
คุยกับทูต | แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน สัมพันธ์ ไทย-เนเธอร์แลนด์ 420 ปี (จบ)

คุยกับทูต | แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน
สัมพันธ์ ไทย-เนเธอร์แลนด์ 420 ปี (จบ)
“เป็นที่รู้กันว่า นอกจากกรุงเทพฯ มีสภาพการจราจรที่ท้าทาย โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ที่มักติดขัด กรุงเทพฯ ยังติดอันดับในบรรดาเมืองหลวงที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงที่สุดในโลกอีกด้วย น่าประหลาดใจว่า ถึงแม้สภาพการจราจรและอุณหภูมิจะสูง แต่เมืองนี้มีศักยภาพมากมายที่จะเป็นมิตรกับจักรยาน”
เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำราชอาจักรไทย นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco van Wijngaarden) ให้คำตอบในประเด็นต่างๆ
กรุงเทพฯ จะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อจักรยานมากขึ้น
“เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ สถานทูตเนเธอร์แลนด์จึงได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop) ในกรุงเทพฯ โดยนำเจ้าหน้าที่ของรัฐ วิศวกร นักวางผังเมือง ผู้กำหนดนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานมารวมตัวกัน โดย workshop นี้มีชื่อว่า ACTIVE ย่อมาจาก ‘Alliance for Cycling and Walking Towards International Vitality and Empowerment’ เป็นโครงการที่นำโดยเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก มีเป้าหมายเพื่อฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนย้าย 10,000 คนในภูมิภาคซีกโลกใต้ในทศวรรษหน้า”
“รัฐมนตรีต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ วิเวียน ไฮเนน (Vivianne Heijnen) ได้เคยกล่าวว่า หากต้องการทำให้บ้านเมืองมีความยั่งยืนมากขึ้น ก็ไม่ควรคิดถึงแต่ยานพาหนะที่มีเครื่องยนต์ ดังเช่น รถยนต์และรถบรรทุก เพราะจักรยานเป็นสิ่งทดแทนการเดินทางด้วยรถยนต์ระยะสั้นที่ดีเยี่ยม และการกระตุ้นให้ปั่นจักรยาน สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ นั่นคือเด็กๆ สามารถไปโรงเรียนได้โดยการขี่จักรยานเมื่อการเดินเท้านั้นไกลเกินไป หรือผู้ใหญ่เห็นงานที่ดีกว่า เพราะอยู่ใกล้แค่เอื้อมเมื่อพวกเขาสามารถปั่นจักรยานไปที่นั่นและยังช่วยดูแลครอบครัวของพวกเขาได้”
ทั้งหมดนี้ฟังดูดี แต่จะเปลี่ยนเมืองที่มีประชากรหนาแน่นให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อจักรยานได้อย่างไร
“ตามข้อมูลของ Mobycon หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมกิจกรรม ผู้ที่เคยปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ จะทราบดีว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองราบที่มีลำคลองตัดผ่าน นักปั่นจักรยานใช้ทางเท้าที่ขนาบข้างลำคลองเหล่านี้เพื่อเข้าถึงถนนแคบๆ ที่ต้องใช้ความเร็วต่ำ เพื่อเชื่อมต่อถนนในตัวเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น”
“ในระหว่างการเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหามากมาย ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ทางแยกที่สำคัญทั้ง 8 แห่งในกรุงเทพฯ เพื่อเสนอการปรับปรุงเชิงปฏิบัติให้เกิดความเป็นมิตรต่อจักรยานมากขึ้น”
นอกจากนี้ รัฐควรเน้นพัฒนาเส้นทางจักรยานที่ใช้งานได้จริงระหว่างชุมชนเพื่อการเชื่อมต่อในอนาคต ไม่ใช่เน้นเพิ่มระยะทางหรือเชิงปริมาณ สำคัญที่ความต่อเนื่อง เช่น ทางแยก ทางลอด ทางข้าม สะพาน ถ้าสะดุด ไม่ต่อเนื่อง คนก็ไม่นิยม จะใช้น้อยลง เปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น ถึงขั้นเลิกใช้
นอกจากนี้ ควรเพิ่มพื้นที่จอดรถจักรยานให้มากขึ้น โดยเฉพาะตามระบบขนส่งมวลชน
การทูตรูปแบบพิเศษ ของพลังอันอ่อนโยน หรืออำนาจละมุน (soft power) และการทูตของดอกทิวลิป (Tulips Diplomacy)
“ด้วยเหตุที่ทิวลิปเป็นมากกว่าดอกไม้สัญลักษณ์ของเนเธอร์แลนด์หรือฮอลแลนด์ เพราะมีส่วนช่วยในพลังอันอ่อนโยนของฮอลแลนด์ในต่างประเทศ งานที่มีดอกทิวลิปนับพันดอก จึงได้ถูกจัดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งหลายจังหวัดในประเทศไทยโดยมีผู้เข้าร่วมชมเป็นอย่างดีเสมอ”
“ดังนั้น จึงไม่มีอะไรน่าทึ่งไปกว่าทิวลิปที่ผลิดอกบานสะพรั่งนับล้านๆ ดอก ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนจากทั่วโลกให้เดินทางไปเยือนเนเธอร์แลนด์ทุกปี เพื่อเยี่ยมชมสวนเคอเคนฮอฟ (Keukenhof) แหล่งปลูกทิวลิปที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเมืองลิซเซ่ (Lisse)”
“ดอกทิวลิปจึงนับเป็นเครื่องมือในการทูตทางวัฒนธรรมของประเทศ และยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นมิตร”
“ในปีนี้ เราจึงเฉลิมฉลองครบรอบ 420 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย และเนเธอร์แลนด์ ที่กำลังเบ่งบานประหนึ่งดอกทิวลิป” •

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำราชอาจักรไทย
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022