การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับสถานการณ์ชุมชนแออัด

สถานการณ์โควิดระลอกที่สาม ที่เป็นที่ยอมรับกันว่าเกิดจากคลัสเตอร์ทองหล่อ นำพาสังคมไทยมาสู่จุดที่แทบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตสุขภาพที่ใกล้ตัวมากขึ้นของคนจำนวนมากที่อยู่ในเมืองหลวง หรือกรุงเทพมหานคร

เมื่อเทียบกับโควิดระลอกแรก ที่แม้ว่าจะเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร แต่การกระจายตัวแม้ว่าจะไปหลายจังหวัด (คลัสเตอร์สนามมวย) ก็ยังไม่ได้ส่งผลกระทบไปในระดับพื้นที่เฉพาะ หรืออธิบายว่าระบาดทั้งชุมชน และระบาดทั้งบ้าน

ขณะที่ในระลอกที่สอง เราพบสิ่งที่เรียกว่าการระบาดในชุมชนที่ชัดเจนขึ้นกว่ารอบแรก ที่ให้ความสำคัญเฉพาะกับตัวผู้ป่วยมากกว่าพื้นที่ชุมชน และปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในชีวิตความเป็นอยู่ (คนจนคนรวยใครติดมากกว่ากัน ใครติดจากใคร) ด้วยว่ารอบที่สองนี้เป็นเรื่องของคลัสเตอร์ตลาดประมงที่มหาชัย ซึ่งเป็นที่อยู่ของแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก และแม้ว่าจะมีการพูดเรื่องของการติดลามมาถึงกรุงเทพฯ แต่เรื่องภาพรวมก็คือเรื่องของการติดจากตลาดสด

อย่างไรก็ตาม รอบที่สองนี้เรื่องใหญ่คือ การเริ่มมีการพูดถึงการระบาดในชุมชนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยเฉพาะในชุมชนแรงงานต่างด้าวที่มาจากพม่า ทำให้เราเห็นระบบโรงพยาบาลสนาม แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า การปฏิบัติต่อพวกเขาเหล่านั้นก็ทำให้หลายคนรู้สึกไม่ค่อยดีนัก เช่น เรื่องของการล้อมลวดหนามให้พวกเขาอยู่ในตึก แล้วส่งข้าวส่งน้ำให้เขา

Advertisement

มาที่ระลอกที่สามนี้ ตอนนี้เราเผชิญปัญหามากจนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า รอบนี้แทบจะเรียกว่า ของจริงรอบแรก โดยเฉพาะกับกรุงเทพมหานคร นอกเหนือจากการเป็นจุดกระจายโรคแล้ว ตัวเชื้อโรคเองก็ติดง่ายขึ้น และในรอบนี้การติดเชื้อกระจายในกรุงเทพฯในอัตราที่ท่วมความสามารถในการจัดการของทั้งกรุงเทพฯและรัฐบาลส่วนกลางเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดในชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเราหมายถึงชุมชนแออัดทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ไล่เรียงไปตั้งแต่ชุมชนคลองเตย และชุมชนอื่นๆ ตามที่ได้รับรายงาน

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างการระบาดของรอบที่สองและสามนั้นยังมีประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ชุมชนที่แออัดที่มีปัญหาเรื่องของการระบาดนั้น ไม่เหมือนกัน ในรอบที่สองมักเป็นแรงงานต่างด้าว แต่ในรอบที่สามนั้นเป็นคนไทยที่มีสิทธิตามระบบบริการสาธารณสุข แม้ว่าในรอบนี้เราจะพบว่าเมื่อเจอวิกฤตจริงๆ แล้ว ความแตกต่างทางฐานะมีผลต่อการเข้าถึงระบบสาธารณสุขตั้งแต่การได้ตรวจ การรอเตียง การมารับเข้าโรงพยาบาล สิทธิในการเบิกจ่ายก่อนหลังการรักษา ชนิดของวัคซีน รวมทั้งข้อถกเถียงเรื่องตัวยาในการรักษาอาการ

Advertisement

ความไม่เหมือนกันที่ชัดเจนอีกข้อหนึ่งก็คือ เรื่องของต้นทางของการระบาด ในขณะที่ในรอบสองนั้นชุมชนในตลาดประมงถูกมองว่าเป็นส่วนสำคัญของการแพร่ระบาด แต่ในกรณีของรอบที่สามในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนคลองเตยนั้น มีหลักฐานปรากฏชัดว่า ผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบเป็นพนักงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อ (จาก “ทองหล่อ” ถึง “คลองเตย” เปิดแผน “41 ชุมชน” ก่อนลามทั้ง กทม./กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/936031)

