

TALK & WALK : นิทรรศการ ‘เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม’
รายงานพิเศษ | กรกฤษณ์ พรอินทร์
7 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC : Matichon Information Center) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดงาน TALK & WALK : นิทรรศการ “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” เพื่อเปลี่ยน ‘วิชาการ’ เป็น ‘ความสนุก’ ให้แก่ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมการเสวนา
ภายในงานมีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ ได้แก่ BOOKTALK “อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ : การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และ คุณปวีณา หมู่อุบล เจ้าของผลงาน “อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ : การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์” ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร
และกิจกรรม WALKTOUR นิทรรศการ “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” กับ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และนายยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังงานเสวนาและร่วมเดินชมสิ่งจัดแสดงเป็นจำนวนมาก
อำนาจนำพระนั่งเกล้า
เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการ เกริ่นนำโดยนำข้อความจากปกหลังของหนังสือ “อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ : การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์” เพื่ออธิบายขอบเขตการเสวนาคร่าวๆ ในวันนี้ ความว่า
“ความเปลี่ยนแปลงในสมัยต้นรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำสามารถแสวงหาและสั่งสมความมั่งคั่งได้มากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้การเมืองของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 เต็มไปด้วยการสั่งสมอำนาจและบารมีแข่งขันกัน สภาวะเช่นนี้ทำให้สถานะบนราชบัลลังก์ของรัชกาลที่ 3 สั่นคลอน พระองค์จึงต้องดำเนินพระราชกรณียกิจทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมบนราชบัลลังก์
โดยพระราชกรณียกิจทางวัฒนธรรมที่รัชกาลที่ 3 เลือกใช้ ได้แก่ การซ่อมสร้างวัดวาอารามต่างๆ โดยเฉพาะวัดอรุณฯ และวัดโพธิ์ เพื่อแสดงตนว่าเป็นผู้ดำเนินรอยตามรัชกาลที่ 1
อีกทั้งเรื่องราวซึ่งปรากฏอยู่ในจารึก จิตรกรรมฝาผนัง ตำราเรียน และตำราทางศาสนา ยังนำเสนอภาพของรัชกาลที่ 3 ในฐานะผู้มีความสามารถและบุญบารมีสูงส่ง เป็นผู้สนับสนุนพระพุทธศาสนา เป็นผู้นำพาพสกนิกรชาวสยามให้ข้ามพ้นสังสารวัฏ”
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า การเมืองในความหมายอย่างกว้างอยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน ในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อเนื่องรัชกาลที่ 2 มีการชิงไหวชิงพริบระหว่างกลุ่มคนที่มีอำนาจมากน้อยเหลื่อมล้ำ เราพบว่าเมื่อรัชกาลที่ 2 เสวยราชสมบัติหลังรัชกาลที่ 1 สวรรคต ใช้คำว่าปราบดาภิเษก ไม่ใช่บรมราชาภิเษก กรณีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น รัชกาลที่ 3 ในเวลานั้นทรงมีบทบาทสำคัญในการชำระคดี ก็เป็นความสั่นคลอนทางการเมืองระยะหนึ่งที่เห็นได้ชัด แต่ยังมีการเมืองอีกมากมายที่เราเห็นไม่ชัด แต่อยู่ระหว่างบรรทัดของเอกสารประวัติศาสตร์ หรือพงศาวดารกระซิบ
รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เมื่อ 200 ปีมาแล้ว ในทางตำรา ทรงเป็นโอรสพระเจ้าแผ่นดินก็จริง แต่เป็น “พระองค์เจ้า” คือไม่ได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า สิทธิธรรมในการเป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ชนะเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4)
