
คุยกับทูต | ฟัยยาซ มูรชิด กาซี ครบรอบ 54 ปีวันเอกราชและวันชาติบังกลาเทศก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูป (2)

คุยกับทูต | ฟัยยาซ มูรชิด กาซี
ครบรอบ 54 ปีวันเอกราชและวันชาติบังกลาเทศก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูป (2)
บังกลาเทศ หมายถึง “ประเทศแห่งเบงกอล” ในเอเชียใต้ ครอบครองเนื้อที่ในส่วนตะวันตกของภูมิภาคเบงกอล ที่มีประชากรกว่า 175 ล้านคน กับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลังการเปลี่ยนแปลงการเมือง มีเป้าหมายที่จะยกระดับจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดขึ้นเป็นประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2027 และเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลางถึงบนภายในปี 2031
แม้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าในการพัฒนาสังคมอย่างน่าประทับใจ แต่บังกลาเทศก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายที่ขัดขวางศักยภาพของประเทศ ได้แก่ ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา นอกเหนือจากที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศครั้งยิ่งใหญ่เมื่อไม่นานนี้

นายฟัยยาซ มูรชิด กาซี (H.E. Mr. Faiyaz Murshid Kazi) เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำราชอาณาจักรไทย
การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บังกลาเทศเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลก เนื่องจากภูมิประเทศมีลักษณะเป็นที่ราบต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อน้ำท่วม พายุไซโคลน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและฝนตกไม่แน่นอนในช่วงหน้ามรสุม รวมทั้งการละลายของน้ำแข็งจากยอดเขาหิมาลัย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนนับล้าน จากแรงกดดันมหาศาลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ จึงเกิดการต่อสู้อย่างแข็งขันด้วยการใช้กลยุทธ์ในการปรับตัว เช่น การสร้างคันดิน การส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน และการย้ายชุมชนที่มีความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเล
“บังกลาเทศได้วางตำแหน่งตัวเองในเวทีระหว่างประเทศ เป็นกระบอกเสียงชั้นนำสำหรับประเทศที่เปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศ โดยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
นายฟัยยาซ มูรชิด กาซี (H.E. Mr. Faiyaz Murshid Kazi) เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำราชอาณาจักรไทย เล่าถึงการเตรียมการของบังกลาเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ‘ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ’ (climate justice)
“นอกจากจะสนับสนุนหลัก ‘ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ’ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำแล้ว เรายังได้ลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพของเราเองในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเสียหาย”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ
เทคนิคโบราณ ช่วยให้บังกลาเทศรับมือ
กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบัน บังกลาเทศได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่า เป็นห้องปฏิบัติการแห่งชีวิตด้านการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคนิคโบราณแบบดั้งเดิม ที่ช่วยให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับการนำแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่หลากหลายไปใช้ในบริบทอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดฝนแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม อากาศร้อนขึ้น ฯลฯ อย่างไม่หยุดหย่อน จึงมีข้อจำกัดว่าบังกลาเทศจะปรับตัวไปได้ไกลแค่ไหนด้วยทรัพยากรและเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว ดังนั้น บังกลาเทศจึงเรียกร้องให้ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากได้ปรับเป้าหมายใหม่ที่ดู ‘ท้าทายและทะเยอทะยานยิ่งขึ้น’ เพื่อให้บรรลุ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ และเรายังลงทุนในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการและความปรารถนาในการพัฒนาของเรา”
“บังกลาเทศกำลังเผชิญกับภัยพิบัติทุกประเภท” อับดุลลาห์ อัล-มารูฟ ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยราชชาฮีในบังกลาเทศกล่าว “เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเบงกอลจะจมอยู่ใต้น้ำ เราจำเป็นต้องเผยแพร่เรื่องราวของสวนลอยน้ำเพื่อให้คนอื่นๆ ได้เรียนรู้จากสวนลอยน้ำเหล่านี้”
แพที่ทำจากลำต้นผักตบชวาที่สานด้วยใยมะพร้าวและฟางช่วยให้เกษตรกรในบังกลาเทศสามารถเพาะปลูกได้แม้ในช่วงฤดูน้ำท่วม โมเดลนี้จึงเป็นโซลูชั่นที่มีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมมีรายได้ที่ยั่งยืน ในเมืองบาริซาล ซึ่งเป็นเขตทางตอนใต้ของประเทศบังกลาเทศ มีทุ่งพืชผลลอยน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก ที่นั่นผู้คนปลูกมะเขือเทศ ฟักทอง มันฝรั่ง ถั่ว มะเขือยาว แตงกวา เมื่อน้ำขึ้น สวนก็ขึ้นตามไปด้วย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ถึงท่าอากาศยานกรุงธารา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนบังกลาเทศครั้งยังเป็นส่วนหนึ่งปากีสถานตะวันออก 20-22 มีนาคม 1962
บทบาทผู้หญิงบังกลาเทศ
“ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การมีส่วนร่วม การดำเนินงาน และการเสริมพลังของผู้หญิงถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของบังกลาเทศ ผู้หญิงบังกลาเทศสามารถทำลายเพดานกระจกหรืออุปสรรคที่มองไม่เห็น ซึ่งคอยขวางผู้หญิงไม่ให้ได้รับตำแหน่งในระดับสูงหรือมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ในเกือบทุกภาคส่วน ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในสถานการณ์ที่ท้าทาย
แหล่งเงินทุนรายย่อยและเครื่องมือพัฒนาอื่นๆ ในพื้นที่ชนบท ได้ช่วยให้ผู้หญิงบังกลาเทศสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างรายได้ซึ่งส่งผลกระทบข้ามรุ่นอย่างมีนัยสำคัญ
ในบริบทของเมือง อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้สร้างโอกาสในการจ้างงานขนาดใหญ่สำหรับผู้หญิงซึ่งเกิดประโยชน์ตามมาในภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องทำงานอีกมาก เพื่อให้แน่ใจว่าผู้หญิงบังกลาเทศมีความปลอดภัยและความเท่าเทียมกันทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน”
และเมื่อไม่นานนี้ ผู้หญิงบังกลาเทศก็ได้มีบทบาทสำคัญในการประท้วง ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาล Sheikh Hasina นายกรัฐมนตรีหญิงที่ครองอำนาจนานสุดในโลก
การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้หญิงแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในพลวัตทางเพศของประเทศ ผู้หญิงกลายมาเป็นนักการเมืองที่มีอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากโอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น การเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านโครงการสินเชื่อขนาดเล็ก และการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน และความคิดริเริ่มที่มุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
การประท้วงดังกล่าวเน้นย้ำถึงการยอมรับในผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น และในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันในด้านการพัฒนา และความจำเป็นที่ประเทศจะต้องใช้ศักยภาพความเป็นผู้นำของผู้หญิงอย่างเต็มที่

