เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ปัญหาภาคเกษตร ร้อนฉ่ากลางสภา หวังสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือแค่เกมการเมือง/บทความเศรษฐกิจ

31.08.2021

บทความเศรษฐกิจ

 

ปัญหาภาคเกษตร

ร้อนฉ่ากลางสภา

หวังสร้างการเปลี่ยนแปลง

หรือแค่เกมการเมือง

 

ปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

เนื่องจากเป็นปัญหาที่ไทยต้องเผชิญทุกปี และปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของเกมการเมืองในประเทศ

การที่นักการเมืองช่วยซื้อสินค้าจากเกษตรกรที่ขายได้ราคาต่ำ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้กลไกราคาสินค้าเกษตรในประเทศรวน

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนำมาสู่หัวข้อสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น ช่วงวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน ก่อนลงมติในวันที่ 3 กันยายนต่อไป

ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาทิ การบริหารงานด้านการเกษตรล้มเหลวทั้งระบบ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ มีส่วนได้เสียในการเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการของหน่วยงานที่ตนกำกับดูแล ปล่อยปละละเลยให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ทั้งวัวและสุกร

ซึ่งในประเด็นนี้ มุ่งไปที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังมีประเด็นปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตลอด 7 ปี ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา ลำไย มังคุด ลองกอง และพืชผักผลไม้ต่างๆ

และเรื่องต้องเคลียร์ คือ ละทิ้งเกษตรกรหรือไม่ และต้องการความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหารัฐมนตรีและหน่วยงานที่กำกับดูแล

 

ปัญหานี้นักวิชาการอย่างอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า ปัญหาหลักๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรไทยตกต่ำ ได้แก่ ระบบตลาดภายในประเทศ และไทยพึ่งพิงตลาดต่างประเทศไม่กี่ตลาด โดยเฉพาะผลไม้มีการพึ่งพิงตลาดจีนเป็นหลัก

ซึ่งมองว่าการพึ่งพิงตลาดเฉพาะประเทศมากเกินไป เมื่อประเทศที่ไทยไปพึ่งพิงมีปัญหา ส่งผลให้จำนวนผู้บริโภคในประเทศนั้นลดลง ราคาสินค้าก็ตกตามไปด้วย

วิธีแก้คือต้องกระจายสินค้าไปประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลาง เป็นต้น เพื่อกระจายความเสี่ยง

ขณะที่ปัญหาตลาดภายในประเทศ เกิดจากโครงสร้างและราคาภายในประเทศยังไม่สะท้อนจากดีมานด์และซัพพลายจริง

คือเกษตรกรขายสินค้าได้ในราคาถูก แต่ผู้บริโภคกลับต้องซื้อในราคาสูง

ส่วนหนึ่งเกิดจากการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศมากเกินไป ค่าขนส่ง และต้นทุนบรรจุภัณฑ์มีราคาสูง ทำให้กระทบต่อราคาขายในประเทศ

ซึ่งเรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไข โดยเสนอให้เกษตรกรทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกับโรงงานที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ และเปลี่ยนวิธีการซื้อ-ขายให้ผู้ผลิตกับผู้ซื้อ คุยกันโดยตรง

ซึ่งไทยจะต้องทำแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายผลไม้ถาวรของเกษตรกรและประชาชนโดยตรง เพื่อควบคุมราคาไม่ให้ถูกหรือว่าแพงเกินไป

อีกทั้งยังมุ่งไปที่ปัญหาเรื่องนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาล ที่เหมือนนำงบประมาณของรัฐบาลหลายแสนล้านบาทไปอุ้มผู้ประกอบการเพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่างของราคาประกันสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ นโยบายดูแลราคาสินค้าเกษตรของพรรคพลังประชารัฐได้เคยประกาศไว้ในหลายโอกาส ว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้มีราคาต่ำกว่านี้ ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 12,000 บาท/ตัน

แต่ปัจจุบันราคาข้าวสารอยู่ที่ 7,000 บาท/ตัน และข้าวหอมมะลิที่ 8,000 บาท/ตัน ห่างไกลจากนโยบายที่รัฐหาเสียงไว้มาก

รัฐบาลจะมีคำตอบในเรื่องนี้อย่างไร

 

ปัญหาดังกล่าวล่าสุด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุแล้วว่า โครงการประกันรายได้ของรัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าต่อเป็นปีที่ 3 ทั้งหมดในพืชหลัก 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และยางพารา ซึ่งจะทยอยเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติทั้ง 5 โครงการภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนแน่นอน เป้าหมายช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้ง 5 ชนิด รวม 7.69 ล้านครัวเรือนได้แน่นอน

ซึ่งในขั้นตอนนี้ ก่อนเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่เฉพาะพืชนั้น ก็จะเริ่มหารือกันในชุดเล็กที่จะประมวลสถานการณ์ และวางกรอบเงื่อนไข

อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) และคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด มีมติเห็นชอบให้จัดทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปาล์มน้ำมัน ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร

ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกับโครงการฤดูการผลิตปี 2563/2564 หรือปีที่ 2 โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอเสนอเข้า ครม. หรือปาล์มน้ำมันจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) พิจารณาก่อนเสนอ ครม.เช่นกัน

 

เบื้องต้นหลักเกณฑ์จะไม่ต่างจาก 2 ปีก่อน โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดราคาประกันไว้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ เป้าหมายเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 452,000 ครัวเรือน ที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564-31 พฤษภาคม 2565 โดยการจ่ายชดเชยรายได้ให้เกษตรกรงวดแรก เริ่มวันที่ 20 พฤษจิกายน 2564 งวดต่อไปทุกวันที่ 20 ของเดือน และงวดสุดท้ายวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รวม 12 งวด งบประมาณ 1,800 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการคู่ขนานช่วยรักษาเสถียรภาพราคา โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้อัตรา 3% ต่อปี ให้กับสถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการรับซื้อ เพื่อเร่งการรับซื้อและเก็บสต๊อกไว้ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เป้าหมายรวม 350,000 ตัน

ส่วนปาล์มน้ำมัน กำหนดราคาเป้าหมายที่กิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร จะได้รับความช่วยเหลือทุกครัวเรือนตามพื้นที่ที่ปลูกจริง แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ไร่ และต้องเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้วมีอายุ 3 ปีขึ้นไป ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564-กันยายน 2565 โดยจ่ายงวดวันที่ 1 และ 15 กันยายน 2564 งบประมาณ 7,660 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังจะมีมาตรการเสริมคู่ขนานเพื่อแก้ไขปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการให้ผู้ส่งออกกิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ปริมาณเป้าหมาย 150,000 ตัน

ขณะที่โครงการประกันรายได้ยางพารา ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ประกันรายได้ปี 2 เพิ่งจบลงเดือนเมษายนที่ผ่านมา การประกันรายได้ปี 3 อยู่ระหว่างการพิจารณา

แต่ความเห็นจากสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากมองในมุมของเกษตรกร ยังอยากให้รัฐบาลช่วยอุดหนุนต่อเป็นปีที่ 3 แต่ไม่อยากให้คาดหวังมาก เพราะยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่ารัฐบาลจะนำงบประมาณจากไหนมาอุดหนุนในส่วนนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันยังไม่คลี่คลาย และรัฐบาลยังต้องใช้งบฯ ส่วนใหญ่ไปกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกด้วย

 

ไฮไลต์อยู่ที่ข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ นาปี 2564/2565 เริ่มออกแล้วเดือนกันยายน-ตุลาคม ทั้งชาวนาและรัฐมองว่าปริมาณปีนี้น่าจะไม่ต่ำกว่าปีก่อน เพราะฝนชุกในหลายพื้นที่

แต่ก็มีบางพื้นที่เจอน้ำมากเกินจริง จนผลผลิตที่ปลูกเน่าเสียหาย

ซึ่งในภาวะปกติของน้อยราคาย่อมดีตามหลักดีมานด์ซัพพลาย แต่ปีนี้การแพร่ระบาดของโควิดที่กลุ่มเกษตรยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ก็ยังเป็นความเสี่ยงต่อการเก็บเกี่ยวและรับซื้อจากโรงสี ราคาน่าจะดีก็อาจดิ่งได้

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประเมินแล้วปีนี้ต้องเตรียมงบฯ จ่ายชดเชยส่วนต่างสูงกว่าปีก่อน 40% เพื่อดึงราคาข้าวให้เกิน 1 หมื่นบาทต่อตัน!!

ดังนั้น การที่หยิบยกประเด็นด้านการเกษตรไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ ต้องลุ้นว่าช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเกษตรกรอีกก้าว หรือหวังแค่ขีดข่วน แสบๆ มันๆ ช่วง 3 วันแล้วก็จมหายไป



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

จดหมาย
หมี่กระเฉด ซีฟู้ด
เดินตามดาว | ศรินทิรา
‘มิตซูบิชิ ไทรทัน’ MY2025 ปรับใหม่ดุดันขึ้น-เพิ่มออปชั่น
ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ลุกลาม ‘วงการกีฬา’ จับตาห้ามแข่ง ‘ซีเกมส์’
อสังหาฯ อย่าคาดหวังกำลังซื้อจีน
ยูเอส โอเพ่น ครั้งที่ 125 เมื่อ ‘โจทย์’ ยากเกินไป ก็ไม่สนุก
สะแกแสงและขางหัวหมู ไม้ยาหายาก
ดาวกับดวง วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2568
ขอแสดงความนับถือ
“อนุทิน” นิ่งสงบหลังถอนตัวจากรัฐบาล ย้ำ “ภูมิใจไทย” ไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง เตรียมทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ ขอให้บ้านเมืองสงบ
“ชัยวุฒิ”เผย เพื่อไทยพยายามชวนร่วมรัฐบาล แต่ พปชร.ไม่ร่วม ฝากพรรคร่วมฯ ถ้ายังกอดคอกันอยู่ จะจมน้ำตายกันหมด แนะ ถอนตัวตั้งรัฐบาลใหม่