

การออกแบบเมืองไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใด “พื้นที่ความตาย” คือหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่สุดของเมืองที่ต้องคำนึงถึง เพราะไม่มีพื้นที่ใดในโลกที่จะมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ มารวมตัวอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างหนาแน่นมากไปกว่าเมือง ซึ่งทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่รวมของคนตายเอาไว้มากที่สุดเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ การจัดการความตายหรือพูดให้ชัดคือการจัดการซากศพของคนที่ตายไปแล้ว รวมถึงจัดการอารมณ์ความรู้สึกของญาติมิตรที่ยังคงต้องมีชีวิตต่อไป จึงเป็นภารกิจใหญ่ที่เมืองทุกแห่งต้องเผชิญ ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพฯ
หากเราสังเกตองค์ประกอบของเมืองรอบตัวก็จะพบว่า พื้นที่ความตาย (รวมไปถึงบางส่วนของร่างกายคนตาย) ได้แทรกตัวอยู่กับเรามากกว่าที่คิด เมรุเผาศพ สุสาน ป่าช้า โรงพยาบาล วัด เจดีย์บรรจุอัฐิ เนินดิน อนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์บางแห่ง ร้านขายโลงศพ บริษัทรับจ้างจัดพิธีศพ ร้านดอกไม้ ไปจนถึงต้นไม้บางต้น โกศบรรจุกระดูกและป้ายวิญญาณที่ตั้งอยู่บนโต๊ะหรือหิ้งภายในบ้าน
พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่สำหรับจัดการความตายและซากศพในความหมายของสิ่งปฏิกูลสกปรกและแหล่งรวมเชื้อโรคซึ่งเป็นมิติทางกายภาพเท่านั้น
แต่ยังสะท้อนนัยยะทางสังคมหลายอย่างเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับความตาย การมองความตายที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ความอาลัยอาวรณ์ของคนที่ยังอยู่ การจัดวางช่วงชั้นทางสังคมของผู้คนในเมือง การเปลี่ยนผ่านจากสังคมแบบจารีตสู่สังคมสมัยใหม่ ไปจนถึงอุดมการณ์แห่งรัฐ
นัยยะแฝงเหล่านี้ บางอย่างเราอาจมองไม่เห็นชัดมากนักหากพิจารณาจากหลักฐานประเภทอื่น ดังนั้น การหันมาศึกษาพื้นที่ความตายจึงอาจเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยเราทำความเข้าใจสังคมในมิติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
กล่าวให้ชัดก็คือ การศึกษาพื้นที่ความตาย สิ่งที่ได้อาจไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจความตายมากขึ้น แต่คือการทำความเข้าใจสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ในรูปแบบต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังวิธีการจัดการความตาย
กรอบแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย มีงานมากมายที่ใช้กรอบแนวคิดนี้ในการศึกษา ในกรณีสังคมไทย โดยเฉพาะพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ ก็มีงานหลายชิ้นที่ศึกษาความตายในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่สนใจเรื่องเมืองและงานสถาปัตยกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ มาพอสมควร ก็พบว่า งานที่มีอยู่ยังอธิบายได้ไม่ครอบคลุมนัก
ดังนั้น เลยอยากลองอธิบายในมุมที่ตนเองสนใจดู และคิดว่าอาจจะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจมากขึ้น

แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย พ.ศ.2430 แสดงตำแหน่งประตูสำราญราชย์และประตูช่องกุด
