ไทยกับสงครามยูเครน! : สุรชาติ บำรุงสุข

 

เมื่อเกิดสถานการณ์ใหญ่ที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพในเวทีระหว่างประเทศ สังคมไทยมักจะใช้วาทกรรมในการมองปัญหาที่เกิดขึ้นว่า “ไม่ใช่ธุระของเรา… ไม่ใช่เรื่องของเรา” และมักจะตามมาด้วยคำกล่าวที่แทบจะเป็นคำตอบแบบมาตราฐานไทยว่า “ไทยจะวางตัวเป็นกลาง” ซึ่งเห็นได้ชัดว่า คำตอบเช่นนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อว่า การวางตัวเป็นกลางจะทำให้ไทยไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งในเวทีสากล

ทั้งที่ “ความเป็นกลาง” ที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นคำตอบในทางการทูตของไทยนั้น อาจจะไม่ได้มีความหมายอะไรเลย เป็นแต่เพียง “คำพูดติดปาก” ที่ผู้นำรัฐบาลไทยชอบเอาไว้ใช้ตอบในเวทีสาธารณะ และอาจเป็นคำตอบที่ทำให้รัฐบาล “ดูดี” เมื่ออยู่ต่อหน้าสื่อ

ในด้านหนึ่ง การกำหนดทิศทางของนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลไทยด้วยคำตอบเช่นนี้เป็น “ความง่ายทางความคิด” สำหรับผู้นำตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาจนถึงการเมืองในปัจจุบัน อีกทั้ง การตอบแบบง่ายๆ ว่า ไทยจะไม่เลือกข้างในปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ และจะดำเนินนโยบายแบบเป็นกลาง เป็นคำตอบที่ทำให้ผู้นำรัฐบาลที่มาจากทหารไม่มีความจำเป็นต้องคิดอะไรให้มากมายเกินกว่า “ความรับรู้และความเข้าใจ” ที่พวกเขามีต่อปัญหาในเวทีโลก… พวกเขามีปัญหาเดียวคือ ต้องการอยู่ต่อไปในการเมือง

Advertisement

ว่าที่จริงแล้ว ผู้นำทหารที่ก้าวสู่อำนาจจากรัฐประหารจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นภาพสะท้อนถึงการ “ขาดความตระหนักรู้” ถึงพลวัตรของการเมืองโลกและการเมืองภูมิภาคที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อีกทั้ง การเมืองในสองระดับนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นภายใต้สภาวะของ “การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่” ซึ่งผู้นำทหารไทยที่มีอำนาจทางการเมืองล้วนเป็นผลผลิตและเติบโตภายใต้สภาวะของสงครามเย็น และในยุคเช่นนั้น นายทหารเหล่านี้ แทบไม่เคยสัมผัสโลกการต่างประเทศของไทยอย่างจริงจังเลย พวกเขารู้เรื่องการต่างประเทศมากที่สุดคือ การเป็นผู้บังคับหน่วยทหารตามแนวชายแดนของประเทศ ซึ่งพื้นที่แถบนั้นมักเป็นแหล่งของการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนทั้งในแบบเปิดและแบบปิดมาโดยตลอด

นอกจากนี้ในสมัยที่พวกเขาอยู่ในราชการทหาร นายทหารระดับสูงบางส่วนมีความเชื่ออย่างหยาบๆ (และเชื่อเข้าข้างตัวเองอย่างเลื่อนลอย) ว่า การเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นตำแหน่งที่ใหญ่เพียงพอแล้วที่จะทำให้บรรดานายพลเหล่านี้มีความรู้และความเข้าใจในการเข้ามาเป็นผู้คุมงานด้านการต่างประเทศของไทย ผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้ทิศทางการต่างประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำทหาร แม้ต่อมาจะมีการตั้งอดีตข้าราชการจากกระทรวงการต่างประเทศเข้ามารับผิดชอบแทน แต่ก็มิได้มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงทิศทางและนโยบายเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ปัญหาในอีกด้านหนึ่ง เป็นผลพวงจากการ “ปลุกกระแสขวาจัด” ในการเมืองไทย จนปีกอนุรักษนิยมที่ขยับตัวจาก “กระแสเสื้อเหลือง” เดินหน้าในเวลาต่อมาไปกับ “กระแสนนกหวีด” นั้น มีความเป็น “ขวาสุดโต่ง” อย่างเห็นได้ชัด จนอาจตั้งเป็นข้อสังเกตในช่วงของการปลุกกระแสขวาจัดในยุคก่อนรัฐประหาร 2557 ได้ว่า การเมืองไทยไม่มีกลุ่ม “ฝ่ายขวาสายกลาง” เหลืออยู่ มีแต่กลุ่ม “ขวาจัด” ที่กลายเป็นกระแสหลักของกลุ่มอนุรักษนิยม