เกษตรกรในเมืองปิโรจปุระ ประเทศบังกลาเทศ กำลังเคลื่อนย้ายแพลอยน้ำเป็นรูปแบบการปลูกพืชลอยน้ำ

ชาวนารดน้ำพืชผลที่ปลูกบนแพลอยน้ำในเมืองปิโรจปุระ เป็นรูปแบบการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์
ความมุ่งมั่นในการเป็นตัวแทนของบังกลาเทศในประเทศไทย
“นับเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมในการดำเนินกิจกรรมทางการทูตทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ผมและทีมงานหวังว่าจะใช้ช่องทางเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติของเรา ซึ่งได้แก่
– การรักษาโมเมนตัมของการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับสูง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
– ขยายขอบเขตการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของเรา โดยทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้มีส่วนร่วมและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งการค้าระหว่างบังกลาเทศและไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลการชำระเงินเอื้อประโยชน์ต่อไทยเป็นอย่างมาก รัฐบาลทั้งสองประเทศและชุมชนธุรกิจของเรามุ่งหวังที่จะเพิ่มปริมาณการค้าให้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเร็วๆ นี้ โดยปีที่แล้ว เราทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะเริ่มต้นดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันเพื่อเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคี และ
– การปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของชาวบังกลาเทศที่มาเยือนหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา ธุรกิจ หรือการพักผ่อนหย่อนใจ การให้ความช่วยเหลือด้านกงสุลแก่พลเมืองของเราที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ ซึ่งยังคงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
ไทยและบังกลาเทศมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกันมาอย่างยาวนาน ได้ร่วมกันสร้างรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่แข็งแกร่ง มีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ลึกซึ้งอบอุ่น เป็นมิตร และขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุม”
เมื่อบังกลาเทศแยกตัวเป็นอิสระจากปากีสถานในวันที่ 26 มีนาคม 1971 ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่รับรองประเทศบังกลาเทศเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1972 และมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1972 ซึ่งความสัมพันธ์ก็ได้เจริญงอกงามมาจนถึงปัจจุบัน
เอกอัครราชทูตฟัยยาซ มูรชิด กาซี เน้นย้ำว่า
“จากการเยือนในระดับประมุขของรัฐ เป็นการแลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีและความปรารถนาดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศในระดับสูงสุด ซึ่งได้บรรลุผลก่อให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


