
‘สยามยังไม่มีการปฏิวัติ’ : คำกล่าวตอบรับ การมอบรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2568

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
‘สยามยังไม่มีการปฏิวัติ’
: คำกล่าวตอบรับ
การมอบรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2568
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 ผมไปรับรางวัลนักเขียน “ศรีบูรพา” ซึ่งจัดขึ้นในวันนักเขียน 5 พฤษภาคม เป็นประจำ ท่ามกลางนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์มากหน้าหลายตาและหลายรุ่น
นักเขียนอาวุโสที่มาร่วมงานได้แก่คุณกฤษณา อโศกสิน และพี่คำสิงห์ ศรีนอก ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติยศ “ศรีบูรพา” ด้วย
หลังจากรับรางวัลผมกล่าวคำตอบรับโดยยกบทบาทสำคัญของศรีบูรพาขึ้นมาแสดงในสองด้าน
ด้านแรกคือคุณูปการต่อการสร้างความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยในไทยขณะนั้น
และอีกประการคือการสร้างความต่อเนื่องให้แก่นักหนังสือพิมพ์ด้วยการยกฐานะอันควรค่าต่อการรำลึกถึงของเทียนวรรณ ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์รุ่นแรกก็ว่าได้ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่น่าเสียดายที่นักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังมาแทบไม่เคยมีใครรู้จักท่านเลย
หลังจากนั้นมีมิตรสหายที่ไปร่วมงานขออ่านต้นฉบับด้วยความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยรับรู้ และขอให้ผมตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไปเพื่อเป็นคุณูปการต่อนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ต่อไป
ผมจึงนำเอาคำกล่าวตอบรับในวันนั้นมาตีพิมพ์อีกครั้ง และปรับปรุงเท่าที่จำเป็น
“ก่อนอื่นขอกล่าวคำขอบคุณอย่างจริงใจต่อ “กองทุนศรีบูรพา” โดยเฉพาะประธานและคณะกรรมการทุกท่านที่ให้เกียรติในการคัดเลือกผมให้ได้รับรางวัลศรีบูรพาอันมีคุณค่าอย่างยิ่ง คงไม่ต้องกล่าวว่ามตินี้สร้างความยินดีและปลาบปลื้มใจอย่างสูงยิ่งแก่ผม และสร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งให้แก่ผมด้วยเพราะไม่เคยคิดว่าจะได้รับเกียรติอันนี้
อยากถือโอกาสนี้เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ อย่างสั้นๆ
ผมเริ่มอ่านข้อเขียนของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ระดับประเทศเมื่ออยู่ชั้นมัธยม คนแรกที่อ่านและประทับใจไม่ใช่คุณกุหลาบ เพราะหาอ่านยาก หากแต่เป็นบทความของคุณวิลาศ มณีวัต ที่ลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ต่อมาถึงได้มีโอกาสอ่านงานของคุณกุหลาบเรื่องข้าพเจ้าได้เห็นมา (หลังจากได้พูดคุยกับ “ลาว คำหอม” ในงานคืนนั้นจึงทราบว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นมา” เป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เกวียนทองซึ่งพี่คำสิงห์ร่วมอยู่ด้วย) อันเป็นบทความจากประสบการณ์ในออสเตรเลีย ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราคิดทำในสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะทำได้
