

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
วิกฤตยุโรปในทีทรรศน์ปัญญาชน (5)
ฉากทัศน์ฝันร้ายของยุโรป
โอลิเวียร์ ชมิตต์ (Olivier Schmitt) ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์แห่งศูนย์ยุทธศึกษา คณะรัฐศาสตร์และบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยเดนมาร์กใต้ ได้รับสมญานามว่า “เทพสังหรณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหภาพยุโรป” (https://www.rferl.org/a/analyst-oliver-schmitt-interview-threat-west-democracy/32079257.html) และเพิ่งตีพิมพ์หนังสือเล่มล่าสุดของเขาออกมาเรื่อง Pr?parer la Guerre. Strat?gie, Innovation et Puissance Militaire ? l’?poque Contemporaine (เตรียมทำสงคราม : ยุทธศาสตร์, นวัตกรรมและกำลังทหารในยุคร่วมสมัย, 2024)
เขากล่าวตอกย้ำในที่ประชุมปัญญาชนยุโรปกว่า 130 คนที่จัดโดยวารสาร Le Grand Continent ของฝรั่งเศส ณ โรงแรม Grand H?tel Billia ในอิตาลีเมื่อปลายปีก่อนว่านอกเหนือจากความวิตกกังวลทางอุดมการณ์ ปัญญาชนยุโรปยังกำลังเผชิญภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ด้วย
“ถ้าใครอยากอยู่อย่างสบายใจละก็ อย่ามานั่งร่วมโต๊ะประชุมกับผมจะดีกว่า”

โอลิเวียร์ ชมิตต์ & ปกหนังสือเล่มล่าสุดของเขา
อาจารย์-นักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยและที่ปรึกษาทางภูมิรัฐศาสตร์ผู้นี้เชี่ยวชาญด้านวาด “ฉากทัศน์ฝันร้าย” ทางความมั่นคง ดังที่เขาเรียบเรียงบัญชีรายการสิ่งเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ในยุโรปและโลกปีนี้ (2024) ไว้ว่า :-
– หากยูเครนไม่ได้รับความช่วยเหลือทางทหารเพียงพอ รัสเซียก็จะเข้าควบคุมภูมิภาคดอนบาส (หมายถึง แคว้นโดเนตสค์และแคว้นลูฮานสค์ในยูเครน) ได้สมบูรณ์ในปี 2024-2025 แล้วบังคับยัดเยียดข้อตกลงหยุดยิงให้แก่ยูเครนตามเงื่อนไขของตน
– ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียเน้นย้ำยืนกรานความเข้มแข็งคงกระพันชาตรีของรัสเซียกับความอ่อนปวกเปียกของยุโรป ดังที่พรรคฝ่ายขวาจัดที่นิยมรัสเซียในสหภาพยุโรปทั้งหลายถ่ายทอดคำโฆษณานั้นต่ออย่างเชื่องๆ ว่า “ทำไมยุโรปถึงได้ยัดเยียดแซงก์ชั่นใส่รัสเซียแล้วเสียสละเศรษฐกิจของตนเองเพื่อเห็นแก่ยูเครนเล่า ในเมื่อที่สุดแล้วยูเครนก็แพ้สงครามอยู่ดี?”
– โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ เขาจะประกาศว่า สหรัฐอเมริกาจะไม่ปฏิบัติตามพันธะผูกมัดด้านกลาโหมในสนธิสัญญาป้องกันแอนแลนติกเหนือ (NATO) ถ้าหากรัฐภาคีสมาชิกนาโตทั้งหลายไม่ใช้จ่ายเงินด้านกลาโหมให้ถึงระดับ 3% ของจีดีพีประเทศตนเป็นอย่างต่ำ
– นี่จะทำให้บรรดาประเทศยุโรปทั้งหลายต่างแยกย้ายกันหันมาเจรจาเรื่องความมั่นคงร่วมกับอเมริกาแบบทวิภาคี แทนที่จะเป็นกลุ่มก้อนและรับปากเข้าซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อเมริกันแบบกระจัดกระจายตัวใครตัวมัน อันจะส่งผลเสียต่อกิจการกลาโหมของยุโรปโดยรวม ค่าที่มันไม่สามารถได้ประโยชน์อะไรจากตลาดภายในทวีปเอง
– ขณะที่สงครามในยุโรปคลี่คลายขยายตัวไปเป็นความขัดแย้งแบบพร่ากำลังกันและกัน รัสเซียจะฉวยโอกาสจู่โจมกลุ่มรัฐบอลติก (ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย) แล้วยึดครองดินแดนไม่กี่ร้อยกิโลเมตรแถวชายแดนเอาไว้
– ในสภาพที่ไม่มีอเมริกาคอยเป็นพี่ใหญ่ผู้นำ (ประธานาธิบดีทรัมป์#2 ไม่เล่นด้วย) ฝรั่งเศสกับเยอรมนีย่อมปฏิเสธพันธะผูกมัดที่จะร่วมป้องกันกลุ่มรัฐบอลติก ส่งผลให้นาโตกับสหภาพยุโรปถึงแก่กาลอวสานลง
– ชาวยุโรปจึงถูกบีบคั้นให้ต้องค้นคิดหาตัวแบบใหม่ในการป้องกันทวีปซึ่งไม่พึ่งพาอาศัยสมรรถนะทางยุทธศาสตร์ของอเมริกามาทดแทน
– ทว่า ฉากทัศน์เลวร้ายที่สุดคือถึงปี 2027-2028 จีนซึ่งบรรลุความมั่นใจว่าตนมีแสนยานุภาพท้องถิ่นเหนือกว่า เนื่องจากโครงการเสริมสร้างอาวุธของตนสุกงอมพร้อมแล้ว ก็จะสามารถรุกรานไต้หวันได้ ขณะที่คาดหมายว่าอาวุธของอเมริกันจะยังไม่ทันติดตั้งพร้อมใช้ในอาณาบริเวณนี้จนกว่าจะถึงปี 2030-2031
– สงครามที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมหาวินาศและมหาประลัยยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเหล่าประเทศอภิมหาอำนาจไม่เคยประจันหน้ากันโดยตรงเลยนับแต่ปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
จินตนาการยุโรป (l’imaginaire europ?en)
เมื่อเผชิญการรุกคืบทางอุดมการณ์ของประดาพรรคเอกลักษณ์ทั้งหลาย (les partis identitiares พรรคขวาจัดในยุโรปที่ยึดเอกลักษณ์สีผิว, ศาสนา, เชื้อชาติ, ชาตินิยม, ชาติภูมิ และเพศสภาพเป็นสรณะและเจ้าเรือน หวาดระแวงกระแสผู้อพยพโดยเฉพาะชาวมุสลิมจากทวีปแอฟริกาจะเข้ามายึดครองทวีปยุโรปแทน) บวกภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ของเหล่าประเทศอำนาจนิยมเช่นนี้
ยังมีคานงัดที่จะเปิดปล่อยแนวนโยบายที่ยึดสหภาพยุโรปเป็นศูนย์รวมออกมาได้อยู่อีกหรือไม่?
