
คุยกับทูต | ปิง กิดนิกร จากอินโดจีนสู่ทวีปอเมริกาเหนือ ดินแดนแห่งใบเมเปิล (1)

ประเทศที่เป็นบ้านของผู้คนจากส่วนห่างไกลของโลก บ้านนี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม มีสังคมที่เปิดกว้าง เสรี และแสดงออก มีใบเมเปิล เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ
แคนาดามักจะอยู่ในลิสต์ต้นๆ ของประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่มหลากหลายทางเพศมากที่สุดในโลก แม้แต่คณะรัฐมนตรีของประเทศแคนาดา ซึ่งนอกจากจะประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลายทางเชื้อชาติ ทางเพศก็หลากหลายด้วยเช่นกัน
เมื่อก่อนแคนาดาไม่เคยมีผู้หญิงเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย แต่สถานทูตแคนาดาในกรุงเทพฯ ยุคใหม่นี้ มีเอกอัครราชทูตผู้หญิงถึงสามคนแล้ว
คนแรกคือ เอกอัครราชทูตโดนิกา พอตตี (Her Excellency Ms. Donica Pottie)
คนที่สองคือ ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์ (Her Excellency Dr. Sarah Taylor)
และคนที่สามคือ น.ส.ปิง กิดนิกร (Her Excellency Ms. Ping Kitnikone) ซึ่งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งแคนาดาประจำประเทศไทย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา
เอกอัครราชทูตปิงมีประวัติที่น่าสนใจ เพราะเกิดในประเทศลาว แต่ปลายศตวรรษ 1970 ลาวเป็นพื้นที่ที่อันตรายเพราะประเทศถูกระเบิดในภาวะสงครามมากที่สุดในโลก ครอบครัวจึงย้ายถิ่นฐานลี้ภัยสงคราม และประเทศแคนาดาต้อนรับในฐานะผู้อพยพ
หลังสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโท ได้สอบเข้าทำงานกระทรวงต่างประเทศที่กรุงออตตาวา จนปัจจุบันเป็นข้าราชการและนักการทูตระดับสูง ได้เป็นตัวแทนของประเทศแคนาดาในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกซึ่งเธอมีความเชี่ยวชาญ
ในวันสัมภาษณ์พิเศษกับมติชนสุดสัปดาห์ เอกอัครราชทูตปิงสวมชุดสูทสีเทาอ่อน เล่าถึงชีวิต หน้าที่การงาน ณ บ้านพักเอกอัครราชทูตแคนาดา ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงบ ล้อมรอบด้วยต้นไม้สูงใหญ่เขียวขจี ร่มรื่น ในซอยนางลิ้นจี่ ใจกลางกรุงเทพมหานคร

น.ส.ปิง กิดนิกร (Her Excellency Ms. Ping Kitnikone) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย
สู่งานด้านต่างประเทศ
“ดิฉันเป็นชาวแคนาดาที่เกิดในลาว เริ่มต้นอาชีพด้านต่างประเทศด้วยเส้นทางที่ค่อนข้างวกวน เพราะช่วงที่กำลังศึกษาปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์ มีโอกาสทำงานเป็นนักศึกษาฝึกงานที่กระทรวงต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศแคนาดา และคิดว่าเป็นความท้าทายที่น่าสนใจมาก จึงตัดสินใจร่วมกับเพื่อนๆ สอบเข้ารับราชการที่กระทรวงต่างประเทศ ณ กรุงออตตาวา เหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เป็นที่ทราบกันดี
การงานของดิฉันดำเนินไปตามปกติโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รู้สึกตัวเองโชคดีมากที่ได้มีส่วนสนับสนุนให้แคนาดาเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคที่มีชีวิตชีวาและเพียบพร้อมด้วยวัฒนธรรมแห่งนี้”

เข้าเยี่ยมคารวะอธิบดีกรมกิจการอเมริกาและแปซิฟิกใต้ของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างแคนาดาและไทย
ภารกิจ และนโยบาย
“แคนาดามีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับไทยและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ราบรื่นและยาวนาน เป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่น เราได้เปิดตัวกลยุทธ์อินโด-แปซิฟิกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 เพื่อเน้นถึงบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แคนาดาได้ลงทุน 2.3 พันล้านดอลลาร์แคนาดาในช่วง 5 ปีเพื่อนำกลยุทธ์ดังกล่าวไปปฏิบัติ ผลลัพธ์ที่ได้จะยิ่งทำให้ความร่วมมือของเรากับพันธมิตรในภูมิภาคนี้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย หยั่งรากลึกมากขึ้น
วัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งของดิฉัน คือการเฉลิมฉลองและสานต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดีและใกล้ชิดระหว่างแคนาดาและประเทศไทยต่อไป เรามีลำดับความสำคัญที่เชื่อมโยงกันมากมาย ไม่จำกัดเพียงการขยายการค้าและการลงทุน แต่เป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น การเชื่อมโยงผู้คน ตลอดจนการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เอกอัครราชทูตปิง กิดนิกร ให้การต้อนรับ น.ส.คริสติน อาหรับ ผู้อํานวยการ UN Women ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทน UN Women ประจำประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับความพยายามที่จะทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเป็นกระแสหลัก
ในขณะที่เราต้องเผชิญกับความท้าทายระดับโลกที่เพิ่มขึ้นร่วมกัน การให้ความสนใจ และสนับสนุนระเบียบระหว่างประเทศตามกฎเกณฑ์ร่วมกัน ยังคงเป็นลำดับความสำคัญหลัก
สำหรับความสนใจที่มีร่วมกันในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 นั้น แคนาดาจะแบ่งปันความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับความสามารถในการรับมือและการฟื้นฟูจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งการส่งเสริมเทคโนโลยีสะอาดเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในประเด็นสันติภาพและความมั่นคง จะยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งในความร่วมมือทวิภาคีของเรา”