เป็นข้อเขียนที่แปลก แต่ท้าทายความคิดและจินตนาการของคนหนุ่มสาวที่กำลังแสวงหาหนทางในชีวิต
ข้อเขียนของกุหลาบไม่ใช่คำเทศนาทางศาสนาที่สอนให้เชื่อและอย่าทำอะไร ตรงกันข้ามคุณกุหลาบกลับบอกเราว่าต้องหัดคิดทำอะไรอย่าอยู่นิ่งเฉย
จากนั้นมาผมติดตามข้อเขียนและความคิดของคุณกุหลาบ เพราะอยากเห็นคำเสนอเชิงวิพากษ์วิเคราะห์ ไม่ใช่การสั่งสอน หากแต่เป็นการเปิดทางใหม่ๆ ให้แก่เราได้คิด
บทบาททางการเมืองของคุณกุหลาบที่สำคัญมากแต่ได้รับการสานต่อและจรรโลงน้อยเกินไปได้แก่การวิพากษ์ความคิดและค่านิยมแบบอำนาจนิยม ที่เป็นอุปสรรคต่อหลักการระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครมองเห็นความไม่ชอบมาพากลของการผสมผสานประชาธิปไตยเข้ากับหลักการปกครองแบบไทยเดิม ดังที่คุณกุหลาย สายประดิษฐ์ เคยวิจารณ์ไว้ก่อนนักรัฐศาสตร์จะมาพบว่า
“ถ้าเราบอกว่า เราเป็นพลเมืองของรัฐประชาธิปไตย และในขณะเดียวกัน เราก็ยังกล่าวว่าการปกครองแบบพ่อเมืองสมัยสุโขทัยหรือการปกครองแบบ ‘บิดาปกครองบุตร’ ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นของกลมกลืนกันสนิทดีกับระบอบประชาธิปไตยในสมัยนี้แล้ว นักศึกษาเช่นข้าพเจ้าและใครก็ตามไปลงคะแนนเลือกผู้แทนของเรา เพื่อให้ไปดำเนินการปกครองแทนเรานั้น เราไม่ได้ตั้งใจจะเลือกเขาเพื่อให้เขาได้กลับกลายมาเป็นพ่อของเราขึ้นเลย” (กุหลาบ สายประดิษฐ์, 2487)
คุณกุหลาบเป็นปัญญาชนก้าวหน้าที่แท้จริง ในข้อที่ทำการศึกษาค้นคว้าถึงความคิดของปัญญาชนคนอื่นๆ และที่มีมาก่อนหน้านี้ด้วย
ในวงการหนังสือพิมพ์ คงเคยได้ยินชื่อของเทียนวรรณ แต่น้อยคนจะรู้ละเอียดถึงความคิดและคุณูปการของท่าน
ในความเห็นของผม คนที่สร้างฐานะในประวัติศาสตร์ให้กับเทียนวรรณเป็นครั้งแรกได้แก่กุหลาบ สายประดิษฐ์
เขาเป็นผู้ตั้งสมญานามแก่เทียนวรรณอันไพเราะจับใจคนรุ่นหลังต่อมาว่าคือ “บุรุษรัตนของสามัญชน” ด้วยเหตุว่าเทียนวรรณเรียกคนญี่ปุ่นและประเทศนั้นด้วยความยกย่องนับถือว่า “รัตนะ” ประเทศ เนื่องจากมีสติปัญญาสูงส่งมาก ถึงขั้นมีฤทธิ์เดชพอสู้ทัดเทียมกับยุโรปได้
เข้าใจว่ากุหลาบคงได้อ่านข้อเขียนของเทียนวรรณ และนำเอาศัพท์ “รัตนะ” มาใช้เรียกเทียนวรรณเองด้วย เนื่องจากความคิดและการปฏิบัติของเทียนวรรณนั้น มีจุดยืนอันแน่วแน่ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับของชนชั้นไพร่สามัญ
‘ศรีบูรพา’ มองเทียนวรรณว่าเป็นตัวแทนของปัญญาชนปฏิวัติ ที่ยืนหยัดเปิดโปงโฉมหน้าของระบอบการเมืองและวัฒนธรรมศักดินา
