เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

MatiTalk ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เตือนพายุ 4 ลูกทางการเมือง ที่รัฐบาลต้องเจอ! พร้อมฉายภาพสมรภูมิรัฐศาสตร์โลก

20.05.2025

MatiTalk ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

เตือนพายุ 4 ลูกทางการเมือง

ที่รัฐบาลต้องเจอ!

พร้อมฉายภาพสมรภูมิรัฐศาสตร์โลก

รัฐไทยล้มเหลวหรือไม่นั้น ถ้าผมใช้นิยามของคนทำงานความมั่นคง เราใช้ fail state ไม่ตรงกับนิยามที่คนหยิบขึ้นมาอธิบายสภาวะภายในรัฐไทยว่าเราเป็น fail state

ในมิติความมั่นคง ถ้าบอกว่า fail state มีนัยยะคือสภาวะของอำนาจรัฐมันล่มสลาย แต่เรายังไม่ถึงจุดนั้น แต่เห็นแนวโน้มที่เรียกว่า collapsed state คือ สภาวะรัฐกำลังจะล้มลง อาการเกิดวิกฤตในทุกหย่อมหญ้า

แต่สภาวะของอำนาจรัฐไม่ได้ถูกทำลายจนสิ้นสภาพ กลายเป็นรัฐล้มเหลว คือ failed state

collapsed state ที่เรากำลังเริ่มเห็น สะท้อนว่ารัฐไม่สามารถจัดการตัวเองได้

ถามว่าวันนี้สภาวะอำนาจรัฐไทยล้มเหลวไหม ผมมองว่าไม่ถึงขั้นนั้น แต่สภาวะของการจัดการอำนาจรัฐไม่ได้ มันเริ่มส่งสัญญาณที่มากขึ้นต่างหาก

ในสภาวะเช่นนี้ ที่ภาวะวิกฤตขยายตัวไป จึงท้าทายต่อการดำรงอำนาจรัฐให้คงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหาจริงๆ ของไทยอาจจะไม่ใช่ failed state แต่เป็น failed government ที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่รุมล้อมประเทศไว้ได้

นั่นคือความเห็สของ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อโจทย์การเมืองไทยและสถานการณ์โลกผ่านทางรายการ MatiTalk มติชนสุดสัปดาห์

ศ.ดร.สุรชาติชี้สถานการณ์เวลานี้เหมือนมีพายุอยู่ 4 ลูกใหญ่

พายุลูกแรก ผมเรียก พายุจากบุรีรัมย์

ผมคิดว่าเราเริ่มเห็นถึงความแปรปรวนกับการเมืองในสภา อย่างเรื่อง ส.ว. พายุลูกนี้คงจะต้องไปคุยกันว่าสุดท้ายจะจบกันอย่างไร เราคงตอบไม่ได้เท่าไหร่ เป็นเรื่องของการดีล

อย่างที่เราเห็นมาการเมืองไทยโดยพื้นฐานหรืออาจจะเป็นการเมืองเอเชีย เป็นการเมืองของการดีลเกือบทั้งนั้น

แปลว่าการดีลไม่ใช่เรื่องแปลก การดีลเป็นธรรมชาติ ซึ่งต่างจากระบอบประชาธิปไตยในโลกตะวันตกทำวิธีดีลเป็นเรื่องถูกกฎหมาย คือ การจ้าง lobbyist

ไม่ว่าการดีลจะจบลงยังไง ด้านหนึ่งแปลว่าถ้าทุกฝ่ายไม่พร้อมที่จะเลือกตั้งก็ต้องประคับประคองอยู่ไปด้วยกัน แต่ก็ไม่แน่เพราะอาจจะได้เลือกตั้งเร็วก่อนปีที่ 4 (2570)

 

พายุลูกที่ 2 พายุเศรษฐกิจ มันพัดนานแล้วพัดหมุนๆ มีความหวัง ความฝันอยู่บ้าง แต่เอาเข้าจริงสตางค์มันไม่ค่อยมา วันนี้หลายครั้งที่ผมบรรยายมักจะพูดเตือนสติ ให้ “เก็บสตางค์อย่าสุรุ่ยสุร่าย ขอให้ประหยัด” เราก็จะเห็นความผันผวนยังไม่ต้องพูดถึงทรัมป์นะครับ