กรุงเทพฯ เมื่อแรกสร้างในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การออกแบบพื้นที่ความตายเป็นโจทย์หนึ่งที่สำคัญในการสร้างเมือง (ไม่ต่างจากเมืองทั้งหลายในโลก) มีงานหลายชิ้นอธิบายในส่วนนี้ไว้ดีแล้ว ดังนั้น จะขอสรุปมาโดยสังเขปดังนี้ โดยจะแทรกประเด็นความเห็นบางอย่างลงไปประกอบ
กรุงเทพฯ คือเมืองแบบยุคกลางที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีป้อม 14 ป้อม และกำแพงสูงใหญ่ล้อมรอบเมืองเอาไว้ทุกด้าน ตัวกำแพงเจาะเป็นช่องประตูเมืองขนาดใหญ่ 16 ประตู และประตูขนาดเล็ก (เรียกว่าประตูช่องกุด) 47 ประตู กระจายตัวอยู่ตลอดความยาวของกำแพงเพื่อทำหน้าที่เป็นช่องทางสำหรับการสัญจรเข้าออกเมือง
พื้นที่ภายในกำแพง คือส่วนสำคัญที่สุด สถานที่ราชการ วัดวาอาราม วังเจ้านาย ตลอดจนบ้านเรือนของผู้คนและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าล้วนตั้งอยู่ในส่วนนี้ แน่นอน เราคงจินตนาการได้ถึงปริมาณมากมายของผู้คนที่อยู่อาศัยภายในกำแพงเมือง และจำนวนของผู้คนที่ต้องล้มตายลงในแต่ละวัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนตายภายในเมือง (ตามความเชื่อที่ส่งทอดมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยาหรืออาจจะก่อนหน้านั้น) การจัดการศพ ไม่ว่าจะด้วยการเผาหรือฝัง จะไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำในพื้นที่ภายในกำแพงเมืองโดยเด็ดขาด มีเพียงศพของกษัตริย์และเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าเท่านั้นที่จะได้รับการยกเว้น โดยมีการประกอบพิธีศพขึ้นบริเวณท้องสนามหลวงหรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ทุ่งพระเมรุ
ภายในกำแพงเมือง แม้จะมีวัดสร้างขึ้นมากมาย แต่ไม่มีวัดแห่งใดเลยที่จะถูกออกแบบขึ้นสำหรับการจัดการเผาศพหรือฝังศพ แม้กระทั่งในปัจจุบันลักษณะความเชื่อนี้ก็ยังคงอยู่
ส่วนศพของคนที่มีสถานะต่ำกว่านั้นลงมา ทุกศพจะต้องถูกขนย้ายออกมาประกอบพิธีตามความเชื่อทางศาสนาของตนนอกกำแพงเมือง แต่การขนย้ายก็ไม่สามารถทำได้โดยอิสระ
เพราะตามความเชื่อแล้ว ศพคือสิ่งอวมงคลที่จะสามารถนำออกนอกเมืองได้โดยประตูเดียวเท่านั้น คือ “ประตูผี”

แผนผังพื้นที่บริเวณประตูสำราญราษฎร์ ริมถนนบำรุงเมืองที่ได้สร้างตึกแถวขึ้นใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มา : เพจ Urban Ally https://urbanally.org/article/History-of-living-old-building
ประตูผีของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง ตรงบริเวณ “ประตูสำราญราชย์” ซึ่งในปัจจุบันคือบริเวณสี่แยกสำราญราษฎร์
กรณีนี้มีข้อสันนิษฐานที่แยกออกเป็น 2 แบบที่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน โดยแบบแรกเชื่อว่า “ประตูสำราญราชย์” คือประตูผี ส่วนแบบที่สองเชื่อว่า ประตูผีควรมีลักษณะเป็นประตูขนาดเล็กแบบประตูช่องกุดมากกว่า โดยน่าจะตั้งอยู่ข้างๆ ใกล้ๆ กับประตูสำราญราชย์
จากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย พ.ศ.2430 พบว่าบริเวณนี้มีประตูอยู่ใกล้กัน 2 ประตู คือ ประตูสำราญราชย์และประตูช่องกุด โดยไม่ระบุรายละเอียดอะไรทั้งสิ้น ทำให้ไม่ทราบได้ว่าประตูไหนคือประตูผีกันแน่
