เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

‘ทักษิณ’ จะหัวร่อหรือ ‘หงายหลัง’ ‘ผิดเดียว-จองจำ 2 ครั้ง’ ในโลกนี้มีที่ไหน

18.05.2025

เหยี่ยวถลาลม

 

‘ทักษิณ’ จะหัวร่อหรือ ‘หงายหลัง’

‘ผิดเดียว-จองจำ 2 ครั้ง’

ในโลกนี้มีที่ไหน

 

ร้อนจริงๆ ร้อนยิ่งกว่าอุณหภูมิที่พุ่งปรี๊ดก่อนพาพายุฤดูร้อนมาถล่ม เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งนัดไต่สวนข้อเท็จจริง “ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ”

“สารตั้งต้น” มาจากนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไต่สวนว่า ที่กรมราชทัณฑ์ส่งตัวคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปรักษาอาการป่วยที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ศาลฎีกามีคำสั่งว่า นายชาญชัยไม่ใช่คู่ความ ไม่มีส่วนได้เสีย จึงยกคำร้อง

แต่เมื่อความปรากฏว่า “การบังคับโทษอาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย” ศาลจึงไต่สวนเอง ด้วยการนัดให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ พร้อมทักษิณ ชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการไต่สวนของศาลในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ว่า การบังคับโทษจำคุกแก่จำเลย (ทักษิณ) เป็นไปตามหมายจำคุกหรือไม่อย่างไร

ปรอทเดือดปุดๆ ขึ้นมาทันทีเมื่อ “มุมมอง” ของนักกฎหมาย แยกเป็น 2 ทาง

วิชากฎหมายเป็นศาสตร์ ย่อมสามารถอภิปรายถกเถียงหรือทดลองเหมือนกับศาสตร์อื่นๆ

แต่ในประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายนั้นการถกเถียงทางกฎหมายมักนำไปสู่การปรับปรุง แก้ไข และเกิดพัฒนาการ ต่างกับหลายประเทศที่การถกเถียงทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายจบลงแบบ “ปาฏิหาริย์”

ปาฏิหาริย์ทางกฎหมายย่อมแย่กว่าการใช้สีข้างเข้าถู บางคนถึงขั้นว่า เป็น “ศิลปะแห่งการฉ้อฉล” ของชนชั้นสูง!

 

เคสทักษิณเดินทางกลับประเทศเพื่อรับโทษตามคำพิพากษาเป็น 1 ที่ถูกนับเป็น “ปาฏิหาริย์”

ในทางการเมือง “ทักษิณ” มีข้อน่าเห็นใจอย่างยิ่ง

เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ทักษิณเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรง ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์ลงสนามประชาธิปไตย สร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม

แต่ “กองทัพ” ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลทักษิณที่ชนะเลือกตั้ง 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2557 จนกลายเป็น “2 ทศวรรษ” ที่สูญหายทางการเมือง ทำให้สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การชุมนุม การปราบปราม เข่นฆ่า และจับกุมคุมขัง “ฝ่ายนิยมทักษิณ”

ใครเป็น “ทักษิณ” ก็ต้องมีอาการ “คัน” อยากกลับบ้าน มาลบล้างมลทินทั้งปวง

แล้ว “ทักษิณ” ก็ได้กลับบ้านจริงๆ เมื่อบริบททางการเมือง “เปลี่ยน”!

พอถึงประเทศไทย “ทักษิณ” ก็ถูกนำตัวเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที

แต่ในค่ำคืนอันอลหม่านนั้น “ทักษิณ” ถูกส่งตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปยัง “ชั้น 14” โรงพยาบาลตำรวจ

สถานะ “ทักษิณ” ที่โรงพยาบาลตำรวจนั้นคือ “ผู้ต้องขัง” ตามคำพิพากษาศาล อยู่ในการดูแลและการบริหารการบังคับโทษของ “กรมราชทัณฑ์”

 

ศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา 5 ท่านเป็น “องค์คณะ” ไต่สวนข้อเท็จจริงว่า “มีการบังคับคดีตามหมายจำคุกหรือไม่”

(ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทักษิณไม่เคยนอนคุก แม้แต่คืนเดียว)

แนวคิดที่ 1

แนวนี้ “ทักษิณ” จะต้องเห็นชอบและชื่นมื่น

มีความเห็นว่า อำนาจอธิปไตยทั้งสาม “นิติบัญญัติ-ตุลาการ-บริหาร” ถูกออกแบบให้แยก และถ่วงดุลกัน

เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ผลของคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว “จำเลย” ที่ราชทัณฑ์รับตัวไปก็กลายเป็น “ผู้ต้องขัง”

“ไม้” ถูกส่งจากฝ่ายตุลาการ ไปยังฝ่ายบริหาร

ราชทัณฑ์ทำหน้าที่บริหารและบังคับโทษ

“ทักษิณ” ถูกพิพากษาและถูกบังคับโทษแล้ว ne bis in idem “บุคคลไม่อาจถูกพิจารณาโทษ 2 ครั้งในการกระทำเดียวกัน” นั้นเป็นหลักสากล

ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 39 บัญญัติว่า “สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้”

(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

วัตถุประสงค์กฎหมายชัดว่า “ห้ามดำเนินคดีซ้ำสอง” กับบุคคลเดียวกัน ในการกระทำเดียวกัน

 

แต่แนวคิดที่ 2 เห็นต่างออกไป

ไม่ได้ดำเนินคดีซ้ำในการกระทำเดียวกัน แต่ต้องการให้ “บังคับโทษใหม่” กับทักษิณ

หากแต่การบังคับโทษคดีอาญาต้องมาจากคำสั่งศาล

นักกฎหมายต่างก็รู้ว่า เมื่อคดีมีการชี้ขาดความถูกผิดเสร็จสิ้น มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว มีข้อที่ “ต้องห้าม” สองประการ

หนึ่ง ห้ามดำเนินคดีใหม่

สอง ห้ามพิพากษาใหม่

แนวคิดที่ 2 เห็นว่า เคสทักษิณนี้ไม่ใช่ “ดำเนินคดีใหม่” ใน “การกระทำเดียวกัน”

แต่ให้คลี่คลายปมว่า “การบังคับโทษของราชทัณฑ์-ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย “พิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560”

ในหมวดที่ 7 การบังคับคดี

มาตรา 65 บัญญัติว่า “การบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งในคดีให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา

คำพิพากษา หรือคำสั่งในการบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด”

เช่นนี้จึงต้องมี “ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562”

ข้อที่ 61 วรรคหนึ่งว่า

“การบังคับคดีอาญา ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

วรรคสอง ว่า

“เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในศาลฎีกา 3 คน มีอำนาจออกหมายเรียก หรือคำสั่งใดๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล”

จริงทีเดียวว่า “คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด” ในความผิดหนึ่งๆ นั้นทำให้เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมและศาลดำเนินคดีนั้นอีกไม่ได้เพราะขัดต่อหลักการสากลที่ทั่วโลกยึดถือกันมาเป็นร้อยปีพันปีว่า “บุคคลต้องไม่ถูกพิจารณาเพื่อลงโทษ 2 ครั้งในการกระทำเดียวกัน”

แต่ในกรณีของ “ทักษิณ” ฝั่งหนึ่งเห็นว่า หากแม้น “การบังคับโทษซ้ำ” จะกระทำต่อผู้ต้องขังคนเดิมไม่ได้ ก็มี “การกระทำใหม่” ของ “ตัวบุคคลใหม่” ปรากฏให้เห็นว่า ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลหรือไม่

ราชทัณฑ์กับโรงพยาบาล หายใจลึกๆ เข้าไว้!?!!!



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