่ยืดออกไปจะกลายเป็นโทษต่อกองทัพยูเครนเอง

 

ในทำนองเดียวกัน รัสเซียก็มั่นใจอย่างมากว่าด้วยความเหนือกว่าในเชิงปริมาณทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ยูเครนในความเป็นฝ่ายที่อ่อนแอกว่าจะเป็นฝ่ายแพ้ไปก่อนอย่างแน่นอน แม้ว่ายูเครนจะได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธจากฝ่ายตะวันตก แต่รัสเซียก็เชื่อว่าสภาวะของการทอนกำลังในสนามรบจะทำให้การให้ความช่วยเหลือทางทหารกับยูเครน จะกลายเป็นภาระอย่างมหาศาลแก่รัฐตะวันตก จนในที่สุดประเทศเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถแบกภาระเช่นนี้ได้อีกต่อไป และถ้าตะวันตกไม่ให้ความสนับสนุนแก่ยูเครนแล้ว กองทัพยูเครนจะไม่สามารถทำการรบได้อีกต่อไป หรือโดยนัยก็คือ กองทัพรัสเซียจะเป็นฝ่ายที่ชนะสงครามในที่สุด แม้จะต้องบอบช้ำอย่างมากกับการรบแบบทอนกำลังก็ตาม

สงครามทอนกำลังลากสถานการณ์สงครามยูเครนข้ามจากปีที่ 1 (2022) สู่ปีที่ 2 (2023) เข้าปีที่ 3 (2024) และต่อเนื่องเข้าปีที่ 4 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเกิดสภาวะของ “การยัน” (the stalemate) ในสนามรบ ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับสภาวะของสงครามสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพของรัฐคู่พิพาทในสภาวะดังกล่าวจึงมีอาการ “อ่อนล้าและอ่อนแรง” อย่างมาก และมองไม่เห็นโอกาสที่จะได้รับชัยชนะข้างหน้าเท่าใดนัก

ความหวังที่จะได้ชัยชนะอย่างรวดเร็วของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนั้น ดูจะเป็นไปได้ยาก

 

สู้จนอ่อนแรง รบจนอ่อนล้า!

ในทางทหารนั้น การจะเปลี่ยนการยันให้เป็นการรุกเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง และเป็นที่รับรู้กันว่า ยูเครนจะชนะสงครามได้ จะต้องเปลี่ยนสถานะของฝ่ายตนในสนามรบให้ได้ เพราะหากการรบถูกลากต่อเนื่องไปในระยะยาวด้วยการรบแบบทอนกำลังแล้ว โอกาสแห่งชัยชนะน่าจะเป็นของทางฝ่ายรัสเซีย หรือกล่าวในมุมมองทางทหารได้ว่า ยูเครนจะบรรลุวัตถุประสงค์การสงครามได้ตามที่ต้องการ ก็ต่อเมื่อเกิดการเปลี่ยนสภาวะในปัจจุบันของสงครามทอนกำลัง ไปสู่การเป็น “สงครามดำเนินกลยุทธ์” (Manoeuvre Warfare) เพื่อที่จะนำไปสู่การรบแตกหัก และนำมาซึ่งชัยชนะ

นอกจากนี้ สำหรับรัฐมหาอำนาจตะวันตกที่สนับสนุนการทำสงครามต่อต้านรัสเซียของยูเครน อาจจะไม่สามารถแบกรับภาระสงครามไปได้ในระยะยาว เพราะการรบที่รุนแรงและต่อเนื่องในรูปแบบของการทอนกำลังนั้น นอกจากจะทำให้เกิดการสูญเสียกำลังพลจำนวนมากแล้ว ยังจะทำให้เกิดความเสียหายต่อยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากอีกด้วย การส่งอาวุธใหม่ตลอดรวมถึงการปรนนิบัติบำรุงระบบอาวุธเดิม ที่ต้องการอะไหล่อาวุธเป็นจำนวนมากนั้น อาจมีนัยโดยตรงของการเพิ่มงบประมาณทหารของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งก็จะเป็นข้อจำกัดในระยะยาวสำหรับยูเครน เพราะความช่วยเหลือทางทหารเช่นนี้อาจจะลดลงได้ในอนาคตภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองของประเทศนั้นๆ