พายุเศรษฐกิจเป็นอะไรที่อยากให้ฝั่งรัฐมอง เพราะมีชีวิตคนอยู่ในพายุลูกนั้นจริงๆ

ในภาวะที่โรงเรียนจะเปิด ชีวิตทางเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างนี้มีอะไรที่จะช่วยลดทอน ช่วยทำให้ชีวิตประชาชนง่ายขึ้นสักนิดหนึ่งผมว่าต้องทำ

 

พายุลูกที่ 3 พายุ สตง. ผมเชื่อว่าหลายท่านมีคำถามว่า 1 เดือน ทำไมไม่มีอะไรเลย ยังไม่เห็นการจับบุคคลที่ควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ คือไม่อยากเปรียบเทียบกรณีในต่างประเทศ อย่างเกาหลีใต้เวลามีอุบัติเหตุ-อุบัติภัยใหญ่จะมีการจับกุมค่อนข้างเร็ว แล้วกระบวนการการจับกุมขึ้นสู่ศาล เช่น เหตุการณ์เรือล่ม

พายุลูกนี้เป็นเหมือนพายุที่เป็นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลจะสู้กับปัญหาการคอร์รัปชั่นที่ผูกโยงกับอุตสาหกรรมที่ไม่ชัดเจนของจีน การคอร์รัปชั่นที่เกิดภายในระบบราชการไทย รวมทั้งในเรื่องของปัญหาภายในสังคมไทย

พายุลูกนี้สำหรับผมเป็นวิกฤตศรัทธา เพราะเป็นความชัดเจนความรู้สึกของคน

ผมอยากเห็นรัฐบาลเร่งสักนิดหนึ่งเพื่อสร้างความศรัทธา พร้อมที่จะสู้กับปัญหาการคอร์รัปชั่น อุตสาหกรรมเหล็กจีน หรืออุตสาหกรรมแบบเทาๆ

ผมมีคำถามเล่นๆ เปิดตัวละครได้ไหมใครเป็นคนเอาเข้ามา ใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่ดึงผู้ประกอบการเหล่านี้เข้ามา เราไม่เห็นต้นทางของเรื่องพวกนี้เลย เรายังไม่เริ่มอะไรได้จริงจังสักอย่างหนึ่ง

 

และพายุลูกที่ 4 พายุจากภาคใต้ ซึ่งพัดแรงไม่หยุด ยิ่งตั้งแต่เทศกาลถือรอมฎอนช่วงที่ผ่านมาพายุลูกนี้พัดหนักตลอด ใครที่เคยมีความหวังว่าเราจะเห็นรอมฎอนสันติ เอาเข้าจริงไม่ใช่ จริงๆ แล้วเป็นเทศกาลสีเลือดพอสมควร

ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลคิดอย่างไร นับตั้งแต่เทศกาลถือศีลอดแรงขึ้นทุกวันๆ ไม่มีวันไหนเลยที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงในภาคใต้

เราเห็นการฆาตกรรมชาวพุทธต่อเนื่อง Serial Killing เป็นฆาตกรรมเป็นชุดๆ ยาวมา

โจทย์พวกนี้มันท้าทายให้รัฐบาลต้องคิดมากขึ้น

อยากเห็นงานความมั่นคงไม่กลายเป็นงานที่ลองแล้วลองอีก คือเป็นงานอันดับ 2 ก็ยังเข้าใจ แต่ถ้างานความมั่นคงกลายเป็นลำดับท้ายๆ

อยากจะฝากรัฐบาลว่าต่อให้ทำเศรษฐกิจดีอย่างไรแล้วทิ้งความมั่นคง รัฐบาลจะเจอวิกฤตด้วยตัวเอง เหมือนที่นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เจอปัญหาปล้นปืน หลัง 4 มกราคม 2547

ผมคิดว่าสภาวะของรัฐในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ผมนิยามเป็นคำ 3 คำ “มั่ว มึน งง” หรือมะงุมมะงาหราอยู่กับปัญหาเดิมในปีที่ 21