อธิบายง่ายๆ ว่าเชื้อที่เข้าสู่ชุมชนนั้นมาจากภายนอกชุมชน และมาจากการที่พื้นที่คลองเตยนั้นเป็นพื้นที่ที่ทั้งเชื่อมต่อกับพื้นที่ทองหล่อ (เขตวัฒนา) และโดยรูปแบบทางเศรษฐกิจนั้น ก็มีการพึ่งพาอาศัยกัน เพราะตัวผู้พักในคลองเตยก็เป็นพนักงานในภาคบริการในย่านทองหล่อ และถ้ายกมามองภาพระดับใหญ่ก็คือ ตัวชุมชนคลองเตยนั้นก็เป็นพื้นที่ที่รองรับความต้องการแรงงานภาคบริการของพื้นที่โดยรอบ ไม่ว่าจะวัฒนา หรือย่านสุขุมวิท ปทุมวัน พระรามสี่ รวมถึงสาทร

มองย้อนกลับมาชุมชนที่อยู่กันแออัดนี้ เปราะบางมากต่อวิกฤตสุขภาวะโควิด-19 ในรอบนี้ เพราะว่าโดยภาพรวมของลักษณะชุมชนนั้นก็อยู่อย่างแออัด  ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับเงื่อนไขเบื้องต้นในการอยู่รอด และป้องกันตัวเองจากไวรัสโควิด ที่ต้องการให้เรามีการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งทำได้ยากในแง่ของกายภาพ

อีกประเด็นที่ท้าทายในเรื่องของชุมชนก็คือ ระบบข้อมูล ด้วยว่าการอยู่ในชุมชนนี้มีลักษณะที่ไม่ได้ลงทะเบียนอย่างเป็นระบบทั้งหมด บางส่วนมีลักษณะการเช่า และแบ่งเช่า แต่ในบางส่วนก็มีระบบที่ชัดเจนที่ลงทะเบียนกับเขต ซึ่งในส่วนที่มีระบบที่ชัดเจนนั้นไม่ได้เกิดจากความสามารถทางเทคโนโลยีของรัฐในแง่ของความไฮเทค แต่หมายถึงความสามารถในการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างคนในชุมชนเอง กับระบบการบริหารจัดการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการจัดตั้งชุมชนในเชิงการบริหารที่เชื่อมต่อกับเขต หรือระบบสาธารณสุขในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งระบบโบราณที่ยังทำงานอยู่ ได้แก่ ระบบวัด เช่น วัดสะพานที่ไม่รีรอที่จะเข้ามาช่วยเหลือชาวชุมชน เมื่อมีปัญหา

ประการที่สามก็คือ เรื่องของการดำรงชีพทางเศรษฐกิจที่บีบให้คนในชุมชน จำเป็นต้องออกมาเสี่ยงทั้งทำมาหาเลี้ยงตัวเอง และครอบครัว และในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่กำลังเผชิญก็คือ เมื่อเศรษฐกิจของเมืองกระทบจากการปิดกิจการ ทั้งระบบล็อกดาวน์ทั้งหมด หรือบางส่วนนั้น คนที่ได้รับผลกระทบก็คือ คนที่อยู่ในลำดับล่างๆ ของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในวันนี้เราก็ยังไม่ได้มองลงไปอย่างเป็นระบบว่า คนในชุมชนจะมีชีวิตรอดอย่างไรจากการถดถอยในเศรษฐกิจ

ขณะที่ในมุมมองของรัฐบาลนั้น การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นให้ความสนใจในการชดเชยเยียวยา แต่ไม่ได้คงการจ้างงานไว้อย่างชัดเจน และในการคำนวณค่าใช้จ่ายของประชาชนนั้นก็จะมองเป็นรายวันว่า แต่ละวันนั้นให้ใช้เงินได้ไม่เกินกี่บาท

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่คนเปราะบางด้านที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องมี ก็ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับที่พักอาศัย อาทิเรื่องของค่าเช่าบ้าน ที่เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะกำหนดความมั่นคงในการพักอาศัย ก่อนที่เขาจะหลุดระบบออกไปอยู่เป็นคนไร้บ้าน หรืออยู่ในสภาพพักอาศัยที่จะต้องแย่ลงไปอีก

