

วันก่อน นั่งคุยกับน้อง 2 คน
คนหนึ่ง เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลาง
คนหนึ่ง เป็นผู้บริหารในบริษัทใหญ่
เรื่องที่คุยกันก็ไม่พ้นเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้
ทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ คือ เศรษฐกิจปีนี้แย่แน่
เจ้าของธุรกิจก็บอกว่าตั้งแต่ต้นปียอดขายตกลงแบบน่าตกใจ
และไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นเลย
ยิ่งมีข่าวเรื่องสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน และการขึ้นกำแพงภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์”
คนยิ่งไม่ยอมควักกระเป๋าซื้อสินค้า
ส่วนน้องที่ทำงานประจำก็บอกว่าทางผู้ใหญ่ในบริษัทส่งสัญญาณครั้งใหญ่เรื่อง “ลดค่าใช้จ่าย”
และเริ่มคิดถึงเรื่องการลดจำนวนพนักงาน
“เถ้าแก่” ที่เคยดูภาพรวมแบบกว้างๆ
ตอนนี้เริ่มลงมาดูงานอย่างละเอียดมากขึ้น
มีคนบอกว่าในยามวิกฤตบริษัทที่มี “เจ้าของ” ดีกว่าบริษัทที่ไม่มีเจ้าของ
เพราะ “เถ้าแก่” กล้าตัดสินใจมากกว่า “มืออาชีพ”
จะบุก จะถอย จะลดคน
จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม
“เถ้าแก่” ตัดสินใจได้เร็วกว่า และเด็ดขาดกว่า
เพราะเป็น “เจ้าของ”
บริษัทนี้เป็นของเขา
จะตัดสินใจผิดจนบริษัทเจ๊งก็บริษัทของเขา
แต่ “มืออาชีพ” ทำแบบนั้นไม่ได้
แม้น้อง 2 คนนี้จะเก่งมาก ประสบการณ์เรื่องธุรกิจมากกว่าผม
แต่ผมอายุมากกว่า
เขาก็เลยมาขอคำแนะนำ
ผมบอกว่าเรื่องธุรกิจผมคงแนะนำอะไรไม่ได้
เพราะประสบการณ์จริงต่ำกว่าน้องทั้ง 2 คน
แต่ขอเสนอความเห็นจากคนที่เป็น “นักข่าว” มานาน
เห็นโลกมานานกว่า
เรื่องแรก อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ
ต่อให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยิ่งใหญ่ขนาดไหน
ก็อย่าเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดกับสิ่งที่เขาทำจะเป็นเรื่องเดียวกัน
ยิ่ง “โดนัลด์ ทรัมป์” ด้วยแล้ว
คนนี้เป็นคนที่พร้อมหักเลี้ยว 180 องศาได้ทุกเวลา
ผมยกตัวอย่างตอนที่เขาเป็นประธานาธิบดีครั้งแรก
ปี 2561 “ทรัมป์” เคยขู่เกาหลีเหนือที่ประกาศจะทดลองขีปนาวุธข้ามทวีป
ขู่หนักถึงขั้นว่าถ้าทำจริง เกาหลีเหนือจะเจอกับ “ไฟบรรลัยกัลป์” ที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน
เชื่อไหมครับว่าผ่านไปแค่ 1 ปี “โดนัลด์ ทรัมป์” เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ
กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เดินข้ามเส้นขนานที่ 38 ไปจับมือกับ “คิม จอง อึน”
“ทรัมป์” ทำได้
ผมต้องการเตือนน้องๆ ว่าที่มีการวิเคราะห์กันว่าการขึ้นกำแพงภาษีกับประเทศต่างๆ ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” และประกาศสงครามการค้ากับจีนจะทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน
ถ้าวิเคราะห์ว่าจะแย่ถึง 100
บางทีอาจจะแค่ 50
เพราะ “ทรัมป์” อาจไม่เล่นแรงแบบนั้นก็ได้
เป็นเกมการต่อรองที่เขาใช้เป็นประจำ