ในขณะที่ฝั่งโจรเขามีคำ 3 คำที่โจรใช้คือ “ฆ่า ยิง ระเบิด” แปลว่าในมิติอย่างนี้เราต้องการฝ่ายการเมืองที่คิดงานด้านความมั่นคงมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น และมีทิศทางให้ชัดเจนมากขึ้น

เพราะถ้าเป็นอย่างนี้งานความมั่นคงจะเดินไปบนพื้นฐานที่ไม่รู้ทิศรู้ทาง ไม่สามารถเป็นคำตอบให้เข้ากับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้เลยทีนี้

 

ผมนั่งมองพายุ 4 ลูก ผมว่าเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาล

เป็นโจทย์ที่ท้าทายประสิทธิภาพ ท้าทายขีดความสามารถ

แล้วต้องยอมรับว่าเป็นอะไรที่หนักหนาพอสมควร ถ้าจะมีพายุลูกที่ซ้อนกันอยู่ก็คือ “ความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล”

อันที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคใหญ่ 2 พรรค มันเป็นปัญหาจากพายุบุรีรัมย์ แต่ในอีกส่วนหนึ่งเป็นลักษณะของการขบกันอยู่โดยตลอดเวลา

การเมืองมันเริ่มกระท่อนกระแท่น การเมืองเหมือนติดๆ ขัดๆ ถ้าเป็นเครื่องยนต์เหมือนเดินไม่เต็มสูบ จะมีใครคิดไปเปลี่ยนเครื่องยนต์ เอาเครื่องยนต์สีเขียวมาใช้ไหม?

ผมเชื่อว่าคนก็เริ่มพูดกัน

สถานการณ์สมรภูมิรัฐศาสตร์โลก

ศ.ดร.สุรชาติมองการเมืองโลกว่า อันที่จริงมันตอบง่าย เพราะทรัมป์ขึ้นมาหลังจากชัยชนะในวันที่ 20 เราตอบได้ทันทีว่าโลกเปลี่ยนแล้ว เพราะชุดความคิดของทรัมป์เป็นชุดความคิดอีกแบบหนึ่ง

หรือพูดง่ายๆ ไม่ใช่การเมืองอเมริกาแบบกระแสหลัก แบบที่เราคุ้นเคย หรือที่วงวิชาการเรียกว่า ประชานิยมปีกขวา (Right-wing populism) และไม่ใช่ประชานิยมแบบที่สังคมไทยเข้าใจ

แปลว่า เราอยู่กับประชานิยมในมิติของความเชื่อแบบของละตินอเมริกา

หมายถึง การใช้งบประมาณเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ประชานิยมปีกขวาไม่เกี่ยวกับงบประมาณในแบบที่เราเข้าใจ

ถ้าเราดูฝ่ายขวา ยุโรปไม่รับ 3 เรื่อง คือ ไม่รับเรื่องผู้อพยพ ไม่รับเรื่องภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโลกาภิวัตน์ และไม่รับเรื่องการที่จะพาประเทศเข้าไปยุ่งกับสงครามในยูเครน ขวาในอเมริกาก็ไม่ได้ต่างกัน

แต่ไทยเราไม่มีกระแสความคิด 3 ชุดนี้นะครับ

ทรัมป์ไม่ได้เป็นตัวอะไรที่ตลาดในมิติทางเศรษฐกิจของฝ่ายขวา แต่ทำเป็นตัวแทนที่สะท้อนชุดความคิดแบบขวาที่มองว่าการเอารัดเอาเปรียบของจีนอาจจะต้องสู้ด้วยกำแพงภาษี

 

เมื่อการขึ้นกำแพงภาษีทำให้สถานการณ์ในเวทีโลกตึงทันที ซึ่งมันคู่ขนานกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงมาตลอด แปลว่าจากภูมิศาสตร์ที่เราเห็น 2022 เราเห็นสงครามในฉนวนกาซา-ยูเครน

2023 ฮามาสโจมอิสราเอล 2024 สงครามขยายในกาซา ปีนี้ 2025 เราเริ่มเห็นสงครามอินเดีย-ปากีสถาน

