เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

รากเหง้าสภาอาชีพ (จบ)

12.06.2024

รายงานข่าวเรื่อง “5 ปี ส.ว. ชุด ‘เฉพาะกาล’ ฝากผลงานอะไรไว้บ้าง” ของคุณหทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ @บีบีซีไทย เมื่อ 9 พฤษภาคมศกนี้ได้ประมวลสรุปผลงาน 5 ปีของ ส.ว.ชุดเฉพาะกาลซึ่ง คสช.แต่งตั้งและเพิ่งหมดวาระไป บางหัวข้อว่า “เลือก 2 นายกฯ คว่ำ 1 แคนดิเดตนายกฯ”, “คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 25 ฉบับ”, “ส.ว.-ทีมงาน รับค่าตอบแทนราว 3.6 พันล้าน ในช่วง 5 ปี” (https://www.bbc.com/thai/articles/c72pyw33evpo)

น่าสังเกตนะครับว่า 2 นายกฯ ที่ ส.ว.ทำคลอดตามอำนาจบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น คนหนึ่งปฏิสนธิจากรัฐประหาร ส่วนอีกคนไม่ใช่ตัวแทนพรรคหัวปีที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด สำหรับ 1 แคนดิเดตนายกฯ ที่โดน ส.ว.ทำแท้งกลับเป็นหัวหน้าพรรคหัวปีที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด

ในจำนวนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ว.คว่ำไป มี 6 ฉบับที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจทำคลอดของหมอตำแย ส.ว.เองในการเลือกนายกฯ หรือที่เรียกว่า “ปิดสวิตช์ ส.ว.” (ดูตาราง)

คงสรุปได้จากประมวลผลงานรูปธรรมข้างต้นว่า ส.ว.ชุดเฉพาะกาลของ คสช. จัดเป็นสถาบันอำนาจที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก (non-majoritarian institutions หรือ NMIs)

“ซึ่งถูกออกแบบมาให้ไม่ต้องพร้อมรับผิดโดยตรงต่อราษฎรผู้ออกเสียงเลือกตั้งหรือผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร” (อ้างใน Peter Mair, https://newleftreview.org/issues/ii42/articles/peter-mair-ruling-the-void)

ทั้งยังสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล, หวงแหนอำนาจของตัวเอง และขัดขวางการเปลี่ยนย้ายถ่ายโอนอำนาจการเมืองการปกครองไปสู่สถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในระบอบประชาธิปไตย

สอดคล้องกับข้อสรุปของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเรื่อง “รวมผลงาน ส.ว. 250” ที่ฟันธงว่า “ประเทศไทยต้องหยุดชะงักเพียงเพราะคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างเหตุผลสารพัดเพื่อจะรักษาฐานอำนาจเดิมและกอดรัด ‘ความมั่นคงของชาติ’ ในแบบที่ผิดๆ” (10 May 2024, https://www.facebook.com/ThammasatUFTD)

และข้อสรุปของคุณไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ในงานเสวนาวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “ส.ว. 250 คนชุดปัจจุบันประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ตามวัตถุประสงค์ที่มีอยู่ คือการแช่แข็งประชาธิปไตยของประเทศ” (11 พฤษภาคม 2567, https://ch3plus.com/news/political/morning/399450)

การที่ ส.ว.@คสช. ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศต้องหยุดชะงัก, ถูกแช่แข็ง หรือในภาษาการเมืองสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองคือทำตัวเป็น “ตุ้มถ่วงความเจริญ” (https://pridi.or.th/th/content/2020/11/504) เช่นนี้มีนัยกระทบทางรัฐศาสตร์ต่อไปข้างหน้ายาวไกลทีเดียว

ทั้งนี้เพราะสังคมซึ่งล้มเหลวในอันที่จะปรับตัวรับการท้าทายทั้งหลายที่ตนเผชิญย่อมแตกสลายไปในท้ายที่สุด ดังที่โลกของเราเกลื่อนกลาดไปด้วยประดาอนุสาวรีย์แห่งระบบการเมืองซึ่งในที่สุดแล้วก็วิ่งจนสุดทาง เหลือทิ้งไว้แต่ซากปรักหักพังเบื้องหลัง

 

หมู่ปราสาทนครวัดนั้นยืนตระหง่านเป็นพยานถึงความรุ่งโรจน์ที่ล่วงลับไปของจักรวรรดิเขมรซึ่งตั้งอยู่บนระบบครองทาสและพระวิษณุแห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเมื่อ 9 ศตวรรษก่อน แต่แล้วเพียงเสี้ยวศตวรรษต่อมา เทวาลัยและสุสานฝังพระศพมหึมาแห่งนี้ก็ถูกชาวจามยึดครองไป แม้จะค่อยฟื้นฟูกลับมาเป็นของชาวเขมรได้ แต่ก็กลายความหมายเป็นพุทธศาสนสถานแทน

ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ นอกจากมันจะถูกใช้ไปประดับเป็นโลโก้ประจำธงชาติกัมพูชาของแทบทุกระบอบปกครองไม่เว้นแม้แต่เขมรแดงแล้ว ทุกวันนี้นครวัดก็กลายเป็นทัวริสต์ไซต์ยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวนานาชาติรวมทั้งชาวไทยพากันไปเซลฟี่เป็นที่ระลึกกันไม่ขาดสาย

อนุสรณ์สถานของโฮจิมินห์ในกรุงฮานอยเคยยืนตระหง่านเป็นศูนย์รวมอุดมการณ์ของขบวนคอมมิวนิสต์อินโดจีนเพื่อเป็นเกียรติแก่ลุงโฮผู้นำในการสร้างพรรคและขบวนปฏิวัติซึ่งมุ่งหมายจะพิชิตไปทั่วภูมิภาคหรือแม้กระทั่งกว้างไกลกว่านั้นในอนาคต แต่มาบัดนี้เมื่ออนาคตมาถึงเข้าจริงๆ มันกลับกลายเป็นแค่จุดทัวร์ลงอีกแห่งเท่านั้นเอง

ก็แล [ระบอบไม่เสรีประชาธิปไตยเสียที] ที่ไทยมีในปัจจุบันจะถูกชะตาฟ้าลิขิตให้ประสบชะตากรรมเดียวกันหรือไม่? บรรดาสิ่งปลูกสร้างอันโอฬารตระการตาทุกวันนี้กี่แห่งกันที่จะคงเหลือเป็นเศษซากอันวิจิตรพิสดารให้ทัวริสต์มาเซลฟี่และนักโบราณคดีมาสืบค้นกันในวันข้างหน้า?

 

ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่มีอย่างน้อย 3 ปัญหาใหญ่ซึ่งกำลังรุมเร้าระบอบไม่เสรีประชาธิปไตยเสียทีของไทย :

1) ปัญหาทรัพยากร : เรากำลังสิ้นเปลืองทรัพยากร สร้างมลภาวะและรุมโทรมธรรมชาติเหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้ ไม่ว่าภาวะคลื่นความร้อนไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุด ฝุ่น PM 2.5 ติดอันดับโลกแรมเดือน ไฟไหม้โรงเก็บสารเคมีและเชื้อเพลิงต่อกัน ทะเลเดือด การขุดขยะสารพิษออกมาส่งขาย โรคเกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจที่แพร่หลายและร้ายแรงมากขึ้นในหลายท้องที่ ฯลฯ

อนาคตยังอาจมีประเทศไทยอยู่ (เป็นปกติวิสัยที่ชาติมักถูกผู้คนจินตนากรรมให้เป็นอมตะไม่มีอายุขัย) ทว่า ประเทศไทยในอนาคตยังจะน่าอยู่สำหรับลูกหลานเหลนเราหรือไม่? พวกเขาจะรำพึงถึงวิญญาณปู่ทวดว่าอย่างไร?

2) ปัญหาการเชื่อมต่อกันของนานาชาติ : กระบวนการโลกาภิวัตน์กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมาทำให้นานาประเทศเชื่อมต่อกันกระชับแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ

นั่นหมายถึงว่าย่อมปรากฏเหล่าปัจจัยเสี่ยง (risk factors) มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ :

2.1 อยู่นอกเขตพรมแดนและอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติแห่งหนึ่งแห่งใดแห่งเดียว

2.2 ฉะนั้น จึงย่อมอยู่เหนือการควบคุมของรัฐชาติแห่งหนึ่งแห่งใดแห่งเดียวด้วย

2.3 แต่กลับสามารถส่งผลกระทบสั่นคลอนสังคมเศรษฐกิจแห่งรัฐชาติทั้งหลายอย่างคาดไม่ถึงกั้นไม่อยู่คุมไม่ได้บ่อยขึ้น

ไม่ว่าภาวะโลกเดือด เศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก สงครามการค้า-เทคโนโลยีและสงครามเย็นรอบใหม่ของสองอภิมหาอำนาจ โควิด-19 ระบาดทั่วโลก ผลกระทบทางการเมืองการทหารและราคาอาหาร-พลังงานเฟ้อจากสงครามไกลโพ้นต่างภูมิภาค ข้อพิพาทเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้ของนานาชาติที่กำลังขยายตัวลุกลาม มาจนถึงการเผาป่า ทำสวนยางและไร่ข้าวโพดและสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ยาเสพติดแพร่ระบาดข้ามพรมแดน ฯลฯ

ระเบียบรัฐชาติและการทูตระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ทำให้เรารับมือได้จำกัด ตกอยู่ในสภาพสังคมเสี่ยง (ดู Ulrich Beck, Risk Society : Towards a New Modernity, 1992) ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำเสียส่วนใหญ่

ทำอะไรไม่ได้มากนักนอกจากใส่หน้ากากอนามัย เหงื่อแตกท่วมตัว ซึมเศร้าและสวดมนต์ขอพรให้ลูกช้างแคล้วคลาดไปวันๆ

 

3) ปัญหาความเปื่อยยุ่ยย่อยสลายของเหล่าสถาบันแห่งการสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของไทย & ของระเบียบโลกเสรีนิยมใหม่หลังสงครามเย็นที่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลาง :

มองกว้างออกไป ที่ไทยกำลังเผชิญคือความเปื่อยยุ่ยย่อยสลายของเหล่าสถาบันแห่งการสร้างอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกช่วงทศวรรษ 2525-2535 ทั้งแง่เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมืองและวัฒนธรรม

ในระดับโลก ก็จะเห็นความเปื่อยยุ่ยย่อยสลายของระเบียบโลกเสรีนิยมใหม่หลังสงครามเย็นที่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลางเช่นกัน สงครามเย็นรอบใหม่ของสองอภิมหาอำนาจ สงครามอิสราเอลบุกไล่ล่าล้างผลาญปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน เป็นต้น

คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์และเจนเอ็กซ์เติบโตไต่เต้ามากับสถาบันทั้งภาครัฐราชการและภาคทุนเอกชนเหล่านี้ เกาะเกี่ยวและอาศัยมันเป็นที่พักพิง ทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัวทั้งเอกลักษณ์ ผลงาน ฐานะตำแหน่งและครอบครัว

จนมาบัดนี้พวกเราพวกเขาก็ได้เห็นความเสื่อมทรามทรุดโทรมค่อยย่อยสลายลงทั้งในแง่กายภาพและจินตภาพ สมรรถนะและธรรมาภิบาลของสถาบันสังกัดของตัวคาตา เรียกได้ว่าแทบจะทุกวงการ

ไม่ว่าแวดวงการเมืองการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม การศึกษา วงวิชาการและมหาวิทยาลัย การแพทย์และสาธารณสุข สื่อมวลชนทั้งสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

ที่จะเกิดใหม่และสร้างใหม่ได้มักเป็นปัจเจกชนรุ่นใหม่อิสระไร้สังกัด ปลีกตัวไปอยู่ไปทำข้างนอกสถาบัน โดยเชื่อมต่อกับสื่ออินเตอร์เน็ตใหม่และโซเชียลมีเดีย บุกเบิกสร้างสรรค์เปิดช่องทางใหม่ขึ้นมา ซึ่งบ้างก็ตอบโต้ต่อต้าน บ้างก็แยกออกต่างหาก บ้างก็เสริมเติมซึ่งกันและกัน และบ้างก็สนธิพลังร่วมกับเหล่าสถาบันเดิมแล้วแต่กรณี

 

ในภาวะเช่นนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น มีแต่ต้องปรับเปลี่ยนปฏิรูปสถาบันเหล่านี้อย่างทั่วด้านถึงรากเป็นทางเดียว มิฉะนั้นประเทศชาติจะต้องเผชิญแก้วิกฤตที่เรียงแถวต่อคิวกันเข้ามาทุกสัปดาห์ทุกเดือนไม่หยุดหย่อน ไม่มีทางทันตั้งเนื้อตั้งตัวก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้

ก็แลตัวแบบการเมืองการปกครองที่ใช้มาเป็นกรอบกำกับพลังทางความรู้และเทคโนโลยีใหม่เพื่อรับมือปัญหาท้าทายใหญ่ๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้นในโลกทุกกวันนี้ มีอยู่ 2 ตัวแบบใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ :

หนึ่ง) ตัวแบบประชาธิปไตย ซึ่งผสานการเลือกตั้งเข้ากับความชำนาญทางการเงิน ประสานนักการเมืองจากการเลือกตั้งเข้ากับนายธนาคารกลาง เช่น สหรัฐอเมริกา