หลักฐานอีกชิ้นจากหอจดหมายเหตุที่แสดงแผนผังพื้นที่บริเวณประตูสำราญราษฎร์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไม่ต่างกัน คือแสดงให้เห็นตำแหน่งของทั้ง 2 ประตูโดยไม่มีการระบุว่าประตูไหนคือประตูผี ระบุชื่อเพียงว่า “ประตูสำราญราชย์” และ “ประตูช่องกุด” (ในเอกสารเขียนประตูช่องกุฏิ)
จากหลักฐานที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ชัดเช่นนี้ ทำให้ทั้งสองแนวการสันนิษฐานมีความเป็นไปได้ทั้งคู่
แต่ไม่ว่าจะเป็นประตูไหนก็ตาม อย่างไรบริเวณนี้ก็คือพื้นที่ที่ถูกกำหนดมาให้เป็นพื้นที่อวมงคลของเมือง ซึ่งจะต้องมีการออกแบบจัดวางตำแหน่งต่างๆ ของเมืองตามความเชื่อ เพื่อปกป้องคุ้มครองเมืองจากสิ่งชั่วร้ายที่อาจเกิดขึ้น

ประตูสำราญราชย์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มา : เพจ Urban Ally https://urbanally.org/article/History-of-living-old-building
จากการศึกษาของอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เรื่อง “ประตูผี และหน้าที่ของ ‘พระแก้วมรกต’ จากแนวคิด-หลักฐานทางประวัติศาสตร์” (ดูใน https://www.silpa-mag.com/history/article_10387) เสนอว่า ประตูเมืองตามขนบจารีต ทุกประตูจะต้องมีการลงคาถาอาคมเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายเข้าเมือง
แต่ประตูผีจะต่างออกไปโดยจะงดเว้นการลงคาถา ที่ทำเช่นนั้นเพื่อที่จะทำให้ศพคนตายและวิญญาณสามารถเดินทางออกนอกเมืองเพื่อไปทำการเผาได้ (หากประตูผีมีการลงคาถาไว้ วิญญาณคนตายอาจไม่สามารถออกจากประตูพร้อมกายเนื้อที่ตายแล้วได้)
ด้วยความที่ประตูผีไม่มีการลงคาถา ย่อมทำให้สิ่งชั่วร้ายอาจย้อนเข้ามา ดังนั้น ประตูผีของเมืองจึงจำเป็นต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นคอยเฝ้าระวังมิให้ความชั่วร้ายและอัปมงคลต่างๆ เข้ามา
ซึ่งอาจารย์พิเศษเสนอว่า กรุงเทพฯ กำหนดให้พระอุโบสถวัดพระแก้วทำหน้าที่นี้ โดยวางตำแหน่งพระอุโบสถตรงแนวแกนพอดีกับประตูผี เพื่อให้พระแก้วมรกตทำหน้าที่ปกป้องสิ่งชั่วร้ายจากนอกเมืองที่อาจผ่านเข้ามาทางประตูผี
ควรกล่าวไว้ด้วยว่า มีนักวิชาการบางท่านมองว่า ประตูผีไม่น่าจะเป็นประตูเดียวที่อนุญาตให้นำศพออกได้ โดยหากชาวบ้านตายลงในทิศอื่นของเมืองก็สามารถขนศพออกไปทางประตูทิศนั้นๆ ได้เลย เพื่อไปทำการเผาศพในวัดที่ใกล้บริเวณทิศนั้นๆ เช่น ทิศเหนือคือวัดสังเวช และทิศใต้คือวัดบพิตรภิมุข
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะเมืองแบบจารีตมีคติความเชื่อในเรื่องของสิ่งเหนือธรรมชาติค่อนข้างเคร่งครัด ซากศพคนตายและพื้นที่จัดการความตายซึ่งถือเป็นพื้นที่อวมงคลนั้นต้องมีการควบคุมและจัดแยกออกไปอย่างชัดเจน
การปล่อยให้เมืองสามารถขนย้ายซากศพออกได้หลายแห่ง โดยขาดการออกแบบจัดวางสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดูแล (ในกรณีแบบพระแก้วมรกต) เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะยอมรับได้
ดังนั้น ผมจึงคิดว่า การขนย้ายศพคนตายของเมืองกรุงเทพฯ ยุคจารีต น่าจะทำได้เพียงจุดเดียวคือบริเวณประตูผี
ประเด็นต่อไปคือ ประตูผีเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการจัดการความตาย เมื่อนำศพออกนอกเมืองแล้วต้องนำไปจัดการต่อที่ป่าช้าหรือพื้นที่เผาศพ ซึ่งในกรณีเมืองกรุงเทพฯ ยุคจารีต พื้นที่สำคัญที่สุดที่ทำหน้าที่นี้ คือ “ป่าช้าผีดิบวัดสระเกศ”
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