อีกทั้งสิ่งที่ต้องการอย่างมากในการรบแบบทอนกำลัง คือการใช้กระสุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กระสุนปืนใหญ่ สภาวะเช่นนี้ไม่แตกต่างจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่การบริโภคกระสุนในยุทธการแต่ละครั้ง ก่อให้เกิด “วิกฤตกระสุน” (ammunition crisis) และแน่นอนว่าความขาดแคลนกระสุนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เหนี่ยวรั้งปฏิบัติการทางทหารของรัฐคู่พิพาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย หรือคำตอบที่ตรงไปตรงมาในภาวะเช่นนี้คือ กองทัพรบไม่ได้โดยไม่มีกระสุนเพียงพอ

ฉะนั้น การจะรบได้นานในสงครามทอนกำลัง จึงมีนัยโดยตรงถึงความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอาวุธในบ้านที่จะต้องสนับสนุนกระสุนให้ได้อย่างต่อเนื่อง หรือมิเช่นนั้นทางออกอีกแบบคือ การแสวงหาความสนับสนุนด้านอาวุธจากรัฐพันธมิตร ซึ่งเห็นได้ชัดถึงการต้องพึ่งพาอาวุธจากชาติพันธมิตรของยูเครน

ในทำนองเดียวกัน แม้รัสเซียจะเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ แต่สนามรบที่ทอนกำลังในยูเครนนั้น ก็ทำให้กองทัพรัสเซียประสบกับความขาดแคลนอาวุธและกระสุนไม่แตกต่างกัน

 

คําตอบในอีกส่วนของสภาวะเช่นนี้สำหรับชาติพันธมิตรของรัฐคู่สงคราม จึงไม่ใช่เป็นประเด็นในมิติทางทหารเท่านั้น หากเป็นประเด็นที่ต้องการการตัดสินใจ เนื่องจากรัฐนั้นๆ จะต้องยอมรับการมี “พันธะทางการเมือง” ของการดำรงค่าใช้จ่ายทางทหารให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง การกระทำเช่นนี้ย่อมมีผลกระทบกับสภาวะการเมืองภายในของตนอย่างแน่นอน และหากดำรงสภาวะเช่นนี้ต่อไปมากกว่า 1-2 ปีแล้ว อาจทำให้เกิดเสียงคัดค้านการเข้าร่วมสงครามจากคนในสังคมอย่างแน่นอน

เงื่อนไขเช่นนี้จะเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อชัยชนะของยูเครนอย่างแน่นอน เนื่องจากในทางการทหารแล้ว โอกาสที่ยูเครนจะเป็นฝ่ายชนะรัสเซียในสงครามทอนกำลังนั้น น่าจะเป็นไปได้ยาก ดังที่ได้อธิบายในข้างต้นแล้ว แม้จะมีข้อโต้แย้งในทฤษฎีการทหารว่า การใช้สงครามทอนกำลังซึ่งได้กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักในทางทหาร ที่ใช้สืบต่อกันมานับตั้งแต่การรบในดอนบาสในปี 2015 เพราะในความเป็นจริงแล้ว ยูเครนไม่สามารถเปิดการรบใหญ่กับกองทัพรัสเซียได้ และการรบในแบบสงครามดำเนินกลยุทธ์อาจจะสร้างความเสียหายหนักให้แก่กองทัพยูเครน ซึ่งความเสียหายดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลยูเครนไม่สามารถดำรงสภาพของสงครามต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันการรบนานในแบบสงครามทอนกำลัง ก็ทำลายศักยภาพของรัฐในการทำสงครามอีกแบบ