จุดเด่นของตัวแบบนี้อยู่ตรงมันปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า แต่จุดอ่อนของมันคือโลๆ เลๆ ตัดสินใจไม่ได้เด็ดขาดฉับไว

สอง) ตัวแบบอัตตาธิปไตย ซึ่งผสานการปกครองโดยพรรคเดียวเข้ากับความชำนาญทางการจัดการ ประสานผู้ปฏิบัติงานของพรรคเข้ากับวิศวกรสังคม เช่น จีน

จุดเด่นของตัวแบบนี้อยู่ตรงมันตัดสินใจเด็ดขาดฉับไวกว่า แต่จุดอ่อนของมันคือต้องดิ้นรนด้วยความยากลำบากกว่าจะปรับตัวได้เพราะติดกรอบสัมพันธภาพทางอำนาจรวมศูนย์แข็งตัวจากบนลงล่าง

ส.ว. คือชิ้นส่วนกลไกหลักหนึ่งที่ชนชั้นนำรัฐพันลึกของไทยอาศัยมาขับเคลื่อนประเทศตามตัวแบบอัตตาธิปไตยนี้ โดยใช้เครือข่ายเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจแบบรวมศูนย์ที่รัฐราชการมาทำหน้าที่แทนพรรค และอาศัยเทคโนแครตทางการพัฒนาเศรษฐกิจมาทำงานแทนวิศวกรสังคม โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงเด็ดขาดฉับไว แต่ละเลยทอดทิ้งการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง (ขอให้คิดถึงฐานคิดเบื้องหลังยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีเป็นตัวอย่าง)

ซึ่งผลงานแห่งความชะงักงันและแช่แข็งของประเทศภายใต้ความรับเชื่อว่า “ปฏิรูป = ล้มล้าง” ก็ดังที่เห็นกันอยู่

ส.ว.จึงสะท้อนและส่งผลขับเน้นตอกย้ำจุดอ่อนที่ไม่ยอมปรับตัวปฏิรูปของชนชั้นนำและสถาบันอำนาจของไทยนั่นเอง

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

ปมขัดแย้งไทย-กัมพูชา จับตา เจซีบี 14 มิ.ย. เขมรยื่นศาลโลก คอนเน็กชั่น ทักษิณ-ฮุนเซน ดาบสองคม
‘ทักษิณ’ แค่ ‘เลื่อน’ ไม่หนี ผ่อน ปมร้อน คดีชั้น 14มติแพทยสภา-ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวน
“ตั๊น จิตภัสร์”ซ้อมหนักกีฬาเริงระบำในอากาศ เตรียมลุยรายการแข่งแรก “เวิลด์คัพ มาร์เซย ฝรั่งเศส” พร้อมสานต่อภารกิจ ”กีฬาอากาศคนพิการ” ตามรอยพ่อให้สำเร็จ
นายกฯ เปิดโครงการพลังสตรีฯ กำลังสำคัญพัฒนาประเทศขอผู้หญิงภูมิใจในตัวเอง – ยืนยันสานต่อกองทุนสตรีพร้อมยกระดับให้แข็งแกร่ง
สงครามชาตินิยมในศึกพิพาทกัมพูชา | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
“รมว.นฤมล”เปิดงานประกวดเส้นไหม ปี 68 สานงานต่อตามพระราชปณิธาน“พระพันปีหลวง”กำชับ เร่งเพิ่มจำนวนเกษตรกรหม่อนไหม รักษาให้อยู่คู่วิถีชีวิตคนไทย
‘พิชัย’ เดินหน้าเชิญชวนญี่ปุ่นลงทุนเพิ่ม เซมิคอนดักเตอร์-เทคโนโลยีอนาคตในไทย พร้อมหนุนเอกชนไทยรับมือโลกการค้ายุคใหม่
“พิชัย” รับลูกนายกฯ ทุบนอมินี-สินค้าด้อยคุณภาพ สั่งลุยตรวจ 46,918 บริษัทต้องสงสัย ปกป้องระบบเศรษฐกิจไทย
ยางแท่นเครื่องคืออะไรพร้อมวิธีเช็กยางแท่นเครื่องเสื่อมสภาพ
สินเชื่อบ้านแลกเงินคืออะไร ? ตัวช่วยสำหรับคนอยากได้เงินด่วน
กรณี ‘ชั้น 14’ ในทรรศนะ ‘วรเจตน์’ นี่ไม่ใช่ยุค ‘เปาบุ้นจิ้น’
รองเลขาฯ นายกฯ งง สส.ปชน. ค้าน เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ทั้งที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ฉะ อ้างแรงงานต่างด้าว สร้างความเกลียดชังระหว่างชนชาติ