คือ เสนอขายราคาแพงๆ ก่อน แล้วค่อยลดราคาลง
สินค้าราคา 10 บาท ประกาศขึ้นราคาเป็น 100
เพื่อให้คนวิ่งมาต่อรอง
สุดท้ายอาจจะเหลือแค่ 50
ดีกว่าประกาศขึ้นราคาแค่ 50 เลย
เพราะสุดท้ายจะต้องมีการต่อรองกันจนราคาต่ำกว่านั้น
ขู่แรงๆ ไว้ก่อน คือ สไตล์ของ “ทรัมป์”
ตอนที่เราคุยกัน “สหรัฐ-จีน” ยังไม่มีใครยอมใคร
ขึ้นภาษีใส่กันเหมือนกับจะไม่ค้าขายกันต่อไปแล้ว
แต่วันนี้ทั้งคู่เปิดการเจรจากัน
ลดภาษีกันยังกับเด็กเล่นขายของ
สหรัฐอเมริกา ลดภาษีลงชั่วคราว 90 วัน จาก 145% เหลือ 30%
ส่วนจีนลดจาก 125% เหลือ 10%
ทุกอย่างเป็นไปได้หมด สำหรับ “ทรัมป์”
ดังนั้น การประเมินว่าเศรษฐกิจจะแย่แค่ไหน
คิดได้ แต่อย่าเพิ่งเชื่อ
เช่นเดียวกับเรื่องความมั่นคงด้านการงาน
ต่อให้บริษัทใหญ่ขนาดไหน
หรือคิดว่าเราเป็นคนสำคัญที่บริษัทขาดไม่ได้
…อย่าเชื่อ
อย่ายึดมั่นถือมั่นเป็นอันขาด
ประสบการณ์ของผมสอนให้รู้ว่าอย่าประมาทกับชีวิต
ต้องคิดเสมอว่าถ้ามีปัญหาจะทำอย่างไร
มี “ทางเลือก” ที่ 2 ไว้เสมอ
ใครที่ทำงานประจำ ต้องคิดเสมอว่าถ้าบริษัทมีปัญหามีการปลดพนักงาน
และเราคือ 1 ในคนที่โชคร้าย
เราจะทำอย่างไร
การคิดแบบ ป่วยก่อนป่วยจริง
หรือโดนให้ออกก่อนจะต้องออกจากงานจริง
คิดเตรียมการแบบนี้ไว้บ้างไม่เสียหลาย
เรื่องที่สอง คือ วิชาชาวสวน
สมัยก่อนตอนที่สวนทุเรียนของ “ป๋า” เจอภัยแล้ง
สวนของเรามีคลอง ซึ่งยามปกติมีน้ำเพียงพอต่อการให้น้ำทุเรียน
แต่พอแล้งจัด จุดที่เราสูบน้ำไปให้ทุเรียนก็มีน้ำน้อยมาก
สูบไม่นาน น้ำก็แห้ง
คนสวนของ “ป๋า” เขาจะขุดแอ่งน้ำเล็กๆ ในคลอง ขุดให้ลึกลงแล้วรอให้น้ำขึ้น
เอาเครื่องสูบน้ำเล็กๆ ไปสูบน้ำเข้าเครื่องใหญ่
บางคืนก็ไปสูบตอนดึกสักครั้ง
ตอนสายก็สูบอีกครั้ง
“แอ่งน้ำ” เล็กๆ นี้ตอนหน้าน้ำ เราจะไม่สนใจเลย
แต่พอมีวิกฤต แอ่งน้ำเล็กๆ นี้จะช่วยชีวิตทุเรียนได้หลายปีทีเดียว
ผมบอกน้องๆ ว่ายามวิกฤตต้องลงรายละเอียด
ตอนปกติเราดูยอดขายรวมๆ ได้
แต่พอมีปัญหา เราต้องดูรายละเอียดดีๆ
อาจจะมี “แอ่งน้ำ” เล็กๆ อยู่ในตารางยอดขายของเรา
หาให้เจอ แล้วเหยียบคันเร่ง
เรื่องที่สาม วิชาตัวเบา
คนทำงานประจำก็ต้องคิดเรื่องนี้
หนี้ที่มีอยู่อะไรตัดทิ้งได้ ให้เตรียมตัดทิ้งได้เลย
ต้องทำให้ตัวเบาไว้ก่อน
เช่นเดียวกับธุรกิจ ต้องแยกแยะว่าอะไรที่จำเป็น และอะไรที่ไม่จำเป็น
“เงินสด” สำคัญมาก
ยามนี้ “โอกาส” กับ “กับดัก” หน้าตาคล้ายกันมาก
ต้องดูดีๆ
บางครั้งต้องยอมเสียโอกาสบางอย่างเพื่อรักษา “เงินสด”
ตอนนี้ “คิดลบ” ดีกว่า “คิดบวก”
เรื่องสุดท้าย ตัดอวัยวะ รักษาชีวิต
คิดไว้ก่อนเลยว่าถ้าถึงจุดที่แย่ที่สุด เราจะตัดอะไรทิ้ง
การวางแผนไว้ก่อนไม่มีต้นทุน
ไม่ต้องเสียเงิน
แต่ถ้าวางแผนไว้ก่อน เวลามีปัญหาจะได้ตัดสินใจได้เร็ว
เพราะตอนวิกฤต
“เวลา” สำคัญมาก
หลังจากให้คำแนะนำที่น่าศรัทธาและเชื่อถืออย่างยิ่งครบ 4 ข้อ
ผมก็กำชับกับน้องๆ อีกครั้ง
“ให้กลับไปอ่านข้อแรกอีกครั้ง” •
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022