ดังนั้น เมื่อเกิดการปลุกกระแสขวาจัดที่จบลงด้วยความสำเร็จของการรัฐประหารในปี 2557 จึงทำให้บรรดาพลพรรคในปีกขวาจัดเหล่านี้มีความรู้สึกว่า พวกเขาเป็น “เจ้าของรัฐประหาร” ที่เกิดขึ้น และคงต้องยอมรับความจริงที่ปฎิเสธไม่ได้ด้วยว่า รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ของปีกขวาจัดบนถนน ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ รัฐบาลทหาร 2557 จึงเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของฝ่ายขวาจัด และด้วยการเป็นฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าในทางการเมือง บรรดาฝ่ายขวาจัดเหล่านี้กล้าแสดงออกอย่างไม่ปิดบังเลยว่า พวกเขาเป็น “พลังต่อต้านประชาธิปไตย” ซึ่งมีนัยว่า พวกเขาไม่ตอบรับกับ “กระแสประชาธิปไตย” ในเวทีโลก และไม่สนับสนุน “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” ในเวทีไทย… ประชาธิปไตยจึงกลายเป็น “ของแสลง” ของขวาไทย

อีกทั้งภายใต้เงื่อนไขของการเมืองไทยในเวลาต่อมา บรรดาฝ่ายขวาจัดที่สร้างภาพของตัวเองในการเป็น “สาวกนกหวีด” นั้น จำเป็นต้องสวมเสื้อคลุมใหม่ เพื่อให้ดูดีขึ้นในเชิงภาพลักษณ์ทางการเมือง การสร้างภาพใหม่ของฝ่ายขวาจัดจึงเป็นปรากฎการณ์การกำเนิดของกลุ่ม “สลิ่ม” แต่โดยสาระแล้ว พวกเขายังคงดำรงความคิดชุดเดิมที่ต้องการหยุด “เข็มนาฬิกา” ของการเมืองไทยให้อยู่กับโลกอำนาจนิยมเช่นในอดีต

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในไทย ประชาคมระหว่างประเทศของรัฐประชาธิปไตย จะมีท่าทีคัดค้านต่อการยึดอำนาจ และตามมาด้วยข้อเรียกร้องให้ผู้นำรัฐประหารที่กรุงเทพฯ คืนประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทย การเรียกร้องเช่นนี้ย่อมตกเป็นเป้าหมายของความเกลียดชังจากปีกขวาจัดไทยไปโดยปริยาย ท่าทีของฝ่ายขวาจัดในยุคสงครามเย็นที่เคยยืนอย่าง “แนบแน่น” กับโลกตะวันตก จึงกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าของการต่างประเทศไทยในอดีตไปหมดแล้ว… วันนี้ปีกขวาไทยไม่เอาตะวันตก และพร้อมที่จะต่อต้านตะวันตก

