สื่อไทยกับสงครามยูเครน! : สุรชาติ บำรุงสุข

สื่อสารมวลชนเป็นหนึ่งในองค์กรสาธารณะที่เป็นภาพสะท้อนสำคัญในการเสนอมุมมองของสังคมไทยต่อปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน แต่บทความนี้จะขอหยิบเฉพาะประเด็นของ “สื่อทหารไทย” ที่มีความหมายโดยตรงถึง “สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5” มาเป็นมุมมองในการนำเสนอ

อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องราวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 กับความพยายามที่จะเปิดรับข้อมูลจากทางฝ่ายรัสเซียจนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองนั้น จะผ่านพ้นไปอย่างเงียบๆ แต่ก็ดูจะทิ้งประเด็นให้ต้องคิดต่อได้ในหลายๆ เรื่อง… หลายคนอาจจะคิดว่า บทเรียนจากช่อง 5 ไม่มีอะไรเป็นสาระสำคัญ เพราะ “ฟรีทีวี” ช่องนี้ ไม่ได้เป็น “อิมแพคแฟคเตอร์” กับสังคมไทยเท่าใดนัก ยกเว้นเป็นช่องของผู้ชมที่มีทัศนะทางการเมืองที่เป็น “อนุรักษนิยมขวาจัด” หรืออาจเรียกในมิติทางการเมืองได้ว่าเป็น “ช่องสลิ่ม” อีกช่องหนึ่งในวงการทีวีไทยเท่านั้นเอง

ว่าที่จริงแล้ว ช่อง 5 เป็น “ทีวีทหาร” ที่ด้านหนึ่งมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับปัญหา “เสนาพาณิชย์นิยม” ในกองทัพบกมาอย่างยาวนาน ซึ่งผู้นำทหารปัจจุบันพยายามที่จะควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายภาพลักษณ์ของกองทัพเช่นในอดีต แต่ในอีกด้านหนึ่ง ช่องนี้ถูกมองว่าเป็นสื่อที่มีบทบาทในการเป็นตัวแทนอำนาจทางการเมืองของผู้นำทหารไทย มากกว่าจะทำหน้าที่ในความหมายของการเป็น “สื่อทีวีสาธารณะ” ตามหลักของวิชานิเทศศาสตร์

ก่อนอื่น เราไม่มีความจำเป็นที่ต้องถกเถียงกันเลยว่า ทีวีช่อง 5 เป็นสถานีโทรทัศน์ในความ “ดูแลและควบคุม” ของกองทัพบก ซึ่งเป็นดัง “สมบัติเจ้าคุณปู่” ชิ้นสำคัญ แม้อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า การเปิดช่องทางการติดต่อกับแหล่งข้อมูลจากรัสเซีย เป็นการดำเนินการของ “กลุ่มธุรกิจสื่อ” ที่ได้รับสัมประทานเข้าไปทำรายการในสถานีแห่งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำในกองทัพบกเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย หรือไม่ต้องมีความรับผิดชอบแต่อย่างใด

Advertisement

ในการนี้ ผู้นำทหารไทยอาจจะไม่ตระหนักถึง ความละเอียดอ่อนของปัญหา “ข้อมูลข่าวสารรัสเซีย” เพราะการดำเนินการดังกล่าวเกิดในขณะที่สงครามยูเครนกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำทหารไทยคงต้องยอมรับความจริงในอีกด้านว่า กระแสโลกไม่สนับสนุน “สงครามของรัสเซีย” ในยูเครน ดังจะเห็นได้จากภาพสะท้อนที่มาจากการลงเสียงในเวทีสหประชาชาติ ตลอดรวมถึงข่าวสารต่างๆ ที่ปรากฏในเวทีโลก เว้นแต่ผู้นำทหารไทยบางส่วนจะขาดความรับรู้ถึงสถานการณ์ระหว่างประเทศในเรื่องราวเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งว่า ผู้นำทหารที่เป็นผู้บริหารสถานีต้องการสร้างภาพให้เห็นว่า สถานีทีวีของกองทัพบกไทยพยายามสร้าง “สมดุลข่าว” ในการเปิดรับข่าวสารทั้งจากรัสเซีย และจากจีนให้มากขึ้น เพราะมีการรับข่าวจากตะวันตกอยู่แล้ว ซึ่งฟังเผินๆ แล้ว ก็น่าจะดูเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ ผู้บริหารสถานีได้ออกมาแก้ตัวว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองแอบแฝง เป็นแต่เพียงต้องการขยายแหล่งข้อมูลของสถานี

แต่ในสถานการณ์สงครามยูเครนเช่นนี้ คำแก้ตัวดังกล่าวอาจจะไม่ช่วยมากนัก เพราะสังคมไทยและสังคมโลกวันนี้ตั้งคำถามถึง “ความน่าเชื่อถือ” ของข้อมูลข่าวสารจากรัสเซีย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า การเมืองภายในของรัสเซียในยุคของประธานาธิบดีปูตินกำลังทวีความเป็นเผด็จการมากขึ้น และมีการควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารในสังคมอย่างเข้มงวด โดยมิต้องกล่าวถึงเรื่อง “เสรีภาพของสื่อ” ในรัสเซียอีกต่อไป