สิ่งที่ต้องการจะเน้นย้ำก็คือ เรื่องของพื้นที่ชุมชน (แออัด) และชีวิตของผู้คนในพื้นที่เหล่านั้นเป็นเรื่องที่เราจำต้องเข้าใจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะสิทธิของพวกเขาที่จะมีชีวิต อำนาจ และศักดิ์ศรีในการเปลี่ยนแปลงเมือง และอยู่ร่วมกับคนอื่นในเมือง ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเห็นความสำคัญ และความเท่ากันในการดำรงอยู่ในเมือง ในฐานะหุ้นส่วนในการพัฒนาเมือง

เรื่องที่ผมพูดนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอยู่สักหน่อย เพราะมันไม่ยากที่จะมองว่าคนในชุมชน หรือกระทั่งคนจนเมืองนั้นต้องมีอยู่เพราะเขา “ให้บริการ” กับ “เรา” ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ไม่ถูก แต่แปลว่าเรายังมองว่าเขาเป็นเครื่องมือของเรา (instrumental) หรือเขาเป็นเพียงปัจจัยในการผลิตของเรา ผู้ที่มีความสามารถในการนำเอาคนเหล่านี้มาพัฒนาเมือง เหมือนเป็นคนที่สร้างบ้านให้เรา แต่ไม่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเราก็ได้

แต่เราจะต้องมองว่า เขากับเราควรจะมีความเท่าเทียมกันในการมีชีวิตในเมือง เพราะเมื่อเขามีความสุข และอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน มันก็มีผลดีต่อทุกคนในเมือง และตัวของเราด้วย นี่คือมิติของความเท่าเทียม ไม่ใช่เรื่องของมิติด้านการเป็นเครื่องมือ แต่เป็นมิติของการยอมรับซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น ยังหมายถึงการที่เรายังจะต้องคิดด้วยว่า เมื่อเราพบมิติของความผันผวนไม่แน่นอน อย่างกรณีภัยพิบัติด้านสุขภาพในวันนี้ เราเองก็อาจจะเกิดปัญหาที่อาจจะหลุดจากระบบสวัสดิการได้เหมือนกัน หรือเกิดความถดถอยในปัจจัยในการใช้ชีวิตได้ ดังนั้น การทำให้เมืองมันถูกปรับปรุงขึ้นโดยเข้าใจทุกฝ่าย มันก็จะสร้างหลักประกันว่าวันหนึ่งที่เราเกิดปัญหา เราก็จะได้รับการดูแลจากรัฐและสังคมเช่นกัน

ตัวเลขล่าสุดของกรุงเทพมหานคร เมื่อมกราคม 2564 ที่มองว่ากรุงเทพมหานครมี 2,016 ชุมชน เป็นชุมชนแออัด 641 ชุมชนชานเมือง 353 ชุมชนอาคารสูง 76 ชุมชนเมือง 459 เคหะชุมชน 70 ชุมชนหมู่บ้านจัดสรร 417 ดังนั้นเราจะพบว่า ในอีกด้านหนึ่งคือ นิติบุคคลของหมู่บ้าน และคอนโดที่หรูหราเสียค่าธรรมเนียม แต่ยังมีอีกมากมายที่ยังไม่สามารถรวมตัวเป็นชุมชน และได้รับสิทธิและสวัสดิการจากรัฐบาลท้องถิ่น และไม่มีระบบการดูแลตัวเองที่เข้มแข็ง

กรณีที่คลองเตย ที่มีทั้งประเด็นท้าทาย และความเข้มแข็งใส่ใจของชุมชน ซึ่งผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนาน และเริ่มเป็นที่รับรู้และยอมรับของคนนอกชุมชนในระดับหนึ่ง ก็คงจะพอชี้ให้เราเห็นได้ว่ามีทั้งชีวิตที่ยังพออยู่รอด และยังเผชิญปัญหาวิกฤตจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่ายังมีอีกหลายชุมชน และคนที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนที่ยังต้องเผชิญปัญหาจากวิกฤต และภัยพิบัติทางสุขภาวะในวันนี้อีกมากมายครับ

คลิกอ่านบทความสถานการณ์โควิดอื่นๆของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image