เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

คุยกับทูต | ฟัยยาซ มูรชิด กาซี ครบรอบ 54 ปีวันเอกราชและวันชาติบังกลาเทศ ก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูป (1)

30.03.2025

คุยกับทูต | ฟัยยาซ มูรชิด กาซี

ครบรอบ 54 ปีวันเอกราชและวันชาติบังกลาเทศ

ก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูป (1)

 

 

บังกลาเทศได้ทิ้งปีแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ไว้เบื้องหลัง

เพราะปี 2025 นี้ถือเป็นปีที่สำคัญสำหรับบังกลาเทศ เนื่องจากเป็นยุคใหม่ของประชาธิปไตยและการปฏิรูป หลังเกิดการลุกฮือของมวลชน ทำให้อดีตผู้นำหญิงแห่งบังกลาเทศซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์บังกลาเทศรวมนานกว่า 19 ปี และเป็นหัวหน้ารัฐบาลสตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในโลก ในที่สุดก็ยอมลาออกจากตำแหน่ง (5 สิงหาคม 2024) ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ

ความรุนแรงดังกล่าวเริ่มมาจากความไม่พอใจเรื่องการทุจริตและการให้อภิสิทธิ์คนบางกลุ่ม เป็นผลทำให้รัฐบาลเฉพาะกาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศนำโดยประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาล ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส (H.E. Professor Muhammad Yunus) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ วัย 85 ปี ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย

ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส (H.E. Professor Muhammad Yunus) ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาล สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ระหว่างเดือนธันวาคม 2025 ถึงเดือนมิถุนายน 2026 โดยรัฐบาลรักษาการชุดใหม่และผู้สนับสนุนหวังว่า การเลือกตั้งจะช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตยและเปิดศักราชใหม่ในวงการการเมืองของบังกลาเทศ

ซึ่งคาดว่า ในการปฏิรูป รัฐบาลจะยกเลิกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบางส่วนที่อนุญาตให้ตำรวจควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีทนายความ รวมทั้งคาดว่า จะมีการบังคับใช้กฎมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสำหรับมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังและกฎมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อนักโทษ

เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทยคนล่าสุดคือ นายฟัยยาซ มูรชิด กาซี (H.E. Mr. Faiyaz Murshid Kazi) ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา ก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมกิจการเศรษฐกิจพหุภาคี และรักษาการอธิบดีกรมสหประชาชาติ กระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ให้สัมภาษณ์ “มติชนสุดสัปดาห์” เกี่ยวกับบังกลาเทศ

นายฟัยยาซ มูรชิด กาซี (H.E. Mr. Faiyaz Murshid Kazi) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทย

กว่าจะมาเป็นนักการทูต

“ครอบครัวทางฝ่ายคุณแม่ของผมสืบทอดการรับราชการมาโดยตลอด ผมจึงคิดอยู่เสมอว่าชีวิตได้ถูกกำหนดให้เข้ารับราชการ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมไม่เคยรู้สึกอยากเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศเหมือนเพื่อนๆ หลายคน

นอกจากนี้ ผมตระหนักดีว่า ผมมีความสามารถในด้านการตลาดและการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญสองประการของอาชีพนักการทูต จึงอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ผมผ่านเส้นทางสู่การสอบเข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศที่มีการแข่งขันกันตามปกติ

บอกได้ว่า ผมสนุกกับงานที่ทำมาก ไม่เคยเสียใจกับการเลือกดำเนินชีวิตทางนี้เลย และยังได้มีโอกาสไปประจำในต่างประเทศทั้งที่กรุงปักกิ่ง เจนีวา นิวยอร์ก และบรัสเซลส์”

หากย้อนไปก่อนปี 1971 ดินแดนที่ชื่อว่า ‘บังกลาเทศ’ ในทุกวันนี้ ถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘ปากีสถานตะวันออก’

“สงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ หรือสงครามประกาศอิสรภาพของบังกลาเทศในปี 1971 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติของเรา”

ป่าชายเลนซุนดาร์บันส์ – The Sundarbans – ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศบังกลาเทศ

ทุ่งมัสตาร์ด -MUSTARD CROP FIELD – อันอุดมสมบูรณ์ใน Sirajganj ประเทศบังกลาเทศ ภาพ – manzur alam

ประวัติความเป็นมาของประเทศบังกลาเทศ

“แม้ว่าชาวปากีสถานตะวันออกจะมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งปากีสถานก็ตาม แต่ก็ตระหนักว่า พวกเขากำลังถูกเลือกปฏิบัติจากปากีสถานตะวันตก ความรู้สึกที่ถูกกีดกันแสดงออกมาผ่านการต่อสู้ทางวัฒนธรรมเพื่อสถาปนาสิทธิทางภาษาของตน ซึ่งในที่สุดก็ได้กลายเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเพื่ออิสรภาพและการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง

ในความเป็นจริง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยประชาชนของเรานั้นมาถึงจุดสุดยอดเมื่อทางการปากีสถานตะวันตกปฏิเสธที่จะให้ผู้นำทางการเมืองจากปากีสถานตะวันออกจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าจะได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1970 ก็ตาม

ในทางกลับกัน รัฐบาลปากีสถานตะวันตกกลับเลือกที่จะใช้กำลังทหารอย่างโหดร้ายในการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับล้านคนในช่วงเวลาเพียงเก้าเดือน

ประชาชนชาวบังกลาเทศได้แสดงความกล้าหาญในการต่อต้านด้วยการสู้รบแบบกองโจรและได้รับชัยชนะเหนือกองกำลังยึดครองในเดือนธันวาคม ปี 1971 โดยการสนับสนุนจากเพื่อนๆ ของเราในชุมชนระหว่างประเทศ

พวกเราในฐานะพลเมืองของประเทศ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการตามความปรารถนาในการปลดปล่อยทางการเมืองโดยยึดหลักกฎหมาย เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญเบื้องหลังการได้รับเอกราชของเรา

อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2024 ทำให้เราได้มีโอกาสอีกครั้ง ในการทำงานเพื่อเติมเต็มความปรารถนาเหล่านั้นและคืนความยุติธรรมให้แก่เหล่าผู้พลีชีพ นักสู้เพื่ออิสรภาพผู้กล้าหาญ และผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ ตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา”

ดินแดนที่เป็นประเทศบังกลาเทศในปัจจุบันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1,000 ปี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป (อินเดีย) เคยเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนามาก่อน

ต่อมาพ่อค้าชาวอาหรับได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่ ทำให้ชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมาตราบทุกวันนี้

ในปี 1757 อังกฤษได้เข้าไปยึดครองชมพูทวีป ดินแดนแห่งนี้จึงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเกือบ 200 ปี และได้รับเอกราชเมื่อปี 1947

แต่บังกลาเทศก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน เรียกกันว่า ปากีสถานตะวันออก

ต่อมาชาวเบงกอลในปากีสถานตะวันออกไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลกลาง ซึ่งอยู่ในปากีสถานตะวันตก เนื่องจากถูกแสวงหาประโยชน์และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก

นอกจากนี้ ปากีสถานทั้งสองยังมีความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรม และเชื้อชาติอีกด้วย

ชาวเบงกอลจึงจัดตั้งพรรค Awami League (AL) ขึ้นเมื่อปี 1949 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวเบงกอล โดยมี Sheikh Mujibur Rahman เป็นหัวหน้า

วันที่ 26 มีนาคม 1971 ปากีสถานตะวันออกประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ถือเป็นวันชาติภายใต้ชื่อ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

ส่งผลให้ปากีสถานตะวันตกนำกองกำลังทหารเข้าปราบปราม แต่อินเดียได้ส่งทหารเข้าไปให้ความช่วยเหลือปากีสถานตะวันออก ในที่สุดฝ่ายปากีสถานตะวันตกพ่ายแพ้ในการรบ และยินยอมให้เอกราชแก่บังกลาเทศ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1971

วันที่ 20 ตุลาคม 2024 นายฟัยยาซ มูรชิด กาซี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายอักษรตราตั้ง เป็นเอกอัครราชวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทย

นโยบายต่างประเทศของบังกลาเทศในปัจจุบัน

“ตั้งอยู่บนพื้นฐานการมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับประเทศอื่นๆ โดยให้ความสำคัญกับการยืนหยัดในศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของชาติเป็นอันดับแรก

เรายึดมั่นในลัทธิพหุภาคีที่แท้จริงและสนับสนุนระบบระหว่างประเทศตามกฎเกณฑ์และความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน นโยบายต่างประเทศของเรานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ส่งเสริมความพยายามในการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการต่อสู้กับความยากจน การเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมกัน

เราแสดงความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม ด้วยความคิดสร้างสรรค์จากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ความกังวลหลักเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของเรานั้นมาจากความขัดแย้ง วุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ปัญหาสุขภาพระดับโลกภัยเงียบที่แฝงอยู่ในร่างกายได้อย่างแนบเนียน การเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล และสถาบันพหุภาคีที่มีความอ่อนแอ ขาดความพร้อมที่เพียงพอในการรับมือ”

รถสามล้อถีบ ณ กรุงธากา เมืองหลวงของบังคลาเทศ

รถสามล้อถีบหรือ ‘rickshaw wallah’ ในภาษาเบงกาลี

บังกลาเทศเสือตัวต่อไปของเอเชีย (the next Asian tiger)