 

ความฝันที่ยังต้องฝันต่อไป

กระนั้น ในอารมณ์ความรู้สึกของชาวยูเครนตั้งแต่คนเดินถนนทั่วไป จนถึงประธานาธิบดีเซเลนสกี ล้วนมีความหวังและความฝันที่ไม่แตกต่างกัน พวกเขาล้วนอยากเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้ และแน่นอนว่าพวกเขาคาดหวังที่จะได้เห็นการรบแตกหักที่จะนำไปสู่ชัยชนะเด็ดขาด จนอาจกล่าวได้ว่าสิ่งนี้ คือความหวังของชาวยูเครนทุกคนมาอย่างยาวนานในการปลดปล่อยประเทศของตนออกจากการควบคุมของรัสเซีย

ความสำเร็จของการรุกตอบโต้ของกองทัพยูเครน (Counteroffensive) ในช่วงกลางปี 2022 ช่วยทำให้ความฝันเช่นนี้ดูเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะชาวยูเครนหวังว่าชัยชนะที่เกิดขึ้น จะทำให้รัสเซียไม่อาจใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการคุกคามยูเครนอีกต่อไป… ความฝันเช่นนี้แขวนอยู่กับความสำเร็จทางทหารในสนามรบ

แต่สงครามก็มีความโหดร้ายเสมอในเชิงอารมณ์ความรู้สึก เพราะการรุกตอบโต้ในปี 2023 และ 2024 ไม่ประสบความสำเร็จมากเช่นที่ปรากฏในปี 2022 และเป็นคำตอบในตัวเองว่าโอกาสที่จะรบชนะกองทัพรัสเซีย และผลักดันกองทัพรัสเซียให้ออกพ้นดินแดนของยูเครนทั้งหมด ซึ่งอาจรวมถึงการเอาไครเมียกลับคืนมาด้วยนั้น อาจไม่เป็นความจริงได้อย่างที่ฝัน เนื่องจากจากหลังจากความล้มเหลวจากการรุกใหญ่ในปี 2022 แล้ว กองทัพรัสเซียก็ปรับตัวอย่างมากเช่นกัน แม้จะต้องประสบกับการสูญเสียกำลังพลและยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ฉะนั้น แม้กองทัพยูเครนจะ “สู้จนอ่อนแรงและรบจนอ่อนล้า” เพียงใดก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังมีความฝันที่จะเอาชนะกองทัพรัสเซียให้ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ทำเนียบขาวดูจะไม่ช่วยให้ความฝันดังกล่าว ใกล้ความจริงแต่อย่างใด!



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“รมว.นฤมล” ดึงภาครัฐ-เอกชน ลงนาม MOU ส่งเสริมการปลูกกาแฟ หนุนเพิ่มผลผลิต ตอบโจทย์ความต้องการในประเทศ ลดการนำเข้า ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย
ย้อนรอยประวัติศาสตร์อาวุธชีวภาพสุดสยอง (2)
สรุป บทแก้ต่าง ของ ธงชัย วินิจจะกูล ต่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ
130 ปี ปฐมบทการปกครองท้องถิ่นไทย (พ.ศ.2440) จุดเริ่มต้นที่กลายเป็นปัญหาในระยะยาว
วัย 50+ ระวัง ‘งูสวัด’ อสรพิษร้าย (ป้องกันได้ด้วย ‘วัคซีน’)
มนุษย์สัมพันธ์กับท้องฟ้า
รูปร่าง Dad bod เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
33 ปี ชีวิตสีกากี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ (128)
ปฐมคัมภีร์การแพทย์แดนมังกร (2)
เมษา พฤษภา 2553 มรภูมิ ‘ร้อน’ ลาดหลุมแก้ว คืนสุกดิบ ก่อนปะทะ ‘ใหญ่’
ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (70)
เดินหน้าสู่ปีที่ 4 (17) The Pyrrhic Victory ของรัสเซีย