แต่ในเวลานั้น กฎมณเทียรบาล การสืบสันตติวงศ์ที่เขียนเป็นตัวหนังสือไม่เคยมี การสืบราชสมบัติสมัยอยุธยาก็ไม่ชัดเจน การเป็นพระองค์เจ้าหรือเจ้าฟ้า อาจไม่สำคัญเท่าในระหว่างนั้นใครเป็น “ผู้มีอำนาจตัวจริง” สิ่งนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญ
แต่ตลอด 27 ปีที่ครองราชย์ ทรงวางพระองค์อย่างเหมาะสมและไม่วางแผนสืบทอดอำนาจ เพราะพระองค์ท่านห่วงความเป็นไปของบ้านเมืองมากกว่าการสงวนอำนาจเฉพาะกลุ่มก้อนพวกพ้องตน
27 ปีเป็นเวลานาน ในเวลานั้น โลกที่สยามเคยรับรู้กำลังเปลี่ยนแปลงไป ศัตรูจากที่เคยเป็นพม่าจากยุคกรุงศรีอยุธยากลายมาเป็นชาติตะวันตกที่มาพร้อมการค้าและปืนใหญ่ และทรงเล็งเห็นว่านี่คือสิ่งที่กำลังท้าทายสยามจากโลกที่กำลังเปลี่ยนไปและอยู่บนความไม่แน่นอน
ดั่งข้อความว่า “การงานสิ่งใดของเขาที่ดี ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”
หนังสือเล่มนี้บอกว่ารัชกาลที่ 3 ทรงบริหารอำนาจอย่างไร รวมถึงการวางพระองค์ของรัชกาลที่ 4 ในการเสด็จผนวชและทรงตั้งธรรมยุติกนิกายที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องการเมือง

ปวีณา หมู่อุบล เจ้าของผลงาน “อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ : การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์”
เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ
คุณปวีณา หมู่อุบล เจ้าของผลงาน “อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ : การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์” หนึ่งในวิทยากรครั้งนี้กล่าวว่า รัชกาลที่ 3 เป็นหม่อมเจ้า เป็นโอรสของรัชกาลที่ 2 ที่เกิดแก่เจ้าจอมมารดาเรียม สามัญชนที่มาจากเมืองนนทบุรี
รัชกาลที่ 3 เป็นผู้เฉลียวฉลาด เติบโตมาในราชสำนักช่วงรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองทั้งกับจีนและตะวันตก ทั้งการค้าทางน้ำและทางบก
พระองค์รับราชการควบคู่กับการเป็นพ่อค้า การพบเจอพ่อค้าต่างชาติทำให้หูตากว้างไกล การทำงานในกรมพระคลังสินค้าทำให้พระองค์ท่านมีพรรคพวกมาก
เมื่อขึ้นครองราชย์ พระองค์ท่านได้รับการทูลเชิญ ที่เรียกกันว่า เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ คือมวลชนพร้อมใจยอมรับให้เป็นกษัตริย์ แม้ชาติกำเนิดจะเป็นรองรัชกาลที่ 4 แต่ด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ กลับพร้อมกว่า
สังคมสมัยนั้น บทบาทของกษัตริย์ต่างจากสมัยนี้ เพราะแม้จะทรงเป็นเพชรยอดมงกุฎของประเทศ แต่ก็มีกลุ่มก้อนอำนาจแนวระนาบมากมายอยู่รายล้อม ที่ทั้งสนับสนุบและจับจ้องคอยมองอยู่
การบริหารอำนาจจึงสำคัญ จึงทรงรักษาสมดุลทางอำนาจตลอดการครองราชย์ผ่านการขยายอำนาจนำ
บริวารว่านเครือ
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เสริมว่า ไม่มีใครเป็นใหญ่ได้โดยไม่มีสมัครพรรคพวก พรรคพวกของรัชกาลที่ 3 จำนวนหนึ่งคือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ขุนนางคู่พระทัย เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ผู้เป็นขุนพลแก้ว เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ผู้เป็นกำลังสำคัญด้านการค้า และพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) เสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ และอีกหนึ่งที่สำคัญคือเจ้าจอมมารดาเรียม ผู้เป็นมารดา
ในสมัยที่รัชกาลที่ 3 ยังไม่ขึ้นครองราชย์และว่าราชการอยู่นั้น ทรงอาศัยอยู่ที่วังท่าพระ เจ้าจอมมารดาเรียมทูลขอรัชกาลที่ 2 ว่าตนจะมาอยู่กับรัชกาลที่ 3 ที่วังแห่งนี้และทรงเป็น “สตรีผู้เป็นอันดับหนึ่งแห่งวัง” เพราะรัชกาลที่ 3 ไม่ทรงแต่งตั้งสนมนางใดเป็นใหญ่ ยกให้มารดาตนครองวัง ดูแลกิจการ “หลังบ้าน” ตั้งโรงทานแจกจ่ายอาหารแก่ข้าราชการและประชาชนอยู่เสมอ จนมีสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า การที่รัชกาลที่ 3 เป็นกษัตริย์ก่อนรัชกาลที่ 4 เป็นคุณแก่ประเทศมาก เพราะทำให้รัชกาลที่ 4 มีเวลาศึกษาภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ถัดไป
โดยระหว่างนั้น รัชกาลที่ 3 จึงจำเป็นต้องเลือกว่าทรงต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่แผ่นดินและรักษาอำนาจอย่างสมดุลที่สุด
บริบทสังคมสมัยรัชกาลที่ 3 และความเป็นธรรมราชา
คุณปวีณา หมู่อุบล เล่าว่า บริบทสังคมทั่วไปในช่วงนั้น ไม่ได้ไกลจากเหตุการณ์เสียกรุงศรีมากนัก บางคนยังคงหนีไปอยู่ในป่าเพราะกลัวภัยสงคราม รัชกาลที่ 3 ทรงรู้ว่าประชาชนเป็นอย่างไร จึงสถาปนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโลกเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนผ่านวัด ตามองค์ความรู้ที่โลกเป็นจริง คือมีดินแดน ทะเล พ่อค้าต่างชาติ ไม่ใช่โลกแบบไตรภูมิที่ผู้คนสยามรับรู้มาช้านาน ทั้งแบบเรียนคณิตศาสตร์เบื้องต้นผ่านประถม ก.กา, ประถมมาลา ตามวัด และการอุปถัมภ์พระสงฆ์เพื่อนำความรู้สู่ประชาชนเพื่อให้เท่าทันความเป็นไปของโลก
การสร้างวัดในรัชสมัยของท่านเป็นไปเพื่อสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นใหม่เพื่อชุบชูจิตใจประชาชนที่บาดเจ็บจากภัยสงครามมาก่อนให้รู้สึกว่า “บ้านเมืองยังดี” ผ่านการมีวัดที่ร่มเย็นให้ประชาชนได้เข้าถึง เป็นการปฏิบัติแบบ “ธรรมมิกราชาธิราชย์” คือทรงนำธรรมมาสู่ประชาชน
“ประชาชนรู้ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจ แต่ไม่เห็นและไม่สามารถจับต้องกับอำนาจได้ว่ารูปแบบไหน การที่สร้างวัด ทำให้เกิดความรับรู้ที่ลึกซึ้งมากขึ้น ทำให้รู้ว่าไม่ได้สงวนอำนาจไว้แต่พวกเขา แต่มีการเผยแผ่มาให้เราด้วย และสิ่งที่ให้มานั้นมีประโยชน์กับชีวิตจริงในโลกนี้ แม้บริบทจะเปลี่ยนแต่คติไตรภูมิยังอยู่ คนยังคาดหวังชีวิตที่ดีในโลกหน้า แต่วัดตอบโจทย์ 2 โจทย์คือ ความรู้ที่ใช้ในชีวิตนี้ และเนื้อนาบุญในภายภาคหน้าด้วย สิ่งที่รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิบัติเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ”
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เล่าว่าวัดที่รัชกาลที่ 3 สร้าง ท่านให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ ไม่จำกัดเฉพาะขุนนาง ทำให้ประชาชนรู้สึกเข้าถึงพระองค์ท่าน ทรงลดบทบาท “จักรพรรดิราช” สู่การเป็น “ธรรมราชา” ผู้ส่งเสริมผู้คนให้อยู่ในศีลธรรม ช่วยให้พระองค์ท่านเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน เพราะการสร้างวัดคือการสร้างคะแนนนิยมต่อประชาชนอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความรับรู้แก่ประชาชนถึงการมีอยู่ของพระองค์และเหล่าวงวารว่านเครือ และความรู้ที่พระองค์มอบให้ผ่านวัด ก็ตอบโจทย์ทั้งทางใช้ชีวิตทางโลกผ่านความรู้ชุดใหม่ๆ และชีวิตทางธรรม ที่ผ่านธรรมะและการทำบุญแบบเดิม
ความรู้ที่รัชกาลที่ 3 สถาปนาขึ้นมาสร้างมาตรฐานแก่สังคม โดยมีกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นหัวหอกด้านการเผยแผ่ธรรมะ และมีพระยาบำเรอราชดูแลด้านการแพทย์ เพราะในช่วงนั้นโลกเปิดออก ความเป็นเหตุเป็นผลจากวิทยาการตะวันตกแผ่เข้ามา ผู้คนต้องการเหตุผลในการอธิบายสิ่งต่างๆ การให้ความรู้เหล่านี้ของรัชกาลที่ 3 ทำให้ประชาชนพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่จะมาถึงเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนการผลัดแผ่นดินสู่สมัยรัชกาลที่ 4 ในช่วงเวลาต่อมา
จากนั้น เวลาประมาณ 14.30 น. เข้าสู่ช่วงกิจกรรม WALKTOUR นิทรรศการ ‘เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม’ กับศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และนายยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังงานเสวนาและร่วมเดินชมสิ่งจัดแสดงเป็นจำนวนมาก •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022