ต้นเมเปิล ภาพ-Titan Tree Care
ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน
“แคนาดาและไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการมานานกว่า 60 ปี ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศของเราได้เติบโตและพัฒนาในด้านต่างๆ หลายภาคส่วนที่เราให้ความสนใจร่วมกันอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่การค้าและการลงทุน ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน
มิตรภาพระหว่างประเทศของเรามีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ ซึ่งดิฉันหวังว่าจะเป็นโอกาสให้แก่ประชาชนในรุ่นต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน โดยผ่านการแลกเปลี่ยนที่มีประสิทธิผล รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศในฐานะหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ของอาเซียน และการมีสมาชิกรัฐสภาของแคนาดาเข้าร่วมในองค์กรต่างๆ เช่น การประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ซึ่งหวังว่าจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของเราให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อำนวยความสะดวกในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกัน
ความเข้มแข็งทางวิชาการซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นส่วนสำคัญของความสัมพันธ์ของเรา ซึ่งช่วยให้เราสามารถสร้างจุดแข็งร่วมกันอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดได้ นั่นคือ การมีบุคลากรที่มีความสามารถ มีบริการที่ดี และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน
นอกจากนี้ การช่วยให้ธุรกิจของแคนาดาค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการกระจายสินค้าและประสบความสำเร็จในประเทศไทย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของเราในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างครอบคลุม และเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ดิฉันรู้สึกยินดีที่การท่องเที่ยวของแคนาดากลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้งหลังการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
เริ่มจากการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-แวนคูเวอร์ และการนำมาตรการอนุญาตเดินทางทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้สำหรับผู้มีสิทธิ์เดินทางสัญชาติไทย ซึ่งช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างประเทศของเราให้เพิ่มมากขึ้น”

ใบเมเปิล สีสันในฤดูใบไม้ร่วง The University of British Columbia ภาพ – UBC.ca
เมืองไทยในสายตาทูต
“ดิฉันมองว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีภูมิประเทศที่หลากหลาย และมีความแตกต่างอย่างน่าทึ่ง รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่ ไปจนถึงเมืองและเกาะต่างๆ ในชนบทที่สวยงาม ภูมิประเทศและเขตเมืองของประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายและความเข้มแข็งของคนไทย
ชุมชนแคนาดาในประเทศไทยเป็นชุมชนที่มีความกระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่ง ดูตัวอย่างจากหอการค้าไทย-แคนาดา (The Thai-Canadian Chamber of Commerce) ซึ่งเป็นตัวแทนของคนแคนาดาที่มาทำงานและอยู่อาศัยในเมืองไทย และด้วยเอกลักษณ์ของแคนาดา เราชาวแคนาดาในต่างแดนยังคงขมีขมันเอาจริงเอาจังในสโมสรฮอกกี้น้ำแข็ง ‘ฝรั่งบิน’ (Flying Farang ice hockey club) ซึ่งฮอกกี้น้ำแข็ง เป็นกีฬายอดนิยมในแคนาดา
ที่กล่าวมานี้ทำให้ช่วงเวลาของดิฉันที่นี่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ในเชิงวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในระดับส่วนตัวด้วย”

เข้าร่วม “Catch of Canada” เพื่อช่วยจัดแสดงรสชาติที่มีชีวิตชีวาและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแคนาดา จัดโดยหอการค้าไทย-แคนาดา

การแข่งขันฮอกกี้ลีกที่กรุงเทพฯ – ภาพโดย Eric Nelson
แคนาดาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากรัสเซีย โดยกินพื้นที่ 1 ใน 3 ของทวีปอเมริกาเหนือ พื้นที่ตอนบนครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นเขตที่ราบหนาวจัด ไม่มีคนอาศัยอยู่ ความหนาแน่นของประชากรก็ต่ำมาก เฉลี่ยแค่ 3 คน 1 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น
แคนาดามีประวัติในการช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่นฐานเป็นอย่างดี
และยังมีความพิเศษต่างจากชาติอื่นๆ ในโลกตะวันตก คือ การที่ให้ความสำคัญกับการอพยพด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยผู้พำนักอาศัยถาวรในแคนาดาราวครึ่งหนึ่งในปัจจุบัน ย้ายเข้ามาด้วยทักษะของตัวเอง ไม่ใช่เพราะย้ายตามครอบครัว
และเป็นที่ทราบกันดีว่า แคนาดา เป็นผู้นำทางด้านสันติภาพ สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และความเป็นประชาธิปไตย จึงมีบทบาทสำคัญในการร่วมกับองค์กรนานาชาติต่างๆ มากมาย เช่น องค์กรสหประชาชาติ กลุ่มเครือจักรภพ และกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022