ดูเหมือนว่าสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนได้ช่วยปลุกเร้าระดมทีทัศน์อารมณ์ความรู้สึกที่ยึดยุโรปเป็นจุดร่วมขึ้นมาอย่างทรงพลัง ดังที่ ปาสกาล ลามี (Pascal Lamy, ประธานกิตติคุณแห่งศูนย์ฌากส์ เดอลอร์ส & อดีตผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การการค้าโลก 2005-2013) ลำเลิกถึง “อาการตื่นตระหนกในสังกัดร่วมกัน” ซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับ “การสู้รบเพื่อเอาชีวิตรอด” ที่ยุโรปนำมาให้เมื่อต้องเผชิญหน้าวลาดิมีร์ ปูติน ลามีตอกย้ำให้ความมั่นใจว่า :
“เดิมพันของสิ่งสร้างแห่งยุโรปเรานั้นเป็นเรื่องเศรษฐกิจน้อยกว่าที่มันเป็นเรื่องมนุษยภาพ
“ผมได้ทำงานรับใช้สหภาพของชาวยุโรปอย่างเร่าร้อนกระตือรือร้นอยู่ร่วมสิบห้าปีทั้งที่บรัสเซลส์และสตราสบูร์ก ทว่า เหล่าบิดาผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรปนั้นหลงผิดที่คิดไปว่าบูรณาการทางเศรษฐกิจโดยตัวมันเองจะนำไปสู่บูรณาการทางการเมือง นั่นเป็นการมองข้ามพื้นที่ขวางกั้นระหว่างมนุษย์เศรษฐกิจกับมนุษย์การเมือง (l’Homo economicus & l’Homo politicus), ระหว่างผู้บริโภค (หรือคนงาน) กับพลเมือง และระหว่างบ้านกับเมือง
“เหมือนที่ฌากส์ เดอลอร์ส (1925-2023, อดีตประธานคณะกรรมาธิการยุโรปชาวฝรั่งเศสผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างเงินสกุลยูโร) พูดอยู่บ่อยครั้งว่าคนเราน่ะไม่ตกหลุมรักตลาดอันใหญ่โตหรอก ถ้าหากยุโรปยังถูกสกัดขัดขวางอยู่ ถ้าหากสหภาพของชาวยุโรปโดยรวมยังถูกจำกัดจำเขี่ยอยู่ละก็ นั่นก็เนื่องมาจากจินตนาการ”
อย่างไรก็ตาม จินตนาการยุโรปที่ว่านั้นดำรงอยู่และมีรากเหง้าที่มาอันยาวไกล ดังที่ พอล มาเหย็ด ประธานพรรคสังคมนิยมเบลเยียมและศาสตราจารย์ทฤษฎีการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยเสรี ณ กรุงบรัสเซลส์ระบุว่า (https://legrandcontinent.eu/fr/2024/05/23/lautonomie-strategique-pour-les-classes-moyennes/) :
จินตนาการยุโรปนั้นดำรงทรงอยู่ในสันนิบาตแห่งนครรัฐกรีกโบราณทั้งหลายตามที่อริสโตเติล (นักปรัชญาชาวกรีกโบราณ ก่อน ค.ศ.384-322) ดำริไว้ และในเหล่านครรัฐแห่งแคว้นตอสคานาของอิตาลียุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ตามที่มาเคียเวลลี (นักปรัชาการเมืองชาวฟลอเรนซ์ ค.ศ.1469-1527) สร้างเป็นทฤษฎีขึ้น ระบบเหล่านี้แหละที่เป็นจินตนาการต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยกับสาธารณรัฐของยุโรปในชั้นหลัง และยังคงเป็นตัวแบบที่ดลบันดาลใจยุโรปในปัจจุบัน มาเหย็ดประกาศในที่ประชุมปัญญาชนยุโรปว่า :
“นั่นแหละครับคือยุโรป มันไม่ใช่ลัทธิอธิปไตยนิยมหรือลัทธิสหพันธรัฐ หากเป็นสมาคมของรัฐชาติทั้งหลาย ที่สละละเว้นอธิปไตยส่วนหนึ่งของตนอย่างเสรีเพื่อเห็นแก่เสรีภาพ การค้าขายแลกเปลี่ยนและความสมานฉันท์”
(อ่านตอนจบสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022