“บังกลาเทศได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘เสือแห่งเอเชียตัวต่อไป’ เนื่องมาจากการปฏิรูปที่ก้าวหน้า โดยอาศัยความแข็งแกร่งจากทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ โอกาสทางเศรษฐกิจที่ส่งผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรหรือการปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) ความยืดหยุ่นโดยกำเนิดหรือความสามารถในการรับมือเมื่อพบเจออุปสรรคต่างๆ การเน้นที่เทคโนโลยี เครื่องจักรเพื่อการเกษตร และภาคเกษตรกรรม รวมทั้งจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ

ขณะนี้ รัฐบาลและประชาชนต่างกำลังทำงานเพื่อสร้าง ‘บังกลาเทศใหม่’ (New Bangladesh) ที่รับประกันการปลดปล่อยทางการเมืองและเศรษฐกิจของพลเมืองของเราทุกคนในสภาพแวดล้อมทางกฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับที่เอื้ออำนวย

เรามีความหวังว่าในระหว่างการปฏิรูปในวงกว้างที่กำลังจะเกิดขึ้น บังกลาเทศจะสามารถใช้จุดแข็งของตนเป็น ‘เสือแห่งเอเชีย’ ได้

ส่วนในแง่ของภัยคุกคาม ผมคาดว่าผลกระทบด้านสภาพอากาศที่รุนแรงและไม่ได้รับการควบคุมอาจส่งผลเลวร้ายที่สุดต่อการเติบโตและการพัฒนาที่เราทุ่มเทอย่างหนักเพื่อให้ได้มา”

ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของบังกลาเทศในอ่าวเบงกอลใกล้กับจุดคอขวดเชิงยุทธศาสตร์อย่างช่องแคบมะละกา ซึ่งรองรับการค้าโลกร้อยละ 33 และการขนส่งทางทะเลด้วยตู้คอนเทนเนอร์เป็นครึ่งหนึ่งของโลก ทำให้ประเทศที่มีประชากรกว่า 175 ล้านคนนี้กลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันระหว่างสหรัฐและจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

จากการปฏิวัติตัวเองอย่างต่อเนื่อง ประเทศนี้จึงเป็นแบบอย่างของความสามารถในการฟื้นตัว และวันนี้ บังกลาเทศได้กลายเป็นหนึ่งในชาติที่เติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และกลายเป็นตัวแสดงสำคัญในห่วงโซ่เศรษฐกิจโลก •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin

 

 

 

 

 

 

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

ดาวกับดวง โดย พิมพ์พรร วันพุธที่ 25 มิถุนายน 2568
ชื่อ ‘สุวรรณภูมิ’ มีที่มาจากการเป็นแหล่งวัตถุ และเทคโนโลยีการผลิต ‘ทองสำริด’
“พล.อ.ประวิตร”ส่งสัญญาณแรง หลังมีคลิปหลุดผู้นำเขมรสั่งไล่ล่าคนเห็นต่างบนแผ่นดินไทย ลั่น ไทยต้องไม่ถูกมองว่าอ่อนแอ ถาม“แพทองธาร”กล้าที่จะยืนข้างประชาชนหรือไม่ ?
“เท้ง ณัฐพงษ์” เสนอใช้กลไกสภาแก้ปัญหาประชาชนอย่างเร่งด่วน ประธานนัดประชุม 3 ก.ค.ทันที – รัฐบาลถอนร่างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
พิชัย รับลูก นายกฯ กำชับทีมพาณิชย์ ดูแล ปชช. ในพื้นที่ชายแดนใกล้ชิด ลดผลกระทบการค้า เร่งกระจายผัก-ผลไม้ ช่วยพี่น้องเกษตรกร
ดร.เอ้ เขียน”จดหมายเปิดผนึก” ถึง ว่าที่ “รมว.ศึกษาธิการ” และ ว่าที่ “รมว.อุดมศึกษาฯ ชี้20ปีใช้ รมต.ไปเกือบ20คน สะท้อนความไม่ใส่ใจ
เมื่อ AI รับตำแหน่ง CEO!
ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา จากแว่นของสหรัฐอเมริกาและจีน
เจาะโครงการ ‘น้ำ-คมนาคม’ ของบประมาณ 1.57 แสนล้าน เร่งปั๊ม ศก.-รักษาฐานเสียง รบ.
ชายแดนใต้ ‘เทศกาลอีดิ้ลอัฎฮา’ ระเบิด เชือดสัตว์พลีทาน และฟุตบอล
ลูกหลานเราจะเติบโตอย่างไร ถ้าเราดูแลครูของเราไม่ดี
MatiTalk ‘เสธ.หิ’ หิมาลัย ผิวพรรณ เปิดใจจุดพลิกผันในชีวิต จากทหารสู่เวทีการเมือง มองอนาคตพรรค ‘รทสช.’