เรียกร้องการปกครองระบบรัฐสภา (ปาลีเมนต์) เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมและประเพณีเก่าล้าหลังเสีย ยกระดับและให้การศึกษาแก่สตรี พร้อมกับให้การศึกษาคนทั่วไป
เป็นคนแรกที่ประกาศอาชีวปฏิญาณของนักหนังสือพิมพ์ ที่จะพูดและเขียนแต่ “ความจริง” และต้องเป็นความจริงที่ดีด้วย
เมื่อตัดสินใจดังนั้นแล้ว เทียนวรรณก็แน่วแน่ ไม่กลัวคนมีอำนาจ มีฤทธิ์ต่างๆ (คือผู้ปกครองที่มีอำนาจและขุนนางข้าราชการ) ไม่กลัวคนมีทรัพย์ (ศัพท์นายทุนยังไม่เกิดในสมัยนั้น) ไม่กลัวคนมีปัญญา (หรือขุนนางนักวิชาการและเทคโนแครตในสมัยนี้)
หากแต่เขา “กลัวแต่คนโง่ คนพาล คนสอพลอพูดให้คนอื่นเชื่อได้” เท่านั้น
นั่นคือภาพลักษณ์ของเทียนวรรณในสายตาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งช่วยทำให้เทียนวรรณกลายเป็นปัญญาชนปฏิวัติคนแรกของสยามไป
ตรงนี้คือปัญหาของประวัติศาสตร์ ไม่มีใครสามารถสร้างอดีตให้ปรากฏออกให้เหมือนกับที่มันเคยเป็นมาได้โดยถูกต้องสมบูรณ์
แต่ปัญหาคือเราจะทำให้อดีตเป็นปัจจุบันได้มากเท่าไร ไม่มีสูตรสำเร็จและวิธีการอันแน่นอนเที่ยงแท้ เพราะตาชั่งที่จะบอกเรานั้น ด้านหนึ่งมาจากหลักการและทฤษฎีทางประวัติศาสตร์
อีกด้านหนึ่งมาจากทัศนะและความเชื่อในสังคมร่วมสมัย
แม้วิธีการจะถูกต้องแต่หากบรรยากาศและอำนาจการเมืองไม่อำนวย ความจริงในประวัติศาสตร์เรื่องนั้นก็พูดและนำเสนอออกมาอย่างตรงๆ ไม่ได้
บทบาทและคุณูปการของเทียนวรรณจึงหายไปจากความทรงจำและรับรู้ของสังคมไทยไปอย่างน่าเสียดาย
หลังจากศึกษาประวัติและผลงานของนักคิดนักเขียนไทยรุ่นเก่าจำนวนหนึ่ง ผมได้ข้อสรุปในเรื่องภูมิปัญญาและความเป็นปัญญาชนของไทยสยามที่น่าสนใจยิ่งประการหนึ่งว่า นับแต่เรารับวิชาความรู้และจริตต่างๆ จากตะวันตกมาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นและพัฒนาต่อมาอย่างไม่ขาดสายคือความขัดแย้งระหว่างภูมิปัญญาและวิธีคิดของปัญญาชนที่เป็นแบบ “ผู้ดี” กับที่เป็นแบบ “ไพร่” มาโดยตลอด
ในกรณีของเทียนวรรณนั้น ผมเรียกว่าปัญญาชนไพร่กระฎุมพี ด้วยเหตุว่าในทางความคิดและอาชีวะปฏิบัติแล้ว ท่านรับแนวคิดและการปฏิบัติตนแบบของชนชั้นกระฎุมพีแห่งนาครสมัยใหม่ หรือที่ต่อมาเราเรียกง่ายๆ ว่าชนชั้นกลางหรือนายทุน ซึ่งสมัยโน้นยังเป็นชนชั้นที่ก้าวหน้ามากที่สุดในยุโรป
แต่ที่ประหลาดคือยังไม่ก่อเกิดในกรุงสยาม เนื่องด้วยระบบการผลิตยังเป็นแบบก่อนสมัยใหม่และก่อนทุนนิยมคือเกษตรกรรมเป็นหลัก ในทางการเมืองและวัฒนธรรมสภาพของสังคมสยามสมัยโน้นยึดหลักคิดระบบศักดินานิยม ทำให้เทียนวรรณต้องดำรงฐานะทางสังคมอย่างไพร่
สยามยามเปลี่ยนผ่านจึงมีความขัดกันในตัวเอง ที่ความคิดของชนชั้นอาจเกิดก่อนการสร้างชนชั้นนั้นได้ ทำให้เทียนวรรณยังเป็นเพียง “ไพร่” แต่ไม่ธรรมดา หากกำลังปฏิวัติความคิดไปสู่การเป็นคนชั้นกลางในอุดมการณ์สมัยใหม่