Advertisement

แน่นอนว่า การควบคุมข่าวสารเช่นนี้ ทำให้สังคมในเวทีโลกตั้งคำถามอย่างมากถึง “ความน่าเชื่อถือ” ของข้อมูลจากรัสเซีย เมื่อตรวจสอบแล้วในหลายครั้งพบว่า มีข้อมูลที่ผิดไปจากความจริงถูกผลิตออกมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการแสวงหาความสนับสนุนทางการเมืองในยามสงคราม อันทำให้แนวคิดเรื่องการสร้าง “สมดุลข่าว” ของช่อง 5 ที่จะเปิดรับข่าวจากรัสเซียกลายเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ท่ามกลางสถานการณ์สงครามยูเครนในบริบทของสังคมไทยนั้น เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความพยายามของฝ่ายรัสเซียที่พยายามจะ “ซื้อใจ” ผู้คนในสังคมไทย ด้านหนึ่งคือ ผู้แทนรัสเซียในไทยพยายามแสดงออกในลักษณะ “ไม่ถือโทษโกรธเคือง” ที่รัฐบาลไทยลงมติในสหประชาชาติในการสนับสนุนการประนามปฎิบัติการของรัสเซียในยูเครน ต่อมาคือ การ “เอาใจ” ด้วยการเปิดเส้นทางการบินระหว่างไทยกับรัสเซีย โดยไม่ต้องใ้ช้เส้นทางบินอ้อม เป็นต้น ในอีกด้านของมิติสื่อ ฝ่ายนิยมรัสเซียในไทยทำหน้าที่ในการผลิตข้อมูลใน “สื่อโซเชี่ยล” ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักจะพบว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าใดนัก แต่ก็ดูจะ “ถูกจริต” บรรดาสลิ่ม

ว่าที่จริง ปัญหาในระดับยุทธศาสตร์จากกรณีของช่องทีวีทหารไทยที่พยายามเปิดการเชื่อมต่อกับทางฝ่ายรัสเซียนั้น สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงมุมมองของฝ่ายทหารไทยบางส่วน โดยเฉพาะในยุคหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีทิศทางต่อต้านตะวันตก และหันไปชื่นชมทั้งรัสเซียและจีนมากขึ้น เพราะรัฐอำนาจนิยมทั้งสองมีท่าทีที่สนับสนุนการยึดอำนาจในไทย ต่างจากท่าทีของฝ่ายตะวันตกและสหรัฐ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทหาร “คืนประชาธิปไตย” ให้แก่สังคมไทย ซึ่งท่าทีเช่นนี้ส่งผลให้กลุ่มสนับสนุนรัฐประหารในไทยไม่พอใจฝ่ายตะวันตก

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่ท่าทีของผู้นำทหารบางส่วนไปในทางเดียวกับ “ปีกขวาจัดไทย” หรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มสลิ่ม” ซึ่งในสงครามยูเครน คนเหล่านี้แสดงออกอย่างชัดเจนในการสนับสนุน “สงครามของรัสเซีย” โดยมีพื้นฐานมาจากมุมมองของปัญหาการเมืองภายใน ซึ่งผลจากความไม่พอใจฝ่ายตะวันตกจากปัญหาการเมืองไทย ทำให้บรรดา “สลิ่ม” ไม่คำนึงถึงปัญหามนุษยธรรมและผลกระทบของสงครามต่อชีวิตคนเป็นจำนวนมากในยูเครน หรือไม่ยอมรับภาพและข้อมูลเรื่องการสังหารพลเรือนยูเครนของทหารรัสเซีย เป็นต้น

ปัญหาทั้งหมดนี้คือ ภาพสะท้อนถึง “มุมมองสื่อขวาไทย” ในสงครามยูเครน สำหรับช่อง 5 ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น “สลิ่มลายพราง” นั้น เป็นหนึ่งในตัวแทนที่ชัดเจน และยังรวมถึงบรรดา “สื่อสลิ่ม” บางส่วนที่นำเสนอข้อมูลในลักษณะสนับสนุน “สงครามของรัสเซีย” อย่างออกหน้าออกตา อีกทั้ง “นักสร้างข่าว-นักปั่นข่าว” ที่ดำเนินการอย่างแข็งขันในโลกออนไลน์ ด้วยความต้องการที่จะผลักดันทิศทางการต่างประเทศและความมั่นคงไทยให้เป็นไปใน “แบบสลิ่มๆ” เพราะไม่ชอบตะวันตก และไม่ชอบประชาธิปไตย แต่ข้อควรคิดคำนึงในยามสงครามคือ เราไม่จำเป็นต้องผลักดันความไม่ชอบตะวันตกและรังเกียจประชาธิปไตยไปจนสุดโต่ง เพื่อเป็นใบอนุญาตให้รัฐมหาอำนาจใหญ่ใช้กำลังทหารบุกรัฐเพื่อนบ้าน และยอมรับว่าการสังหารพลเรือนเป็นความชอบธรรมในตัวเอง

ว่าที่จริง สงครามยูเครนกำลังปอกเปลือกกลุ่มสลิ่มไทยที่วันนี้กลายเป็น “นักนิยมสงคราม” ไปแล้ว!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image