ยิ่งเมื่อจีนและรัสเซียมีท่าที “ไม่วิจารณ์” การยึดอำนาจในไทย หรืออาจกล่าวตรงไปตรงมาได้ว่า จีนและรัสเซียใช้ท่าทีเช่นนี้เป็นการแสดงการสนับสนุนในทางอ้อมต่อการยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ ซึ่งการมีท่าทีเช่นนี้จากรัฐมหาอำนาจทั้งสอง จึงทำให้จีนและรัสเซียกลายเป็น “ขวัญใจสลิ่มไทย” ไปโดยปริยาย ขณะเดียวกัน สลิ่มทั้งหลายก็จงใจแสดงออกอย่างไม่น่าเชื่อในการเป็นฝ่าย “ต่อต้านตะวันตก” โดยเฉพาะมีเป้าหมายหลักคือ การต่อต้านสหรัฐฯ ภาวะเช่นนี้จึงเป็นเสมือนโลกความมั่นคงไทยที่ “กลับหัวกลับหาง” ไปจากยุคสงครามเย็น

ดังนั้น เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้น บรรดาสลิ่มเหล่านี้จึงอาศัยจุดยืนในการเมืองภายในของไทยเป็นเครื่องตัดสินว่า ไทยควรจะสนับสนุนใครในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งพวกเขาดูจะตกใจอย่างมากกับการลงเสียงของผู้แทนถาวรไทยในสหประชาชาติครั้งแรก ที่ไทยออกเสียงคัดค้านรัสเซีย การลงมติเช่นนี้ ย่อมตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากสลิ่ม และจากสายนิยมรัสเซียในไทยว่า “ไทยควรเป็นกลาง… ควรงดออกเสียง” เพราะปัญหาสงครามยูเครนไม่เกี่ยวข้องกับเรา

แต่เมื่อมีการลงเสียงอีกครั้งเพื่อให้รัสเซียยุติบทบาทจากองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหรือไม่นั้น ไทยกลับแสดงท่าทีด้วยการงดออกเสียง ซึ่งดูจะขัดกับหลักการของการลงเสียงในครั้งแรกอย่างมาก แต่ก็แน่นอนว่า เป็นการลงมติที่ดูจะถูกใจสลิ่มและสายนิยมรัสเซีย รวมทั้งอาจจะถูกใจผู้นำไทยที่เติบโตมาจากผู้นำทหาร และไม่สันทัดเรื่องการต่างประเทศ อีกทั้งมีใจโน้มน้าวไปทางตะวันออก

อย่างไรก็ตาม ภาวะเช่นนี้อาจทำให้เกิดคำถามตามมาถึงทิศทางการต่างประเทศในอนาคตว่า ไทยจะเดินไปต่อในเวทีการทูตอย่างไร… ภาพที่ปรากฏในเวทีสาธารณะถึง “การสังหารหมู่ประชาชน” โดยทหารรัสเซียในหลายพื้นที่ของยูเครน กำลังกลายเป็น “ความท้าทายทางศีลธรรม” ต่อบรรดาผู้นำรัฐต่างๆ ทั่วโลก เว้นแต่ผู้นำรัฐบาลไทยและพลพรรคสลิ่มทั้งหลายเชื่อว่า ภาพเหล่านี้ถูกสร้างจากตะวันตก… เป็นเฟคนิวส์ และดีใจอย่างมากที่รัฐบาลปูตินประกาศให้ไทยเป็นหนึ่งในมิตร 51 ประเทศที่สามารถบินเข้าน่านฟ้ารัสเซียได้ ซึ่งดูเหมือนว่า เพียงแค่นี้บรรดาสลิ่มก็ดูจะชื่นชมอย่างมากแล้ว… ไทยบินตรง และประเทศตะวันตก (ที่สลิ่มไม่ชอบ) ต้องบินอ้อมไปยุโรป และสลิ่มบางส่วนยังฝันไปไกลถึงโอกาสการฟื้นชีพการบินไทยอีกด้วย

แต่เราคงต้องตระหนักว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นประเด็นสำคัญต่อการสร้างเกียรติภูมิไทยในเวทีโลก และความท้าทายที่สำคัญคือ ทำอย่างไรที่ “บัวแก้ว” จะไม่กลายเป็น “บัวสลิ่ม” ในโลกของยุคสงครามยูเครน!

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image