ความขัดแย้งภายในกรุงสยามสมัยนั้นแสดงออก โดยเฉพาะในระบบปกครองที่ด้านหนึ่งตอบสนองระบบการผลิตและกรรมสิทธิ์แบบชนชั้นนายทุนและยอมให้มีความคิดที่เรียกว่าประชาธิปไตยระดับหนี่ง แต่ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมดังกล่าวนั้นอย่างจริงจังได้ ดังนั้น กระฎุมพีไทยจึงต้องเลือกว่าจะอิงอยู่กับไพร่ หรืออิงกับศักดินา หรืออิงกับทั้งสองชนชั้น
ผมเสนอว่าในทางความคิดของเทียนวรรณแล้ว น่าจะเป็นต้นแบบหรือต้นผีของปัญญาชนไพร่ที่เป็นกระฎุมพีรุ่นต่อๆ มาอีกนาน
เขาเสนอรูปธรรมของสิ่งใหม่ที่อยากให้เกิดในประเทศ ตั้งแต่การเลิกทาส ความเท่าเทียมของสตรี การตั้งมหาวิทยาลัย ระบบสวัสดิการสำหรับคนยากจน โรงงานผลิตอาวุธ สร้างถนน รถไฟ และแบงก์หรือคลังเงิน ระบบไปรษณีย์โทรเลข โรงงานอาหารกระป๋อง รวมถึง “ปาแตน” หรือสิทธิบัตร
ที่สำคัญในระบบปกครองคือ “จะตั้งปาลิเมนอะนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่รัฐบาลได้”
ไม่ต้องแปลกใจว่าข้อเสนอทั้งหลายของเขานั้น ก่อรูปท่ามกลางสภาพสังคมที่ยังพึ่งพาเกษตรกรรมอย่างธรรมชาติ รัฐบาลคือกษัตริย์ ความคิดใหม่จึงเป็นได้แค่ “ความฝันหรือนอนละเมอ” ตั้งแต่ยุคนั้นมาถึงยุคปัจจุบัน
ผมพบว่ากุหลาบ สายประดิษฐ์ มีความคล้ายคลึงกับเทียนวรรณอย่างไม่น่าเชื่อ คือเป็นนักคิดนักเขียนที่ก้าวหน้ากว่าระบบการเมืองที่รองรับอยู่ เขาจึงเป็นนักคิดประชาธิปไตยก่อนนักการเมืองและชนชั้นปกครอง ถ้าเช่นนั้นอะไรคือจิตใจแบบประชาธิปไตย
ตัวอย่างที่หาได้จากกุหลาบ สายประดิษฐ์ คือจิตใจที่คิดถึงคนอื่นนั่นเอง
การคิดถึงผู้อื่นอย่างที่เขามีศักดิ์ศรี มีความเป็นมนุษย์ ต้องการความเป็นธรรม และความเจริญก้าวหน้า ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เราแต่ละคนก็ต้องการ
ดังนั้น เราก็ต้องตระหนักรู้ว่าคนอื่นก็ต้องการและมองเห็นความมีอารยะของสังคมเช่นเดียวกับเรานั่นเอง…
เหนืออื่นใดจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยที่สำคัญต้องมีความเชื่อในศักยภาพและความสามารถของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนแปลง ดัดแปลงและเข้าร่วมส่วนกับสังคมที่เป็นประโยชน์เป็นของคนส่วนใหญ่ แม้จะต้องใช้เวลาและการรอคอยก็ตาม
“สยามมิได้มีการปฏิวัติ สยามมีแต่การเปลี่ยนแปลงคณะบุคคลผู้ครอบครองอำนาจการปกครอง ผู้ที่เคยถูกเข้าใจว่าเป็นนักปฏิวัติในส่วนใหญ่ ได้กลายเป็นนักผจญภัยแสวงโชค ผู้เต็มไปด้วยความอิ่มหมีพีมันไปแล้ว โครงสร้างสังคมอันเก่าคร่ำ และภาพชีวิตอันเต็มไปด้วยความอยุติธรรมอย่างลึกซึ้งสองภาพนั่น (ระหว่างภาพคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับคนส่วนน้อยที่ร่ำรวยสุขสบาย) ก็ยังคงได้รับการเชิดชูต่อไป”
“สยามยังไม่มีการปฏิวัติและตามความเป็นจริงก็ยังไม่มีแม้แต่การเปลี่ยนแปลงแก้รูปที่จะทำให้ชีวิตของประชาชนส่วนมากขึ้นสู่คุณภาพที่ดีขึ้น”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต



