เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

‘ร่าง’ และ ตัวตน กับการมองเห็นและรู้สึก ถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์

23.07.2024

บทความพิเศษ | ชาคริต แก้วทันคำ

 

‘ร่าง’ และ ตัวตน

กับการมองเห็นและรู้สึก

ถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์

 

“อริสาแต่งงานกับนิวัตผู้เกิดในครอบครัวคนจีนที่เคร่งครัดขนบธรรมเนียมเก่าแก่ จนทำให้เธอรู้สึกเป็นคนแปลกหน้า โดยเฉพาะอาม่าที่ดูมีอคติกว่าใคร เมื่ออริสาตั้งครรภ์ เธอกลับเป็นที่สนใจของคนในครอบครัวขึ้นมาทันที นิวัตจึงให้เธอออกจากงานมาทำหน้าที่ภรรยาและแม่ในอนาคตอย่างเต็มตัว พออริสาแท้งลูก เธอกลับไร้ตัวตนในสายตานิวัตและครอบครัว ครั้นเห็นข่าวโครงการแอนดรอยด์อุ้มบุญ เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมอย่างมีความหวัง สุดท้ายเกิดปัญหาขึ้น เมื่อแอนดรอยด์ดิมีเทอร์-08 หลบหนีออกจากห้องทดลองหลังมันตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน”

เรื่องย่อข้างต้นมาจากเรื่องสั้น ‘ร่าง’ ของรัชศักดิ์ จิรวัฒน์ ซึ่งเข้ารอบการประกวดรางวัลมติชนอวอร์ด 2024 ลำดับที่ 2 ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2282 10-16 พฤษภาคม 2567

โดยบทความนี้จะวิเคราะห์เรื่องสั้นใน 2 ประเด็น ดังนี้

 

บทบาทของภรรยาและแม่

ในครอบครัวคนจีน

อริสาแต่งงานกับนิวัตผู้ ‘เกิดในครอบครัวคนจีนที่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมเก่าแก่และวาดหวังการมีลูกหลานสืบเชื้อสายเต็มบ้านเต็มเมือง’ ซึ่งอาม่าดูจะคาดหวังว่าผู้หญิงหรือภรรยาที่แต่งเข้ามาในครอบครัวจีน นอกจากจะมีเชื้อสายจีนแล้ว ต้องเข้าใจและยอมรับความเชื่อเรื่องสถานภาพและบทบาทของผู้หญิงในครอบครัวคนจีนที่ต้องมีทายาทผู้สืบทอด และหากทายาทเป็นผู้ชายยิ่งดี สถานะของเธอจะยิ่งถูกมองเห็น มีคุณค่า เป็นคนพิเศษขึ้นมา

แม้ว่าอริสาจะเป็นคนแปลกหน้าและส่วนเกินของครอบครัวคนจีน แต่เมื่ออริสาตั้งครรภ์ ความพลิกผันเกิดขึ้นทันที ตัวตนของอริสาถูกมองเห็นมากขึ้น ‘อาม่าเอ็นดูเธอ’

พออริสาแท้งลูก เธอกลับถูกอาม่าหมางเมิน กลายเป็นคนไร้ค่า เพราะไม่สามารถมีทายาทสืบเชื้อสายได้

นอกจากนี้ นิวัตผู้เป็นที่คาดหวังของครอบครัวในฐานะหลานชายคนโตก็พูดคุยกับเธอน้อยลงและหมกมุ่นกับงานมากขึ้น

ความไร้สามารถในการมีลูกทำให้อริสาไร้ตัวตนในสายตาของนิวัตเช่นกัน ยิ่งป๊ากับม้าถามไถ่เรื่องลูกเป็นอย่างแรกเมื่อพบหน้ากัน มันตอกย้ำว่าสถานภาพและบทบาทของภรรยาในครอบครัวคนจีนถูกกำหนดให้ต้องมีทายาทหรือให้สามี ‘ใช้’ เป็นที่รองรับความต้องการทางเพศตามระบบชายเป็นใหญ่

เมื่อตัวตนของอริสาไม่อยู่ในสายตาของนิวัตและคนในครอบครัว หลังจากแท้งลูกจนทำให้ร่างกายเธอไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถให้กำเนิดลูกได้อีก เธอจึงต้องแบกรับทั้งขนบธรรมเนียมเก่าแก่และสถานภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดในฐานะเพศหญิงไว้ และหาทางออกด้วยการใช้ ‘ร่าง’ ของดิมีเทอร์-08 ซึ่งถูกทีมวิจัยของบริษัทแห่งหนึ่งพัฒนาเอไอแอนดรอยด์ให้สามารถตั้งครรภ์และกำเนิดทารกได้เช่นเดียวกับมนุษย์ และการตั้งครรภ์นี้ใช้เวลาแค่ 4 เดือนเท่านั้น

แต่พอดิมีเทอร์-08 ตั้งครรภ์และหลบหนีออกจากห้องทดลอง มันจึงถูกตามล่า เพราะมนุษย์คิดว่าเอไอไม่มีสิทธิ์ในตัวลูก

 

ความหมายของ ‘ร่าง’ และ ตัวตน

กับการมองเห็นและรู้สึก

ถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์

หลังจากอริสาแต่งงานเข้ามาเป็นสะใภ้ในครอบครัวคนจีน เมื่อเธอตั้งครรภ์ นิวัตจึงให้เธอลาออกจากงานมาทำหน้าที่ภรรยาและแม่ในอนาคตอย่างเต็มตัว จนถูกเพื่อนร่วมงานหญิงค่อนขอดว่า ‘เสียเชิงเวิร์กกิ้งวูแมนผู้มาดมั่น พอพ่ายแพ้ให้กับสังเวียนการงานก็กลับไปตายรังฝังตัวอยู่ในจารีตของการเป็นแม่และเมียในสังคมปิตาธิปไตยอันคร่ำครึ’

ซึ่งตอกย้ำว่าอริสาถูกเพศสรีระและแบบแผนทางสังคมกำหนดให้ทำหน้าที่ภรรยาและแม่ ต้องอ่อนแอ พึ่งพาผู้ชาย กลายเป็นผู้ผลิตทายาท เลี้ยงดูลูก ขาดโอกาสในการทำงานหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมือง

กลายเป็นว่าการตัดสินใจลาออกของอริสาถูกสังคมวางกรอบให้ติดอยู่ในขนบ ธรรมเนียม จารีต และมายาคติ อีกยังต้องตกอยู่ในภาวะ ‘เป็นรอง’ ในระบบชายเป็นใหญ่ด้วย

ดังนั้น ‘เรือนร่าง’ ของอริสาในเรื่องสั้นนี้จึงถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อสอดรับกับสถานภาพและบทบาททางเพศที่สังคมและคนส่วนใหญ่คาดหวังและกำหนดไว้

เมื่อเรือนร่างของเธอใช้การไม่ได้ ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถผลิตทายาทเพื่อสืบเชื้อสาย อริสาจึงไม่เหลือตัวตนและคุณค่าให้อาม่า นิวัต และคนในครอบครัว หรือกระทั่งเพื่อนร่วมงานมองเห็นอีก

เธอจึงกลายเป็นคนอื่น ไม่ถูกยอมรับในความสัมพันธ์ และเป็นเพียงวัตถุทางเพศในสังคมปิตาธิปไตย

ขณะเดียวกัน ‘ร่าง’ ของดิมีเทอร์-08 กลับถูกอริสามองเห็นและใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาเพื่อพยุงความหวัง ความฝัน ความเป็นครอบครัว และตัวตนของตัวเองไว้ เพราะถูกขนบ ธรรมเนียม จารีตเก่าแก่คร่ำครึมากดทับ ทั้งๆ ที่ความจริงกับความเชื่อนี้ควรเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

แต่ใครจะคาดคิดว่าวิทยาการแอนดรอยด์อุ้มบุญที่เข้ามาพลิกโฉมวงการวิทยาศาสตร์และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ จะนำมาซึ่งอนาคตและปัญหา เมื่อดิมีเทอร์-08 หลบหนีออกจากห้องทดลองหลังจากตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน เพราะมันเป็นแอนดรอยด์ที่มีความคิดและอารมณ์ความรู้สึกเหนือกว่าแอนดรอยด์รุ่นเดียวกัน

และ ‘เขา’ ก็ถูกทีมบริหารสั่งการให้ตามล่าดิมีเทอร์-08 กลับมาคลอดลูกให้ลูกค้า

 

ผู้วิจารณ์มองว่า รัชศักดิ์ได้ปูปมความขัดแย้งของความสัมพันธ์และใช้วิธีตัดสลับเรื่องเล่าที่มาที่ไปของปัญหาได้อย่างมีเหตุและผล ด้วยการสร้างดิมีเทอร์-08 ให้มีความคิด สติปัญญาล้ำหน้ากว่าแอนดรอยด์ตัวอื่น โดยเฉพาะเจตจำนงและความคิดเชิงจริยธรรมเทียบเทียมเท่ามนุษย์ ซึ่งเรียกว่าเป็นแอนดรอยด์ในอุดมคติ เมื่อบริษัทไม่สามารถควบคุมมันได้

รัชศักดิ์จึงสะท้อนเรื่องสั้นนี้ผ่านการตั้งคำถามว่า ‘หรือมนุษย์จะมีอคติกับชาติพันธุ์อื่น’ และ ‘ต้องการเป็นผู้บงการทุกอย่าง’ เท่านั้น เพราะดิมีเทอร์-08 ต้องการอิสรภาพ มันไม่ใช่ทาส การหลบหนีของมันจึงทำให้ผู้อ่านต้องหันมาไตร่ตรองถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะบางครั้งก็ถูกมองเห็นไม่เหมือนกัน

ไม่ว่ามนุษย์มองมนุษย์ด้วยกัน (อริสาถูกอาม่า นิวัต คนในครอบครัว และเพื่อนร่วมงานมอง) กับความเป็นมนุษย์ที่มนุษย์มองไม่เห็นจากผู้อื่น (ดิมีเทอร์-08 ถูกอริสา นิวัต ผู้บริหารบริษัทมอง)

สารัตถะของเรื่องสั้น ‘ร่าง’ ของรัชศักดิ์ จิรวัฒน์ จึงอยู่ที่การมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ผ่าน ‘ร่าง’ ที่ล้วนถูกบงการและควบคุมด้วยความเชื่อและมายาคติ ขณะที่มนุษย์มองเห็นแต่ความเป็นมนุษย์ในตัวเอง พวกเขากลับมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวผู้อื่น

ทั้งอริสาและดิมีเทอร์-08 จึงมีความเหมือนกันตรงที่ ‘ร่าง’ ต่างก็เป็นแค่วัตถุในสายตาของคนอื่น ไม่ใช่มนุษย์ นอกจาก ‘เขา’ ผู้ได้รับคำสั่งให้ตามล่าดิมีเทอร์-08 กลับมาคลอดลูกให้กับลูกค้าเท่านั้น ซึ่งเขาเห็น “แววตาของแอนดรอยด์ตัวนี้ทำให้เขานึกถึงใครบางคนในชีวิต” และ “เขาไม่เคยเห็นแววตาเช่นนี้จากแอนดรอยด์ตัวไหนมาก่อนเลย”

ตอกย้ำว่าเขามองเห็น ‘ร่าง’ ของอดีตและอนาคต รวมทั้งรู้สึกถึง ‘ตัวตน’ ผ่านชีวิตของความเป็นแม่จากดิมีเทอร์-08 ได้อย่างชัดเจน

ต่างจากอาม่า นิวัต และคนในครอบครัวที่เห็นเพียงร่างของอริสาเท่านั้น แต่ไม่เคยเห็นตัวตนกับความรู้สึกของเธอ ตัวตนของความเป็นมนุษย์ แม่ และภรรยา ทั้งๆ ที่อาม่าและม้าควรจะเข้าอกเข้าใจในสถานภาพและบทบาทของเพศเดียวกันได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน อริสาเองก็มองไม่เห็นความเป็นชีวิตแม่จากการหลบหนีของดิมีเทอร์-08 แม้แต่น้อย เพราะเธอเชื่อว่าแอนดรอยด์เป็นแค่เพียงสิ่งประดิษฐ์ที่อุ้มท้องแทนเธอ เป็นความฝัน ทางเลือกเท่านั้น

แต่นอกจากเขา ใครเลยจะรู้ว่า ความเป็นมนุษย์ในร่างของเอไอตัวนี้กลับเต็มไปด้วยตัวตนและจิตวิญญาณของความเป็นแม่ที่แท้จริงมากกว่า

แม่ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถพัฒนาความรักความผูกพันกับลูกในท้องได้

 

เอกสารอ้างอิง

โตมร ศุขปรีชา. (2561). อะไรคือ ‘ความเป็นมนุษย์’. เข้าถึงได้จาก https://thematter.co/thinkers/what-is-humanity/52568#google_vignette

รัชศักดิ์ จิรวัฒน์. (2567). ร่าง. เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_766125

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

Digital Bridge เชิญชวนร่วม Career Cafe Podcast หาคำตอบ ทำไมเทคโนโลยีโดยเฉพาะ AI เป็นสิ่งสำคัญ ?
ชาตินิยมแบบใด | คำ ผกา
“ฝ่ายค้านกัมพูชา” ก็ใช้ “ชาตินิยมเป็นเครื่องมือ” ไม่น้อยไปกว่า “ฮุนเซน”
ผมจะเล่าเรื่องผีให้คุณฟัง | เรื่องสั้น : รัฐ แสงเทียน
อนารยวาท | กวีกระวาด : เวิ้งหมาบ้า
บางใบ
ครบรอบ 123 ปี กรมชลประทาน “รมว.นฤมล“เน้นย้ำ ต้องบริหารจัดการน้ำให้มั่นคง เข้าถึงทุกพื้นที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
“สูตร” ปรับคณะรัฐมนตรี | ลึกแต่ไม่ลับ
“รักชนก-สหัสวัต” ยื่นคำร้อง ป.ป.ช. ไต่สวนกรณี อดีต รมว.แรงงาน ปล่อยให้เกิดการซื้อตึกสกายไนน์ด้วยเงินกองทุนประกันสังคม ราคาแพงเกินจริงถึง 2 เท่า
ไปให้พ้นจาก ‘ปัญหาจุกจิกรายวัน’ | ปราปต์ บุนปาน
ทำความรู้จัก ‘ตลับลูกปืน’ หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของโลกอุตสาหกรรม
อนุทิน : I’m ok พีระพันธุ์ : not ok