คำถามเล่นๆ อีก 7 เดือน คำถามจะมีสงครามที่ไหนอีกไหม นกพิราบสันติภาพก็แทบจะกลายเป็นนกย่าง

เพราะถูกไฟสงครามทั้งจากยูเครน ไฟสงครามในกาซา แล้วยังมาเจอไฟสงครามในเอเชียใต้ มันแทบจะไหม้เกรียมแล้วนะ แปลว่าโจทย์ภูมิรัฐศาสตร์สงครามชุดนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่ ในทางกลับกันสงครามทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดผลที่ตามมาอย่างปัญหาค่าครองชีพ

และผมเชื่อว่าไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ของปีนี้เหนื่อย คนทำธุรกิจเหนื่อยทั้งธุรกิจใหญ่ธุรกิจเล็ก แปลว่าชนชั้นกลางก็จะเริ่มประสบปัญหามากขึ้น

แต่ความน่ากลัวคือคนชั้นกลางและชนชั้นล่างจะเริ่มลำบากมากขึ้นเช่นกัน เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลทั่วโลก

ผมเรียกพายุทรัมป์ พายุจากสงครามที่จะก่อปัญหาพายุเศรษฐกิจแน่ๆ คือพายุค่าครองชีพทั่วโลก พายุ 4 ลูกนอกบ้านกับในบ้าน ใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นนายกฯ ตอนนี้ เรียกว่าเป็นทุกขลาภ

การมีตำแหน่งทางการเมืองวันนี้เป็นทุกขลาภ

เพราะโจทย์ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน

การเจรจาภาษีกับทรัมป์ จะคิดว่าไม่เจรจาหรือคิดไม่ต้องคุยกับทรัมป์ คิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเราต้องการหลักว่าตลาดและอนาคตของสินค้าไทยอยู่ในโลกตะวันตก ไม่ได้อยู่กับจีน เราไม่ได้ดุลการค้ากับจีน สิ่งที่น่ากังวลคือเมื่อจีนขายสินค้ากับตะวันตกไม่ได้ จีนจะทุ่มสินค้ามาสู่ตลาดแถวบ้านเรา ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตรงนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ต้องเตรียมรับ

 

สุดท้ายอาจารย์สุรชาติกล่าวว่า ความท้าทายใหญ่คือปัญหาเศรษฐกิจมันตอบด้วยตัวของมันเอง แต่คำถามที่ผมตอบไม่ได้คือสภาวะเศรษฐกิจที่ผมเรียกเป็นพายุทั้งภายนอกและภายใน มันจะกลายเป็นทอร์นาโดทางการเมืองในบ้านเราเองไหม

ถ้าเกิดขึ้น แน่นอนผมคิดว่าปีนี้เราเห็นการเมืองผันผวนแน่ๆ พื้นฐานที่สุดแค่ปรับ ครม. หรือจะมีนัยยะของการยุบสภา

เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ในทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และยุทธศาสตร์ที่มีปัญหามากขึ้น ความกังวลคือเราตอบโจทย์อนาคตไม่ได้มาก หากคิดแบบนักยุทธศาสตร์ การตอบโจทย์ในอนาคต ตอบได้อย่างเดียวคือการออกแบบยุทธศาสตร์เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

แต่เมื่อเราไม่ทำอย่างนั้น คำตอบในอนาคตเหลืออย่างเดียว ต้องตอบด้วยโหราศาสตร์

ฉะนั้น ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจก็ต้องการชุดใหม่ ยุทธศาสตร์ทางสังคมก็ต้องการชุดใหม่ การกำหนดทิศทางการเมืองในอนาคตเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงโจทย์ของประเทศไทยก็ต้องคิดใหม่

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของเดิมโยนทิ้งถังขยะได้เลยนะครับ เพราะมันเปลี่ยนหมดแล้ว ยุทธศาสตร์ทั้งหมดของประเทศไทยถูกเปลี่ยนจากเงื่อนไขที่ใหญ่ที่สุดคือโควิด-19 ในปี 2020 สงครามยูเครน การเมืองเศรษฐกิจ สังคม ยังต้องมียุทธศาตร์

ของเก่ามันหมดอายุด้วยตัวมันเอง

ชมคลิป

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568